ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

"วีระ" สั่งกรมศิลป์ยกพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมศิลปากร และรับฟังรายงานความคืบหน้าการบูรณะและการพัฒนาพื้นที่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า แนวทางการทำงานของกรมศิลปากรในส่วนของพิพิธภัณฑ์ได้เน้นย้ำเรื่องสำคัญๆ 4 เรื่อง ได้แก่   1.ให้กรมศิลปากรจัดเตรียมแผนการจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล โดยเฉพาะในส่วนการจัดแสดง โดยให้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยจัดทำแผนการจัดแสดง เพื่อให้การจัดนิทรรศการน่าสนใจและให้ไปหารือเรื่องการคัดเลือกศิลปวัตถุที่โดดเด่นที่จะนำมาจัดแสดง รวมถึงให้จัดทำเป็นคลิปวีดีโอนำเสนอความโดเด่นของโบราณวัตถุ ความยาวราว 3-5นาที เพื่อนำไปเผยแพร่ดึงดูดให้ประชาชนสนใจเข้ามาชมในพิพิธภัณฑ์มากขึ้น   2.ให้ปรับปรุงการจัดแสดงในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เช่น ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ควรจัดกิจกรรมทั้งปี ศาลาสำราญมุขมาตย์ ควรจัดแสดงเป็นประจำเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น   3.ให้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาเปิด-ปิดพิพิธภัณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เด็ก เยาวชนและประชาชนที่ไม่สะดวกในวันเวลาราชการและการจัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษ เช่น ยกเว้นค่าเข้าชม การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ การจำหน่ายบัตรเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บัตรเครดิตได้ในการซื้อบัตรเข้าชม/ซื้อของที่ระลึก   4. เรื่องพิพิธภัณฑ์สัญจร อาจจะเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น และควรจัดกิจกรรมสัญจรไปยังสถานศึกษา รวมถึงโรงเรียนคนหูหนวก ตาบอดด้วย ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีกิจกรรมพิพิธภัณฑ์สัญจรไปยังโรงเรียนต่างๆ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก   ส่วนที่มอบหมายให้จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุในคลังเก็บโบราณวัตถุ หลังจากพบว่าจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุยังมีปัญหา ได้รับรายงานว่าขณะนี้ได้จัดทำข้อมูลและทะเบียนโบราณวัตถุแบบดิจิตอลแล้วกว่า 4 หมื่นรายการจากทั้งหมดเกือบ 3 แสนรายการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ได้กำชับให้ดำเนินการให้ครบทั้งหมด เพื่อรองรับการสร้างคลังเก็บโบราณวัตถุที่คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งกรมศิลปากร กำลังดำเนินการอยู่   ข้อมูลจาก http://breakingnews.nationtv.tv/ วันที่ 29 กันยายน 2557

โบราณวัตถุบางชิ้นที่พิพิธภัณฑ์ ′วังนารายณ์′ ถูกสับเปลี่ยนจริงหรือไม่?

จู่ๆ "พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์" หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ก็ตกเป็นข่าว   มีการรายงานข่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายนเป็นต้นมาว่า โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์บางชิ้นถูกสับเปลี่ยนจริงหรือไม่? การตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังดำเนินต่อไปและยังไม่ทราบว่าสุดท้ายผลการสอบจะลงเอยเช่นไรแต่สิ่งที่แน่แท้ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์นั้นมีความสำคัญ และยังแน่แท้ว่าโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์วังนายรายณ์นั้นก็มีความสำคัญ   ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปพินิจดูจะพบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ อันเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ จำนวนกว่า 1,864 รายการ ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือวังนารายณ์ จังหวัดลพบุรี   พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2467 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์   ปี พ.ศ.2504 จึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ มีการเพิ่มเติมสถานที่จัดแสดงขึ้นที่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น จัดสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหมู่ตึกพระประเทียบ   "กวิฎ ตั้งจรัสวงศ์" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตภัณฑารักษ์ ปฏิบัติการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ อธิบายว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เดิมเป็นพระราชวังโบราณสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาพระราชวังแห่งนี้ถูกใช้งานอีกครั้งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4   ในตอนนั้นมีการสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้น ซึ่งพระที่นั่งพิมานมงกุฎถูกใช้งานต่อมาอีกหลายครั้ง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัด ตลอดจนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเมืองลพบุรีในปัจจุบัน   "อาคารต่างๆ ในวังนารายณ์ รวมถึงพระที่นั่งพิมานมงกุฎได้ถูกซ่อมแซมมาโดยตลอด ในส่วนของชั้นบนสุด จัดแสดงเป็นห้องที่ระลึกสมัยรัชกาลที่ 4เป็นห้องบรรทม มีการจัดแสดงเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญ เช่น เรื่องเงินตราและเหรียญในสมัยนั้น เรื่องวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์" อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากรกล่าว   "ภูธร ภูมะธน" อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ สมเด็จพระนารายณ์ และอดีตประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี กล่าวว่า โดยหลักการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ มีความสำคัญในระดับพิพิธภัณฑ์แนวหน้าของประเทศ ด้วยระบบการจัดแสดง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย   "ส่วนเรื่องความสำคัญ โบราณวัตถุทุกชิ้นมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของชาวบ้านในยุคนั้น ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำเสนอในแง่มุมอะไร แต่ในกรณีลพบุรี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีสาระในการนำเสนอครบทุกสาระอันเป็นวิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ในประเทศไทย   นั่นคือ เราจะสามารถเห็นยุคประวัติศาสตร์ได้อย่างหลากหลาย เพราะมีกระทั่งคอลเล็กชั่นของชาวไร่ชาวนาที่เป็นอุปกรณ์พื้นบ้าน ผมสามารถยืนยันได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ" อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯกล่าว   ในขณะที่ "ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ" นักวิชาการจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศไทย คือ มีโบราณสถานตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย คือ มีทั้งโบราณสถานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และโบราณสถานในสมัยรัชกาลที่ 4   ขณะที่ส่วนโบราณวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ฯวังนารายณ์ จะคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกที่ในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร คือ มีวิธีการจัดแสดงในแบบเดียวกัน   คือ วิธีคิดแบบ "ศิลปะในประเทศไทย"   "ตามความเข้าใจของคนทั่วไป หากเราไปที่ลพบุรี เราควรจะได้ดูของที่เจอที่ลพบุรีหรือบริเวณใกล้เคียง ไปที่อยุธยาก็ควรจะเจอของที่พบที่อยุธยา แต่การจัดแสดงในรูปแบบวิธีคิดแบบศิลปะในประเทศไทย จะมีการแทรกประวัติศาสตร์แห่งชาติไว้ในนั้น มีการนำศิลปะจากหลายที่มารวมกัน เพื่อบอกว่าทั้งหมดนี้สืบทอดมาเป็นไทย"   ศิริพจน์กล่าวอีกว่า พูดง่ายๆ คือหากเข้าไปในวังนารายณ์ จะเจอทั้งพระพุทธรูปทวารวดี ล้านนา ขอม อยุธยา สุโขทัย เจอทุกแบบ เพราะฉะนั้นวิธีแบบนี้จะทำให้โบราณวัตถุในประเทศไทยทั้งหมดถูกเกลี่ยไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจัดแสดงชุดความคิดหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในไทย   ส่วนวัตถุที่หายไป ยังต้องพึ่งพากระทรวงและกรมกองที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ให้ชัด   หากทุกอย่างยังแท้ ทุกอย่างยังครบ ย่อมทำให้คนไทยผู้รักสมบัติของชาติมีความสุข   แต่ขณะที่ยังไม่ทราบ ผู้รักสมบัติชาติจึงนั่งไม่ติด เพราะหวั่นว่าข้อสงสัยในทางร้ายเกี่ยวกับวัตถุโบราณที่พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นจะกลายเป็นจริง   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 26 กันยายน 2557

มิวเซียมสยามชวนส่งภาพเก่าของ "ท่าเตียน"

มิวเซียมสยาม เชิญชวนผู้ที่มีภาพถ่ายเก่าของ “ท่าเตียน” ส่งเข้าประกวด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของท่าเตียน ในนิทรรศการชุดใหม่จากมิวเซียมสยาม   จะเป็นภาพตลาด ชุมชน ผู้คน ขอเพียงต้องบ่งบอกได้ว่าเป็นภาพที่ถ่ายที่ท่าเตียน ก่อนปี พ.ศ. 2500 โดยสแกนภาพถ่ายดังกล่าว ส่งเป็นไฟล์ jpeg ขนาด 1 MB พร้อมคำบรรยายภาพ มาที่อีเมล piyamas@ndmi.or.th ได้ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2557   จะมีเพียง 5 ภาพเท่านั้น ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายเก่าของชุมชน “ท่าเตียน” ณ มิวเซียมสยาม ซึ่งจะเปิดให้ชมในวันที่ 11 ตุลาคม 2557 โดยจะประกาศผลภาพที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 5 ภาพในวันที่ 33 ตุลาคม 2557 ทาง www.museumsiam.org   เจ้าของภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 5 ภาพ จะได้รับเชิญมาร่วมเป็นเกียรติในงานเปิดนิทรรศการภาพถ่ายเก่าของชุมชน “ท่าเตียน” ณ มิวเซียมสยาม พร้อมถ่ายภาพร่วมกับวิทยากรรับเชิญ ที่จะมาร่วมเสวนาเรื่องภาพถ่ายเก่าในวันเปิดนิทรรศการฯ   สอบถาม โทร. 02-225-2777 ต่อ 413 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan   ข้อมูลจาก Facebook-Museum Siam วันที่ 23 กันยายน 2557

กปน.เชิญชวนเยาวชนไทย เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ การประปาไทย

นางสาวทรรศนีย์ ฤกษ์ศานติวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การประปาไทย ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ และเพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่ทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดกิจการประปาไทย กปน. ขอเชิญชวนคณะอาจารย์และนักเรียน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ การประปาไทย ซึ่ง กปน. ได้ดำเนินการปรับปรุงโรงงานผลิตน้ำสามเสน ถนนพระรามที่ 6ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการการผลิตน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีโครงสร้างอาคารสวยงาม จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ประจำปี 2557 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ ภายในอาคารยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานจริงในสมัยนั้น เหมาะต่อการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่สถาบันการศึกษาทุกระดับ   ผู้สนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ การประปาไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 1 - 28 พฤศจิกายนนี้ (ยกเว้นวันที่ 14 พฤศจิกายน) โดยติดต่อจองวันและเวลาเข้าชมได้ที่ คุณศิริวรรณ กันชัย โทร. 0 2504 0123 ต่อ 1268 ในวันและเวลาราชการ ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมวันละ 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 09.30 - 11.00 น. และ 13.30 - 15.00 น. รับกลุ่มละ 100 คนเท่านั้น โดยผู้เข้าชมทุกท่านจะได้รับของที่ระลึก และร่วมลุ้นรางวัลจากฐานกิจกรรมแสนสนุก หมดเขตรับสมัครภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้   ข้อมูลจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 12 กันยายน 2557  

Muse Fest ตอน วันพิพิธภัณฑ์ไทย

Museum come alive!! “อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นแค่ตำนาน”   ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจจากอดีตสู่ปัจจุบันใน Muse Fest ตอน วันพิพิธภัณฑ์ไทย ชมละครสุดสร้างสรรค์ กิจกรรมพื้นบ้านและโชว์เด็ดๆ อีกเพียบ อาทิ   - นิทรรศการมีชีวิต : ตัวละครในพิพิธภัณฑ์จะถูกปลุกขึ้นมาโลดแล่นต่อหน้าคุณ ผ่านละคร 4 เรื่อง 4 รส “ตำนานสุวรรณภูมิ” “สามสาวเล่าเรื่อง” “คุณหญิงซื้อของ” และ “หญิงไทยที่รู้จัก”   - ตำนานหรรษา : ฟังเรื่องเล่าเคล้าจินตนาการ ตำนานผีฟ้าพญาแถน, ทำไมเราต้องกินข้าววันละ 3มื้อ, ทำไมหมากินข้าวแต่หมูกินรำ, ตำนานตาแฮก, นิทานสองสหาย ฯลฯ   - กิจกรรม Play+Learn : เกมค้นหาสุดยอดพ่อค้า, จิ๊กซอว์ 3มิติ, เกมก่อร่างสร้างเรือนไทย ฯลฯ   - ชมการแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสาน 17.30 น.    19 - 21 กันยายน 2557 สิบโมงเช้าเป็นต้นไป ที่ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ฟรี!!   *พิเศษ! บริการรถรางรับ-ส่ง เที่ยวพิพิธภัณฑ์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทุกชั่วโมง ในวันที่ 20 - 21 ก.ย. 57   สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-225-2777 ต่อ 0 (จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.30 - 17.30 น.)   รอบการแสดง นิทาน กิจกรรม และแผนที่ภายในงาน Muse Fest : วันพิพิธภัณฑ์ไทย   ข้อมูลจาก http://www.museumsiam.com วันที่16 กันยายน 2557

พิพิธภัณฑ์มีชีวา...ในแทนคุณแผ่นดิน

อาทิตย์นี้ (14ก.ย.) รายการ แทนคุณแผ่นดิน ยังคงอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี กับตลาดเก่าแก่ของที่นี่ "ตลาดร้อยปี สามชุก" สถานที่ที่ยังมีกลิ่นอายของความเก่าแก่ชวนให้ผู้คนได้มาสัมผัส ได้มาเที่ยว   เพราะตลาดสามชุกมิได้เป็นเพียงตลาดเท่านั้น แต่ยังถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิต ที่ผู้คนแถวนี้ยังช่วยกันอนุรักษ์คงเดิมไว้ให้ลูกหลานได้สัมผัสถึงความเก่าแก่ แต่แฝงไว้ด้วยมนต์คลังของวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนริมน้ำ หรือร้านค้าต่างๆ   นอกจากนี้ ริมแม่น้ำสุพรรณ ตลาดสามชุก ยังเคยเป็นเมืองท่าของคนสมัยก่อนที่ใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะเวลาจะไปบางกอกใช้เวลาถึง 2วันกันเลยทีเดียว งานนี้พิธีกรของเราก็ไม่พลาดที่จะชวนผู้ชมล่องเรือ เพื่อจำลองชีวิตของคนสมัยก่อน แวะไปดูพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทย 13 หลัง ที่สวยงามและยังคงไว้ซึ่งความเป็นไทย มาดูว่าบ้านเรือนในยุคสมัยนั้นสวยงามและน่าอยู่ขนาดไหน   ติดตามมนต์เสน่ห์ของตลาดร้อยปี สามชุก และความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวา ได้ในรายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน พิพิธภัณฑ์มีชีวา ในวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายนนี้ เวลา 14.30-15.00 น. ทาง NOW26   ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 กันยายน 2557

2 พิพิธภัณฑ์เด็ก เปิดวันเด็กปี 58

วันที่ 10 ก.ย.57 นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กของ กทม. 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์เด็ก เขตจตุจักร ว่าขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงบางส่วนที่ต้องเก็บรายละเอียดเนื้องานในการปรับปรุง จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้แน่นอน สำหรับพิพิธภัณฑ์เด็ก จตุจักรมีการปรับปรุงในรูปแบบแหล่งการเรียนรู้ที่ครบวงจรสำหรับเด็กทุกคน โดยจะมีแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องต่างๆ เช่น มีหนังสืออักษรเบรล หนังสือเสียง วิทยากรภาษามือ เพื่อให้เด็กทุกกลุ่มสามารถใช้งานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตามเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ในเบื้องต้น กทม. จะบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง อีกทั้งจะมีการรับสมัครอาสาสมัครเพื่อเป็นวิทยากรช่วยดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กๆอีกด้วย   สำหรับพิพิธภัณฑ์เด็ก เขตทุ่งครุ ซึ่ง กทม.จัดสร้างเป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเน้นให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ขณะนี้ กทม.ได้เปิดให้ทดลองใช้งานในเบื้องต้นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งนี้มีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันเด็กปี 2558 นี้   ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 11 กันยายน 2557

พิพิธภัณฑ์ Bowers ส่งมอบโบราณวัตถุบ้านเชียงคืนประเทศไทย

ตามที่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 Charles W. Bowers Museum Corporation (พิพิธภัณฑ์ Bowers) ได้ลงนาม Non-Prosecution Agreement กับสำนักงานอัยการสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ยุติการดำเนินคดีกับพิพิธภัณฑ์ Bowers กรณีที่ถูกหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาตรวจพบว่า โบราณวัตถุบ้านเชียงที่อยู่ในครอบครองของพิพิธภัณฑ์จำนวนกว่า 500 รายการ ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย โดยข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้พิพิธภัณฑ์ Bowers ต้องส่งมอบโบราณวัตถุบ้านเชียงที่อยู่ในความครอบครองคืนให้ประเทศไทยนั้น   สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส ขอแจ้งความคืบหน้าล่าสุดว่า พิพิธภัณฑ์ Bowers ได้จัดส่งโบราณวัตถุบ้านเชียงจำนวน 557รายการ คืนประเทศไทยแล้ว โดยเป็นการขนส่งทางเรือและมีกำหนดเดินทางถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 30 สิงหาคม 2557   กรณีดังกล่าวนี้ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานงานและติดตามอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเร่งรัดกระบวนการและให้มีการส่งคืนโบราณวัตถุต่างๆ กลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว และขณะนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากรเพื่อเตรียมการรับมอบโบราณวัตถุดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จึงถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของไทยและสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุระหว่างประเทศโดยผิดกฎหมาย   ข้อมูลจาก คมชัดลึก วันที่ 4 กันยายน 2557

อบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำความสะอาดวัตถุพิพิธภัณฑ์”

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ขอเชิญเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำความสะอาดวัตถุพิพิธภัณฑ์” ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุมคุรุเวทย์ อาคาร 17 ชั้น 2 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์จิราภรณ์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านงานอนุรักษ์จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) พร้อมคณะ เป็นวิทยากร   กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ เรื่อง หลักการพื้นฐานในการทำความสะอาดโบราณวัตถุ พร้อมทั้งสาธิตวิธีการทำความสะอาด แนะนำอุปกรณ์ เครื่องมือ และสารเคมี โดยผู้เข้าอบรมจะได้ลงมือฝึกการทำความสะอาดโบราณวัตถุ ประเภทใบลาน ไม้ เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง สำริด และเหล็ก   ข้อมูลจาก http://www.ryt9.com/ วันที่ 25 สิงหาคม 2557

“ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ แอ่วเชียงใหม่ ม่วนใจ๋กับสวนพฤกษศาสตร์ ”

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี จัดโครงการนิทรรศการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พิพิธภัณฑ์เครือข่าย “ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ แอ่วเชียงใหม่ ม่วนใจ๋กับ สวนพฤกษศาสตร์” ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคมถึง 5 กันยายน 2557 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ทั้งในเรื่องการพัฒนาการให้บริการ การจัดแสดงและการประชาสัมพันธ์ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย   การจัดกิจกรรมครั้งนี้จะได้พบกับสาระน่ารู้ ควบคู่กับความเพลิดเพลินมากมาย รวมทั้ง การเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ ตื่นเต้นกับไดโนเสาร์เพื่อนตัวใหญ่ในลานกิจกรรมใต้ร่มไม้อันร่มรื่น ร่วมเดินทางย้อนเวลาสู่ห้วงอดีต สู่ดินแดนแห่งสัตว์โลกล้านปีและป่าอันอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย   - กิจกรรม “การขุดค้นไดโนเสาร์” เป็นการเรียนรู้เรื่องการขุดสำรวจซากดึกดำบรรพ์ ทดลองใช้อุปกรณ์เพื่อสร้างจินตนาการในการเป็นนักสำรวจในแบบนักธรณีวิทยา - กิจกรรม “Dinosaur and Forest” นิทรรศการซากดึกดำบรรพ์และวิวัฒนาการพืชร่วมยุคผ่านมาตราธรณีกาลในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับซากพืชดึกดำบรรพ์และพืชร่วมสมัย - กิจกรรมไดโนเสาร์ในจินตนาการ เพลิดเพลินกับการสร้างไดโนเสาร์ในรูปแบบผลงานศิลปะของตนเองทั้งการระบายสี ปั้นดินน้ำมัน พิมพ์รอยเท้าไดโนเสาร์และพับกระดาษ - กิจกรรม “นักธรณีวิทยาน้อย” สัมผัสกับอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์ตัวอย่างและสัมผัสตัวอย่างจริงจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร   จึงขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าชมนิทรรศการ พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมพิเศษมากมาย ในนิทรรศการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พิพิธภัณฑ์เครือข่าย “ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ แอ่วเชียงใหม่ ม่วนใจ๋กับสวนพฤกษศาสตร์” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5384-1234, 093-1300668 และ www.qsbg.org   ข้อมูลจาก องค์การสวนพฤกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้”

ฝ่ายพิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ สำนักพระราชวัง จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้” ในวันที่ 19 - 31 สิงหาคม ศกนี้ เวลา 09.00 - 15.30 น. นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของพระที่นั่งวิมานเมฆตั้งแต่แรกเริ่มถึงปัจจุบัน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระผู้สถาปนาพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อ พ.ศ. 2443 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระผู้ทรงฟื้นคืนชีวิตให้พระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อ พ.ศ. 2525 ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 5 เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทอง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมประณีตสวยงามเป็นเลิศ และมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทย สมควรอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติสืบไป        สำนักพระราชวังจึงได้เปิดพระที่นั่งวิมานเมฆให้เป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรตั้งแต่วโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2528 เป็นต้นมา เป็นเวลาครบ 29 ปี โดยมีชื่อเสียงติดอันดับโลกว่าเป็น “พระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าชมกว่าล้านคนทุกปี        นอกจากนิทรรศการ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้” เนื่องในโอกาสงาน “เฉลิม 82 พรรษา มหาราชินี และฉลอง 29 ปี พิพิธภัณฑ์” ที่สวยงามตระการตาแล้ว ยังมีกิจกรรมเด่นคือตามรอย เรื่อง “เงาะป่า” ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อพ.ศ. 2448 ด้วย แรงบันดาลพระราชหฤทัยจากวิถีชีวิตของพวกเงาะป่าที่เมืองพัทลุง ชื่อ “คะนัง” ที่ทรงนำมาชุบเลี้ยงเป็นมหาดเล็กในวัง รวมทั้งการออกร้านของวิทยาลัยในวังชาย-หญิง, ร้านจิตรลดา, ร้าน ภูฟ้า สินค้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา การจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกและแสตมป์ส่วนตัว I-Stamp ของบริษัทไปรษณีย์ไทย        นิทรรศการ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้” เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 19 - 31 สิงหาคม ศกนี้ เวลา 09.00 - 15.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม ปิดทำการ โดยรอบสำหรับนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านมามีผู้เข้าชมอย่างล้นหลามกว่า 2 หมื่นคน   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 สิงหาคม 2557