บ้านฮอลันดา


ที่อยู่:
หมู่ 4 ซอยคานเรือ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000 (ติดกับวัดพนัญเชิง)
โทรศัพท์:
035-235-200
วันและเวลาทำการ:
พุธ-อาทิตย์ เวลา 9.00-17.00
ค่าเข้าชม:
คนละ 50 บาท
อีเมล:
info@baanhollanda.org
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
ของเด่น:
นิทรรศการการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลแลนด์

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

โดย:

วันที่: 30 พฤษภาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่บ้านฮอลันดา

บ้านฮอลันดา  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในวาระเฉลิมฉลองครบ 400 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ดัตช์  โดยใช้พื้นที่ที่เคยเป็นสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลงเหลือแต่เพียงฐานรากโบราณสถานอาคารคลังสินค้าเดิม โดยกรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่งในระหว่างปี พ.ศ. 2546-2548  และในปี พ.ศ. 2552-2553 ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ อาทิ เครื่องกระเบื้องจีน  เครื่องปั้นดินเผา กล้องสูบยาของดัตช์ และเหรียญเงินตราดัตช์ 

บ้านฮอลันดา อาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและดัตช์  คือไม่เน้นโบราณวัตถุ แต่เป็นนิทรรศการที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์เรื่องราวของดัตช์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร ผู้ค้นคว้าและจัดทำเนื้อหานิทรรศการบอกว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่จะนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ

อาคารจัดแสดงเป็นอาคารก่ออิฐสูงสองชั้นสีส้มสดใส  สร้างใหม่โดยยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของสถานีการค้าดัตช์ เท่าที่พอจะหาหลักฐานได้ แล้วเสร็จในปี 2554 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์และงบประมาณจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์  ส่วนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพนัญเชิง ซึ่งอยู่ติดกัน

ส่วนจัดแสดงหลักอยู่บริเวณชั้นสอง  ส่วนแรกเป็นส่วนนิทรรศการที่แนะนำให้รู้จักว่าชาวดัตช์คือใคร เหตุใดบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรือวีโอซี(VOC) จึงมาทำการค้ากับอยุธยา  การค้าขายในสมัยอยุธยาเป็นอย่างไร แล้วพวกดัตช์ใช้ชีวิตอย่างไรในอยุธยา จากนั้นเป็นส่วนจัดแสดงจำลองหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่เป็นสถานีการค้าดัตช์  และส่วนสุดท้ายเล่าการฉลองความสัมพันธ์ 400 ปี ระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์

ส่วนที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นการเล่าเรื่องการค้าทางทะเลระหว่างเมืองท่าในเอเชียและบทบาทของฮอลันดา มีความรู้ที่น่าสนใจคือ จริงๆ แล้วพ่อค้าฮอลันดานำสินค้าของไทยไปขายต่อในภูมิภาคเอเชียด้วย ในนิทรรศการใช้สื่อเทคโนโลยีแบบinteractiveที่ผู้ชมสามารถกดปุ่มดูเส้นทางการค้าว่าแต่ละเส้นทางมีสินค้าใดที่ค้าขายระหว่างกัน  พระเอกในนิทรรศการคือตัวอย่างสินค้าที่หาดูได้ยาก ที่นำมาให้ชม เช่น หนังปลากระเบนที่ส่งออกไปขายถึงญี่ปุ่น เพื่อนำด้ามจับดาบซามูไร   หนังกวางที่มีความเบา ยืดหยุ่น และแกร่ง เหมาะสำหรับทำชิ้นส่วนชุดเกราะนักรบญี่ปุ่น  ไม้ฝางที่มีคุณสมบัติสีแสงที่มีคุณภาพในการย้อมผ้า  ไม้กฤษณามีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่นำไปผลิตน้ำมันหอม ดีบุกที่ใช้เป็นวัสดุบุด้านในกล่องชาเพื่อป้องกันความชื้น เป็นต้น

ส่วนจัดแสดงที่ว่าด้วยเรื่องว่าชาวดัตช์ดำรงชีวิตอย่างไรในกรุงศรีอยุธยา เป็นการนำเสนอที่มิได้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ หากแต่มีเกร็ดที่น่าสนใจที่ลงลึกถึงชีวิตคน  ซึ่งคนดัตช์ที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยานั้นสวมหมวกสามใบคือ เป็นทั้งพ่อค้า ข้าราชสำนัก และนักการทูต ซึ่งคนสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมการค้าฮอลันดากับราชสำนักคือผู้หญิงมอญคนหนึ่งที่ชื่อออสุต หล่อนมีสามีเป็นหัวหน้าสถานทีการค้าชาวดัตช์ 2 คน และเป็นผู้ผูกขาดการขายเสบียงอาหารให้วีโอซี  หรือเรื่องตัวแสบแห่งบ้านฮอลันดา คือคนฮอลันดาที่ชื่อบูเซ็ต ที่ก่อเรื่องทะเลาวิวาทและละเมิดกฎหมายสยาม เป็นต้น

ดร.ธีรวัต เล่าว่าหลักฐานข้อมูลที่ค้นคว้าได้ส่วนใหญ่เป็นแผนที่ ภาพถ่าย และเอกสารจำพวกบันทึกประจำวัน รายการขนส่งสินค้า และเอกสารอื่นๆที่เขียนโดยลูกจ้างบริษัทวีโอซี ได้มาจากจดหมายเหตุวีโอซี ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกความทรงจำของโลกโดยยูเนสโก  นอกจากนี้ยังใช้หลักฐานชาติอื่นด้วยหากสื่อความหมายได้ชัดเจน  ดังนั้นภาพแผนที่โบราณต่างๆ  บางภาพหลายคนอาจคุ้นเคย ซึ่งปรากฏในนิทรรศการทั้งหมดเป็นภาพที่ได้ขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง มีความคมชัด สีสันงดงาม

หลังจากชมเรื่องราวประวัติศาสตร์แน่นๆ มาแล้ว ส่วนถัดไปเป็นมุมเชิงโบราณคดี คือ จำลองข้าวของที่ขุดพบในบริเวณสถานีการค้า  และทำพื้นทางเดินมุมหนึ่งเป็นกระจกใส ด้านล่างจำลองสภาพผืนดินบนหลุมขุดค้น ที่มีโบราณวัตถุจำพวกเศษเครื่องถ้วย เศษอิฐ กระจัดกระจายอยู่  ส่วนอีกมุมหนึ่งมีวัตถุจำลองที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ของคนดัตช์ อาทิ กล้องส่องทางไกล  กล้องสูบยา ชุดปากกาขนนกจำลอง เข็มทิศ  แว่นขยาย  เครื่องแก้ว สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 นอกจากนี้ผนังด้านหนึ่งเป็นกระจกใส สามารถมองเห็นฐานรากของสถานีการค้าที่กรมศิลปากรได้ขุดแต่งไว้ มีกล้องส่องทางไกลแบบสองตา เมื่อส่องแล้วจะเห็นภาพซ้อนที่เป็นภาพเค้าร่างสถานีการค้าเดิมซ้อนทับกับสถานที่จริง

ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องราวหลังเสียกรุงครั้งที่สอง คือหลัง ปี พ.ศ. 2310 ดัตช์ไม่ได้กลับมาทำการค้าของสยามอีกเลยเป็นเวลากว่านานกว่าครึ่งศตวรรษ  การกลับมาอีกครั้งของชาวดัตช์อย่างเป็นทางการคือในปี พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัฐบาลอาณานิคมแห่งอินเดียตะวันออกส่งวิศวกรชลประทานชื่อ เย.ฮา. โฮมัน ฟัน เดอร์ ไฮเดอ มายังสยาม ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตรในลุ่มน้ำภาคกลางของสยาม  ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับดัตช์ทั้งระหว่างราชวงศ์กับราชวงศ์ รวมถึงการเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมก็ดำเนินเรื่อยมาจนปัจจุบัน

บริเวณชั้นล่างยังมีนิทรรศการชั่วคราวว่าด้วยเรื่องการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ และมีส่วนของร้านของขายที่ระลึกและคาเฟ่ เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนอิริยาบถสำหรับผู้เยี่ยมชม นอกจากนี้ผู้ชมสามารถเดินชมบริเวณด้านนอกอาคาร ที่เป็นส่วนขุดแต่งโบราณสถานที่เป็นสถานีการค้าเดิม ที่กรมศิลปากรขุดแต่งไว้เมื่อครั้งเฉลิมฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์

ปณิตา  สระวาสี /เขียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558
การบรรยายเรื่อง “ห้องเรียนประวัติศาสร์ในงานพิพิธภัณฑ์” โดยดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพ็ชร์ วันที่ 3 กันยายน 2558 ในการประชุมวิชาการ พิ(ศ)พิธภัณฑ์ Museum Refocused ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ.
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา ของขวัญพระราชทานจากเนเธอร์แลนด์


คราวที่ฉลองความสัมพันธ์ไทย-ดัตช์ครบ 400 ปี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 พระราชินีเบียทริกซ์(H.M. Queen Beatrix) และมกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์เแลนด์(H.R.H.the Prince of Orange) ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมา เพื่อเยี่ยมชมแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าดัตช์ สมัยกรุงศรีอยุธยา ในอ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา  และได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ บริจาคที่ดิน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าดัตช์  มอบให้เพื่อเป็นของขวัญสำหรับปวงชนชาวไทย เพื่อก่อตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับเนเธอร์แลนด์

ระหว่างปี 2546-2548  กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่งโบราณสถานที่ยังคงหลงเหลือเพียงแต่ฐานรากของ อาคารที่เคยเป็นคลังสินค้าเดิมของสถานีการค้าดัตช์ ภายใต้ "โครงการขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดา" (Excavation Dutch Settlement Project) และในปี 2552-2553 ได้ขุดค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องกระเบื้องจีน  เครื่องปั้นดินเผา กล้องสูบยาของดัตช์ และเหรียญเงินตราดัตช์  ด้วยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศ ไทยและกรมศิลปากร ในปี 2553 จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา โดยสถาปัตยกรรมของอาคารจัดแสดงพยายามยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของ สถานีการค้าดัตช์ เท่าที่พอจะหาหลักฐานได้ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ อาคารสร้างแล้วเสร็จในปี 2554

บ้านฮอลันดาตั้งขึ้น เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ในมิติประวัติศาสตร์ฺเกี่ยวกับสถานีการค้าดัตช์ สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ว่าพ่อค้าดัตช์หรือคนของบริษัท VOC (Verenigde Oostindische Compagnie) ทำงาน ใช้ชีวิต และติดต่อสัมพันธ์กับสังคมสยาม ราชสำนัก  อย่างไรบ้าง  ไม่ไกลจากที่ตั้งของบ้านฮอลันดา ยังมีหมู่บ้านโปรตุเกส และหมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่  "บ้านฮอลันดา" คงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ๆ จะเป็นหลักฐานให้เห็นว่า กรุงศรีอยุูธยา เมื่อ 400 กว่าปีมานั้น คราคร่ำไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ หลากชาติพันธุ์ ทั้งจากเอเชียและยุโรป

พื้นที่ภายในอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน  ส่วนแรกเป็นนิทรรศการเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่าด้วยเรื่องบริษัท VOC  โดยจะผสมผสานสื่อเทคโนโลยีร่วมกับการเล่าเรื่องให้สร้างความน่าสนใจ
ส่วน ที่สอง เป็นพื้นที่นิทรรศการชั่วคราว เป็นการเปิดพื้นที่และโอกาสให้ภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจไทย-ดัตช์ เข้าร่วมแบ่งปันความรู้หรือประสบการณ์ผ่านการทำนิทรรศการต่างๆ เช่น เรื่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
สุดท้ายเป็นส่วนของคาเฟ่และร้านค้า เป็นพื้นที่ผ่อนคลายอิริยาบทสำหรับผู้เยี่ยมชม

บ้านฮอลันดา ดำเนินงานภายในการดูแลของมูลนิธิบ้านฮอลันดา มีดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เป็นประธานฯ  และคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2555 นี้

ปณิตา สระวาสี /เรียบเรียง

ข้อมูลจาก: แผ่นพับประชาสัมพันธ์ Holland House Information Centre/Baan Hollanda Ayutthaya


ชื่อผู้แต่ง:
-