พิพิธภัณฑ์คุกธารโต


พิพิธภัณฑ์คุกธารโต ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองธารโต อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารโรงครัวเก่าของคุกธารโต โดยพิพิธภัณฑ์จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ภายหลังได้ตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชในปี 2555 ภายในแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 โซน ได้แก่ ห้องจัดแสดงวัตถุที่ค้นพบและคาดว่าเคยใช้ในคุกธารโต ห้องจัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และห้องจัดแสดงวิถีชีวิตชาวธารโตตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองธารโต หมู่ที่ 1 ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
โทรศัพท์:
073-203-511
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-17.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม มีตู้รับบริจาคตามศรัทธา
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์คุกธารโต

คุกธารโตเดิมตั้งอยู่ในเขตปกครองของตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กรมราชทัณฑ์จัดตั้งเป็นทัณฑสถานหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2374 รุ่นเดียวกับทัณฑสถานเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เพื่อกักขังนักโทษทางการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ส่งมาจากทั่วประเทศ ในอดีตเรียกทัณฑสถานแห่งนี้ว่า “นรกธารโต” ต่อมาในปี พ.ศ.2500 กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยุบทัณฑสถานแห่งนี้ กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดสร้างนิคมสร้างตนเองธารโต และพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ
 
ในปัจจุบัน ร่องรอยบางอย่างของทัณฑสถานธารโตที่พบยังปรากฏอยู่ เช่น โรงครัว โซ่ตรวน ก้อนอิฐที่มีตราประทับของราชทัณฑ์ และพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกดัดแปลงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนิคมสร้างตนเองธารโต และโรงเรียนธารโตวัฒนวิทย์ ส่วนนักโทษในอดีตที่ปักหลักทำมาหากินในพื้นที่แถบนี้ รวมทั้งผู้คุมนักโทษ ปัจจุบันเสียชีวิตเกือบหมดแล้ว
         
ดังนั้น เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ องค์กรทุกภาคส่วนในพื้นที่อำเภอธารโต จึงได้ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์คุกธารโต โดยใช้อาคารโรงครัวเก่าซึ่งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองธารโตเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ และได้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 และในปี พ.ศ.2555 ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม จัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช

ทัณฑสถานธารโต ได้เปิดทำการมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2499 ถูกยกเลิกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อนำไปจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเอง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 22 ปี มีผู้บัญชาการจำนวน 3 คน คือ นายสงวน  ตุลารักษ์, ขุนนิยม บรรณสาร และนายเจือ  บุญวงศ์รักษ์
 
จากบันทึกของนายประหยัด  โลหะรัตน สมัยที่รับราชการอยู่ ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ.2486 ได้บรรยายสภาพแวดล้อมของเรือนจำว่า

 

 “เรือนจำมีพื้นที่จำนวน 25,000 ไร่ เป็นป่าทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย มีลำธารไหลผ่านน้ำในลำธารเต็มไปด้วยเชื้อไข้มาลาเรีย มีถนนลาดยางมะตอยเพียงสายเดียวจากจังหวัดยะลาผ่านอำเภอธารโตเข้าอำเภอเบตงรถวิ่งเข้าออกน้อยมากบางวันไม่มีเลย ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า ความทึบของป่าทำให้นักโทษไม่สามารถหลบหนีได้ เคยมีนักโทษหลบหนีไป 5  วัน หมดเสบียงไปไหนไม่รอดต้องกลับเรือนจำ ภายในเรือนจำมีโรงเลื่อย โรงครัว เรือนขัง โรงเลี้ยงอาหาร มีเครื่องจักรไอน้ำ สำหรับโรงเลื่อย และปั่นไฟฟ้าใช้เอง มีรถแทรกเตอร์ใช้งาน และมีร้านค้าแบบสหกรณ์สำหรับนักโทษและผู้คุม ความเป็นอยู่ของนักโทษที่นี่อยู่กันค่อนข้างอิสระ มีเพียงนักโทษที่ความประฑฟติไม่ดีเท่านั้นที่จะถูกตีตรวน นักโทษส่วนใหญ่ไม่เกเรและมีโทษเหลือประมาณ 5-6 ปี ทุกคนต้องทำงานประจำวัน ส่วนใหญ่ทำงานไม้ เช่น ไม้หมอน ทำเสาโทรเลข ทำถนนจากธารโตไปยังเขตอำเภอเบตง ตัดหวายป่า เผาถ่าน ทำสวนส้ม ปลูกยางพารา ทำฟืน เคี่ยวน้ำตาล เป็นต้น”

 
นอกจากนี้ อดีตของคุกธารโต ได้ถูกบอกขานเล่ากล่าวจากบุคคลที่ยังคงอยู่ เอกสารที่ถูกบันทึกไว้และจากร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างหรือวัตถุที่เหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันและแสดงเรื่องราวได้อย่างเด่นชัด ถึงภาพเหตุการณ์และชีวิตของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่านักโทษหรือผู้คุมในสมัยนั้น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชุมชนในอดีตของพื้นที่
 
นายประหยัด  โลหรัตน อดีตผู้คุมนักโทษทัณฑสถานธารโต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 บันทึกของเขาได้อธิบายสภาพแวดล้อมของคุกธารโตไว้ว่า เป็นป่าทึบ กลางคืนเงียบสนิท เจ้าหน้าที่ไม่ออกจากบ้านเพราะกลัวสัตว์ร้าย เมื่อดับไฟฟ้าเรือนจำและบ้านต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดแทน ป่าลึกในบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของซาไกและเคยพบออกมาเดินอยู่ตามถนน สัตว์ป่าแถบนั้นก็เคยจับมาทำอาหารที่มี เม่น ตัวนิ่ม กบภูเขาตัวใหญ่มาก ในขณะนั้นไข้ป่าหรือมาลาเรียชุกชุมมาก ทุกคนเป็นไข้นี้กันหมดไม่เว้นแม้แต่ผู้คุม น้ำในลำธารที่ไหลผ่านเรือนจำ ต้องนำมาต้มก่อนที่จะนำมาดื่ม และเรื่องที่ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่น่าภูมิใจ คือ รถยนต์บรรทุกของเรือนจำใช้ก๊าซที่ได้จากการเผาถ่าน เพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์แทนน้ำมันเบนซิน ซึ่งขาดแคลนในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
 
นายฉัตร เพชรพงศ์ อดีตนักโทษ ได้เล่าถึงความเป็นอยู่และสถานที่ว่า 

 

“ประมาณ 8.00 น. ก็กินข้าว วันหนึ่งกินสองมื้อ คือ มื้อเช้ากับมื้อเย็น ใครมีเงินก็ไปซื้อที่ตลาด พวกนักโทษเอาเงินมาจากการถางป่า เอาของป่าขาย ตัดหวาย ตื่นเช้า 6.00 น.  โค่นต้นไม้ประมาณ 6 วา แล้วใช้มือเลื่อย ทำถนนสายยะลา-เบตง ถ้ามีงานก็ถูกเรียกไปใช้ อาจจะไปตักน้ำหาฟืน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง มีนกหวีดเรียกเวลาทำงาน ผู้คุมก็นับจำนวนคนแล้วแยกย้ายกันไปทำงาน ห้าโมงเย็นใครมีตำแหน่งหุงข้าว ก็หุงข้าว พอค่ำก็นั่งคุยกัน นักโทษรวมกันหมดในเวลานอน นอนบนไม้กระดาน เวลานักโทษทำผิด จะให้เอาบุ้งกี๋มาตักลม... ผู้คุมไม่บอกให้หยุดก็ไม่ต้องหยุด ถ้านักโทษหนีก็ตีด้วยหวาย... ถ้าจับได้ก็อาจยิงทิ้งเสีย หรือตีด้วยหวายจนตาย...”


สรุปความจาก Facebook ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์คุกธารโต
ชื่อผู้แต่ง:
-