พิพิธภัณฑ์อธึก สวัสดีมงคล


ที่อยู่:
ยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ในพระสังฆราชูปถัมภ์ วัดกำแพง ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี
โทรศัพท์:
038-276-330
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8:30-16:00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์อธึก สวัสดีมงคล

คุณธีรชัย ทองธรรมชาติ นายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี คนปัจจุบันได้บอกเล่าเรื่องราวของ คุณอธึก สวัสดีมงคล ให้ฟังว่า คุณอธึก เป็นชาวชลบุรีโดยกำเนิด เกิดในตระกูลพ่อค้า ในอดีตครอบครัวของคุณอธึกได้รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมาจำพรรษาที่วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี คุณอธึก เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดก่อตั้งสมาคม โดยยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ซึ่งเป็นสมาคมอันดับที่ 3 ของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2495

คุณอธึก สวัสดีมงคล เป็นคนรักการอ่าน การเขียน ชอบสะสมของเก่า และเคยได้จัดนิทรรศการโบราณวัตถุ ศิลป และวัฒนธรรม ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรี และยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมทางด้านพระพุทธศาสนาหลากหลายอย่าง เช่น การแสดงปาฐกถาธรรม การประกวดโต๊ะหมู่บูชา การประกวดตกแต่งต้นเทียนพรรษา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก่อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าประกวด และประชาชนที่เข้าขมจะได้รับความรู้ และยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย

คุณอธึก สวัสดีมงคล ได้รับเกียรติให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นของจังหวัดชลบุรี ในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ.2525 และเป็นผู้มีผลงานวัฒนธรรมดีเด่นสาขามนุษยศาสตร์ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้รับสมญานามว่า ช้างเผือกเมืองชล ได้รับการยกย่องให้เป็นคนไทยดีเด่นของมูลนิธิสายใจไทยสาขาวัฒนธรรมจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เมือ่ปี พ.ศ.2528 นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็นนายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ตลอดระยะเวลา 42 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 จนถึง พ.ศ.2539

คุณอธึก เสียชีวิตในปี พ.ศ.2539 ทางยุวพุทธิกสมาคมชลบุรีจึงก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์อธึก สวัสดีมงคล ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับคุณอธึก วัตถุจัดแสดงทั้งหมดเป็นของสะสมของคุณอธึก ซึ่งมีทั้งได้รับบริจาค จัดหา จัดซื้อมาเอง แต่ยังไม่มีการลงทะเบียนแต่อย่างใด เพียงแค่จัดให้เป็นหมวดหมู่เท่านั้น

ภายในพิพิธภัณฑ์อธึก สวัสดีมงคล อยู่ในส่วนเดียวกันของยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี เป็นห้องโถงกว้าง และมีเพดานสูง มีการจัดวางตู้กระจกทรงสูง และทรงเตี้ยจัดแสดงวัตถุไว้โดยรอบบริเวณ จากซ้ายสุด จัดแสดงเครื่องชามสังคโลก โอ่ง ไห ชาม ที่พบเจอในทะเลแถบชลบุรี ถัดไปจัดแสดงตู้ลายรดน้ำขนาดเล็ก เกือบ 30 ใบ ด้านล่างจัดแสดงตะเกียงโบราณ ตู้ทรงเตี้ยด้านหน้าจัดแสดง วัตถุมงคลที่ทางวัดกำแพงใต้และยุวพุทธกสมาคมชลบุรีจัดสร้างขึ้น ถัดไปเป็นหนังสือที่คุณอธึก สมัยยังมีชีวิตอยู่ได้จัดทำขึ้นร่วมกับยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี เช่น อธึกเขียน, รวมเรื่อง “เมืองชล” เป็นต้น

ตู้ถัดไปจัดแสดงพระบูชา เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั่งประเทศ ถัดไปเป็นรูปหล่อพระมหากษัตริย์ ในหลายพระองค์ รวมทั้งวีรสตรี ถัดไปเป็นเครื่องทองเหลือง อย่างเช่น ขัน ง กระโถน และพาน ตู้กระจกทรงเตี้ยด้านหน้าจัดแสดงอุปกรณ์สำหรับช่างไม้ต่างๆ ในการต่อเรือ ด้านบนสุดของตู้จัดแสดงเรือจิ๋ว

ด้านตรงทางเข้าลึกเข้าไปจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวหลายๆ รูปแบบ และยังแสดงกะลาไม่มีตา กะลาตาเดียว กะลา 2 ตา 3 ตา ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องลางของขลังสำหรับผู้ที่นับถือพระราหู ถัดไปทางด้านขวาของห้อง แรกสุดจัดแสดงพระพุทธรูปปางต่างๆ และยังมีรูปหล่อส่วนศีรษะจนถึงคอของคุณอธึก และมีใบเกียรติบัตรรับรองการได้รับรางวัลทางวัฒนธรรมต่างๆ ของคุณอธึก 

ตู้ถัดไปจัดแสดงเครื่องเคลือบ เครื่องเบญจรงค์ เครื่องแก้วเจียระนัย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ส่วนด้านล่างจัดแสดงชุดเชี่ยนหมาก อุปกรณ์ตะบันหมาก มีทั้งเงิน ทองเหลือง มุก และไม้ ด้านบนสุดของตู้จัดแสดงไม้พายเขียนลายโบราณ พร้อมทั้งที่ปั่นด้ายโบราณ ส่วนตู้กระจกด้านหน้าจัดแสดงเครื่องจักสานของคุณประดับ สุดใส ผู้มีฝีมือทางด้านการสาน จากอำเภอพนัสนิคม 

คุณธีรชัยได้ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันผู้ที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์น้อยลง ถึงแม้จะเปิดให้เข้าชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งรายได้ในการดูแลยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี และพิพิธภัณฑ์อธึก สวัสดีมงคลแห่งนี้ได้มาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา การจัดกิจกรรมของสมาคม เช่น งานปีใหม่ จึงอยากให้หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ มาช่วยในเรื่องของการลงทะเบียน หรือช่วยปรับปรุงจะสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชลบุรีถึงจะเปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์ไปก็ยินดี

นอกจากนี้ทางยุวพุทธิกสมาคมชลบุรีผลิตหนังสือ “สามมุข” ซึ่งเป็นวารสารราย 3 เดือน เพื่อเผยแพร่งานของสมาคม และเผนแผ่ธรรมะ อีกทั้งยังแจกฟรีไปยังหอสมุดต่างๆ และสมาชิกทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นปีที่ 48 แล้ว วารสาร “สามมุข” นี้เริ่มผลิตตั้งแต่สมัยที่คุณอธึกยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งคุณธีรชัยกล่าวยกย่องคุณอธึกตลอดเวลาว่าเป็นบุคคลที่น่ายกย่อง เพราะเป็นผู้ที่มีน้ำใจ มีคุณธรรม และมีมนุษยสัมพันธ์อันดีเลิศ สมควรยกย่องให้เป็นบุคคลตัวอย่างของคนชลบุรีต่อไป

หนังสืออ้างอิง : อธึก สวัสดีมงคล และคณะ. รวมเรื่อง “เมืองชล” กรุงเทพฯ : พันนา บรรจุภัณฑ์, 2550.

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ

สำรวจภาคสนาม : 30 มีนาคม 2552

ชื่อผู้แต่ง:
-