พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ที่อยู่:
ชั้น 4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ใกล้ท่าน้ำวังหลัง) โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์:
024197466-80 ต่อ 1401-2, 1207
โทรสาร:
02-4128415
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
nursingmuseum@gmail.com,nsanchalee@mahidol.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
เครื่องแบบพยาบาลชุดแรกในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ.2460 , อุปกรณ์การพยาบาลในยุคแรก
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

“พิพิธภัณฑ์พยาบาล” รากฐานอนามัยสตรี

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 20 กันยายน 2554

ที่มา: ผู้จัดการ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เดิมคือ “พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย” ดำเนินการจัดตั้งขึ้น ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การพยาบาลไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2539 โดยคณะพยาบาลศาสตร์ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2557 คณะพยาบาลศาสตร์ จัดทำโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบ 150 ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 และในโอกาสครบรอบ 120 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560 และปรับชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล”  

โดยคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ขยายพื้นที่ชั้น 4 ทั้งชั้นเป็นพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุทางการพยาบาลไทย พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทยฯ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทยฯ

โดยคณะฯ มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแผ่วิชาชีพการพยาบาลไทย ที่ทันสมัยและสมบูรณ์แบบที่สุด

ในปัจจุบันนี้ เราได้พัฒนาการจัดแสดงโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักศึกษาในยุคนี้มากขึ้น การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ฯ แบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่

1) ห้องศรีพัชรินทราราชสักการ จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ถ่ายทอดพระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร และพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา การแพทย์ และการพยาบาลไทย

2) ห้องประวัติการพยาบาลไทย จัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าถึงพัฒนาการของวิชาชีพการพยาบาลในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่สมัยที่การพยาบาลเป็นการดูแลกันเองของคนในครอบครัว จนมีวิทยาการทางการแพทย์และพยาบาลจากตะวันตกเข้ามา กอปรกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลถาวรแห่งแรกขึ้นในประเทศ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ “โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้” โรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์แห่งแรกเกิดขึ้นในประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) จากนั้นวิชาชีพการพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิชาชีพทางด้านสุขภาพที่มีความสำคัญและจำเป็นที่สุดวิชาชีพหนึ่งในสังคมปัจจุบัน

3) ห้องคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท นิทรรศการเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมากว่า 120 ปีของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เป็นโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ จนได้รับพัฒนามาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจากวิสัยทัศน์ของผู้นำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งถ่ายทอดให้เห็นชีวิตนักศึกษาซึ่งถ่ายทอดออกมาภายใต้แนวคิด “อยู่ เรียน เล่น” หล่อหลอมจิตวิญญาณการเป็น “พยาบาลของแผ่นดิน”

4) ห้องจดหมายเหตุทางการพยาบาล รวบรวมจดหมายเหตุที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติการพยาบาลของประเทศไทย ทั้งในรูปสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นแหล่งศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการพยาบาลไทยของนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ และผู้สนใจทั่วไป

ชื่อผู้แต่ง:
อัญชลี เพลินมาลัย

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2539 คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานฉลอง 100 ปี โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรถ์และการพยาบาลไข้ และทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การพยาบาลไทย

คณะพยาบาลศาสตร์ ได้เตรียมห้องที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่มีอยู่ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องนี้อยู่ที่ปีกขวา ชั้นที่ 4 ด้านทิศตะวันออกหรือด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยาของอาคารพระศรีพัชรินทร เป็นห้องที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงามมาก คือ ทางทิศเหนือจะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนด้านทิศใต้มองเห็นพระบรมมหาราชวัง และต้นประดู่ใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นต้นไม้เก่าแก่คู่มากับโรงเรียนพยาบาลฯ

คณะทำงานได้เริ่มวางโครงร่างของพิพิธภัณฑ์ฯ และพิจารณาเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง นางจันทนา นิลวรางกูร ศิษย์เก่าฯ ได้ติดต่อเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอารีจิตเป็นอย่างสูง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ อารยางกูร คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นทั้งที่ปรึกษา และสถาปนิกในการออกแบบและการตกแต่งสถานที่ให้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ที่ภูมิฐานตามควร พร้อมคำนวณประมาณการค่าใช้จ่ายในการตกแต่งโดยตลอด นอกจากการปรับปรุงตกแต่งสถานที่แล้ว แผนรายละเอียดของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อหาซึ่งประกอบด้วยหลัก ฐาน และข้อมูลสำคัญของประวัติการพยาบาลไทย จำแนกเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดอุปกรณ์การพยาบาลและอุปกรณ์ในการเรียนการสอนการพยาบาล หมวดเอกสาร หนังสือ ตำรา หมวดภาพ หุ่น และหมวดวัตถุสำคัญอื่น ๆ เช่น เข็มเครื่องหมาย ตรา เหรียญ โล่ เครื่องแบบฯ

ข้อมูลที่มีคุณค่า ได้แก่ ข้อมูลว่าด้วยชื่อ เมื่อเริ่มตั้งของโรงเรียนฝึกหัดการพยาบาลแห่งแรกของประเทศ ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น โดยเรียกชื่อว่า โรงเรียนหญิง แพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ ข้อมูลนี้ได้มาด้วยความเอื้อเฟื้อของสำนักราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล จากหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 13 แผ่นที่ 43 วันที่ 24 มกราคม ร.ศ.115 ชื่อนี้ต่อมาได้ถูกตัดให้สั้นลงโดยการเรียกชื่อเพียงครึ่งแรกว่า โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ จนถึง พ.ศ. 2453 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงเป็นอนุสรณ์หนึ่งของความสามัคคีร่วมใจอันเกิดจากความรักสถาบัน การศึกษา และวิชาชีพของพยาบาลไทย นับเป็นอนุสรณ์ของการุณยภาพ ความเอื้ออารีต่อกันในสังคมไทยที่พึงฝากไว้ให้เป็นตัวอย่างอันดีของคนรุ่นหลัง

ข้อมูลจาก: http://www.ns.mahidol.ac.th/TH/Museum/museum-operation.html [accessed 20090106]

คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มใน “พิพิธภัณฑ์พยาบาล” รากฐานอนามัยสตรี. โดย นสพ.ผู้จัดการ(27 ก.ย.54)
ชื่อผู้แต่ง:
-

“พิพิธภัณฑ์พยาบาล” รากฐานอนามัยสตรี

วันที่ 24 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญของเหล่าวงการแพทย์ทั้งหลาย เนื่องจากเป็น “วันมหิดล” หรือเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย แต่นอกจากวงการแพทย์แล้ว สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการพยาบาลด้วยเช่นกัน โดยพระราชกรณียกิจหนึ่งของพระองค์คือทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาพยาบาล และการปรับปรุง โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ฉันจะพาไปติดตามกันที่ “พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย” ใน รพ.ศิริราช
ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-