โดย:
วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: สุกัญญา เบานิด และ วสันต์ เทพสุริยานนท์ | ปีที่พิมพ์: 2553
ที่มา: เครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมนาอุดม สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ
แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร เป็นแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือ ยุคเหล็ก อายุประมาณ 2500 -1500 ปีมาแล้ว จากการดำเนินงานระหว่าง ปี 2550-2552 ทั้งงานโบราณคดีและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรมใน ชุมชนท้องถิ่น ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญทั้งยังเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เกิด ขึ้นในวงการโบราณคดีประเทศไทย นั่นก็คือ การค้นพบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย เมื่อพิจารณาถึงการแพร่กระจายกลองมโหระทึกตามชุมชนโบราณหลายแห่งในประเทศ ไทย ซึ่งเดิมเราต่างก็เชื่อกันว่ากลองมโหระทึกเหล่านั้นผลิตขึ้นในแถบจีนตอนใต้ และเวียดนามเหนือทั้งสิ้น จากหลักฐานสำคัญของแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนแม่พิมพ์กลอง เบ้าหลอม ก้อนโลหะ (สำริด /ทองแดง) แม่พิมพ์เครื่องมือ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด ได้แสดงถึงกิจกรรมด้านโลหะกรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการหล่อกลองมโหระทึก ซึ่งยังไม่เคยปรากฎหลักฐานในดินแดนประเทศไทยมาก่อน และอาจเป็นไปได้ว่ากลองมโหระทึกหลายใบที่พบในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร อาจจะผลิตขึ้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ นอกจากนั้นหลักฐานต่างๆที่ค้นพบยังบ่งบอกถึงลักษณะร่วมกันทางวัฒนธรรมหลาย ประการ สามารถนำไปสู่การอธิบายและแปลความการติดต่อสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คน ในกลุ่มวัฒนธรรมเตียนในจีนตอนใต้ วัฒนธรรมดองซอนในเวียดนามตอนเหนือ และชุมชนโบราณของประเทศไทยต่อไป ( ข้อมูลโดยคุณสุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดีชำนาญการ)
ที่มา : http://www.finearts.go.th/node/6340
พิพิธภัณฑ์ชุมชนนาอุดม-โนนหนองหอ
ชุมชนตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร มี “แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ”และมีหมู่บ้านที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอจำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านนาอุดม หมู่ 6 บ้านสมสะอาด หมู่ 10 บ้านนาเจริญ ซึ่งในปัจจุบันที่ดินอันเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอเป็นกรรมสิทธิ์คนในชุมชนหลายรายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ที่มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งนี้นับเป็นเวลาสิบปีกว่า ได้มีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุสำคัญออกไปจากแหล่งโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง โดยมี “พ่อค้าของเก่า”จากต่างถิ่นเข้ามารับซื้อโบราณวัตถุโดยพยายามจูงใจคนในชุมชน และรับซื้อในราคาค่อนข้างสูง จนทำให้แหล่งโบราณคดีถูกขุดทำลายทั่วทั้งบริเวณ
ในขณะเดียวกัน พระอธิการธานินทร์ วิสุทธิสาโร เจ้าอาวาสวัดนาอุดมวนาราม และชาวชุมชนอีกกลุ่มหนึ่งกลับมีความตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอเอาไว้ โดยริเริ่มที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในวัดนาอุดมวนาราม พระอธิการธานินทร์ วิสุทธิสาโร ได้ขอรับบริจาคโบราณวัตถุ และเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน โดยการจัด “ผ้าป่า”ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี ดังนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จึงมีการก่อสร้างตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยใช้งบประมาณจากการร่วมบริจาของชาวชุมชนนาอุดม รูปแบบของพิพิธภัณฑ์นั้นได้รับการออกแบบโดยพระอธิการธานินทร์ วิสุทธิสาโร มีลักษณะเรียบง่าย ภายในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ และเครื่องใช้พื้นบ้าน เช่น หม้อน้ำ เชี่ยนหมาก เงินราง และโบราณวัตถุ เช่น ภาชนะดินเผา ลูกปัด เครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด เป็นต้น
รูปแบบการจัดแสดงในเรื่องของวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นในสมัยก่อน ของที่ใช้ในการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบที่โนนหนองหอ อายุ 2,300-1,500 ปี และเครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยก่อน ซึ่งคนในชุมชนต่างก็มีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย โดยการจัดแบ่งของส่วนอาคารเป็นห้องจัดแสดงเรื่องต่างๆ
ส่วนที่ 1 คือ “ห้องพระ”เป็นส่วนที่มีพระประธานที่จะให้คนเข้าชมได้สักการบูชาเป็นส่วนแรก ภายในห้องจัดแสดงวัตถุมงคลของวัด เช่น พระพุทธรูปศิลา พระเครื่อง นอกจากนี้ยังมีธนบัตร และเหรียญเงินสมัยโบราณ ถัดจาก “ห้องพระ” จะเป็นส่วนที่ 2 “ห้องแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ”โดยจัดแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ และมีนิทรรศการประกอบเรื่อง การแบ่งยุคทางโบราณคดี การถลุงโลหะ โบราณคดีมุกดาหาร แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ รวมทั้งภาพโบราณวัตถุสำคัญ (ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว)
สำหรับพื้นที่ด้านในเป็นส่วนที่ 3 “ห้องวิถีชีวิตชุมชน”โดยจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน แบบจำลองการทอผ้าและเรือนครัวพื้นบ้านอีสาน ส่วนนิทรรศการประกอบด้วย ประวัติชุมชน ประเพณี และความเชื่อ เป็นต้น เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ได้รับบริจาคจากชาวชุมชน
แหล่งโบราณคดี “โนนหนองหอ” คือ...ความเข้มแข็งของชุมชน
การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและชุมชนในลักษณะทำงานแบบมีส่วนร่วม คือ “การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงทุน ร่วมปฏิบัติ และร่วมรับผลที่เกิดขึ้น”มีเป้าหมายเพื่อการนำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง โดยน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทาง คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”กล่าวคือ
“เข้าใจ”สภาพความเป็นไปของ “ปัญหา”ของแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ คือ ประการแรกยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ ประการที่สองแหล่งโบราณคดียังไม่ได้รับการอนุรักษ์ และพัฒนา ประการที่สามปัญหาทางวิธีคิดที่ว่า “แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอมิใช่ของบุคคล หรือ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง”แต่เป็นสมบัติของชุมชนและสมบัติของปะเทศชาติ
“เข้าถึง”กลุ่มคน และองค์กรทุกภาคส่วนโดยการโน้มนำมาสู่กระบวนการมีส่วนร่วม ได้แก่ คนในชุมชนทุกคน ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยการสร้างความเข้าใจระหว่างฝ่ายต่างๆอย่างถูกต้องเท่าเทียมและสมานฉันท์
“พัฒนา”บนพื้นฐานของความ “เข้าใจ”และ “เข้าถึง” คือ การดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชา พร้อมกับการศึกษาชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่ง “องค์ความรู้”ที่ครบถ้วนรอบด้าน ตามมาด้วยการอนุรักษ์พัฒนาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ศูนย์ข้อมูลทางโบราณคดีและชุมชน พิพิธภัณฑ์ประจำหลุมขุด เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนและองค์กรในทุกภาคส่วน
แหล่งโบราณคดีจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน และพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆกัน ประการแรกการพัฒนาคน คือ การพัฒนาในระดับจิตสำนึกในเรื่องการรักษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ให้คนรู้สึกรัก หวงแหน ภาคภูมิใจในแหล่งโบราณคดีในท้องถิ่นของตน ประการที่สองการพัฒนาชุมชน คือ การที่ชุมชนสามารถนำทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดี วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวม เป็นการหนุนเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้
ร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ
กิจกรรมนี้อยู่ใต้โครงการเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. 2551สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานีเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการจัดพิพิธภัณฑ์ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานท้องถิ่น ในการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาชุมชนและประเมินศักยภาพเครือข่าย : พิจารณาจากชุมชนที่มีความพร้อมในด้านแนวคิดในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งความคิดดังกล่าวต้อิงเกิดจากกลุ่มบุคคล ชุมชน หรือองค์กรในท้องถิ่นเอง มิได้เกิดจากจัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นกรมศิลปากรจึงมีภาระหน้าที่ในการ “ส่งเสริม” เท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างความไว้วางใจและความเป็นหมู่พวกเดียวกัน : โดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบในการประสานงานและดำเนินงานโครงการ จะต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนรวมทั้งพยายามเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็น “คนนอก” ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเป็น “คนใน”
ขั้นตอนที่ 3 การสร้างกิจกรรมและการรวมกลุ่ม “ร่วมด้วยช่วยกัน”: ซึ่งมีกิจกรรม
o กิจกรรมร่วมด้วยช่วยกันคิดสัญลักษณ์และชื่อของเครือข่าย
o ร่วมด้วยช่วยกันศึกษาชุมชน
o ร่วมด้วยช่วยกันสำรวจแหล่งโบราณคดี
o กิจกรรมพัฒนาวิทยากรชุมชน
o กิจกรรมเวทีความคิด หรือ การประชุมจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมของชุมชน
o กิจกรรมค่ายยุวชนโบราณคดี และพิพิธภัณฑ์ชุมชน
ขั้นตอนที่ 4 การปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง : เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ทำการก่อตั้ง “กลุ่มเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมชุมชน”ในรูปแบบของคณะทำงาน ประกอบด้วย ประธาน เลขาธิการ กรรมการ และสมาชิก โดยให้เครือข่ายคัดเลือกกันเอง และมีการกำหนดภารกิจหน้าที่อย่างชัดเจน
วริสรา แสงอัมพรไชย /เรียบเรียง
ปณิตา สระวาสี /ถ่ายภาพ
ที่มา การสำรวจภาคสนาม วันที่ 7 กันยายน 2554
เอกสารแนะนำ แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
สุกัญญา เบานิด และ วสันต์ เทพสุริยานนท์. ร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรม ตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร. เครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมนาอุดม สำนักศิลปากร ที่ 11 อุบลราชธานี, 2553
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
กลองมโหระทึก แหล่งโบราณคดี บ้านนาอุดม โนนหนองหอ
เขมปัตตเจดีย์
จ. มุกดาหาร
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอีสานสองฝั่งโขง บ้านเกวียนมุก
จ. มุกดาหาร
ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นอำเภอคำชะอี
จ. มุกดาหาร