พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง


พิพิธภัณฑ์ จ่าง แซ่ตั้ง เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ตั้งอยู่ภายในบริเวณที่พักอาศัยของคุณทิพย์ แซ่ตั้ง บุตรชายของศิลปินผู้มีชื่อเสียงจ่าง แซ่ตั้ง จ่างเป็นคนแรกๆ ที่ทำงานศิลปะในรูปแบบนามธรรม และทำงานบทกวีรูปธรรมหรือที่ราชการเรียกว่า “วรรณรูป” คนแรกของประเทศไทย แต่ก่อนนั้นพิพิธภัณฑ์ไม่ได้อยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน หากตั้งอยู่ ณ บ้านเดิมของศิลปินและครอบครัวแถบฝั่งธนบุรี แต่ด้วยข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำให้ศิลปินและครอบครัวย้ายพิพิธภัณฑ์และที่พักมายังสถานที่ปัจจุบัน ในพื้นที่จึงประกอบด้วยบ้านที่เป็นที่พำนักอาศัยและพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยอาคาร 2 ชั้น กึ่งไม้กึ่งปูน เรียกได้ว่าเป็นการประยุกต์บ้านพักอาศัยมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ภาพจิตรกรรมขนาดต่างๆ แขวนไล่เรียงไปตามปีที่ผู้สร้างสรรค์งาน แต่ภาพที่โดดเด่นและมีขนาดใหญ่จะแขวนอยู่ที่ช่วงราวบันได ลักษณะของงานจะเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการทางความคิดของศิลปิน จากรูปที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง พัฒนาไปสู่งานที่เป็นนามธรรม และในช่วงท้ายของชีวิต ศิลปินกลับมายึดแนวการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปร่างอีกครั้งหนึ่ง

ที่อยู่:
29/5 หมู่ 2 ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม 73170
โทรศัพท์:
081-839-0212, 0-2811-9628 ติดต่อคุณทิพย์ แซ่ตั้ง
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
ผลงานศิลปะ, ภาพงานสะท้อนภาพตัวตน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

เวลาอันยาวนาน

ชื่อผู้แต่ง: จ่าง แซ่ตั้ง | ปีที่พิมพ์: 2545

ที่มา: นครปฐม: พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง+CD หนึ่งแผ่น

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

“เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” จ่าง แซ่ตั้ง

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 6 กุมภาพันธ์ 2556

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 12

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 30 พฤษภาคม 2556


รีวิวของพิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง

พิพิธภัณฑ์ จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งชื่อตามผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์  แต่ก่อนนั้นพิพิธภัณฑ์ไม่ได้อยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน หากตั้งอยู่ ณ บ้านเดิมของศิลปินและครอบครัวแถบฝั่งธนบุรี แต่ด้วยข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำให้ศิลปินและครอบครัวย้ายพิพิธภัณฑ์และที่พักมายังสถานที่ปัจจุบัน ในพื้นที่ จึงประกอบด้วยบ้านที่เป็นที่พำนักอาศัยและพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งบริเวณว่างด้านในที่คุณทิพย์ แซ่ตั้ง บุตรชายของจ่าง แซ่ตั้ง ตั้งใจไว้ว่าจะสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมในอนาคต
 
พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยอาคาร 2 ชั้น กึ่งไม้กึ่งปูน เรียกได้ว่าเป็นการประยุกต์บ้านพักอาศัยมาเป็นพิพิธภัณฑ์ คุณทิพย์ แซ่ตั้ง เป็นผู้นำชมและให้ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานของศิลปิน ชั้นที่หนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เมื่อผู้ชมเข้าไปยังตัวอาคารจะพบกับบริเวณจัดแสดงผลงาน 2 ชุด ก่อนที่จะต้องผ่านไปยังชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑ์ ภาพจิตรกรรมขนาดต่างๆ แขวนไล่เรียงไปตามปีที่ผู้สร้างสรรค์งาน แต่ภาพที่โดดเด่นและมีขนาดใหญ่จะแขวนอยู่ที่ช่วงราวบันได ลักษณะของงานจะเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการทางความคิดของศิลปิน จากรูปที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง พัฒนาไปสู่งานที่เป็นนามธรรม และในช่วงท้ายของชีวิต ศิลปินกลับมายึดแนวการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปร่างอีกครั้งหนึ่ง 
 
ข้อสังเกตต่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มี 2 ลักษณะคือ (1) เนื้อหาของศิลปินที่เชื่อมโยงกับความเป็นไปของบ้านเมืองตามชีวิตของศิลปินที่เข้าไปสัมผัสหรือเกี่ยวข้อง และ (2) การใส่ใจกับการอนุรักษ์ผลงานของศิลปิน โดยประยุกต์ใช้วัสดุที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด
 
ภาพงานสะท้อนภาพตัวตน
 
ผลงานของศิลปินหลายชิ้นสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ภาพที่เป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากคือ ภาพเหมือนของศิลปินที่เปลือยร่างท่อนบน แขนที่ถูกตัด และดวงตาที่กลวงเปล่า เนื้อหาแสดงให้เห็นถึงสภาพของการ "ถูกริดรอน" ศิลปินและผู้คนในช่วงนั้นยากจะวิพากษ์นักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศ ภาพอีกประเภทหนึ่งที่ชวนให้ผู้อ่านพินิจกับความเป็นนามธรรมคือ การให้ตัวอักษรเป็นภาพ เช่น ภาพที่เขียนขึ้นจากคำว่า "ลมหายใจ" มีลักษณะคล้ายแก้วน้ำ แล้วมีหลอดดูด ภาพลักษณะมีนัยที่พยายามกระตุ้นให้ผู้ชมมองว่าอำนาจกำลังลดทอนสภาพความมีชีวิตชีวาของผู้คนไปหรือไม่ 
 
คุณทิพย์ได้พยายามบรรยายให้เห็นว่า ชีวิตและผลงานของศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้การศึกษาผลงานของศิลปินไม่ซับซ้อนมาก เพราะศิลปินจะบันทึกปีที่ผลิตงาน ส่วนนี้เองที่ทำให้คุณทิพย์เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะได้อย่างเป็นลำดับ คุณทิพย์ได้กล่าวว่า ช่วงที่ศิลปินหรือคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่คุณทิพย์ไม่ได้มีโอกาสในการศึกษาและติดตามผลงานของศิลปินมากนัก ทำให้คุณทิพย์จะต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลป์ทั่วไป จนไปถึงการศึกษาเฉพาะผลงานของศิลปิน เมื่อจะต้องมารับผิดชอบมรดกศิลปะทั้งหมดนี้
 
การอนุรักษ์
 
เรื่องความใส่ใจในการอนุรักษ์ผลงานเป็นความประทับใจส่วนตัวของผม(ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ) ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ภาพเขียนและภาพร่างอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้จัดแสดงบนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ คุณทิพย์เปิดให้คณะสำรวจของเราเข้าชมในห้องคลังที่ชั้นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ชั้นที่จัดวางผลงานต่างๆ ต่อขึ้นจากเหล็กฉากและไม้อัดเป็นส่วนพื้นชั้น แผ่นพลาสติก "ฟิวเจอร์ บอร์ด" ได้รับการดัดแปลงเป็นกล่องเก็บรักษาผลงานตามแนวนอน ผลงานที่เก็บไว้ในกล่องโดยส่วนใหญ่เป็นภาพร่างที่เขียนบนกระดาษวาดเขียน จัดแบ่งตามปีที่ผลิตผลงาน
 
การจัดเก็บภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ในการอนุรักษ์วัตถุ เพราะกล่องดังกล่าวจะป้องกันฝุ่นและแมลงได้ในระดับหนึ่ง ด้วยวิธีการจัดเก็บเช่นนี้ ยังอำนวยความสะดวกในการสืบค้นผลงาน ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์จัดวางกล่องผลงานตามชั้นตามปีของการสร้างสรรค์ผลงานที่แน่นอน
 
คุณทิพย์ยังได้นำผลงานไปจัดแสดงตามองค์กรทางวัฒนธรรมในต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว ดังจะเห็นได้จากเอกสารประกอบนิทรรศการที่จัดพิมพ์ขึ้น เมื่อครั้งที่นำผลงาน "ภาคอักษรมีลมหายใจ" ไปตระเวนจัดแสดงในภาคอีสาน ครั้งนั้น คุณทิพย์ได้สแกนภาพที่เคยเขียนอยู่บนกระดาษ และพิมพ์ภาพดังกล่าวลงบนผ้าใบ จากนั้น นำผลงานไปขึ้นบนกรอบไม้ ในทัศนะของผมการจัดแสดงหมุนเวียนที่คุณทิพย์ได้ทำนั้นถือเป็นก้าวสำคัญของคนทำงานพิพิธภัณฑ์เอกชนที่ไม่ได้มีทุนในการดูแลพิพิธภัณฑ์มากมาย แต่ต้องการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน 
 
ส่วนการจัดแสดงที่เป็นการผลิตซ้ำผลงานบนสื่อตัวใหม่ ทำให้เราเห็นความสามารถของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ในการรู้จักดัดแปลงผลงานให้นำเสนอได้อย่างน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อันที่จริงหากผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์มีทุนรอนเพิ่มขึ้นอีกหน่อย การสร้างของที่ระลึกที่เชื่อมโยงกับนิทรรศการที่จัดแสดง ก็ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนรู้จักผลงานของศิลปินมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน ทั้งยังประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับผลงานศิลปินไปได้ไม่มากก็น้อย
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548
ชื่อผู้แต่ง:
-

“เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” จ่าง แซ่ตั้ง

ในยุคที่หลายคนรู้สึกว่าพื้นที่ส่วนตัวลดน้อยลงเต็มที แต่ทำไม จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินซึ่งจากโลกนี้ไปแล้วเกือบ 23 ปี ทายาทของเขาจึงต้องทวงถามหาที่ว่างให้กับเขา จ่าง แซ่ตั้ง คือใคร ? คำตอบของคำถาม ทุกคนสามารถค้นหาได้โดยง่ายจากโลกออนไลน์ เพราะตลอดมาจ่างถือเป็นหนึ่งศิลปินที่มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก แต่ถ้าเป็นคำตอบจากปากของทายาท ทิพย์ แซ่ตั้ง ที่ล่าสุดลุกขึ้นมาจัด นิทรรศการแสดงผลงานของพ่อ “เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” ณ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยนำชีวิตของพ่อไปนำเสนอผ่านภาพยนตร์สั้น จนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี จาก เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 ประจำปี 2012 จัดโดย มูลนิธิหนังไทย
ชื่อผู้แต่ง:
-