ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านนายูง ตำบลนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี
โทรศัพท์:
092-9795944
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
วัฒนธรรมการแต่งกายชาวผู้ไทย, มุมจำลองจัดแสดงการอยู่ไฟหลังคลอดและความรู้สมุนไพร, เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง

         ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทยบ้านนายูงตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบันนี้ มีส่วนการจัดแสดงสำคัญ 2 ส่วนด้วยกันได้แก่ หนึ่ง ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทย ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวที่ดัดแปลงจากอาคารโรงฝึกงาน และ สอง บ้านผู้ไทยจำลอง ซึ่งเป็นเรือนพื้นถิ่นประยุกต์ที่จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 ตั้งแต่ พ.ศ.2532 นายสิงหา พลฉลาด ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการของโรงเรียนบ้านนายูงและเสียชีวิตแล้วดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมผู้ไทย (คำว่า “ผู้ไทย” สะกดตามป้ายศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทยบ้านนายูง ซึ่งอนุมานว่าเป็นทางการและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่ดูแลศูนย์วัฒนธรรม - ผู้สำรวจ) และ ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ามาศึกษาวัฒนธรรมผู้ไทยที่บ้านนายูงแห่งนี้ อาจารย์พวงพะยอม พันธ์ศรีให้คำอธิบายไว้เป็นพื้นฐาน

งานฟื้นฟูวัฒนธรรมผู้ไทยคงได้รับการสานต่อจนก่อตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ในสมัยผู้อำนวยการ ยงยุทธ์ สิมพา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนายูงคนปัจจุบัน กิจการพิพิธภัณฑ์ดำเนินมาพร้อม ๆ กับการพัฒนายุวมัคคุเทศก์และงานประจำปีประเพณีผู้ไทย จนเมื่อ พ.ศ. 2559 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ที่ผู้อำนวยการยงยุทธเข้ารับตำแหน่ง เริ่มมีกิจกรรมหลายอย่างในการส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ไทย เช่น การส่งเสริมให้นักเรียนและครูแต่งกายด้วยชุดผู้ไทยในวันศุกร์ การเริ่มระดมข้าวของการบริจาคจากชาวบ้าน เพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรม การศึกษาดูงานวัฒนธรรมชนเผ่าไท เช่น คนไทดำในเดียนเบียนฟู และมีการศึกษาวัฒนธรรมผู้ไทยจนตีพิมพ์เป็นหนังสือ เรื่อง ตามรอยผู้ไทย ของโรงเรียนบ้านนายูง ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2558 และกิจกรรมที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน องค์กรปกครองท้องถิ่น และชาวบ้านในการจัดงานวัฒนธรรมผู้ไทย ในวันขึ้นสามค่ำเดือนสามทุกปี ซึ่งโรงเรียนเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวัฒนธรรมทั้งหมด 11 ครั้ง แต่ในระยะ 2 ปีให้หลังนี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการหลัก แต่ยังคงอาศัยความร่วมมือจากโรงเรียนและชาวบ้านโดยตลอด ผู้อำนวยการยงยุทธ สิมมา ไล่เรียงให้เห็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตนเองพัฒนาร่วมกับคนในพื้นที่

ภายในศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทย

ในวันที่ผู้เขียนสำรวจศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทยบ้านนายูงนั้น ผู้เขียนได้รับการต้อนรับจากคณะครูและโรงเรียนบ้านนายูงที่แต่งกายเอกลักษณ์ผู้ไทย เด็กผู้หญิงสวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วนมีกระดุมเรียงติดกันด้านหน้า ที่คอเลื้อและสาบเสื้อมีการคลิบลาย และนุ่งซิ่นพร้อมห่ม “ผ้าเบ่ง” หรือสไบ ส่วนเด็กผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งสวมเสื้อแขนสั้นคอจีน ตัวเสื้อผ่ออกตลอด  มีผ้าขาวม้าคาดเอว เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านนายูงได้รับการฝึกหัดให้ทำหน้าที่ยุวมัคคุเทศก์อธิบายเนื้อหาในส่วนต่าง ๆ ของนิทรรศการในภาษาท้องถิ่นอย่างคล่องแคล้ว

ภายในศูนย์วัฒนธรรมที่เป็นอาคารชั้นเดียวจัดแบ่งเป็นส่วนพื้นที่หลัก 2 ส่วน ได้แก่ห้องนิทรรศการและห้องจริยธรรมซึ่งมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านบางส่วน

ในห้องนิทรรศการ ใช้รูปแบบการจัดแสดงไว้เป็นมุมต่าง ๆ เช่น มุมแสดงวัฒนธรรมด้านการอยู่ไฟหรือในภาษาผู้ไทยว่า “การอยู่คำ” ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายมือผู้ชมเมื่อเข้าสู่ห้องนิทรรศการ ฉากจำลองประกอบด้วยแคร่เตี้ยเพื่อให้ผู้หญิงนอนอยู่ไฟหลังคลอดและเตาไฟ บอร์ดนิทรรศการจะให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้ต้มยาให้แม่ลูกอ่อนอาบและกินยา

ผนังทางขวามือของผู้ชมแสดงเรื่องราวทางวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นบอร์ดนิทรรศการตั้งอยู่บนโต๊ะสูงจากพื้น เป็นหัวเรื่องต่าง ๆ อาศัยภาพถ่ายประกอบคำบรรยาย เช่น ประเพณีแต่งงาน หรือที่เรียกในภาษาผู้ไทยว่า “พาสู่” ซึ่งมีลำดับพิธี ขั้นตอนและผู้ประกอบพิธีการแต่งงานที่เป็นขนบธรรมเนียมแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ในอีสาน หรือพิธี “เหยา” ที่ชาวผู้ไทยเชื่อว่าผู้ใดที่มีอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาสมุนไพรหรือการรักษาแผนปัจจุบันแล้ว เชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงต้องรักษาด้วยการ “เหยา” ซึ่งเครื่องพิธีสำคัญ ๆ เช่น ผ้าซิ่น ผ้ามน ไข่ไก่ ข้าวสาร ขันห้า และขันแปด เป็นต้น

มุมจัดแสดงสุดห้องนิทรรศการนำเสนอวัฒนธรรมการทอผ้า โดยใช้กี่ทอผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทอผ้าจัดไว้เป็นสิ่งจัดแสดงหลัก นอกจากนี้ ณ กลางห้องนิทรรศการ ยังมีโต๊ะต่อกันทำหน้าที่เป็นแท่นจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ โดยได้รับการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ ผ้าทอ เครื่องจักสาน เครื่องมือเครื่องใช้ ส่วนผนังฝั่งตรงข้ามที่มีบานหน้าต่าง เหนือบานหน้าต่างนั้น ติดตั้งป้ายนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับชื่อเรียกและรูปแบบการใช้ประโยชน์เครื่องมือทำมาหากิน เป็นการขยายความรู้จากวัตถุจริงที่ตั้งอยู่บนโต๊ะกลาง

ในห้องจริยธรรม เป็นพื้นที่โล่งที่กินอาณาบริเวณ 3 ใน 4  โดยพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นประธานของห้อง ผนังด้านหนึ่ง จัดเรียงเครื่องจักสาน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องจักสานชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า “กะโด” ที่สานจากตอกไม้ไผ่มีรูปทรงคล้ายกับสุ่มไก่แต่มีตาถี่มากและขนาดเล็กกว่าเท่าตัว กะโดใช้ในการจับปลาน้ำตื้นโดยผู้จับหันปากกะโดเข้าหาตัว และใช้เท้าไล่ปลาเข้าสู่กะโด สิ่งสำคัญในห้องจริยธรรมนอกเหนือจากเครื่องมือทำมาหากินคือ เครื่องดนตรีที่เรียกว่า กลองแต้ ที่ผู้เขียนได้รับการอธิบายว่าเคยเป็นกลองที่ใช้ส่งสัญญาณเพื่อไล่สัตว์ป่าตอนกลางคืนไม่ให้มารบกวน แต่ในปัจจุบันได้รับการประยุกต์ใช้เป็นเครื่องดนตรีพัฒนาเป็นชุดการแสดงเรียกว่า “เซิ้งกลองแต้”

นอกจากศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทยแล้ว ยังมีบ้านผู้ไทยประยุกต์ที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์เมื่อผู้เขียนสำรวจศูนย์วัฒนธรรม เรือนยกพื้นสูง ใต้ถุนตั้งโต๊ะที่ใช้ประกอบกิจกรรม บันไดหน้าเรือนน้ำขึ้นสู่ชั้นสองมีชานเรือนที่เชื่อมห้องนอนหลักและห้องครัวไฟ อย่างไรก็ดี ได้มีประยุกต์ต่อเติมเพดานและติดเครื่องปรับอากาศและบานหน้าต่างนั้นมีขนาดใหญ่กว่าเรือนท้องถิ่น อาจารย์สุขี วรรณกุล กล่าวถึงความตั้งใจของทางสถานศึกษาที่จะนำเครื่องมือเครื่องใช้บางส่วนจากศูนย์วัฒนธรรมมาจัดจำลองเป็นวิถีชีวิตภายในเรือน เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เข้าใจรูปแบบการดำเนินชีวิตในอดีต ทั้งนี้ กล่าวด้วยว่าเรือนนี้มาจากการร่วมแรงร่วมใจในการทอดผ้าป่าและการสนับสนุนไม้จากวัดในพื้นที่ เช่น วัดบ้านนายูง วันโพธิ์ชัย และวัดบ้านสว่าง จนกลายเป็นเรือนผู้ไทยที่สร้างไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักบ้านแบบดั้งเดิม

งานวัฒนธรรมผู้ไทยและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสืบสาน

งานวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านนายูงในแต่ละปีจะจัดงานในวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม เรียกว่าเป็น “วันบุญ” ของชาวผู้ไทย อาจารย์สุธีกล่าวถึงบรรยากาศที่ทุกคนที่มาร่วมงานจะแต่งกายด้วยชุดผู้ไทยและร่วมทำกิจกรรมในระยะเวลา 2 วัน สาระสำคัญคือการแสดงประเพณี การสาธิตการดำเนินชีวิตในอดีต รวมถึงการเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาเป็นตอน ๆ เช่น ชาวผู้ไทยอพยพมาจากไหน เด็ก ๆ เองร่วมเป็นส่วนหนึ่งในองก์แสดง โดยผู้นำประชาชนของแต่ละหมู่บ้านเป็นรับผิดชอบในการฝึกซ้อม เช่น บ้านนายูงรับแสดงองก์อพยพก็บอกเล่าเรื่องราวการเคลื่อนย้ายถิ่นของชาวผู้ไทย หรือบ้านนาฮีให้รับผิดชอบองก์ประเพณีแห่ดอกไม้ ประเพณีแต่งงาน ประเพณีสู่ขวัญข้าวมานำเสนอ

อาจารย์พวงพะยอมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมผู้ไทยที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชน นอกเหนือจากการพัฒนายุวมัคคุเทศก์ “เราได้เงินจากวัฒนธรรมจังหวัด เราอบรมเรื่องผ้ามน [ผ้าสำหรับเคียนมวยผมผู้หญิง] เครื่องจักสาน เราจัดกิจกรรมจากงบประมาณจากภายนอก ชุมชน จัดอบรมโดยใช้  ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น’ เป็นวิทยากร และงบประมาณจากวัฒนธรรมจังหวัดให้เป็นค่าตอบแทนและวัสดุในการทำงานฝีมือ” อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการให้ความรู้เช่นนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่สนับสนุนจากภายนอก จึงไม่ได้จัดต่อเนื่องทุกปี

สุดท้ายผู้อำนวยการยงยุทธเชื่ออย่างยิ่งว่า ในปัจจุบันเมื่อองค์การบริหารท้องถิ่นรับหน้าที่จัดงานวัฒนธรรมในงานบุญผู้ไทยแล้ว วัฒนธรรมและประเพณีคงได้รับการปฏิบัติต่อไปในภายภาคหน้า สถานศึกษาอย่างโรงเรียนบ้านนายูง คงสนับสนุนให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นผ่านกระบวนการสร้างมัคคุเทศก์ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างการฝึกอธิบายด้วยภาษาผู้ไทย น่าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจในการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้เด็กร่วมแสดงกลองแต้และเซิ้ง ศิลปะการแสดงช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ความเป็นผู้ไทยได้อีกคำรบหนึ่ง.

อ้างอิง

ยงยุทธ สิมพาและคณะ. 2558. ตามรอยผู้ไทย. อุดรธานี : โรงพิมพ์บ้านเหล่าการพิมพ์.

พวงพะยอม พันธ์ศรี, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง, โรงเรียนบ้านนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี.

ยงยุทธ์ สิมพา, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง, โรงเรียนบ้านนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี.

สุขี วรรณกุล, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทบ้านนายูง, โรงเรียนบ้านนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี.



ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
คำสำคัญ: