พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแหล่งเรียนรู้กู่ประภาชัย


ที่อยู่:
วัดกู่ประภาชัย บ้านนาคำน้อย ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น 40140
โทรศัพท์:
081-5467797 (คุณพ่อทอง ศีละวงษ์), 087-8631466(คุณชวลิต สิทธิพงศ์สถิตย์)
วันและเวลาทำการ:
เสาร์-อาทิตย์
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นและบูรณะกู่ประภาชัย อาทิ เศียรประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์สมัยลพบุรี พระพุทธรูปบุทองสมัยล้านช้าง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 08 ตุลาคม 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแหล่งเรียนรู้กู่ประภาชัย

ย้อนไปประมาณ 50 ปีก่อนของบ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ทั่วทุกบริเวณคือผืนป่าที่บรรดานายพรานได้ลัดเลาะติดตามรอยล่าสัตว์ป่า ในวิถีการเลี้ยงชีพ พรานกลุ่มหนึ่งได้ไปพบซากปรักหักพังของปราสาทหินภายในป่ารกชัฏ อีกทั้งยังมีแหล่งน้ำผุดที่มีน้ำขึ้นมาตลอดเวลา กลุ่มพรานคือพ่อใหญ่ทั้ง 5 บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งบ้านนาคำน้อยจึงมีความคิดแยกตัวย้ายครอบครัวออกมาตั้งบ้านเรือนและทำการเกษตรในบริเวณนี้  การแยกตัวได้ออกมาจากชุมชนเดิมบ้านบัวใหญ่  ที่เคยอยู่ในขบวนอพยพย้ายถิ่นค้าขายมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยกัน
           
ภายในอาณาบริเวณของวัดกู่ประภาชัย แรกเข้าไปรู้สึกได้ถึงความร่มรื่น อาคารพิพิธภัณฑ์มีความโดดเด่น ส่วนจัดแสดงเป็นพื้นยกสูง ด้านหน้ามีสระน้ำขนาดใหญ่ มีสะพานเชื่อมไปยังศาลากลางน้ำ ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ มองผ่านร่มไม้ของต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา มองเห็นโบราณสถานกู่ประภาชัย ประกอบด้วย ปราสาทหินองค์ประธาน บรรณาลัยหรือห้องเก็บคัมภีร์ ล้อมรอบด้วยส่วนของกำแพงแก้ว มีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทางทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้วมีบาราย(สระน้ำ)กรุด้วยศิลาแลง โบราณสถานแห่งนี้เรียกรวมว่า อโรคยาศาล สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7แห่งอาณาจักรเขมร

การบูรณะขุดแต่งเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2543 ในเวลาต่อมาในปี พ.ศ.2553 จึงได้มีก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแหล่งเรียนรู้กู่ประภาชัย ด้วยแรงร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนช่วยกันผลักดัน เพื่อเก็บรักษารากเหง้าของชุมชน ด้วยความคิดแหลมคมที่ว่า “ถ้าเราไม่เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้ที่เดิม เราก็จะมาไหว้แค่ก้อนหิน”คุณพ่อทอง ศีละวงษ์ วัย 82 ปี ด้วยบุคลิกแจ่มใส ความทรงจำดีเยี่ยม ได้เอ่ยขึ้นมาขณะเล่าความเป็นมาของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์  ท่านเป็นประธานบริหารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแหล่งเรียนรู้กู่ประภาชัย เป็นหัวเรือใหญ่ที่สามารถทำในสิ่งที่ทำได้ยากให้เป็นจริงได้ ความคิดตรงนี้ คุณชวลิต สิทธิพงศ์สถิต รองนายกอบต.บัวใหญ่ เลขาฯคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ อีกท่านที่เข้ามาสมทบพูดคุย  คุณชวลิตได้ย้ำด้วยความนับถือว่า คุณพ่อทองเป็นผู้วางนโยบายขอสมบัติของแผ่นดินเอาไว้ตรงนี้ ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้

คุณพ่อทองบอกว่าแต่เดิมคิดว่าจะจัดตั้งเป็นแค่ชมรมอนุรักษ์มูนมังมรดกอีสาน พอดีเมื่อพุทธศักราช 2541 ทางกรมศิลปากร ได้มาบูรณะปรางค์กู่ เจอวัตถุโบราณทั้งพระพุทธรูปและโบราณวัตถุอื่นๆตั้งสองสามร้อยชิ้น จึงมีความคิดกันว่า ชุมชนของเราน่าจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ได้มีการลงมติของหน่วยงานในชุมชน มีทางวัด โดยกราบนิมนต์เจ้าคณะอำเภอ นายอำเภอ และผู้นำท้องถิ่น มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน แล้วทำหนังสือไปยังอธิบดีกรมศิลปากร มีการต่อรองกันหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับการอนุมัติ มีการทำสัญญาเก็บรักษากันไว้ปีต่อปี งบประมาณที่ทำให้มีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้มาจากอบจ.ขอนแก่น สว.ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์และนางสุทธิพร ประคุณศึกษาพันธ์  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ชาวบ้านนาคำน้อยและประชาชนทั่วไป ในการจัดทำหนังสือ โบรชัวร์ ข้อมูลทางโบราณคดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นผู้จัดทำ
           
คุณธนาอร ตรีศาสตร์ และคุณชนกานต์ หงส์ทอง คือเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ด้วยจิตอาสา ด้วยใจรักและหน้าที่ของการเป็นทายาทผู้ก่อตั้งชุมชน การต้อนรับแขกที่มาเยือนจึงเหมือนการรับผู้คนจากทั่วทุกสารทิศที่มาเยี่ยมบ้าน กับสิ่งที่มอบให้คือความรู้  สิ่งที่น่าชื่นใจมากคือ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีกลุ่มเด็กๆ เดินเข้ามาอย่างร่าเริงตามวัย พร้อมสมุดปากกา เข้ามาทำรายงานส่งครู บ้างก็เป็นนักท่องเที่ยวหรือพระสงฆ์ที่แวะเข้ามาไหว้พระที่ปรางค์กู่ แล้วมีความสนใจจึงเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ ที่มาเป็นคณะใหญ่ๆมาทัศนศึกษาจากโรงเรียนหรือหน่วยงานต่างๆ ก็มีติดต่อมาอยู่เรื่อยๆ ในเทศกาลสำคัญอย่างวันสงกรานต์ จะมีคนมาที่นี่เยอะมาก
           
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 3 ห้อง ห้องกลางส่วนประชาสัมพันธ์ เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องราวการก่อตั้งบ้านนาคำน้อย(พ.ศ.2403-2407) มีรูปปั้นพ่อใหญ่ทั้ง 5 คนคือ พ่อใหญ่หลวงผาสารท(ต้นสกุลตรีศาสตร์) พ่อใหญ่พรมภักดี พ่อใหญ่จันทะเนตร พ่อใหญ่พระไกรและพ่อใหญ่ม่อง ส่วนบอร์ดติดกับผนังได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญรุ่นต่อๆมาที่ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชน อีกบอร์ดหนึ่งด้านทางเข้าบอกถึงสภาพภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตร  ปัจจุบันชาวบ้านยังคงทำนาเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจากมีแหล่งน้ำตลอดทั้งปีจึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง
           
จากนั้นคุณธนาอรและคุณชนกานต์ ได้นำชมห้องจัดแสดงที่ใหญ่ที่สุดของที่นี่ คือ ห้องโบราณวัตถุ ซึ่งได้มาจากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน การค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้มีความน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่คาดคิดว่าของล้ำค่าหลายชิ้นจะได้อวดสายตาที่นี่ ปกติแล้วจะจัดแสดงได้เฉพาะในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในการดูแลของกรมศิลปากร โบราณวัตถุที่พบมีอยู่ด้วยกัน 2 ยุคสมัย ได้แก่สมัยเขมรโบราณ ประมาณ 800 ปีก่อน(พุทธศตวรรษที่ 18) และสมัยล้านช้าง ประมาณ 200-300 ปีก่อน (พุทธศตวรรษที่ 23-24)
           
โบราณวัตถุที่มีความโดดเด่นชิ้นแรกคือ เศียรประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ ศิลปะลพบุรี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 อายุประมาณ 800 ปี ในการขุดแต่งบูรณะ ได้ขุดลงไปพบเฉพาะเศียรที่สามารถนำขึ้นมาได้ เพราะไปเจอกับตาน้ำจึงต้องหยุด ชิ้นต่อมาคือ แก้วยอดฉัตร ลักษณะเป็นหินอัญมณีก้อนกลม หุ้มไว้ด้วยเส้นโลหะ 4 ด้าน ปลายโลหะยืดออกเป็นปลายแหลม ตามความเชื่อของชาวบ้านเล่าขานต่อกันมาว่า สิ่งนี้คือแก้วสารพัดนึก ใช้สำหรับการอธิษฐานเสี่ยงทาย เวลาจะเดินทางไปไหน ลูกแก้วจะหมุนชี้ทางให้เกิดสัมฤทธิ์ผล บางวันในเวลากลางคืนจะเห็นเป็นแสงลอยอยู่บริเวณปรางค์ จึงเป็นที่มาที่ชาวบ้านเรียกว่า แก้วสารพัดนึก
           
ถัดมาในยุคสมัยเดียวกัน เป็นเครื่องใช้สำหรับพิธีวางศิลาฤกษ์ ได้แก่ แท่นหินวางศิลาฤกษ์ แผ่นทองคำสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีลวดลาย หินควอตซ์ซึ่งเป็นหินมีค่าอีกจำนวนหนึ่ง หลักฐานสำคัญทางโบราณคดีชิ้นอื่นๆ ได้แก่ แท่นประดิษฐานรูปเคารพ ชิ้นส่วนศิลาจารึกอโรคยาศาล เป็นอักษรเขมรโบราณ
           
โบราณวัตถุอีกยุคสมัยที่พบ เป็นช่วงที่อาณาจักรเขมรเสื่อมอำนาจลง อีกหลายร้อยปีต่อมาจึงปรากฏหลักฐานในสมัยล้านช้าง โบราณวัตถุทางพุทธศาสนาเหล่านี้มีอายุประมาณ 200-300ปีมาแล้ว พบว่าฝังอยู่บริเวณโคปุระ มีพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยและพบภาชนะดินเผาที่ภายในบรรจุพระพุทธรูปบุเงิน บุทอง และกระดูกมนุษย์  การดูแลความปลอดภัยโบราณวัตถุ ทุกวันทางหมู่บ้านได้มอบหน้าที่รปภ.ให้กับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาดูแล  ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์อยู่ในการสนับสนุนดูแลของวัดกู่ประภาชัย โดยมีพระมหาสวาท สุทธิญาโณ เป็นเจ้าอาวาส ภูมิทัศน์สวยงามในอาณาบริเวณวัดเป็นการจัดการดูแลของท่าน
           
อีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงในห้องนี้คือ กู่ประภาชัยกับความเชื่อของชุมชน ชาวบ้านนาคำน้อยจะจัดงานทำบุญประเพณีสรงกู่ในวันขึ้น 13 ค่ำ-15 ค่ำ เดือนห้า นั่นคือเดือนเมษายนของทุกปี  เป็นพิธีเคารพต่อผีเจ้าที่ เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากัน ในงานมีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย หากบั้งไฟจุดขึ้นสูง แสดงว่าหมู่บ้านจะมีความสงบสุข เรือกสวนไร่นาจะมีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าบั้งไฟแตกหรือจุดไม่ขึ้น ผลก็จะออกมาทางตรงกันข้าม  จากนั้นจะทำการแห่บั้งไฟรอบกู่ 3 รอบ แล้วนำบั้งไฟไปมอบให้หลวงปู่กู่ คือ พระพุทธรูปในปราสาท แล้วจึงนำไปจุดนอกกำแพงแก้ว  ปัจจุบันงานประเพณีสรงกู่ไม่ได้จัดให้มีบั้งไฟแล้ว
           
การสรงกู่ส่วนพิธีทางสงฆ์ มีการนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่มาทำการสวดพระปริตร สวดสรงกู่ แล้วชาวบ้านร่วมกันถวายภัตตาหารเพล มีการก่อเจดีย์ทราย เรียกกันว่า ก่อปะทาย มีความเชื่อกันว่าเป็นการทำบุญเพื่อล้างบาป ภายในปราสาทหิน จะนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เข้าไปสวดมนต์ให้ปกปักรักษาคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข พระสงฆ์ทำการประพรมหรือสรงน้ำปราสาทและพระพุทธรูป จากนั้นชาวบ้านจะนำน้ำมาสรงกู่และพระพุทธรูป            

อีกห้องหนึ่งทางขวามือ จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ใช้ชื่อว่า ห้องมูนมังมรดกอีสาน จัดแสดงเครื่องใช้พื้นบ้านในการทำนา มีแอก คันไถ วี (พัดขนาดใหญ่ ใช้พัดเศษฟางหรือข้าวลีบ) ไม้ตีข้าว  อุปกรณ์หาปลามีไซ ข้อง อุปกรณ์ทอผ้ามีไน อัก ฟีม  เหล่น อิ้ว(ใช้แยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย) ไม้เก็บขิด เลนป่าน (พันเส้นป่านให้เป็นเชือก)  เครื่องครัวสมัยก่อน มีโบม ครุ กระต่ายขูดมะพร้าว  อาวุธสำหรับการล่าสัตว์มีเบ็ด สำหรับตกปลา ชิง สำหรับดักนกคุ้ม มีดปลายแหลม ดาบ ตะเกียงแก๊ส หน้าไม้และเครื่องใช้อื่นๆได้แก่ เตารีดโบราณ ตาชั่ง แอบยา เชี่ยนหมาก ตะเกียงเจ้าพายุ เป็นต้น
คุณธนาอรและคุณชนกานต์ ได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนว่า ปัจจุบันมีเพียงบ้านเดียวที่ใช้ควายไถนา การทอผ้ายังมีไม่กี่บ้าน เคยมีว่าบ้านที่มีผ้าไหมโบราณเก็บไว้ แล้วมีคนเอาผ้าโรงงานผืนใหม่มาขอแลก คนรุ่นหลังก็ให้เขาไปโดยไม่เห็นคุณค่า สภาพบ้านเรือนสมัยตอนเป็นเด็ก บ้านคุณตาทวดอยู่ตรงกลาง บ้านลูกหลานสร้างอยู่รอบๆ เด็กๆ ก็วิ่งผ่านใต้ถุนบ้านนั้นบ้านนี้ ไม่มีรั้วบ้าน ปัจจุบันทำรั้วรอบขอบชิดกันหมด ทำให้บ้านคุณตาทวดไม่มีทางออก ต้องมีการแลกพื้นที่เข้าออกกัน

ปัจจุบันกู่ประภาชัย บ้านนาคำน้อยคือ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  โดยทำเลที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ติดกับปรางค์กู่ และโบราณวัตถุได้เก็บรักษาในพื้นที่ขุดค้น  หลังจากไหว้พระชมปราสาทหินแล้ว  ผู้มาเยือนควรเข้าชมภายในนี้ จึงจะถือว่าได้มาที่นี่อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
 
การเดินทาง :  ออกจาก อ.เมืองขอนแก่น ให้มาตามถนนกสิกรทุ่งสร้าง เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1027 ผ่านบ้านศิลา ข้ามลำน้ำพอง จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2183  ตรงไปอีกประมาณ 5 กม. เลี้ยวซ้ายผ่านพระธาตุขามแก่น อีกประมาณ 11 กม. ถึงบ้านบัวใหญ่ เลี้ยวซ้ายประมาณ 1.4 กม. จะเห็นวัดกู่ประภาชัย พิพิธภัณฑ์และปราสาทหินกู่ประภาชัย อยู่พื้นที่เดียวกันกับวัด
----------------------------------------------------

สาวิตรี  ตลับแป้น  ผู้เขียน 

ข้อมูลจาก  
สำรวจภาคสนามเมื่อ 18  มิถุนายน 2559
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแหล่งเรียนรู้กู่ประภาชัย. ขอนแก่น:
               โรงพิมพ์พระธรรมขันต์, มปป.
ชื่อผู้แต่ง:
-