สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ


สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้รับพระราชทานชื่อสวนเมื่อปี 2537 เป็นสวนที่มีการจัดการที่ได้ระดับมาตรฐานสากลและเป็นสถานที่เชิดชูความงามและคุณค่าของพรรณไม้ไทย โดยจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในสวน ได้แก่ Canopy Walks เส้นทางศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ศูนย์เกษตรอินทรีย์ เส้นทางวัลยชาติ อุทยานขิง-ข่า เส้นทางสวนรุกขชาติ เส้นทางกระสุนพระอินทร์-พระราม เส้นทาง Banana Avenue และน้ำตกแม่สาน้อย

ที่อยู่:
สวนพฤกษาศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
โทรศัพท์:
053-841-234, 053-841-033, 093-130-0668
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 09.00-16.30 น..
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
อีเมล:
bgo@qsbg.org
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ

ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลไทย ได้จัดตั้ง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อสพ.) ขึ้น เพื่อสนับสนุนงานค้นคว้าวิจัยทางด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์นอกถิ่นที่อยู่อาศัยของทรัพยากรพรรณพืชอันทรงคุณค่าของประเทศ อ.ส.พ. มีสถานภาพเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ใต้สังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2545 สืบเนื่องมาจากการปฏิรูประบบราชการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์จึงได้ย้ายไปสังกัดกระทรวงที่ได้รับการจัดตั้งใหม่คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แต่เดิมรู้จักกันในนามของสวนพฤกษศาสตร์แม่สา นับว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิจัยและให้ความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2537 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือของ องค์การฯ จังหวัดเชียงใหม่ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์”
 
ภารกิจหลักของสวนพฤกษศาสตร์ คือ เป็นศูนย์รวมพรรณไม้ไทย ที่มีความเป็นเลิศทางิวชาการด้านพืช ทำหน้าที่เป็นศูนย์ศึกษาและค้นคว้าวิจัย ทางด้านพฤกษศาตร์  ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นสถานที่เผยแพร่ความสวยงามและคุณค่าของพรรณพฤกษชาติไทย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป
ภายในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพันธุ์ไม้มากมาย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พืช มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งข้อมูลในลักษณะของสิ่งของต่างๆ ที่ได้มีการรวบรวมไว้จัดแสดง เพื่อการศึกษาเรียนรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ ทั้งต่อนักพฤกษศาสตร์,นักศึกษา นักเรียนที่เรียนวิชาพฤกษศาสตร์ โดยตรงหรือทั่วไป และยังมีความสำคัญต่อเด็ก, เยาวชน ตลอดจนบุคคลทั่วไป ที่จะได้พบเห็น และรู้จักตัวอย่างวัตถุทางพฤกษศาสตร์ อันจะทำให้รู้จักประโยชน์, เห็นคุณค่า, และให้ความสำคัญต่อ การอนุรักษ์พืชและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่ทำการสงวนดูแลและเก็บรักษาวัตถุหรือวัสดุทางพฤกษศาสตร์ ที่มีคุณค่าไว้ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ให้คงสภาพอยู่ยาวนาน การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พืชขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์จึงมีประโยชน์ตรงต่อการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ในทุกระดับ
 
ภายในสวนพฤกษศาสตร์ยังมีเส้นทางชมสวนหลายเส้นทางและมีกลุ่มอาคารเรือนกระจกสำหรับให้นักท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมชมได้สนุกเพลิดเพลินกับชนิดพรรณพืชที่มีความหลากหลายซึ่งมีทั้งชนิดพรรณไม้พื้นเมืองประจำถิ่น และพรรณไม้จากต่างประเทศ เช่น
 
แปลงรวมพันธุ์ไม้ดอกขาว (White flowers collection) ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางหน้าสวนพฤกษศาสตร์ฯ ไปยังกลุ่มอาคารเรือนกระจก มีพื้นที่ประมาณ  40 ไร่ เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกขาว ที่สวนพฤกษศาสตร์มีแผนจะจัดปลูกไว้ประมาณ 300 ชนิด ขณะนี้ได้จัดปลูกไปแล้วจำนวน 120 ชนิด ทำให้ท่านสามารถเข้าชมความงามของพันธุ์ไม้ดอกขาวได้ตลอดทั้งปี 
เส้นทางสวนรุกขชาติ (Arboretum trail) ผ่านแปลงรวมพันธุ์กล้วย บอน ปาล์ม เฟิน แปลงขิงข่า ปรง  และสน ระยะทางประมาณ 600 เมตรตามเส้นทางสวนรุกขชาติ ผู้มาเยี่ยมชมจะมองเห็นพรรณไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ต้น ถูกจัดเป็นวงค์ไม้ ตามหลักทางพฤกษศาสตร์ โดยถูกจำแนกไว้มากกว่า 10 วงศ์ไม้ เช่น วงศ์กล้วย วงศ์ปาล์ม วงศ์สน วงศ์ถั่ว วงค์ขิงข่า วงค์ปรง วงค์เฟิน ฯลฯ 
 
เส้นทางพันธุ์ไม้ไทยและพืชสมุนไพร เส้นทางนี้เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ไทยไว้กว่า 1,000 ชนิด อาทิ พืชสมุนไพร พันธุ์ไม้หายาก และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัด ระหว่างเส้นทางเดินท่านจะพบพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ และป้ายสื่อความหมายที่อธิบายสรรพคุณของพืชสมุนไพร แต่ละชนิดไว้อย่างน่าสนใจ และมีการเสริมภูมิทัศน์ด้วยกล้วยไม้ไทยนานาชนิด ให้ความสวยงามและร่มรื่น เส้นทางเดินจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที
 
ลานต้นขวดและหญ้าต้น ลานต้นขวดและหญ้าต้นอยู่ถัดจากเส้นทางพันธุ์ไม้ไทย และพืชสมุนไพรประมาณ 400 เมตร บริเวณดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นที่จัดแสดง ต้นขวด (Queensland Bottle Tree) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศมีรูปทรงอวบอ้วนตรงกลาง และมีคอคอดด้านบน คล้ายขวด มีสถานภาพเป็นไม้เฉพาะถิ่น พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ต้นขวดเมื่อโตเต็มที่จะสูงถึง 18-20 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 2 เมตร ต้นแก่ที่มีอายุ 5-8 ปีขึ้นไปมีลำต้นสีเทา
 
นอกจากนั้นในพื้นที่เดียวกันยังได้จัดแสดง หญ้าต้น (Grass tree หรือ Black boy) เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตช้ามากคือ ประมาณ 1 ซม. ต่อปี แต่สูงได้ถึง 2-5 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. เคยมีคนคาดคะเนว่ากว่าต้นไม้ชนิดนี้จะสูง 2 เมตร จะต้องใช้เวลาถึง 200 ปี ลักษณะใบจะกับคล้ายใบหญ้า กระจุกที่ยอด ทำให้เป็นที่มาของชื่อพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ลักษณะพิเศษของหญ้าต้นอีกประการหนึ่งคือ เป็นพืชทนไฟ ในธรรมชาติควันไฟมีสารช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ด ปัจจุบันถือเป็นไม้เฉพาะถิ่นของประเทศออสเตรเลีย สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถเดินเข้าไปศึกษา หรือถ่ายรูปคู่กับต้นขวด และหญ้าต้นใกล้ๆ ไว้เป็นที่ระลึกได้ นอกจากนั้นบริเวณดังกล่าวยังมีศาลาที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
 
กลุ่มอาคารเรือนกระจก (Glasshouse Complex) กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ  ประกอบด้วยเรือนกระจก 12 โรงเรือนภายใน จัดปลูกตกแต่งพรรณไม้ไว้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะพรรณไม้หายากและมีความโดดเด่น เป็นพิเศษ เป็นสถานที่ที่นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งผู้สูงอายุ และเด็กๆ สามารถเข้าเที่ยวชม เรียนรู้สัมผัสคุณค่าและความงดงามของพรรณไม้ได้ตลอดทั้งปี ทุกฤดูกาล    
      เรือนกระจก เป็นโรงเรือนที่ได้รับการจัดสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงพืชภายใน มีการจัดปลูกและตกแต่งด้วยพืช ประเภทเดียวกันชนิดต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด สามารถควบคุมความชื้น  แสงหรืออุณหภูมิ  ได้ในระดับหนึ่ง  ให้ใกล้เคียงกับสภาพ ธรรมชาติที่พืชต้องการ วัสดุที่ใช้เป็นโครงร่างของอาคารต่าง ๆ  จะเป็นโลหะผสม ที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ และไม่เป็นสนิมสามารถรับน้ำหนักได้มาก  และมีความยืดหดตัวได้สูง กระจกที่ใช้ก็เป็นกระจก แบบพิเศษหนา    3   ชั้น สามารถกรองแสงและถ่ายเทระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้ยังมีม่านพรางแสงที่ปรับเปิดเลื่อนได้ด้วยมือหมุน และระบบระบายอากาศ แบบเรียบง่าย โดยการเปิดกระจกด้านข้างได้ทุกมุมและหลายระดับ พื้นล่างรองไว้ด้วยดิน ผสมที่มีความลึกถึง 2 เมตร   และรองใต้ดินด้านล่างอีกชั้นหนึ่งด้วยท่อระบายน้ำ แบบก้างปลาเพื่อไม่ให้น้ำขัง
 
กลุ่มอาคารเรือนกระจกของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประกอบด้วยเรือนกระจก 3 แบบคือ
1). เรือนกระจกใหญ่ หรือเรือนแสดงไม้ป่าดิบชื้น
2). เรือนกระจกขนาดกลาง
3). เรือนแสดงพรรณไม้ทั่วไป
 
ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี (Sanga Sabhasri Research and Development complex) เป็นกลุ่มงานที่ดูแลด้านวิชาการของสวนพฤกษศาสตร์ฯประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ อาคารหอพรรณไม้ (Herbarium Building) อาคารวิจัย (Research Building) และอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Science Museum) กลุ่มอาคารเหล่านี้ จะมีนักพฤกษศาสตร์ประจำอยู่ตลอดเวลา เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการด้านพืชทั้งหมดโดยเฉพาะ พันธุ์ไม้ไทย นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ตัวอย่างผลแห้งต่างๆ มีศูนย์ข้อมูลพืช และ ห้องสมุดทางพฤกษศาสตร์ มีกิจกรรมขยายพันธุ์พืชหายากโดยวิธีการทันสมัย เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการและสาธิต ให้ความรู้ทางด้านพืช ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับพืช
 
เรือนรวมพรรณกล้วยไม้ไทย (Native orchids nursery) ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสวนฯ ใกล้อาคารที่ทำการ เป็นสถานที่รวบรวม และ ขยายพันธุ์กล้วยไม้พื้นบ้านของไทยและกล้วยไม้ป่าโดยเฉพาะ ปัจจุบันที่รวบรวมปลูกเลี้ยงไว้และตรวจสอบชื่อถูกต้องมีอยู่ประมาณ 350 ชนิด
 
เส้นทางน้ำตกแม่สาน้อย-สวนหิน-เรือนรวมพันธุ์กล้วยไม้ไทย (Waterfall trail)  เส้นทางน้ำตกแม่สาน้อย-สวนหิน-เรือนรวมพันธุ์กล้วยไม้ไทย (Waterfall trail) เป็นเส้นทางเดินเท้าเรียบไปตามห้วยแม่สาน้อยท่านจะพบกับพืชเฉพาะถิ่น และพรรณไม้แปลกตา ผ่านไปทางสวนหินซึ่งเป็นที่ รวบรวมพืชแล้งนานาชนิดผสมกับการนำหินลักษณะต่างๆ  มาตกแต่งบริเวณดังกล่าวทำให้รู้สึกกลมกลืน และเส้นทางจะสิ้นสุดที่เรือนรวมพรรณกล้วยไม้ไทย ที่ซึ่งมีกล้วยไม้ไทยรวมไว้กว่า 350 ชนิด รวมระยะทางประมาณ 300 เมตร สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.
 
ข้อมูลจาก: http://www.qsbg.org/index2Demo.asp [accessed 20081126]
ชื่อผู้แต่ง:
-