รวมเรื่องจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ประโยชน์ของการศึกษาจารึก

ประโยชน์ของการศึกษาจารึก

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 เวลา 02:07:49

บทความโดย : ทีมงาน

วัตถุประสงค์ของการศึกษาจารึก ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการสาขาวิชาต่างๆ เนื่องจากจารึกเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องราวในอดีต สมัยเมื่อยังไม่มีหนังสือพงศาวดาร หรือตำนาน นอกจากจารึกแล้ว ไม่มีแหล่งข้อมูลอื่นใดที่จะบอกให้รู้เรื่องราวของบ้านเมืองในอดีต แม้ในสมัยเมื่อมีหนังสือพงศาวดาร หรือตำนานแล้วก็ดี จารึกก็ยังคงเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลทางศักราช ซึ่งในหนังสือพงศาวดาร หรือตำนาน มักจะคลาดเคลื่อนเสมอ แต่ถ้าปรากฏในจารึก ก็จะช่วยให้รู้เรื่องได้ถูกต้องแน่นอน
 
จารึกเป็นหลักฐานแสดงถึงรูปอักษร และภาษา ต่างกันไปตามยุคสมัย ฉะนั้นการที่พบจารึกในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ทำให้ได้ทราบถึงอารยธรรมทางด้านการใช้ภาษาของกลุ่มชน ซึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะอักษร และภาษา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติและเป็นสื่อกลาง สำหรับเชื่อมโยงความคิดจิตใจ เป็นเครื่องสร้างสรรค์ความเข้าใจอันดีระหว่างคนในกลุ่มชนนั้นๆ และคนในชาติเดียวกัน รวมถึงชาติอื่น ที่มีสัมพันธภาพต่อกันด้วย นอกจากนั้นอักษร และภาษายังเป็นเครื่องแสดงอารยธรรมความเจริญ และอิสรภาพทางด้านวัฒนธรรม และบ่งบอกวิวัฒนาการของอักษร และภาษาอีกด้วย
 
เนื่องจากจารึกสร้างด้วยวัตถุที่มีความแข็งแรงคงทนถาวร เนื้อหาของจารึกจะบันทึกเฉพาะกิจกรรมของบุคคล ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับจารึก และเรื่องเกี่ยวกับศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เรื่องที่บันทึกในจารึกเป็นจริง ทั้งชื่อบุคคล นามสถานที่ และศักราช เนื้อหา และถ้อยคำสำนวนในจารึก จึงเป็นเรื่องราว และถ้อยคำในอดีต ซึ่งได้ตกทอดมานานจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงแต่ประการใด
 
อักษรและภาษาที่ใช้ในจารึก
แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรและภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ของไทย และกลุ่มจารึกที่ใช้อักษรและภาษาไทย
 
กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรและภาษาอื่นที่ไม่ใช่ของไทย
ได้พบที่เก่าที่สุดมีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา คือ อักษรปัลลวะ ซึ่งเป็นแม่แบบของรูปอักษรต่างๆ ในยุคสมัยต่อมา
 
การได้พบจารึกที่มีอายุแตกต่างกันในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอักษร จากอักษรปัลลวะ วิวัฒนาการไปเป็นรูปอักษรขอมโบราณ ในพุทธศตวรรษที่ 15 และอักษรขอม ในพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรร่วมกันมาตลอดเวลา และยังได้พบรูปอักษรมอญโบราณ ซึ่งเป็นรูปอักษรที่วิวัฒนาการมาจากรูปอักษรปัลลวะเช่นเดียวกัน แต่ใช้บันทึกไว้ด้วยภาษามอญโบราณ
 
กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรและภาษาไทย
จากหลักฐานในจารึกดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และจารึกหลังพระพุทธรูปนาคปรก จังหวัดลพบุรี ได้พบภาษาไทยบันทึกไว้ด้วยอักษรขอม แทรกอยู่ระหว่างกลุ่มคำภาษาเขมร ในปีพุทธศักราช 1710 และ 1726 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใช้  และบันทึกลงในหลักศิลาจารึก เมื่อปีพุทธศักราช 1835 ซึ่งเป็นการปรากฏขึ้นครั้งแรกของจารึกอักษรไทย ภาษาไทย  นอกจากนี้ได้พบจารึกอื่นๆ ที่ใช้อักษร และภาษาไทยอีก ดังนี้
 
ในภาคเหนือ
ซึ่งเป็นที่ตั้งอาณาจักรล้านนา ใช้อักษรไทยจารึกภาษาไทยในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เช่น จารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน เป็นต้น นอกจากนั้นยังใช้รูปอักษรอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า อักษรธรรมล้านนา บันทึกจารึกภาษาบาลี และภาษาไทย ได้แก่ จารึกวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน เป็นต้น
 
ในภาคอีสาน
เป็นดินแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรกัมพูชาและลาว น่าสังเกตว่า ในบริเวณภาคอีสานนี้ ไม่พบหลักฐานร่วมสมัยสุโขทัย ทั้งทางด้านเอกสารโบราณ และด้านศิลปะ คงพบหลักฐานจารึกตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาร่วมเวลาเดียวกับพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) เพื่อเป้นการแสดงสัมพันธไมตรีฉันมิตรประเทศ ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงศรีรัตนาคนหุต ในพุทธศตวรรษที่ 21 จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาไทยด้านหนึ่ง และอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยด้านหนึ่ง  มีข้อความตรงกัน ทั้งสองด้าน นอกจากนี้ยังมีจารึกวัดแดนเมือง จังหวัดหนองคาย ใช้อักษรไทย ภาษาไทย จารึกในปีพุทธศักราช 2075 และอีกหลักหนึ่งจารึกในปีพุทธศักราช 2078 เนื้อหาจารึกบอกถึง เขตกัลปนาที่วัด และการอุทิศส่วนกุศล
 
จารึกเป็นเอกสารโบราณที่ใช่เป็นหลักฐานบ่งบอกความเคลื่อนไหวของอารยธรรม และค่านิยมแห่งสังคมในกลุ่มชนโบราณต่างๆ แต่ละยุคสมัยทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นหลักฐานที่ใช้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ใช้ถ้อยคำสำนวน ตลอดจนเรื่องราวที่คงสภาพของอดีตไว้ โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด
 
เนื้อหาของเรื่องในจารึกจะผูกพันอยู่กับผู้สร้างจารึก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นปกครอง หัวหน้าหมู่คณะได้แก่ กษัตริย์ เจ้าเมือง หัวหน้า หมู่บ้าน บุคคลสำคัญในท้องถิ่น เป็นต้น เมื่อได้ปฏิบัติกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว ย่อมปรารถนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ในลัทธิศาสนาของตนได้รับรู้ และพร้อมกันนั้น ก็ต้องการแสดงเจตนาการกระทำของตน ให้ประจักษ์ต่อส่วนรวม มีบ้างในส่วนน้อยที่เล่าถึงประวัติส่วนตัวและเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นเนื้อหาสำคัญที่บันทึกในจารึก จึงเป็นข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ในสมัยต่างๆ เหล่านั้น
 
 
ข้อมูลจาก : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ/ เล่มที่ 16 / เรื่องที่ 4 ศิลาจารึก และอ่านจารึก / ประโยชน์ของการศึกษาจารึก