ที่อยู่:
451 หมู่ 2 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (ถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
วันและเวลาทำการ:
สำนักงานพิพิธภัณฑ์ เปิดทำการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 น. – 16.30 น. อาคารจัดแสดง เปิดทำการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ นักบวช ยกเว้นค่าเข้าชม
อีเมล:
cm_museum@hotmail.com
ของเด่น:
พระแสนแซว่,รอยพระพุทธบาทประดับมุก ,พระพุทธรูปล้านนา,พระบฎ,เสื้อเยียรบับ-เสื้อครุยดิ้นเงินดินทอง-ไม้เท้าหุ้ททองคำของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของล้านนา
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช 2512 มีการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 23 ไร่ อาคารพิพิธภัณฑสถานเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ก่ออิฐถือปูน ประดับยอดจั่วด้วยกาแลแบบศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ
วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ คือ การตั้งแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่รวบรวมได้จากบริเวณภาคเหนือตอนบน อันประกอบด้วย พื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน ลำพูน และลำปาง และสาเหตุที่พิจารณา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เนื่องจากมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็นที่ตั้งของราชธานีหรือเมืองหลวง ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาหรือไทยฝ่ายเหนือมาก่อน อีกทั้งยังคงสถานะเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือสืบต่อมาจนทุกวันนี้
เมื่ออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ แล้วเสร็จ ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานประกอบพิธีเปิด
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2516 และสามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าชมและใช้บริการต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑสถานได้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงและเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ส่วนใหญ่ได้จากการสำรวจและดำเนินการทางโบราณคดีในเขตภาคเหนือตอนบน รวมทั้งได้รับมอบจากประชาชน และหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ พุทธสถานเชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นต้น
การจัดแสดงในปัจจุบัน
1.) ภายในอาคารจัดแสดง แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ส่วนจัดแสดงชั้นบน จำนวน 8 ห้อง ประกอบด้วย
- ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ
- สมัยประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ
- อาณาจักรล้านนา
- ล้านนาภายใต้การปกครองของพม่า
- ล้านนาสมัยรัตนโกสินทร์
- ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และราชสำนักสยาม
- พระพุทธศาสนาอาณาจักรล้านนา
- คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ส่วนจัดแสดงชั้นล่าง จำนวน 8 ห้อง ประกอบด้วย
- พัฒนาการพระพุทธรูปศิลปะล้านนา
- พระแสนแซว่
- พระพิมพ์ล้านนา
- เครื่องพุทธบูชา และเครื่องสักการะในพระพุทธศาสนา
- โบราณวัตถุพบที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
- เครื่องถ้วยล้านนา
- จิตรกรรมล้านนา
- ศิลปะในประเทศไทย
2.) การจัดแสดงกลางแจ้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้เคลื่อนย้ายเตาเผาเครื่องถ้วยแหล่งเตาวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางเตาเผาเครื่องถ้วยแหล่งเตาพาน (โป่งแดง) อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายมาจัดแสดงเพื่อการศึกษารูปแบบ ลักษณะ เตาเผาภาชนะดินเผา ที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สังคมและเศรษฐกิจในอาณาจักรล้านนา
รีวิวของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ โดดเด่นด้วยอาคารจัดแสดงแบบล้านนาประยุกต์ได้ปรับปรุงการจัดแสดงให้มีเนื้อหาลักษณะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง โดยนำเสนอเรื่องราวและหลักฐานตั้งแต่ภูมิหลังแผ่นดินล้านนา แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเผ่าลัวะ และหริภุญไชย รัฐแรกของภาคเหนือ จนกระทั่งเกิดการสถาปนานครเชียงใหม่ อันแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองและความเสื่อมของราชอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งเข้าสู่เรื่องราวของของนครเชียงใหม่ใต้ร่มอาณาจักรสยาม การค้า และเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตและพัฒนาการทางสังคม ตลอดจนแสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปกรรมล้านนาในประเทศข้อมูลจาก : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.“เที่ยว ท่อง ย่ำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.กรุงเทพฯ,มปป. หน้า 54-55
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประวัติเมือง อาณาจักรล้านนา เชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์ภาพจิตรกรรม 3 มิติ เชียงใหม่
จ. เชียงใหม่
ศูนย์วัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนวัดแม่แพะ
จ. เชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์ศูนย์วิชาการท้องถิ่น ร.ร.ปางลัน
จ. เชียงใหม่