ที่อยู่:
เรือนราชพฤกษ์ พิพิธภัณฑ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา บึงบอระเพ็ด โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000
โทรสาร:
0-5622-1207 ต่อ 201
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ (กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
พันธุ์พืช 186 ชนิดตามโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, บังหลวงและกล้วยไข่ พืชสองชนิดที่เป็นพืชหลักในการศึกษาและบูรณาการการเรียนการสอนในสาระวิชาต่างๆ, ผลิตภัณฑ์จากพืช, ตัวอย่างความหลากหลายทางชีวภาพจากเปเปอร์มาเช่
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทาน ป้ายสนองพระราชดำริในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
พ.ศ. 2546 ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรขั้นที่ 1 เกียรติบัตรแห่งความมุ่งมั่น อนุรักษ์ สรรพสิ่ง สรรพชีวิต ด้วยไวพจน์แห่งจิตสำนึกของเยาวชน
พ.ศ. 2552 ได้รับประกาศแสดงว่าโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ มีความมุ่งมั่น พัฒนาสถานศึกษา ในวิถีนำไปสู่การเป็นสถานอบรมสั่งสอนเบ็ดเสร็จ เพื่อบุคลากร มีวิทยาการ ปัญญา และภูมิปัญญา เข้าถึงผลประโยชน์แท้ บนฐาน งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรขั้นที่ 2 เกียรติบัตรแห่งการเข้าสู่สถานภาพสถานศึกษาอบรมสั่งสอนเบ็ดเสร็จบนฐานงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
เกียรติประวัติเบื้องต้นแสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังของผู้ที่รับผิดชอบทุกภาคส่วนของโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ เพื่อให้โครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการสร้างจิตสำนึกของเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาบทบาทของคณะทำงานในการให้ความรู้กับโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการตามพระราชดำริ ผู้แทนจากโรงเรียนและสถานศึกษาในหลายจังหวัดในได้แวะเวียนมาชมการพัฒนาหลักสูตรและความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ต่างๆ
สำหรับแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา พรรณไม้ทั้ง 186 ชนิดปรากฎตัวในสวนพฤกษศาสตร์ สวนวิทยาศาสตร์ในบริเวณต่างๆ ของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสสัมผัส ติดตามความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของพืชในช่วงชีวิตหรือวัฏจักรของพืชในระหว่างการศึกษาในโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ นอกเหนือจากพรรณไม้เหล่านี้ อาคารสามหลังซึ่งเป็นเสมือน “ที่มั่น” ของโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ประกอบด้วย เรือนราชพฤกษ์ พิพิธภัณฑ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา บึงบอระเพ็ด ทั้งสามอาคารได้รับการจัดสร้างภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554
เรือนราชพฤกษ์เป็นอาคารที่นำเสนอเรื่องราวของโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน กระบวนการทั้งงานใน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 การจัดทำป้ายพรรณไม้ “รู้ชื่อ รู้ลักษณ์ รู้จัก” ที่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ชื่อ รูปลักษณ์ และคุณสมบัติของพืชแต่ละชนิดทั้ง 186 ชนิด องค์ประกอบที่ 2 การรวบรวมพรรณไม้ปลูกในโรงเรียน “คลุกคลี เห็นคุณ สุนทรีย์” การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลพรรณไม้ต่างๆ องค์ประกอบที่ 3 การศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆ “รู้การวิเคราะห์ เห็นความต่าง รู้ความหลากหลาย” การบูรณาการความรู้ในสาระวิชาช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นมิติหลากหลายของพืชที่สัมพันธ์กับผู้คน องค์ประกอบที่ 4 การรายงานผลการเรียนรู้ “รู้สาระ รู้สรุป รู้สื่อ” เมื่อเรียนรู้แล้ว ผู้เรียนยังสามารถถ่ายทอดเนื้อหาต่างๆ ผ่านสื่อหลากหลายให้ผู้อื่นรับรู้ และองค์ประกอบที่ 5 การนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะเรื่อง
พิพิธภัณฑ์พืชเป็นหนึ่งในรูปแบบการใช้ประโยชน์จากโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ภายในเป็นการรวบรวมตัวอย่างพืชต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นองค์ประกอบของพรรณไม้นานาชนิด นอกจากนี้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อแสดงให้เห็น “ประโยชน์แท้แก่มหาชน” ที่ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้พรรณไม้แต่แสดงให้เห็นอย่างสำคัญถึงการรู้จักดัดแปลงพรรณไม้ต่างๆ เพื่อประโยชน์กับผู้คนทั้งทางการรักษาบำบัด การบริโภค และการใช้สอยอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์พืชจึงนำเสนอผลงานอื่นๆ ไว้เป็นแหล่งค้นคว้าสำหรับผู้เรียนรู้รุ่นใหม่ที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต
สุดท้าย พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา บึงบอระเพ็ด สำหรับการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้สุดท้าย ผู้เขียนได้ใช้เวลาในการเรียนรู้เนื้อหาของการนำเสนอในห้องพิพิธภัณฑ์ และกระบวนการเรียนรู้จากอาจารย์สมคิด รัตนพิชิตสกุล อาจารย์ได้กล่าวถึงกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการใน 3 สาระหลัก ได้แก่ ธรรมชาติแห่งชีวิต สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยวและประโยชน์แท้แก่มหาชน โดยยกตัวอย่าง จากบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นชื่อของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
“ธรรมชาติแห่งชีวิต พืชหนึ่งชนิดในแต่ละที่ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของนครสวรรค์คือบึงบอระเพ็ด โครงการสวนพฤกษศาสตร์เลือกศึกษาบัวหลวง ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่คู่กับคนไทยมายาวนาน บัวหลวงมี 8 ชนิด บางชนิดไม่เหมือนบัว” อาจารย์สมคิดชี้ให้เห็นภาพที่ถ่ายจากบึงบอระเพ็ดซึ่งจัดแสดงไว้เป็นส่วนกลางของห้องพิพิธภัณฑ์กล่าวถึงธรรมชาติถิ่นที่อยู่ของบัวสายและบัวหลวงที่ไม่ปะปนกัน
จากนั้นได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ “สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว” ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืชหลักที่ศึกษา “หลักๆ เป็นปลากับนก ที่เห็น [หุ่นจำลอง] ทำจากเปเปอร์มาเช่ คนแก่ๆ มาสอน และบอกว่าจะทำให้โรงเรียนสตรีฯ เป็นรายสุดท้าย เพราะลูกหลานไม่เอา ปลาพวกนี้เล็กสุดไปถึงใหญ่สุด เป็นเปเปอร์มาเช่หมดเลย กระเบนใหญ่มาก นี่เป็นตัวลูก กระบวนการศึกษา รูปลักษณ์ภายนอก ภายใน คุณสมบัติ พฤติกรรม แต่ละระยะอายุของเขาตั้งแต่เกิดจนตาย รากใบดอกผลเมล็ด มีการเก็บตัวอย่างในห้องพิพิธภัณฑ์พืช ส่วนนกกับปลาไม่มีการเก็บตัวอย่าง” เนื้อหาในส่วนสุดท้ายคือ ประโยชน์แท้แก่มหาชน โดยเป็นการจัดแสดงให้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปพืชหลัก ในปัจจุบัมีการเพิ่มพืชหลักในการศึกษาได้แก่กล้วยไข่ มีการใช้ภายในลำต้นกล้วย ใบ ในการทำงานประดิษฐ์สิ่งของ และการแปรส่วนประกอบที่สามารถรับประทานเป็นผลิตภัณฑ์ของว่างและผลิตภัณฑ์ยา
อาจารย์สมคิดกล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอน “เด็กๆ ค่อยๆ ศึกษา เก็บความรู้ตั้งแต่เล็กจนใหญ่ นำส่วนใดส่วนหนึ่งมาทำโครงการ รูปลักษณ์ พฤติกรรม โครงงานแสดงให้เห็นประโยชน์แท้แก่มหาชน ที่เห็นเป็นส่วนของกล้วยไข่ เยื่อกาบของต้นและก้าน เราเอามาทำเป็นโคมไฟ เราต้องปั่นและล้างหลายน้ำ เราให้เด็กใช้มุ้งลวด ตากหนึ่งแดด เราใช้แป้งมันประสาน ห้ามใช้แบบเป็นกาว เป็นการทำงานเจือจางกว่าน้ำราดหน้า เราเอากาบกล้วยเตรียมไว้เทลงไปมุ้งลวด จับกัน พอเซตตัวกระเทาะออก เด็กๆ ใช้ประโยชน์ได้จริง เสร็จแล้วก็มีด้านนี้ ในส่วนของเอาด้านในมาทำ นี่เอากาบของต้น มาทำเป็นกระด้ง ใช้งานได้จริง”
นอกจากการศึกษาภายในโรงเรียนให้แก่นักเรียนโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ และใช้อาคารทั้งสามหลังเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาดูงานสำหรับคณะดูงานจากภายนอกแล้ว รองผู้อำนวยการ ดวง คุ้มชนะ กล่าวถึงกิจกรรมสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รู้จักท้องถิ่นและชุมชนด้วยงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น เด็กๆ จะได้รับการอบรมในการเก็บข้อมูลในมิติต่างๆ ของชุมชน ประกอบด้วย ทะเบียนพรรณไม้ในชุมชน ทะเบียนสัตว์ในชุมชน ทะเบียนชีวภาพอื่นๆ ในชุมชน และทะเบียนภูมิปัญญาท้องถิ่น.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่ิอวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
พฤกษศาสตร์ พืช ชีวภาพ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 2 (นครสวรรค์)
จ. นครสวรรค์
พิพิธภัณฑ์ฉลอง อินทร์น้อย
จ. นครสวรรค์
พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ
จ. นครสวรรค์