พิพิธภัณฑ์บ้านคุณหลวงฤทธิ์ณรงค์รอน


ที่อยู่:
แขวงวังท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
โทรศัพท์:
02-465-4580
วันและเวลาทำการ:
ในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ฤทธิณรงค์รอนสาร

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2547

ที่มา: กรุงเทพฯ:โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านคุณหลวงฤทธิ์ณรงค์รอน

ย้อนอดีตกลับไป140กว่าปีมาแล้ว บ้านพักอาศัยของคนมีฐานะดี มีตำแหน่งทางสังคมในเมืองหลวงไม่ได้อยู่ในย่านสาธร สุขุมวิท ในยุคที่การคมนาคมทางน้ำยังเป็นสายหลักที่ผู้คนใช้สัญจรไปมาหาสู่กัน สถานที่สำคัญบ้านพักอาศัยของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และคหบดีจึงมักอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะย่านฝั่งธนบุรีซึ่งมีชุมชนอยู่อาศัยทำมาหากินมาก่อนฝั่งกรุงเทพฯ ขุนวิจิตรมาตราเล่าไว้ในงานเขียนของท่านว่า ทางฝั่งธนบุรีที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีสวนผลไม้นานาชนิด สองฝั่งคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่เป็นบ้านขุนนางและคหบดีตั้งอยู่เป็นระยะไปตลอดจนออกแม่น้ำเจ้าพระยา บรรพบุรุษคงจะอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนย้ายเมืองหลวงข้ามไปทางฝั่งตะวันออก ตัวอย่างสถานที่สำคัญได้แก่ พระราชวังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งอยู่บริเวณปากคลอง ถัดเข้ามามีวังของน.ม.ส. บ้านหมอบรัดเลย์ วังของหม่อมเจ้าตุ้ม บ้านขุนนางตำแหน่งพระยาหลายหลัง และบ้านที่จะนำมาเล่าในที่นี้ คือ บ้านกัปตันเจ๊ก

ในสมัยนั้นบ้านแบบยุโรปกำลังอยู่ในกระแสความนิยม บ้านกัปตันเจ๊กหรือบ้านหลวงฤทธิณรงค์รอนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย อาจารย์สุรพงษ์ จันลิ้ม ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เล่าว่า อาคารสองชั้นแบบยุโรปหลังนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2466 ตรงกับสมัยรัชกาลที่6 โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน และบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อ G. KLUZER&CO. สภาพที่เห็นยังรักษารูปลักษณ์และวัสดุเดิมไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นส่วนหลังคาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องโมเนียเพราะหลังคาเดิมรั่ว ปัจจุบันอาคารหลังนี้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร 

เสน่ห์ของอาคารหลังนี้อยู่นี้อยู่ที่การออกแบบ ถ้ามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมขอแนะนำให้เดินดูรอบตัวอาคารอย่างช้าๆสบายๆ ปล่อยสายตาให้ไหลไปตามเส้นตรง เส้นโค้งและเส้นหยักของรูปทรงเรขาคณิตที่ต่อเชื่อมกันอย่างกลมกลืน แม้ว่ามองภาพรวมแล้วเป็นอาคารที่วางผังแบบค่อนข้างสมดุล คือมีห้องโถงกลางเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา ลูกเล่นในการออกแบบของสถาปนิกอยู่ที่ห้องด้านซ้ายและขวา ถ้าเริ่มเดินชมโดยวนไปทางซ้ายมือด้านหน้าของฝั่งนี้มีระเบียงเล็กๆ มีเสารับส่วนที่ยื่นออกมาด้านบน ด้านข้างของอาคารมีมุขหลายเหลี่ยมยื่นออกมา ด้านหลังเป็นระเบียงเว้าเข้าตรงกลาง แล้วจึงเป็นวงโค้งเกือบกลมตรงอีกมุมหนึ่ง อีกด้านหนึ่งของอาคารมีมุขโค้งและเฉลียงเล็กๆบนชั้นสอง เมื่อวนกลับมาด้านหน้าฝั่งขวาเป็นมุขหลายเหลี่ยม จะเห็นว่าแต่ละด้าน แต่ละมุมมีความงามที่แตกต่างกัน รูปร่างและรายละเอียดก็ไม่เหมือนกัน เมื่อมองจากด้านหลังอาคารสวยไม่แพ้ด้านหน้า ความแตกต่างของรูปทรงเรขาคณิตที่สถาปนิกนำมาใช้ทำให้มองเพลิน มีลวดลายปูนเป็นวงขดม้วนต่อเนื่องเป็นแถบคาดยาวล้อมรอบบริเวณส่วนกลางอาคารเหมือนผู้หญิงคาดเข็มขัดประดับที่เอว เป็นการตกแต่งอย่างพอเหมาะพอดี ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินงาม

การวางผังภายในอาคารแบ่งเป็นสามส่วนเช่นกัน โถงกลางด้านมีขนาดไม่ใหญ่นัก มีรูปปั้น รูปถ่ายและรูปเขียนคุณหลวงพร้อมรูปภรรยาทั้งสองตั้งอยู่ โคมระย้าโบราณห้อยจากเพดานที่ใช้ไม้ตีเป็นตาราง พื้นเป็นกระดานไม้สัก เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นที่เป็นไม้ เช่น ประตู หน้าต่าง บันได ช่องลม ใช้ไม้สักทั้งหมด ปีกด้านซ้ายแบ่งเป็นสองห้องเล็ก เคยเป็นห้องนอนของญาติเด็กๆที่นำมาเลี้ยง ส่วนปีกขวาเป็นโถงยาวจากหน้าถึงหลังบ้าน เดิมเป็นห้องที่นิมนต์พระมาเทศน์ ปัจจุบันเป็นห้องซ้อมดนตรีไทยของนักเรียน ด้านหลังห้องมีบันไดเวียนครึ่งวงกลมอยู่แนบติดกับผนังโค้งเป็นทางขึ้นสู่ชั้นสอง บันไดนี้ความพิเศษอยู่ที่ไม่มีเสารับน้ำหนัก แต่ใช้วิธีถ่ายน้ำหนักไปสู่ผนัง แสดงถึงฝีมือของผู้ออกแบบก่อสร้าง เหนือบันไดมีหน้าต่างและช่องกระจกสูงให้แสงและลมผ่านได้ ถ้ามองผ่านหน้าต่างจะเห็นหลังบ้านซึ่งในอดีตเป็นเรือนบริวาร 

ชั้นบนแบ่งห้องไว้คล้ายกับชั้นล่าง ห้องแรกเคยเป็นห้องนอนของภรรยาคนหนึ่ง ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องลายคราม ส่วนหนึ่งทายาทมอบให้ ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนของวัดสังข์กระจายให้ยืมเพื่อจัดแสดงซึ่งกลุ่มนี้เป็นเครื่องลายครามที่คุณหลวงได้ถวายให้วัด และอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้บริจาคในชุมชน ห้องติดกันเป็นห้องกลางซึ่งเคยเป็นห้องนอนของคุณหลวง ผนังด้านซ้ายและขวาของห้องมีประตูด้านละสองบานเชื่อมห้องถึงกันหมด และทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ห้องอีกด้านหนึ่งแบ่งเป็นห้องเล็กสองห้อง ด้านหน้าเป็นห้องของภรรยาอีกคนหนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานรูปพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานของรัชกาลที่5 หรือรัชกาลที่6 (ส่วนพระพักตร์ไม่ชัด) ส่วนห้องเล็กด้านหลังจัดแสดงชุดไทยและศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีผู้บริจาคให้ 

ด้านหน้าห้องคุณหลวงเป็นระเบียงที่คุณหลวงชอบนั่งเล่น ในอดีตถ้าไปยืนที่บริเวณนี้แล้วมองลงไปด้านล่างจะเห็นสนามรูปวงรีมีกระถางลายครามปลูกบัวล้อมรอบ ถัดออกไปเป็นศาลาท่าน้ำ ระหว่างระเบียงกับห้องนอนคั่นด้วยประตูบานเฟี้ยมซึ่งเปิดได้กว้างรับลมที่พัดมาจากคลองผ่านเข้าไปในตัวบ้าน ระเบียงนี้ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนปางประทานอภัย (หรือปางห้ามญาติ) สูงเกือบเท่าคนจริง ชื่อว่าพระพุทธมงคลฤทธิณรงค์รอนรังสรรค์ คุณหลวงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้คุณพริ้งภรรยาคนแรกที่เสียชีวิตไปก่อน พระพุทธรูปองค์นี้ผ่านการบูรณะโดยกรมศิลปากร มีสีทองอร่ามและเครื่องทรงงดงาม ส่วนด้านหลังชั้นบนมีระเบียงจากบันไดต่อยาวไปทางอีกด้านหนึ่งของบ้านโดยไม่ต้องเดินผ่านห้อง สุดระเบียงอีกด้านหนึ่งมีประตูกั้น หลังประตูเป็นบันไดเล็กสำหรับบริวารในบ้านใช้ขึ้นลง

อาจารย์สุรพงษ์เล่าประวัติคุณหลวงให้ฟังว่า กัปตันเจ๊กไม่ได้เป็นเจ้าหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ยศกัปตันคือยศร้อยเอก และกัปตันเจ๊กก็ไม่ได้เป็นคนจีน แต่เป็นคนไทยที่เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ในพื้นที่คลองบางหลวง ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงพ.ศ. 2406 ถึง 2487 เมื่อยังหนุ่มรับราชการทหาร ได้เข้าร่วมรบในกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสงชูโต) เพื่อไปปราบฮ่อสองครั้งในสมัยรัชกาลที่5 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงฤทธิณรงค์รอนสังกัดกรมทหารบก ต่อมาลาออกจากราชการเพราะไม่สบาย มาค้าขาย ให้เช่าที่นาและเป็นนายอากร สินค้าอย่างหนึ่งที่นำเข้ามาขายคือเครื่องลายครามจากเมืองจีน บ้านนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านกระถางลายคราม เป็นแหล่งที่ขุนนางและผู้มีฐานะมาซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่องลายครามกัน นอกจากนั้นคุณหลวงยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการแบงค์สยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบันอีกด้วย 

หลวงฤทธิณรงค์รอนและภรรยามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทุกวันแม่ครัวจะหุงข้าวและต้มแกงหม้อใหญ่เพื่อใส่บาตรแด่พระสงฆ์ที่พายเรือมาในตอนเช้า และนิมนต์พระมาเทศน์ที่บ้านทุกวันพระ หลานของท่านที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านนี้เล่าว่าท่านเคยเลี้ยงพระในบ้าน 80 รูป ดูเหลืองไปหมด คุณหลวงและคุณยายแจ่มไม่ตียุง แต่ใช้ผ้ามุ้งทำเป็นถุงมีด้ามคล้ายสวิง ให้บริวารใช้โฉบจับยุงแล้วเอาไปปล่อยที่ท่าน้ำ เมื่อถึงช่วงทอดกฐินจะพาญาติที่อาศัยอยู่ในบ้านลงเรือเครื่องชื่อจำปาทองเทศ มีตาไข่เป็นคนขับเรือ ล่องขึ้นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา แวะตามวัดต่างๆเพื่อทอดกฐินทำบุญและบริจาคทานไปเรื่อยๆ บางครั้งแล่นไปถึงลพบุรี ตอนกลางคืนแวะจอดนอนกันบริเวณท่าน้ำของวัดที่ดูแล้วน่าจะปลอดภัย ส่วนวัดใกล้บ้านที่ทำบุญเป็นประจำคือวัดสังข์กระจาย สะพานท่าน้ำของวัดนี้คุณหลวงเป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้านายเก่าจึงตั้งชื่อว่าสะพานสุรศักดิ์

คุณหลวงเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 เนื่องจากคุณหลวงไม่มีทายาทโดยตรง ภรรยาคนที่สองคือคุณยายแจ่มจึงยกบ้านและที่ดินตรงนี้ให้กระทรวงศึกษาเพื่อจัดตั้งโรงเรียน

บ้านหลังนี้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปีพ.ศ.2543 จุดเด่นอยู่ที่รูปแบบสถาปัตยกรรม พระพุทธรูปทรงเครื่อง ส่วนเครื่องลายครามชิ้นที่เป็นของเก่ามีลวดลายน่าชมแต่มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนบอร์ดและคำอธิบายที่ติดไว้ภายในตัวบ้านน่าจะออกแบบให้ดูกลมกลืนกับตัวบ้านได้

พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการในเวลาราชการ ผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นคนในท้องที่ มีอาจารย์ นักวิชาการ และชาวต่างชาติมาบ้าง ทางโรงเรียนมีโครงการฝึกนักเรียนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยคอยนำชมด้วย อาคารใกล้กันมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเขตบางกอกใหญ่ ทุกปีทางเขตจะจัดเทศกาลท่องเที่ยวเขตบางกอกใหญ่ เป็นการนำเที่ยวทางเรือล่องไปตามลำคลองแวะตามสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง 

เรื่อง/ภาพ: เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม : 22 พฤษภาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-