พิพิธภัณฑ์วัดเขาไม้เดน


ที่อยู่:
วัดเขาไม้เดน หมู่ที่ 8 ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ 60130
โทรศัพท์:
080-1168523 พระอธิการธีรศักดิ์
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
โบราณวัตถุสมัยทวารวดี
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดเขาไม้เดน

“กรมศิลปากรเข้าสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2508 [กรมศิลปากร, โบราณวัตถุสมัยทวารวดีแห่งใหม่(Some recently discovered sites of Dvaravti period) และรายงานการขุดค้นโบราณวัตถุสถาน ณ บ้านเขาไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์, กรุงเทพ:กรมศิลปากร, 2508.] เมื่อเข้าสำรวจพบโบราณสถานทั้งหมด 16 แห่งและมีเจดีย์ 4 องค์ที่อยู่ในบริเวณวัดเขาไม้เดน ส่วนโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในครั้งนั้นได้รับการจัดแสดงไว้ที่วังนารายณ์

พิพิธภัณฑ์วัดเขาไม้เดนจัดแสดงข้าวของที่เก็บไว้จากการค้นพบชาวบ้านโดยบังเอิญ พอมากเข้า เลยทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2549 ปีนั้นก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ และยังคงมีคนนำของมาถวายให้วัดมาเรื่อยๆ วัตถุเหล่านี้ขุดพบโดยบังเอิญในเนื้อที่บ้านเขา ล้วนสะท้อนให้ดินแดนอารยธรรมสุวรรณภูมิ สมัยทวารวดี”

พระอธิการธีรศักดิ์ เจ้าอาวาสวัดเขาไม้เดน กล่าวขึ้นเมื่อเริ่มนำชมพิพิธภัณฑ์วัดเขาไม้เดน ในเอกสารของกรมศิลปากร ระบุไว้ว่า “โบราณสถานและคูเมืองตั้งอยู่ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและตะวันตกของเทือกเขาไม้เดน ระหว่างกิโลเมตรที่ 307-308 ถนนพหลโยธิน เส้นทางถนนพหลโยธินแล่นทับคูเมืองชั้นนอกด้านตะวันออกไปบางตอน มีโบราณสถาน เข้าใจว่าเป็นฐานะของพระสถูปเจดีย์อยู่ทางเชิงเขาโคกไม้เดน ด้านตะวันออกและบนยอดเขาปกล้น เท่าที่สำรวจพบแล้วมี 16 แห่ง”
 
พิพิธภัณฑ์วัดเขาไม้เดนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีหน้าต่างโดยรอบ เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่มีผู้ถวายให้กับวัดเขาไม้เดน พระอธิการธีรศักดิ์กล่าวอธิบายความต่อด้วยว่า “อาตมาจำพรรษาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ได้ 18 ปี ในช่วงระยะดังกล่าว มีคนนำสิ่งเหล่านี้มาถวาย ก่อนหน้านั้นไม่มีคนเอามาถวาย อาตมาเป็นคนสนใจ เพราะในย่านนี้มีโบราณสถาน เราเสาะหาด้วย ตอนนั้น นายอนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการฯ กรมศิลป์ ที่ 4 ส่งอาตมาไปอบรมที่วัดใหญ่ พิษณุโลก พ.ศ.2543 ได้รับความรู้และเป็นความชอบในโบราณสถาน เริ่มเก็บสะสมตั้งแต่นั้นมา”

การสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ใช้เงินจำนวนหนึ่งล้านหนึ่งแสนบาท โดยได้รับจากเงินผ้าป่า “เงินศิษย์เก่าอำนวยศิลป์ เพราะอาจารย์เป็นศิลป์เก่าอำนวยศิลป์รุ่นหญ้าแพรก” และใช้เวลาสองปี การจัดแสดงโบราณวัตถุปรากฏทั้งชั้นบนและชั้นล่างของอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยมีการนำเสนอโบราณวัตถุในตู้กระจกมีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมทรงสูง และแบ่งเป็นสองชั้นภายในตู้ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสบอกว่า “เป็นผู้ออกแบบเอง” และให้ช่างในพื้นที่จัดทำเพื่อจัดเก็บและนำเสนอโบราณวัตถุ

โบราณวัตถุประกอบด้วยภาชนะดินเผา เครื่องประดับ แวดินเผา รูปปั้น รูปเคารพ องค์ประกอบสถาปัตยกรรม โครงกระดูก โบราณวัตถุเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร ส่วนการจัดแสดงที่ปรากฏอยู่ได้รับการจัดประเภทและจัดแสดงโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรด้วยเช่นกัน วัตถุต่างๆ ได้รับการนำเสนอสลับกับป้ายนิทรรศการมีลักษณะเคลื่อนที่ไปยังภายนอกได้โดยสะดวก ป้ายนิทรรศการหนึ่งกล่าวถึงความเป็นมาของชื่อวัดและการอธิบายถึงสถานที่ตั้งของเมืองโบราณไว้ว่า

“วัดเขาไม้เดน มีชื่อเดิมว่า วัดโคกไม้เดน ไม่มีหลักฐานว่าเปลี่ยนจาก โคกไม้เดน เป็น เขาไม้เดน ตั้งแต่เมื่อไร สำหรับ ไม้เดน เป็นชื่อต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีผลเล็ก ผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน ผลแก่จะมีสีแดง รสหวาน รับประทานได้ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านตั้งอยู่เชิงเขาไม้เดน บริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่าสมัยทวารวดีที่มีชื่อว่า “เมืองบน”

วัตถุโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุที่มาได้อย่างชัดเจนและไม่มีข้อมูลในการเสนอมากนัก ยกเว้นตู้ที่จัดแสดงวัตถุ ที่มีการให้ข้อมูลในชั้นหลังว่า “ปู่เมฆ” ตามเอกสารที่ผู้เขียนได้รับจากเจ้าอาวาส วัตถุดังกล่าวจัดแสดงอยู่บนชั้นสองของอาคาร โดยมีการนำข้อมูลจากสูจิบัตรเนื่องในงาน “ปั้นเมฆ” ขอฝน พิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากมติชน ข่าวสด และครอบครัวคุณพันธุ์-ครอบครัวบุญจับ เอกสารดังกล่าวได้รับการเรียบเรียงโดย อาจารย์ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์กำหนดอายุของ “ปู่เมฆ” ราว 2,500 ปี โดยระบุไว้เอกสารว่า พบที่เขาบ่อพลับ ต.ม่วงนัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ในนิทรรศการกล่าวไว้ว่า

“ปู่เมฆ เป็นตุ๊กตาทำจากโลหะสำริด พบบริเวณโบราณสถานเมืองบน ห่างไปทางทิศใต้ใกล้บ้านเขาบ่อพลับ มีอายุราว 2,500 ปี
ปู่เมฆใช้ในการประกอบพิธีกรรม ปั้นเมฆเพื่อเป็นการขอฝนในกิจพิธีของศาสนาผีชนพื้นเมืองชาวอุษคเนย์ ซึ่งชาวตะวันตกได้เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า สุวรรณภูมิ
ในพิธีกรรมขอฝนหรือปั้นเมฆนี้ จะมีตุ๊กตาที่ปั้นท่าทางคล้ายกบ ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ จะมีทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยจะแสดงให้เห็นอวัยวะเพศอย่างเด่นชัด (ขณะนี้พบเฉพาะเพศชาย) และมีตุ๊กตาอื่นๆ ประกอบอีกเช่น ตุ๊กตากบ ตุ๊กตาตะกวด ตุ๊กตาปลาช่อน ฯลฯ ร่วมอยู่ในพิธีนี้ด้วย และจะมีมนต์กำกับดังนี้ ปั้นเมฆเสกคาถา เอาผ้าบังคน ปั้น... ปั้น... ฝนก็เทลงมา เทลงมา”

ในเอาสารของอาจารย์ศิริพจน์ แสดงให้เห็นไว้ในส่วนสรุปว่า “ตุ๊กตาปั้นเมฆและตุ๊กตารูปตะกวดสำริดจากบ้านเขาบ่อพลับ จึงเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการ ‘ปั้นเมฆ’ขอฝน พิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิ” การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัดเขาไม้เดนทำให้เห็นมิติทางโบราณคดีที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมทวราวดีในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ที่มีมาอย่างช้านาน.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 26 ตุลาคม 2559
ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ