ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 10/6/2547
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ส.พลายน้อย | ปีที่พิมพ์: 2539
ที่มา: กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 25/09/2551
ที่มา: มติชนรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 28/11/2549
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 21-10-2550 (หน้า5-6)
ที่มา: มติชนรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 30 มิถุนายน 2554
ที่มา: แนวหน้า
แหล่งค้นคว้า:
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ
ถ้าท่านเป็นคนไทยที่สนใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านเมืองแล้ว ไม่ควรจะพลาดชมพิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดดำรงราชานุภาพ เพราะคงจะไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่ทรงคุณค่าและบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยได้ดีเท่ากับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกแล้วส่วนแรกที่ทุกคนต้องเข้ามาชมก่อนก็คือหอสมุดดำรงราชานุภาพ เป็นหอสมุดที่รวบรวมหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้ค้นคว้าหาความรู้ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ตำราที่ทรงนิพนธ์ขึ้นก็ได้เก็บรวบรวมไว้ที่หอสมุดแห่งนี้ แต่มีความพิเศษคือหนังสือเก่าเหล่านี้เราไม่สามารถเข้าไปเลือกหยิบอ่านเองได้ ต้องให้บรรณารักษ์หยิบให้ และต้องอ่านอย่างทะนุถนอมที่สุดเพราะถือว่าหนังสือทุกเล่มเป็นสมบัติของชาติถ้าผุพังไปจะหาเล่มใหม่มาทดแทนไม่ได้อีกแล้ว หอสมุดแห่งนี้ทางตระกูลวรดิศ ได้มอบให้กรมศิลปากรดูแล แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารยังคงเป็นของทางวังวรดิศ ห้องสมุดแห่งนี้เปิดในวันและเวลาราชการเท่านั้น
ส่วนที่สองคือตัวพระตำหนักของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นอาคารที่สวยงามมาก สถาปัตยกรรมรูปแบบอาร์ตนูโวแบบเยอรมัน ออกแบบโดย ดร.คาร์ล ซิกฟรีด ดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring) มี 2 ชั้น หลังคาจั่วปาดมุมทรงสูง ด้านนอกตัวอาคารมีลวดลายใบไม้ที่สวยงามแปลกตาและเป็นเอกลักษณ์ของอาคารแห่งนี้ ทายาทของพระตำหนักคือ พลตรี ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระนัดดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านได้อุทิศตนหลังจากเกษียณอายุราชการจัดทำพระตำหนักให้เป็นพิพิธภัณฑ์โดยมีความประสงค์หลักคือต้องการให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ความรักชาติและพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ได้รับแนวความคิดการทำตำหนักเป็นพิพิธภัณฑ์มาจากสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯมาเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2520 จนปัจจุบันได้เปิดทำการเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
การจัดแสดงเน้นที่การจัดวางข้าวของของแต่ละห้องให้คงเดิมมากที่สุด เพื่อเล่าเรื่องราว การทรงงานต่างๆ เพื่อชาติบ้านเมืองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนแรกเมื่อเข้าไปที่ระเบียงชั้นหนึ่งจะเป็นเรื่องราวของโต๊ะเสวยซึ่งมี 3 โต๊ะ โต๊ะแรกเป็นโต๊ะอาหารยาว ซึ่งเป็นที่เสวยของสมเด็จฯ และพระโอรสพระธิดา ส่วนโต๊ะที่สองจะอยู่ภายในห้อง ดินเนอร์แบบตะวันตก ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ใช้เสวยพระกระยาหารในชีวิตประจำวัน แต่ทรงใช้เป็นโรงเรียนสอนนักเรียนทุนหลวงในการรับประทานอาหารแบบฝรั่ง เพื่อมิให้เคอะเขินหรือเสียมารยาทในการร่วมโต๊ะเมื่อไปเรียนยังต่างประเทศ โดยพระธิดาของพระองค์จะเป็นผู้ปรุงอาหารและเสิร์ฟอาหารเอง โต๊ะนี้เคยได้รับเกียรติจากพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 และ7 เสด็จฯมาประทับเสวยพระกระยาหารร่วมกับสมเด็จฯ ด้วย ส่วนโต๊ะที่ 3 เป็นโต๊ะกลมขนาดเล็กที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงใช้เสวยเป็นการส่วนพระองค์ หรือเสวยกับพระญาติบางองค์ และถือเป็นโต๊ะประวัติศาสตร์เพราะในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้ยึดอำนาจ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และสมเด็จกรมนริศฯ ประทับอยู่ที่โต๊ะนี้และถูกเชิญตัวไปทั้ง 2 พระองค์
ห้องถัดมาเป็นห้องจีน ห้องนี้มีความสวยงามมากเพราะมีโต๊ะเครื่องมุกแบบจีน และเฟอร์นิเจอร์ฝังมุก ที่สั่งนำเข้ามาจากประเทศจีน ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์สั่งเข้าเครื่องมุกจีน เข้ามา 5 ชุด และพระราชทานให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ 1 ชุด ห้องนี้ออกแบบตกแต่งโดยสมเด็จฯ เองทั้งหมด นอกจากนี้ยังมี ตุ๊กตามงคล ฮก ลก ซิ่ว ยิ่งทำให้ห้องนี้เน้นความเป็นจีนมากขึ้น การที่ทรงจัดห้องแบบจีนเพราะต้องการถ่วงดุลทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอินเดีย เพราะตอนนั้นไทยรับศิลปะวิทยาการจากอินเดียมามาก แต่จีนก็เป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมอันงดงามเช่นกัน พระองค์จึงจัดไว้ให้เป็นแบบอย่างในการศึกษา
ห้องถัดมาในชั้นล่างเป็นห้องรับแขกที่เรียกว่าห้อง Study หรือห้องแห่งการศึกษาเรียนรู้ เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพูดคุยศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้กับแขกบ้านแขกเมืองทุกคนที่มาเยือนพระองค์ ในห้องนี้มีธรรมาสน์ไว้สำหรับสนทนาธรรมกับพระสงฆ์ด้วย และถือได้ว่าเป็นห้องประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน เพราะรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯมาประทับที่โซฟายาวกลางห้อง และหลังจากนั้น 7 วัน รัชกาลที่ 8 ก็ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ ศิลปะวัตถุชิ้นสำคัญในห้องคือหินอ่อนแกะสลักรูปพระแม่มารีโอบกอดพระเยซูซึ่งเลียนแบบมาจากผลงานของไมเคิลแองเจลโล ที่กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจมอบให้ในวันฉลองวังใหม่ แทนตัวสมเด็จกรมพระยาดำรงฯที่รักและผูกพันกับพระมารดามาก
ส่วนระเบียงหน้าบ้านอีกด้านก็มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญก็คือ เมื่อสมเด็จฯ กลับจากไปประทับที่ปีนัง 9 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยปีนั้นเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯอย่างหนักเป็นประวัติการ สมเด็จฯจึงทรงนั่งเรือมาขึ้นที่ระเบียงบ้านด้านนี้ และประทับอยู่ที่เก้าอี้ด้านหน้าด้วยความปิติที่ได้กลับบ้านอีกครั้ง
ส่วนที่ชั้นสองเมื่อขึ้นไปจะพบกับห้องสรง และห้องถัดไปเป็นห้องฉลองพระองค์ซึ่งจะมีชุดต่างๆ ที่ทรงในโอกาสต่างๆ และมีชุดเมื่อทรงพระเยาว์จัดแสดงให้ชมด้วย สิ่งของที่อยู่ในตู้กระจกเล็กๆ มุมห้องคือมุ้งของเด็กซึ่งสมเด็จฯ เคยใช้เมื่อพระองค์ประสูติและต่อมาพระโอรสองค์โต หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุลก็เคยใช้นอนเพราะพระองค์คลอดตอน 7 เดือนร่างกายไม่แข็งแรง เสื้อผ้าของพระองค์บ่งบอกว่าเป็นคนรูปร่างเล็ก แต่พระองค์ท่านก็ทรงทุ่มเทพระวรกายทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองมากมาย ห้องถัดไปคือห้องทรงงานตอนกลางวัน จะมีโต๊ะทรงงานและตู้หนังสือมากมายที่ทรงใช้ค้นคว้า
ห้องทรงงานตอนกลางวัน มีโต๊ะทรงงานและตู้หนังสือที่ใช้ทรงงานราชการของประเทศต่างๆ และมีธงชาติของไทยสองยุคคือธงช้างบนพื้นแดง และธงไตรรงค์ ซึ่งมีความหมายว่าสมเด็จฯ ทรงทำงานรับใช้แผ่นดินมาทั้งสองยุค ห้องถัดมาเป็นห้องบรรทมเดิมของสมเด็จฯ ม.ร.ว. สังขดิส ได้ปรับปรุงให้เป็น Hall of frame เพื่อรวบรวมภาพถ่ายของคนในวงศ์ตระกูลที่ทำประโยชน์ให้สังคมและมีรูปของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงประทานคำแนะนำให้ดัดแปลงพระตำหนักให้เป็นพิพิธภัณฑ์
ห้องถัดมาเป็นห้องที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์บนรถเข็น ห้องนี้มีนาฬิกา 1 เรือนซึ่งหยุดเดินในเวลาที่พระองค์สิ้นพระชนม์พอดี บริเวณที่ทรงสิ้นพระชนม์ปัจจุบันได้นำพระรูปของสมเด็จฯ มาวางไว้ อีกห้องที่มีความงดงามก็คือห้องพระ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยเสด็จมาชมและทรงกล่าวว่าเป็นห้องพระที่ตกแต่งได้งดงามมาก ห้องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นคนจัดโต๊ะหมู่บูชาเอง พระประธานให้ห้องมีชื่อว่าพระเจ้าจอมจักร มีความพิเศษคือใต้ฐานของพระพุทธรูปจะมีแก้วมณี 7 ดวงของจักรพรรดิอินเดียฝังอยู่ ถ้าแสงทำมุมดีๆ แก้ว 7 สีจะส่องประกายสวยงามมาก สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตั้งใจจะนำถวายแด่รัชกาลที่ 5 แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงนำมาเก็บไว้ที่ตำหนักแห่งนี้ สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดก็คือตู้สีดำทั้งสองข้างเป็น ตู้บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 4, และเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิต รัชทายาทองค์แรกของรัชกาลที่ 5 ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์และผ้าซับพระบาทตอนสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 6 ตู้เหล่านี้จะเปิดปีละครั้งในวันสงกรานต์ บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาชมได้
ห้องเฉลียงปูพรมสีน้ำเงินห้องนี้กล่าวกันว่าเป็นที่แรกที่มีการฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยเพราะกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ได้นำเครื่องฉายภาพยนตร์ และฟิล์มจากต่างประเทศมาฉายห้องถัดมาเป็นห้องมุ้งลวดที่ใช้ทรงงานตอนกลางคืนเนื่องจากมียุงชุมมาก สมเด็จฯจึงทำห้องทรงงานเป็นห้องเล็กๆ ที่มีมุ้งล้อมรอบ ภายในมีอุปกรณ์เครื่องเขียนครบครัน ที่ส่วนนี้มีฉากกั้นโบราณที่มีความสวยงามมาก เมื่อชมชั้น 2 จนทั่วแล้วเราก็เดินลงมาตามบันไดไม้ที่ปูพรมสีแดงส่วนนี้มีไม้เท้าและกริชมากมายแขวนอยู่ ซึ่งได้รับมาจากประชาชนทั่วประเทศเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการ
เมื่อเดินลงมาด้านล่าง ก็จะพบห้องโถงที่ติดกับประตูซึ่งเป็นห้องบริหารเวลาของสมเด็จฯเนื่องจากมีนาฬิกาเรือนใหญ่ตั้งอยู่ ก่อนออกไปทรงงานทุกครั้งพระองค์จะดูเวลาก่อนและนาฬิกาเรือนนี้ยังคงเดินเที่ยงตรงอยู่จนทุกวันนี้
ส่วนจัดแสดงสุดท้ายคือหอภาพดิศวรกุมาร เป็นส่วนจัดแสดงที่เปิดขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมาโดยสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาทรงเปิด ภายในมีภาพของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงงานในอิริยาบถต่างๆ เรื่องราวครอบครัวของพระองค์ ซึ่งเป็นห้องที่ทรงคุณค่า เพราะภาพทุกภาพต่างแฝงความหมายและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ นอกจากภาพถ่ายแล้ว ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับงานด้านต่างๆ ของสมเด็จฯที่ทรงเกี่ยวข้องกับวิทยาการการศึกษาเกือบทุกแขนงของไทย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี การศึกษา การทหาร ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดก็คือท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การยูเนสโก
ภายในหอภาพฯ ยังมีรถม้าที่พระองค์ใช้ทรงตอนตรวจราชการ และภาพของทายาทรุ่นต่างๆ ตั้งแต่ หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล, หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล, หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล และภาพของทายาทที่เป็นสามัญชนคนแรกคือ ด.ช.วรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีทรงตั้งชื่อนี้ให้เพื่อให้ด.ช. วรดิศ ได้รำลึกถึงวงศ์ตระกูล ยังมีภาพถ่ายที่ทรงคุณค่าและบอกเล่าเรื่องราวอีกมากมายที่เก็บมาเล่าไม่หมด แต่ละภาพมีรายละเอียดเรื่องราวที่แฝงความหมายในตัวภาพเหล่านั้นเองทั้งสิ้น
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หากใครคิดว่าบ้านเมืองของเราตอนนี้ช่างวุ่นวายแล้ว ได้มาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะทราบว่าบรรพบุรุษของเรา ข้าราชการและพระมหากษัตริย์ได้ร่วมมือร่วมใจกันผ่านวิกฤตต่างๆใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถ และนำพาประเทศไทยให้เป็นปึกแผ่นได้จนทุกวันนี้ โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร พวกเราลูกหลานควรจะรักและหวงแหนให้สมกับความพยายามของคนรุ่นก่อน และช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในทางที่ดีร่วมกัน
เนื่องจากพิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดดำรงราชานุภาพ เป็นสถานที่ส่วนบุคคลจึงต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าและจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะการเข้าชมเป็นหมู่คณะเท่านั้น แต่หากว่าอยากเข้าชมคนเดียวก็สามารถติดต่อมาทางพิพิธภัณฑ์เพื่อขอเข้าชมร่วมกับคณะอื่นๆ ที่ติดต่อมาได้ในวันและเวลาราชการ
มัณฑนา ชอุ่มผล :เขียน/สิริลักษณ์ กัณฑศรี:ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 20 สิงหาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี บุคคลสำคัญ วัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คาร์ล ดอห์ริง
พิพิธภัณฑ์กามาวิจิตรา
จ. กรุงเทพมหานคร
พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี)
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย
จ. กรุงเทพมหานคร