พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ สงครามประชาชน


ที่อยู่:
โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม เลขที่ 4 หมู่ 1 ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก 63170
โทรศัพท์:
055-561005, 084-8161053, วิทยุสื่อสาร : ความถี่ 147.30 MHz นามเรียกขาน
วันและเวลาทำการ:
วันเสาร์-อาทิตย์ กรุณาติตต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
umphangs@umphangs.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
ของเด่น:
อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ ทปท ใช้ในการต่อสู้ ข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในการดำรงชีวิตระหว่างการต่อสู้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

การบรรยายทางวิชาการเรื่อง ความทรงจำของสหาย (DVD)

ชื่อผู้แต่ง: สมประสงค์ มั่งคะนะ, บุษกร จีนะเจริญ, อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

แหล่งค้นคว้า: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

โดย: ศมส.

วันที่: 26 กันยายน 2557


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ "สงครามประชาชน"

อาจารย์ สมประสงค์ มั่งคะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้งผางวิทยาคม กล่าวถึงการก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามประชาชน” เพราะต้องการให้คนในพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และสาธารณชนโดยส่วนใหญ่รู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับอุ้มผางน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างเมื่อกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา

การสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามประชาชนนั้นสร้างจากทุนทรัพย์ส่วนตัวทั้งหมด ทั้งตัวอาคารและสิ่งของทั้งหมดที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเกิดจากความร่วมมือของอดีตสหายหรือคนในพื้นที่แต่อย่างใด แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์มาจากการบริจาคของอดีต ทปท ในพื้นที่อุ้มผาง อ.สมประสงค์ กล่าวถึงที่มาของวัตถุจัดแสดงว่ามาจากการเสาะหาและเชิญชวนในลูกหลานของคนในพื้นที่มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนฯ และเมื่อเดินทางเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้นอาจารย์ได้พบเห็นร่องรอยของการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ ที่สืบย้อนกลับในช่วงเวลาของความแตกแยกทางอุดมการณ์ทางการเมืองในราว ทศวรรษ 2510 – 2520 “ลูกหลานของสหายที่ผมเอามาเรียนหนังสือ ผมมีกุศโลบายที่จะทำให้ที่นั่นได้คิดว่า เราสำนึกในพระคุณของเขา ผมเข้าไปในหมู่บ้านแม่จันทะ และหมู่บ้านบริวาร เข้าไปยกมือไหว้ชาวบ้าน เขาก็งงว่าผมยกมือไหว้ทำไม ผมมาขอบคุณ มาขอบคุณที่ทำให้ประเทศไทยของเราเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะหากไม่ได้เขา เราก็คงไม่ได้เป็นอย่างวันนี้”

 วัตถุประสงค์สำคัญในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์คือ ความต้องการให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เท่านั้น แม้ว่าการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือนักเรียนส่วนใหญ่ในแถบนั้น เขาจะไม่ต้องการทราบประวัติศาสตร์หรือไม่ต้องการเรียนรู้การต่อสู้ของประชาชนแล้วก็ตาม แต่ด้วยเหตุว่า ที่ตั้งของโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมเอง เคยเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ระหว่าง ทปท ในพื้นที่และหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ

“วัตถุประสงค์เราอยากเก็บไว้ให้เป็นที่เป็นทาง ผมก็เคารพกราบไหว้บอกเจ้าที่ แต่ว่าพื้นที่ตั้งโรงเรียน ผมอยากเรียนกับท่านทั้งหลายว่า เป็นพื้นที่เราแย่งชิงได้จาก ผกค. สมัยนั้น มีร้อยสิบห้าไร่ เดิมเป็นฐานที่มั่นของ ผกค. ที่ใช้เป็นจุดสุ่มยิงเจ้าหน้าที่ที่ไต่เขาขึ้นมา ยิ่งเอายิ่งเอามันง่าย ต่อมาทางการไทยเรายึดคืนได้ แล้วใช้เป็นฐานปืนใหญ่ แต่พอเหตุการณ์สงบและมีการมอบตัว ก็เป็นเขตของตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 34 ต่อมาโรงเรียนก็ไปขอใช้ ขุดอะไรไปก็เจอโครงกระดูก ผมจึงอยากบอกว่า ตรงนี้ประวัติศาสตร์มันสัมผัสได้”

หลายครั้งทางการกล่าวหาอาจารย์สมประสงค์ว่า การรวบรวมอาวุธสงครามเหล่านี้ เป็นการสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ ทั้งๆ ที่อาวุธสงครามที่ทางการกล่าวหานั้น เป็นเพียงอาวุธปืนและลูกระเบิดที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ที่เคยเป็นของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาก่อน โดยส่วนตัว อาจารย์สมประสงค์กลับมองว่าสิ่งของเหล่านี้ควรมีไว้เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้

พิพิธภัณฑ์เป็นห้องขนาดเล็กประมาณ 5 x 7 เมตร ในพิพิธภัณฑ์ มีตำราแพทย์ขนาดเล็กที่ได้มาจากครอบครัวชาวลั๊วะครอบครัวหนึ่งในพื้นที่ และบันทึกต่างๆ ของสหาย เทปเพลงปลุกใจและอุดมการณ์ นอกจากนั้นยังรวบรวมเครื่องมือแพทย์ เช่น หลอดแก้ว ขวดยา เข็มฉีดยา และอื่นๆ อีกมากมายที่ตนเอาออกมาจากถ้ำในพื้นที่ เนื่องจากนักเรียนในโรงเรียนที่ตนเองสอนอยู่นั้นไปพบเข้าจึงมาแจ้ง และการแจ้งข่าวของนักเรียนก็ตรงกับข้อมูลที่ตนเองค้นคว้าด้วยเช่นกัน

ข้าวของที่จัดแสดงเหล่านี้ ได้รับการจัดกลุ่มและลำดับเรื่องราวไว้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ ภาคที่ 1 เป็นการกล่าวถึงสาเหตุหรือที่มาของการต่อสู้ของประชาชน โดยเรื่องราวเริ่มต้นเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ภาพจากหนังสือที่เคยตีพิมพ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ได้รับการจำลองและนำเสนอในตู้กระจก จากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังมีเรื่องราวที่ต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2519 และส่งผลให้นำศึกษาจำนวนหนึ่ง “เข้าป่า” เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลในช่วงเวลานั้น พื้นที่อุ้มผางเป็นพื้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม และพวกเขาถูกเอาเปรียบจากข้าราชการบางคนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดการร่วมมือกับกองกำลังในพื้นที่

การนำเสนอในภาคที่ 2 แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่และกระบวนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ทั้งอาวุธหนัก ระเบิด รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการยังชีพภาคสนาม หรือกระทั่งเครื่องมือทางการแพทย์ และตำรารักษา แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับกองกำลังคอมมิวนิสต์นอกประเทศ เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปถึงช่วงสุดท้ายของนิทรรศการ เป็นการบอกเล่าถึงการเข้าร่วมกับรัฐในการพัฒนา โดยการส่งมอบอาวุธและการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการอื่นๆ การแสดงในส่วนสุดท้าย ใช้ภาพและหนังสือที่ตีพิมพ์โดยหน่วยงานของรัฐ

สำหรับอนาคตของพิพิธภัณฑ์ อาจารย์สมประสงค์กล่าวถึงการติดต่อจากนายอำเภอเกี่ยวกับการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่จะได้รับการดูแลโดยอำเภอ แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้รับการสานต่อ สำหรับ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามประชาชน” แม้จะยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่ตนยังคงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แต่อาจารย์สมประสงค์แสดงความกังวลเป็นอันมากว่า เมื่อตนจะเกษียณใน 5 ปีข้างหน้า (2552) พิพิธภัณฑ์จะเป็นเช่นใดต่อไป?
 
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-