พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย


สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานวิจัยและมีการเรียนการสอน ทางด้านภาษาศาสตร์โดยเฉพาะภาษากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศและภาษาของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงด้านวัฒนธรรมในแง่มุมต่าง ๆ เมื่อก่อสร้างอาคารของสถาบันฯ แล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2542 และเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จเปิดอาคารหลังนี้ในปี พ.ศ. 2544 ทางสถาบันฯได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม ขึ้น เพื่อแสดงผลงาน และภารกิจต่างๆ ในอดีต ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เชิงมานุษยวิทยา ที่นำเสนอเรื่องของชุมชน ความเหมือน และความต่าง ความงดงาม ภูมิปัญญาของชาวบ้าน และนำเสนอผลงานของสถาบันฯ เช่น งานสอน งานบริการทางวิชาการต่างๆ เรียกได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น "แหล่งเรียนรู้" ที่จัดแสดงเรื่องราวที่บอกเล่าการเดินทางที่นำไปสู่ผลงานด้านวิชาการ และเติบโตก่อกำเนิดหลักสูตรการเรียนสอนในสาขาวิชาต่างๆ ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (ชื่อเดิม) ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ตามการขยายขอบเขตงานการศึกษาและวิจัย จากชนชาติพันธุ์กลุ่มย่อย สู่ชุมชนพื้นราบในประเทศ และขยายสู่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรม

ที่อยู่:
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทรศัพท์:
0-2800-2328,0-2800-2308-14 ต่อ3302
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 9.00 - 15.00 น. เข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานวิจัยและมีการเรียนการสอน ทางด้านภาษาศาสตร์โดยเฉพาะภาษากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศและภาษาของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงด้านวัฒนธรรมในแง่มุมต่าง ๆ  ในปี พ.ศ. 2525 สถาบันฯได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ตำบล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และก่อสร้างอาคารของสถาบันฯ แล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2542 และเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จเปิดอาคารหลังนี้ในปี พ.ศ. 2544  ทางสถาบันฯจึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม ขึ้น เพื่อแสดงผลงาน และภารกิจต่างๆ ในอดีต ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เชิงมานุษยวิทยา ที่นำเสนอเรื่องของชุมชน ความเหมือน และความต่าง ความงดงาม ภูมิปัญญาของชาวบ้าน และนำเสนอผลงานของสถาบันฯ เช่น งานสอน งานบริการทางวิชาการต่างๆ

ห้องจัดแสดงอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารสถาบันฯ แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงต่าง ๆ อาทิ ส่วนประวัติและผลงานของสถาบันฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานออกภาคสนาม เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ   งานที่ส่วนนี้เริ่มบุกเบิกตั้งแต่สมัยรองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุลผู้อำนวยการท่านแรกของสถาบันฯ การศึกษาและวิจัยของทางสถาบันฯ เผยแพร่ออกมาในรูปหนังสือและงานวิจัยมากมาย อาทิ พจนานุกรม ไทย – ม้ง ซึ่งได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ.2519 พจนานุกรมไทย-ขมุ-อังกฤษ 
 
ส่วนจัดแสดง “ตามรอยกลุ่มชนบนแผ่นดินไทย”  แสดงหมู่บ้านจำลอง ที่ให้เห็นถึงความงดงามของการเป็นชุมชนในประเทศไทย นอกเหนือความรู้ทางสถาปัตยกรรมแล้ว ส่วนทางเข้าบ้าน ส่วนหน้าบ้าน หลังบ้าน ส่วนลานบ้าน แต่ละส่วนของบ้านยังเป็นพื้นที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมในแง่มุมต่าง ๆ ของผู้คน
 
เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธ์ทั้งไทยและเพื่อนบ้าน ถูกนำเสนอในแง่มุมต่างๆ เช่น วัฒนธรรมข้าว ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของ “คน” กับ “ข้าว” วัฒนธรรมข้าว อันเป็นรากฐานของชีวิตที่ได้สั่งสมความรู้ และภูมิปัญญาเอาไว้มากมาย แสดงออกมาในรูปของความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม การบริโภค ฯลฯ  “วัฒนธรรมข้าวปลาอาหาร” เราจะได้เห็นตัวอย่างสำรับกับข้าวของชาวอาข่า กระบุง ตะกร้าของไทดำ ทัพพีต่างๆ ของขมุ หรือน้ำเต้าตักน้ำของชาวม้ง ติดกันก็เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับ บ้าน จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อาทิ ใบลานกันฝน  ที่หั่นใบยาสูบ และ กระด้งตากพริกแห้ง ของชาวญัฮกูร์ หรือ กระทอไก่ต่อของชาวมูเซอดำ กระบอกใส่ธนูของชาวอูก๋อง  “วัฒนธรรมบ่อน้ำ” เมื่อเหล่าสมาชิกแต่ละบ้านมารวมตัวกันเพื่อมาใช้น้ำชำระร่างกาย มีเสียงพูดคุยปรึกษาเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
 
ห้องถัดไปเป็นห้องจัดเก็บพัสดุ หรือที่เรียก “คลังพัสดุพิพิธภัณฑ์” จัดทำโดยนักศึกษาปริญญาโท สาขาพิพิธภัณฑ์ ภายใต้การดูแลของอาจารย์อภิญญา บัวสรวง ซึ่งทางสถาบันฯ ยินดีแลกเปลี่ยนความรู้แก่ผู้ที่สนใจงานด้านคลังพิพิธภัณฑ์อีกด้วย 
 
ด้านหน้าห้องแสดงพิพิธภัณฑ์ เป็นลานเปิดโล่งที่แดดส่องตลอดจัดตลอดวัน ทางสถาบันจึงจัดทำสวนหินจำลองขึ้นเรียกว่า “สวนศิลาจารึก วัฒนธรรมการบันทึกความรู้ของมนุษยชาติ” เพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมของคนสมัยก่อนที่บันทึกเรื่องราวด้วยการสลักภาพวาดลงบนหิน การสลักรายชื่อของนักกีฬาสมัยแรกๆ ของกีฬาโอลิมปิคลงบนหิน การเขียนด้วยหมึก ลงบนไม้ไผ่ของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
 
ถ้าท่านใดสนใจเกี่ยวกับภาษาและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรมแล้ว ที่นี่ยังมีห้องสมุดและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม อาทิ การเสวนา การอบรมให้ความรู้ 
 
 
เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์  ทองคำ
สำรวจ : 8 กุมภาพันธ์ 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-