พิพิธภัณฑ์ทหารค่ายจักรพงษ์


ที่อยู่:
กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 12 ต.ดงพระราม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี 25000
โทรศัพท์:
0-3721-4492
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ทหารค่ายจักรพงษ์

ตึกสีเหลืองสไตล์ยุโรป  โดดเด่นสง่างามภายในอาณาบริเวณของมณฑลทหารบกที่ 12  ค่ายทหารแห่งแรกของประเทศไทย  ผู้ทรงก่อตั้งคือ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ  พระองค์ท่านเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในจำนวน 97 องค์ของรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านไปเรียนนักเรียนนายร้อยที่รัสเซียและเรียนต่อวิชาเสนาทหารที่ประเทศเดียวกัน  จากนั้นได้นำความรู้มาปรับปรุงข้าราชการทหารไทย

ตึกหลังนี้เริ่มสร้างเมื่อปี 2461 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ เสด็จมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2462 ในปี 2536 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นตึกอนุรักษ์  และเริ่มทำเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ จ.ส.อ.นพนันท์  หมอยาสิทธิ์  ผู้นำชมกล่าวว่า   การจัดแสดงมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างจัดเป็นห้องพระบรมรูป ร.5 หนึ่งห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องสมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์  มีห้องทำงานและมุมพักผ่อนอิริยาบถของท่าน  ส่วนวัตถุจัดแสดงตามห้องต่างๆในพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในการทหาร ได้แก่  พวกอาวุธที่ทหารใช้ในการรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามมหาเอเชียบูรพา  มีปืน ดาบปลายปืน กระบี่  อาวุธเหล่านี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพาวุธ  ทางนั้นต้องการให้นำมาจัดแสดงเพิ่มเติม แต่ที่นี่ยังไม่พร้อมเรื่องตู้จัดแสดง   จึงนำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่างเพียงบางชิ้น

ส่วนของอุปกรณ์ภาคสนามในการออกรบ  ได้แก่ ใบเลื่อย  สาแหรก  หมวกเหล็ก อย่างเชือกที่มัดเป็นสาแหรก มีประโยชน์มากในการทหาร  โดยใช้สำหรับหามคนบาดเจ็บที่โดนยิง  เขาจะใช้ไม้คานเสียบตรงรูร้อย  ร้อยเสร็จแล้วก็ช่วยกันแบกออกมาส่งที่หมอ  ถ้าไม่มีคนเจ็บก็จะใช้สำหรับแบกข้าวสาร  แบกปืน  และสัมภาระอื่นๆ
 
พวกเครื่องครัวมีกระทะใบบัวขนาดใหญ่  ปิ่นโตเถาใหญ่ทำจากทองเหลือง  กระต่ายขูดมะพร้าวทำด้วยไม้  การประกอบอาหารจะใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่  หุงข้าวในซึ้ง  การผัดจะใช้ใบพายคน ซึ่งต้องเป็นคนที่แข็งแรงมาก  เมื่อปรุงเสร็จก็แบ่งใส่ปิ่นโตใหญ่  ปิ่นโตเถาใหญ่จะแยกข้าวและกับข้าวออกคนละชั้น  ปิ่นโตขนาดที่จัดแสดงนี้สามารถเลี้ยงทหารได้นับสิบคนให้อิ่มได้ทั้งวัน  อีกทั้งยังสามารถเก็บความร้อนได้ดี 
               
อีกส่วนหนึ่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมากคือ ถ้วยโถชามกระเบื้องแบบยุโรป  ทุกชิ้นมีตรากองทัพบก  ใช้ในการรับรองบุคคลสำคัญ  ความน่าสนใจอยู่ที่ความสวยงามคงทน  แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแต่ยังคงสภาพดีมาก  และขนาดของภาชนะที่ใหญ่กว่าที่เราพบเห็นและใช้กันในปัจจุบัน  จานชามทัพพีช้อนส้อมล้วนมีขนาดใหญ่เข้าชุดกัน  ที่น่าสนใจยังมีพวกภาชนะเครื่องเงิน  มีที่วางขนมปังปิ้ง  ที่วางไข่ลวก หรือจะเป็นหม้อไฟ  อย่างที่เราเคยเห็นกันเวลาสั่งต้มยำในร้านอาหาร  แต่หม้อไฟของที่นี่ทำจากเงินแท้และมีลวดลายสวยงาม  หรือที่เห็นเป็นมะพร้าวแห้งลูกใหญ่  เปิดดูข้างในมีกาน้ำชา  ป้ายเขียนอธิบายว่าเป็นงานช่างฝีมือสมัยราชวงศ์ชิง  คริตศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ยังมีพวกเครื่องใช้สำนักงานสมัยก่อน  มีเครื่องพิมพ์ดีด  กำปั่นเหล็กสำหรับเก็บทรัพย์สินและเอกสารมีค่าของทางราชการ   มีตู้เก็บพระพุทธรูปโบราณที่ล้ำค่าในทางศิลปกรรม  อีกห้องหนึ่งมีเครื่องดนตรีไทยที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้  เพราะเปลี่ยนเป็นดนตรีสากล  ทางวงดุริยางค์จึงนำเครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้องวง ระนาด มามอบให้กับทางพิพิธภัณฑ์
               
ในการเดินชมพิพิธภัณฑ์ จ.ส.อ.นพนันท์ให้สังเกตที่สถาปัตยกรรมของตึกนี้ด้วย  แม้เวลาจะผ่านมา 90 กว่าปี  หลังการบูรณะซ่อมแซมโดยใช้ช่างของกรมศิลปากร  ตึกหลังนี้ก็กลับมาสวยงามสมบูรณ์  โดยรูปแบบแต่เดิมมาการที่ทำให้ประตูหน้าต่างตรงกัน  ทำให้มีผลต่อการระบายอากาศที่ดี  หลังจากเดินชมบนตึกแล้ว  จ.ส.อ.นพนันท์ได้พาลงไปดูชั้นใต้ดิน  ซึ่งตึกสมัยก่อนมักออกแบบให้มีชั้นใต้ดินก็เนื่องมาจากว่าในช่วงศึกสงครามคือสถานที่หลบภัยได้เป็นอย่างดี  ห้องใต้ดินของที่นี่กว้างขวาง  มีจำนวนห้องมากมาย  และโดยรอบจะมีช่องที่ให้แสงสว่างเข้าได้  พร้อมกับสามารถมองลอดออกไปดูภายนอกได้  และที่เห็นเป็นเสาไม้วางยาวอยู่  อันนี้เมื่อก่อนเป็นเสาธงไม้สักต่อกันขึ้นไป 3 ท่อนสูง 18.6 เมตร  ลักษณะทำเป็นลิ่มเชื่อมต่อกัน เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วลมกรรโชกแรงจึงหักลงมา  แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ข้างในนี้ 
               
และอีกวัตถุจัดแสดงที่โดดเด่นอยู่ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์   ปืนใหญ่ภูเขา ชื่อเต็มว่า  ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ใช้ในระดับกองพล เข้ามาประจำการในกองทัพบกไทยเมื่อปี 2463 ในสมัยรัชกาลที่ 6  จ.ส.อ.นพนันท์ให้รายละเอียดว่าปืนนี้ปากลำกล้องกว้าง 75 มม. ภายในบรรจุด้วยเกลียวทั้งหมด 32 เกลียว   ยิงได้ไกลที่สุด 6 กิโลเมตร  ใช้พลยิงทั้งหมด 5 คน  ทำหน้าที่ยิงลั่นไก  ป้อนกระสุน รับส่งวิทยุ  หาตำแหน่งข้าศึก  ปืนใหญ่ภูเขาที่นำมาตั้งจัดแสดงไว้ด้านนอกนี้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น  ปัจจุบันปลดประจำการแล้ว
               
กลุ่มผู้เข้าชมที่มาพิพิธภัณฑ์นี้   ที่ผ่านมาจะมากันเป็นหมู่คณะ  เป็นนักเรียนนักศึกษา  มาฟังบรรยายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของค่ายจักรพงษ์  จ.ส.อ.นพนันท์  ได้แนะนำให้ชมวีดีทัศน์ชุด “100  ปีจุลจักรพงษ์”    เป็นการครบรอบ 100 ปี การประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสองค์เดียวในสมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์และหม่อมคัทริน ชายาสามัญชนชาวรัสเซีย  พระองค์จุลฯ เติบโตในปลายรัชกาลที่ 5 และเป็นพระราชนัดดาองค์แรกในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ   เนื้อหา  ภาพ และการบรรยายมีความน่าสนใจมาก  สำหรับผู้เข้าชมสามารถมานั่งชมได้ที่ห้องด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ 
       
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  15  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : การเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรี     
1.รถยนต์ ใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง คือ 
            1.1  กรุงเทพฯ แยกรังสิตตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่าน อ. องครักษ์  จ.นครนายก เข้าทางหลวงหมายเลข 33 แยกขวาที่สามแยกหนองชะอมตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 132 กม. หรือวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวขวาที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 136 กม. 
                  1.2 กรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่หินกองไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่าน  จ. นครนายก แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 164 กม.
                  1.3 กรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 304 ผ่าน จ. ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 319 ผ่านอ.ศรีมหาโพธิ์  ระยะทาง 158 กม.
        2. รถโดยสารประจำทาง 
        มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต) ทุกวันวันละ หลายเที่ยว มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ คือ 
            2.1 เส้นทางกรุงเทพฯ -หินกอง-นครนายก-ปราจีนบุรี รถโดยสารปรับอากาศ ชั้นหนึ่ง (กรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี) เที่ยวแรกเวลา 05.00 น. เที่ยวต่อไปออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวสุดท้ายเวลา 21.00 น. รถโดยสารธรรมดา (กรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี)เที่ยวแรกเวลา 04.45 น. เที่ยวต่อไปออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวสุดท้าย 19.30 น. ติคต่อ สอบถามรายละเอียดได้สถานีขนส่งสายเหนือ โทร. 272-5160, (รถธรรมดา) และโทร. 272-5299 (รถปรับอากาศ) 
        3. รถไฟ 
             ขบวนรถไฟโดยสารกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรีออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน 
ติดต่อสอบถามที่หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020
                อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ด้านในพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 12 จากแยกวงเวียนนเรศวร  เข้ามาทางเดียวกับที่จะมาสถานีรถไฟ  ค่ายจักรพงษ์มีพื้นที่กว้างขวางมาก
 -----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15  เดือนมีนาคม  พ.ศ.2555
                นิทรรศการ 100 ปีจุลจักรพงษ์.http://www.oknation.net/blog/print.php?id=371348 [Accessed  28/05/2555]
                พิพิธภัณฑ์ทหารค่ายจักรพงษ์. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=486689  [Accessed  22/05/2555]
ชื่อผู้แต่ง:
-