โบราณวัตถุบางชิ้นที่พิพิธภัณฑ์ ′วังนารายณ์′ ถูกสับเปลี่ยนจริงหรือไม่?

จู่ๆ "พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์" หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ก็ตกเป็นข่าว
 
มีการรายงานข่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายนเป็นต้นมาว่า โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์บางชิ้นถูกสับเปลี่ยนจริงหรือไม่? การตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังดำเนินต่อไปและยังไม่ทราบว่าสุดท้ายผลการสอบจะลงเอยเช่นไรแต่สิ่งที่แน่แท้ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์นั้นมีความสำคัญ และยังแน่แท้ว่าโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์วังนายรายณ์นั้นก็มีความสำคัญ
 
ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปพินิจดูจะพบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ อันเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ จำนวนกว่า 1,864 รายการ ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือวังนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2467 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์
 
ปี พ.ศ.2504 จึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ มีการเพิ่มเติมสถานที่จัดแสดงขึ้นที่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น จัดสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหมู่ตึกพระประเทียบ
 
"กวิฎ ตั้งจรัสวงศ์" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตภัณฑารักษ์ ปฏิบัติการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ อธิบายว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เดิมเป็นพระราชวังโบราณสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาพระราชวังแห่งนี้ถูกใช้งานอีกครั้งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
 
ในตอนนั้นมีการสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้น ซึ่งพระที่นั่งพิมานมงกุฎถูกใช้งานต่อมาอีกหลายครั้ง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัด ตลอดจนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเมืองลพบุรีในปัจจุบัน
 
"อาคารต่างๆ ในวังนารายณ์ รวมถึงพระที่นั่งพิมานมงกุฎได้ถูกซ่อมแซมมาโดยตลอด ในส่วนของชั้นบนสุด จัดแสดงเป็นห้องที่ระลึกสมัยรัชกาลที่ 4เป็นห้องบรรทม มีการจัดแสดงเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญ เช่น เรื่องเงินตราและเหรียญในสมัยนั้น เรื่องวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์" อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากรกล่าว
 
"ภูธร ภูมะธน" อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ สมเด็จพระนารายณ์ และอดีตประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี กล่าวว่า โดยหลักการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ มีความสำคัญในระดับพิพิธภัณฑ์แนวหน้าของประเทศ ด้วยระบบการจัดแสดง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
 
"ส่วนเรื่องความสำคัญ โบราณวัตถุทุกชิ้นมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของชาวบ้านในยุคนั้น ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำเสนอในแง่มุมอะไร แต่ในกรณีลพบุรี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีสาระในการนำเสนอครบทุกสาระอันเป็นวิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ในประเทศไทย
 
นั่นคือ เราจะสามารถเห็นยุคประวัติศาสตร์ได้อย่างหลากหลาย เพราะมีกระทั่งคอลเล็กชั่นของชาวไร่ชาวนาที่เป็นอุปกรณ์พื้นบ้าน ผมสามารถยืนยันได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ" อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯกล่าว
 
ในขณะที่ "ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ" นักวิชาการจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศไทย คือ มีโบราณสถานตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย คือ มีทั้งโบราณสถานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และโบราณสถานในสมัยรัชกาลที่ 4
 
ขณะที่ส่วนโบราณวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ฯวังนารายณ์ จะคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกที่ในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร คือ มีวิธีการจัดแสดงในแบบเดียวกัน
 
คือ วิธีคิดแบบ "ศิลปะในประเทศไทย"
 
"ตามความเข้าใจของคนทั่วไป หากเราไปที่ลพบุรี เราควรจะได้ดูของที่เจอที่ลพบุรีหรือบริเวณใกล้เคียง ไปที่อยุธยาก็ควรจะเจอของที่พบที่อยุธยา แต่การจัดแสดงในรูปแบบวิธีคิดแบบศิลปะในประเทศไทย จะมีการแทรกประวัติศาสตร์แห่งชาติไว้ในนั้น มีการนำศิลปะจากหลายที่มารวมกัน เพื่อบอกว่าทั้งหมดนี้สืบทอดมาเป็นไทย"
 
ศิริพจน์กล่าวอีกว่า พูดง่ายๆ คือหากเข้าไปในวังนารายณ์ จะเจอทั้งพระพุทธรูปทวารวดี ล้านนา ขอม อยุธยา สุโขทัย เจอทุกแบบ เพราะฉะนั้นวิธีแบบนี้จะทำให้โบราณวัตถุในประเทศไทยทั้งหมดถูกเกลี่ยไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจัดแสดงชุดความคิดหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในไทย
 
ส่วนวัตถุที่หายไป ยังต้องพึ่งพากระทรวงและกรมกองที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ให้ชัด
 
หากทุกอย่างยังแท้ ทุกอย่างยังครบ ย่อมทำให้คนไทยผู้รักสมบัติของชาติมีความสุข
 
แต่ขณะที่ยังไม่ทราบ ผู้รักสมบัติชาติจึงนั่งไม่ติด เพราะหวั่นว่าข้อสงสัยในทางร้ายเกี่ยวกับวัตถุโบราณที่พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นจะกลายเป็นจริง
 
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 26 กันยายน 2557

เผยแพร่เมื่อ: 29 กันยายน 2557