รวมเรื่องจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

เอกสารโบราณประเภทจารึก

เอกสารโบราณประเภทจารึก

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 13:58:53

บทความโดย : ทีมงาน

ชะเอม แก้วคล้าย
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
 
จารึก คือ เอกสารโบราณประเภทหนึ่ง ที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่างๆ ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา เรียกว่าศิลาจารึก รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นไม้ เรียกว่า จารึกบนแผ่นไม้ รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นโลหะ ซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายใบลาน เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาก เรียกว่า จารึกลานทอง จารึกลานทองแดง จารึกลานเงิน และจารึกลานนาก เป็นต้น
ความสำคัญของจารึก คนสมัยโบราณจะจารึกอักษรไว้บนวัตถุเนื้อแข็ง มีสภาพคงทนถาวร มีอายุการใช้งานได้นาน เช่น ผนังถ้ำ แผ่นศิลา แผ่นดินเผา แผ่นไม้ และแผ่นโลหะอื่นๆ ด้วยวัตถุที่แหลมคม ซึ่งเรียกว่า เหล็กจาร อักษรที่จารึกจะเป็นข้อความที่บ่งบอกให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของผู้ทำจารึก หรือประกาศเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ให้ผู้อื่นทราบ โดยไม่มีเจตนาที่บันทึกไว้เพื่ออ่านเอง ฉะนั้น จารึกจึงเป็นหลักฐานทางเอกสารที่สำคัญ ที่สะท้อนให้ประชาชนในปัจจุบันได้เห็นสภาพทางสังคมของบรรพชนแต่ละท้องถิ่นในอดีต แต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ภาพที่สะท้อนออกมาจากข้อความของจารึกมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ลัทธิความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และธรรมเนียมประเพณีการดำรงชีวิตในสังคม เป็นต้น ซึ่งได้กลายเป็นมรดกตกทอดและพัฒนามาจนถึงสังคมปัจจุบัน
อักษรที่ใช้ในจารึก เอกสารประเภทจารึกที่พบในประเทศไทยมีรูปแบบอักษรต่างๆ ตามอิทธิพลวัฒนธรรม ที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ดินแดนบริเวณแถบนี้ในอดีต หรือที่เรียกว่า ดินแดนของประเทศไทย ในปัจจุบันเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มประเภทอักษรตามอายุสมัยแล้ว ได้ดังนี้
1. อักษรปัลลวะ
2. อักษรหลังปัลลวะ (ปัลลวะที่เปลี่ยนรูป)
3. อักษรมอญโบราณ
4. อักษรขอมโบราณ
5. อักษรขอม
6. อักษรมอญ
7. อักษรไทยสุโขทัย
8. อักษรธรรมล้านนา
9. อักษรไทยล้านนา
10. อักษรไทยอยุธยา
11. อักษรธรรมอีสาน
12. อักษรไทยอีสาน
13. อักษรไทยใหญ๋
14. อักษรไทยย่อ
15. อักษรขอมย่อ
16. อักษรพม่า
17. อักษรพม่าย่อ
18. อักษรเฉียงขอม
19. อักษรเฉียงคฤนถ์
20. อักษรเฉียงพราหมณ์
21. อักษรอริยกะ
22. อักษรทมิฬ
23. อักษรจีน
24. อักษรยาวี
25. อักษรสิงหฬ
26. อักษรเทวนาครี
27. อักษรบาหลีโบราณ
28. รูปอักษรอื่นๆ
อักษรจารึกที่พบในประเทศไทยเฉพาะที่สำคัญซึ่งมีอายุเก่าแก่ตามยุคสมัยที่พัฒนามาโดยลำดับ คือ
1. อักษรปัลลวะ จากจารึกบ้านวังไผ่ เพชรบูรณ์ สันนิษฐานว่า พ.ศ.1093
อักษรปัลลวะ จากจารึกปราสาทเขาน้อย ปราจีนบุรี พ.ศ.1180
2. อักษรหลังปัลลวะ จากจารึกเนินสระบัว ปราจีนบุรี พ.ศ.1304
3. อักษรมอญโบราณ จากจารึกเสาแปดเหลี่ยม ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14
4. อักษรขอมโบราณ จากจารึกปราสาทตาเมือนธม พ.ศ.1421
5. อักษรไทยสุโขทัย จากจารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.1835
6. อักษรไทยสมัยอยุธยา จากจารึกแผ่นดินดีบุก พ.ศ.1917
7. อักษรธรรมล้านนา จากจารึกลานทองคำ พ.ศ.1919
8. อักษรไทยล้านนา จากจารึกลำพูน 9 พ.ศ.1954
9. อักษรไทยอีสาน จากจารึกหนองคาย 1 พ.ศ.2015
ภาษาที่ใช้ในจารึก เอกสารโบราณประเภทจารึกที่พบในประเทศไทย นอกจากจะมีรูปอักษรแบบต่างๆ แล้ว ยังจารึกเป็นภาษาต่างๆ ด้วย เมื่อจารึกมีอายุเก่าแก่มาก ประมาณ 1,500 ปีเป็นต้น ภาษาที่ใช้ในจารึกก็เก่ามากเช่นกัน จึงเป็นการยากที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจ ฉะนั้น นักภาษาโบราณซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาและอักษรโบราณจึงต้องถ่ายทอด หรือปริวรรตอักษรในจารึกเป็นอักษรไทยปัจจุบัน แล้วแปลภาษาที่ปรากฏในจารึกเป็นภาษาไทยปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ข้อความในจารึกสมัยต่างๆ ให้ประชาชนคนปัจจุบันเข้าใจได้ ภาษาที่ปรากฏใช้ในจารึก มีดังนี้
1. ภาษาบาลี
2. ภาษาสันสกฤต
3. ภาษามอญ
4. ภาษาเขมร
5. ภาษาทมิฬ
6. ภาษาพม่า
7. ภาษาไทยใหญ่
8. ภาษาไทยโบราณ
9. ภาษาไทยล้านนา
10. ภาษาไทยอีสาน
11. ภาษาอาหรับ
12. ภาษามลายู
13. ภาษาจีน
14. ภาษาอื่นๆ
ความเป็นมาของรูปอักษร อักษรปัลลวะ ถือว่าเป็นรูปอักษรที่เก่าที่สุด เท่าที่พบจารึกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า ปัลลวะ เป็นชื่อของราชวงศ์หนึ่งซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในภาคใต้ของอินเดีย อักษรที่ใช้ในสมัย ของราชวงศ์นี้ จึงเรียกว่า อักษรปัลลวะ
อินเดียสมัยโบราณ เป็นประเทศที่มีความเจริญสูงสุด เป็นประเทศมหาอำนาจในด้านอารยธรรม ได้เผยแพร่อิทธิพลทางอารยธรรมออกสู่ประเทศใกล้เคียงทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีนักบวชในศาสนาและพ่อค้าวาณิช เป็นผู้นำอารยธรรมไปเผยแพร่ในถิ่นที่เดินทางไปค้าขายในต่างแดน เมื่อถึงบ้านใด เมืองใด พวกพ่อค้าวาณิชเหล่านี้ ก็หยุดพักปฏิบัติภารกิจของตนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ได้นำอารยธรรมใหม่ๆ ที่ตนมีออกเผยแพร่ ถ่ายทอดแก่ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย ทำให้สังคมท้องถิ่นนั้นๆ พัฒนาตนเองไปสู่ความเจริญตามอารยธรรมของอินเดีย ทั้งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี ลัทธิความเชื่อทางศาสนา อักษรและภาษา เป็นต้น เราพบจารึกบ้านวังไผ่ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกวัดมเหยงค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกปากน้ำมูล ที่จังหวัดอุบลราชธานี จารึกกไดอัง ที่ประเทศกัมพูชา จารึกของพระเจ้าปูรณวรมัน ที่ประเทศอินโดนีเซีย จารึกพระเจ้ามหานาวิกพุทธคุปตะ ที่ประเทศมาเลเซีย จารึกปยู ที่ประเทศพม่า และจารึกสถูปศิลา ที่ประเทศบรูไน เป็นต้น จารึกเหล่านี้เป็นอักษรปัลลวะ และเป็นจารึกที่มีอายุสมัยเก่าที่สุดของประเทศนั้นๆ นั่นหมายถึงว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ได้รับอารยธรรมทางด้านอักษรจากอินเดีย สมัยราชวงศ์ปัลลวะ ที่เจริญรุ่งเรืองทางตอนใต้ของอินเดีย ในพุทธศตวรรษที่ 10-11
ในประเทศไทยเมื่อเราพบว่า จารึกอักษรปัลลวะ เป็นอักษรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด นั่นหมายถึงว่า ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านอักษร จากประเทศอินเดียในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ จารึกบ้านวังไผ่ ซึ่งถือว่าเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุด เท่าที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ คือประมาณ พ.ศ.1093 (สันนิษฐานจากข้อความจารึกที่ว่า “พระองค์(พระเจ้าภววรมันที่ 1) ได้สร้างจารึกหลักนี้ในปีที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1903”) ฉะนั้น จึงถือว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางด้านอักษรจากประเทศอินเดีย เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 11 และอักษรปัลลวะนี้เอง ที่เป็นต้นแบบให้วิวัฒนาการเป็นอักษรต่างๆ เช่น อักษรขอมโบราณ อักษรมอญโบราณ และวิวัฒนาการต่อไป เป็นอักษรไทยโบราณ อักษรไทยล้านนา และอักษรไทยน้อย เป็นต้น ตามลำดับ
สำเนาจารึกจารึกที่พบในประเทศไทยมีมาก ถ้ารวมถึงจารึกที่ฐานพระพุทธรูปด้วยแล้ว  มีมากกว่า 1,200 หลัก จารึกชิ้นเล็กๆ สามารถเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ จารึกบางหลักเป็นศิลาก้อนใหญ่  ติดเป็นกรอบประตู หรือกรอบหน้าต่างปราสาทโบราณสถาน บางหลักจารึกที่ผนังถ้ำตามภูเขา จารึกเหล่านี้ ไม่สามารถทำการเคลื่อนย้ายนำไปรวมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ และนักภาษาโบราณก็ไม่สามารถเดินทางเข้าไปอ่านแปลได้ ฉะนั้น จึงมีวิธีการทำสำเนาจารึกเพื่อคัดลอกตัวอักษรที่ปรากฏในจารึกเหล่านั้น รวบรวมไว้ที่หอสมุดแห่งชาติเป็นหลักฐานและข้อมูลให้นักภาษาโบราณได้อ่านแปล  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ข้อความที่ปรากฏในจารึกต่อไป
ขั้นตอนการทำสำเนาจารึกการทำสำเนาจารึกคือการคัดลอกรูปอักษรจากจารึกซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ
1. คัดลอกโดยการทำสำเนา
2. คัดลอกโดยการถ่ายภาพ
คัดลอกโดยการทำสำเนามักใช้กับจารึกที่เป็นหลักศิลา การคัดลอกโดยวิธีนี้ ค่อนข้างยาก เพราะต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือในการคัดลอก อันประกอบด้วย
1. ลูกประคบที่ทำด้วยผ้าและสำลี
2.หมึกจีนสีดำ
3. แปรงสำหรับชุบหมึก
4. แปรงสำหรับตบกระดาษ
5. กระดาษสา
6. กระบอกฉีดน้ำ
7. อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถัง หรือขันน้ำ และกระดาษกาว เป็นต้น
เมื่อพบหลักศิลาจารึก ผู้พบต้องสำรวจให้แน่นอนว่า มีอักษรกี่หน้าๆ ละกี่บรรทัด ก่อนทำการคัดลอกรูปอักษร ด้วยวิธีการทำสำเนาต้องทำความสะอาด ใช้น้ำล้างหลักศิลา ถูด้วยแปรง เพื่อให้เศษดินออกจากร่องของรูปอักษร หลังจากนั้น      จึงนำกระดาษสามาทาบที่หน้าหลักศิลาที่มีรูปอักษร แล้วฉีดน้ำที่กระดาษให้เปียกทั่วทั้งหน้า ใช้แปรงตบกระดาษสาที่เปียกนั้น ให้จมลงในร่องอักษรจนแน่นสนิท อย่าให้มีฟองอากาศอยู่ภายในร่องอักษร เมื่อเห็นว่า กระดาษสาจมลงในร่องอักษรดีแล้ว     ก็หยุดรอจนกว่ากระดาษจะแห้งเกือบสนิท เมื่อกระดาษแห้งพอสมควรแล้ว ขั้นตอนต่อไปใช้แปรงชุบหมึกทาที่ลูกประคบ      เมื่อเห็นว่า หมึกซึมเกินไป ให้นำลูกประคบที่ซับกระดาษอื่นซัก 1-2 ครั้งก่อนก็ได้ แล้วจึงนำลูกประคบไปลูบที่หน้ากระดาษเบาๆ ลูบจนทั่วหน้ากระดาษที่มีตัวอักษร กระดาษที่ถูกหมึกจะเป็นสีดำ ส่วนกระดาษที่หย่อนลงในร่องอักษร จะไม่ถูกหมึก จะเป็นสีขาว นั่นคือรูปอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึก และเป็นอันเสร็จกรรมวิธีคัดลอกรูปอักษรด้วยการทำสำเนา
การคัดลอกด้วยการถ่ายภาพเป็นอีกกรรมวิธีหนึ่ง ที่จะคัดลอกรูปอักษรจารึกเพื่อส่งไปให้นักภาษาโบราณ อ่านแปล ก่อนอื่นต้องมีอุปกรณ์คือ กล้องถ่ายรูป พร้อมทั้งฟิล์ม และแป้งเม็ดเล็กๆ ที่ใช้สำหรับทาหน้าในสมัยโบราณ หลังจากชำระล้างหลักศิลาจารึกให้สะอาด ปราศจากเศษดินแล้ว เมื่อหลักศิลาแห้งแล้ว ใช้แป้งทาหน้าศิลาที่มีอักษรให้ทั่ว เพื่อให้แป้งตกลงในร่องอักษร หลังจากนั้น ใช้ผ้าสำลีชุบน้ำ บิดให้แห้งหมาดๆ แล้วลูบที่แป้งบนหน้าศิลาจารึก แป้งที่หน้าแผ่นศิลาจะหายไป เหลือแป้งที่ตกลงในร่องอักษรจะปรากฏเป็นรูปอักษรสีขาวที่ชัดเจน เหมาะแก่การถ่ายภาพ เมื่อจะถ่ายภาพครั้งที่สอง ให้ใช้ผ้าแห้งหมาดๆ ลูบอีกครั้ง รูปอักษรจะชัดเจนขึ้น เป็นอันเสร็จกรรมวิธีคัดลอกรูปอักษรจารึกด้วยการถ่ายภาพ
การอ่านศิลาจารึกดังได้กล่าวแล้วว่า ศิลาจารึกเป็นเอกสารโบราณ ที่มีอายุตั้งแต่ 100-1,500 กว่าปี อักษรและภาษาที่ใช้จึงยากที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจได้ ทั้งหลักศิลาจารึกและสำเนาจารึกก็ชำรุด รูปอักษรลบเลือนไม่ชัดเจน ยิ่งทำให้ยากต่อการอ่านแปลมากขึ้น ผู้ทำหน้าที่อ่านศิลาจารึกต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ทั้งด้านรูปอักษร และภาษาโบราณนั้นๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นผู้ที่มีอารมณ์สงบเยือกเย็น และมีใจรักในภาษาโบราณอย่างแท้จริง เพราะศิลาจารึกที่ชำรุดอักษรที่ลบเลือน ต้องใช้เวลาในการนั่งพิจารณานานๆ แม้เพียงคำเดียวอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ถ้าอ่านไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเก็บไว้ หันไปทำงานอื่นก่อน เมื่ออารมณ์ดีๆ ค่อยกลับมาพิจารณาใหม่ เป็นไปในลักษณะนี้ จนกว่าจะอ่านได้ทั้งหลัก
อุปกรณ์ในการอ่านศิลาจารึกการอ่านศิลาจารึก ต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์อันประกอบด้วย
1. หลักศิลาจารึก หรือสำเนาศิลาจารึก หรือภาพถ่ายศิลาจารึก
2. โคมไฟที่ให้แสงสว่างพอ
3. แว่นส่องขยายรูปอักษร ใช้สำหรับอักษรจารึกที่ลบเลือน หรืออักษรที่เล็กมาก
4. กระจกเงา สำหรับส่องรูปอักษรกลับ เพื่ออ่านจากเงาในกระจก
5. ดินน้ำมันใช้ปั๊มรูปอักษรกลับให้เป็นรูปอักษรที่อ่านได้โดยตรงจากด้านหน้า
6. แป้งเม็ดสำหรับอ่านอักษรจารึกจากหลักจารึก
การแปลจารึกจารึกที่เป็นอักษรและภาษาไทยโบราณ สามารถอ่านและถ่ายถอดรูปอักษรออกมาเป็นคำไทยปัจจุบันได้เลย โดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยอีก แต่ต้องอธิบายคำภาษาไทยโบราณให้คนปัจจุบันได้เข้าใจด้วย ส่วนจารึกที่เป็นภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต มอญ เขมร พม่า เป็นต้น หลังจากถ่ายถอดคำจารึกเป็นอักษรไทจยปัจจุบันแล้ว ผู้อ่านจารึกต้องแปลภาษาเหล่านั้นเป็นภาษาไทยปัจจุบันด้วย ซึ่งข้อความของในจารึกส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา โหราศาสตร์และดาราศาสตร์ เป็นต้น ฉะนั้น ผู้ที่จะแปลจารึกได้ดี ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับวิชาดังกล่าว และนำมาใช้วิเคราะห์จารึกได้อย่างเป็นสหวิทยาการ
การเรียบเรียงบทความจารึกศิลาจารึกทุกหลักที่อ่านแปลแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นกรรมวิธีการอ่าน      แปลจารึก เพราะต้องเรียบเรียงข้อความจารึกเหล่านั้น เป็นบทความออกเผยแพร่  เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ และเข้าใจ ข้อความของศิลาจารึกหลักนั้นๆ ด้วย เนื้อหาของบทความต้องประกอบด้วย ชื่อของศิลาจารึก ชื่อผู้อ่านแปลจารึก ประวัติของจารึก อันประกอบด้วย
1. เลขทะเบียนจารึก
2. ชื่อผู้พบจารึก
3. สถานที่พบจารึก
4. วัน เดือน ปี ที่พบหลักศิลาจารึก
5. ลักษณะรูปร่างของจารึก
6. ขนาดความสูง ความกว้าง และความหนาของจารึก
7. จำนวนด้าน-บรรทัดของอักษร และสถานที่เก็บรักษาจารึกในปัจจุบัน
เนื้อหาข้อความจารึกนอกเหนือจากที่อ่านแปลแล้ว ต้องนำข้อความที่สำคัญมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อความที่สัมพันธ์กับจารึกหลักอื่นๆ ทั้งที่พบในประเทศไทย เขมร ลาว และพม่า เพื่อเชื่อมประวัติศาสตร์ให้ต่อเนื่อง
ถ้าข้อความจารึกเป็นคำภาษาโบราณ ที่ยากต่อการแปลเป็นความหมายภาษาไทยในปัจจุบัน ผู้เรียบเรียงบทความ ต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นว่า  คำนั้นมีปรากฏในจารึกหลักใดบ้าง แต่ละหลักมีความหมายว่าอย่างไร
ถ้าข้อความจารึกปรากฏชื่อเฉพาะของพระราชา ผู้เรียบเรียงบทความ ต้องค้นชื่อเฉพาะของพระราชาพระองค์นั้น ที่ปรากฏในจารึกอื่นๆ ทุกหลัก ทั้งที่พบในประเทศไทย เขมร ลาว และพม่า มาเปรียบเทียบเรียงลำดับประวัติของพระองค์ว่า มีความสัมพันธ์กับโบราณสถานที่พบหลักศิลาจารึกนั้นอย่างไร เป็นต้น เมื่อได้บทความที่สมบูรณ์แล้ว เป็นอันเสร็จกระบวนการอ่านแปลจารึก
ประโยชน์ของศิลาจารึก ในอดีตกาลระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-19 ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีกระดาษสำหรับใช้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น บรรพชนจึงใช้ศิลาเป็นที่จดบันทึก เพื่อบอกให้ผู้อื่นทราบเหตุการณ์ดังกล่าว เราเรียกแผ่นศิลาที่จดบันทึกเหตุการณ์นั้นว่า ศิลาจารึก ฉะนั้น ประโยชน์ของศิลาจารึก คือ
1. เป็นเอกสารอ้างอิงทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ อักขรวิทยา ศาสนา และสังคม
2. ทำให้ทราบประวัติศาสตร์การก่อตั้ง การปกครองบ้านเมืองในอดีตกาล
3. ทำให้ทราบประวัติของโบราณสถานที่มีอยู่ในประเทศไทยว่า ใครเป็นผู้สร้างและสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ใด
4. ทำให้ทราบประวัติของลัทธิศาสนาที่เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
5. ทำให้ทราบว่า กลุ่มชนสมัยโบราณได้รับอิทธิพลทางการศึกษา วัฒนธรรม อารยธรรม ประเพณี อักษร และภาษามาจากประเทศอินเดีย
6. ทำให้ทราบว่า อักษรที่ใช้ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11
7. ทำให้ทราบว่า อักษรปัลลวะเป็นต้นกำเนิดวิวัฒนาการเป็นอักษรมอญ ขอม และไทย
8. ทำให้ทราบว่า กลุ่มชนสมัยโบราณ ใช้ภาษาบาลี สันสกฤต มอญ เขมรและไทย
9. ทำให้ทราบข้อมูลความเคลื่อนไหว โยกย้ายถิ่นของกลุ่มชนท้องถิ่นที่เป็นมอญ เขมรและไทย
 
เอกสารอ้างอิง
สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม,  คู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณ(กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2548), 19 – 24.