ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

กรุง

กรุง

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:57:29

บทความโดย : ทีมงาน

“กรุง” คำนี้ ถ้าอ่านวรรณคดีเก่าๆ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ บุณโณวาท หรือประชุมเก่าภาค 2 ของหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ จะพบใช้อีกรูปหนึ่งคือ “กุรุง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามทั้งสองไว้ดังนี้
กุรุง (โบ) น. กรุง (บุณโณวาท)
กรุง น. เมืองหลวง เมืองใหญ่ แต่ก่อนหมายถึงประเทศก็ได้
จะขอเล่าถึงประวัติและที่มาของ “กุรุง” และ “กรุง” ทั้งสองนี้ก่อน รูปและเสียงของคำทั้งสองนี้ ลักษณะบอกชัดว่ามิใช้คำไทย ได้สอบดูจากภาษาไทยถิ่นต่างๆ เช่น ไทยอาหม ไทยโท้ ไทยนุง ไทยขาว และไทยใหญ่ ไม่ปรากฏว่ามีคำทั้งสองนี้ใช้ หลักฐานที่สืบได้มาคำทั้งสองนี้เป็นคำภาษาเขมร คือ “กุรุง” เป็นรูปคำเขมรโบราณสมัยพระนครหลวง ส่วน “กรุง” เป็นรูปคำเขมรสมัยใหม่
สมัยต่างๆ ของภาษาเขมรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ อาจมีหลายท่านที่ยังไม่ทราบ จึงถือโอกาสอธิบายเสียก่อนในที่นี้ ภาษาเขมรนั้นมีรูปคำและเสียงคำต่างกันออกไปตามยุคและสมัย พอแบ่งได้เป็น 4 สมัย คือ
1. สมัยก่อนพระนคร นับตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 ขึ้นไปจนถึง พ.ศ. 1100 คือสมัยอาณาจักรเจนละ
2. สมัยพระนครหลวง เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าชยวรรมันที่ 2 เสด็จจากชวามาครองกัมพูชา ใน พ.ศ. 1345 จนถึง พ.ศ. 1795 ซึ่งเขมรทิ้งพระนครหลวงไปตั้งราชธานีใหม่ ณ เมืองพนมเปญ
3. สมัยกลาง ข้าพเจ้ากำหนดขึ้นเอง โดยอาศัยภาษาเขมรเป็นเกณฑ์ อาจไม่ตรงกับสมัยที่กำหนดโดยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็ได้ สมัยนี้เริ่มแต่ พ.ศ. 1795 คือ นับแต่สมัยพระนครหลวงลงมา จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23
4. สมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา
เรื่องที่จะกล่าวต่อข้างหน้า เมื่อข้าพเจ้ากล่าวถึงสมัยใดก็ตามขอให้เข้าใจว่ามีระยะดังที่แบ่งไว้นี้ทั้งสี่สมัย

คำ “กุรุง” ของเขมรโบราณนั้น ปรากฏว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยพระนครหลวงตอนต้น ความหมายที่ใช้มีเป็นสามนัยด้วยกันคือ 1. หมายถึง เมืองหลวง 2. หมายถึง กษัตริย์ และ 3. ใช้เป็นกริยาว่า เป็นกษัตริย์ เฉพาะความหมายที่ 3 ซึ่งใช้เป็นกริยานั้น ออกจะพิสดาร จะยกตัวอย่างสักแห่งหนึ่ง เช่น ศิลาจารึก กล่าวถึงพระเจ้าชยวรรมันที่ 2 (พ.ศ. 1345 – 1393) ไว้ตอนหนึ่งว่า “จึงพระบาทปรเมศวรมาจากชวา เพื่อกุรุง ณ นครอินทรปุระ” (พระบาทปรเมศวร เป็นพระนามเมื่อสวรรคตแล้วของชยวรรมัมนที่ 2) จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างที่ถอดคำมาจากจารึกเขมรโบราณนี้ว่า กุรุง เป็นคำกริยาแปลว่า เป็นกษัตริย์
กุรุง ของเขมรโบราณสมัยพระนครหลวงนี้ มาภายหลังย่างเข้าสมัยกลางรูปและเสียงคำแปรไปเป็น “กรุง” ความหมายของคำหดไป คือยังใช้เฉพาะหมายถึง เมืองหลวง กับ กษัตริย์ เท่านั้น ภาษาเขมรสมัยใหม่ใช้คำ “กรุง” ในความว่าเมืองหลวงอย่างเดียวกับไทย คือความหมายหดลงไปอีกความหนึ่ง และรูปคำยังแปรต่อไปเป็น “กรง” (ไม่มีสระอุ) ก็ยังมีในพจนานุกรมภาษาเขมรให้คำ “กรุง” ไว้ในความว่า “กษัตริย์” ด้วยเหมือนกัน แต่บอกไว้ว่าเป็นความหมายโบราณ
ว่ามาถึงเมืองไทย เรารับคำ “กุรุง” และ “กรุง” มาใช้ทั้งสองรูป (การรับคำเขมรเข้ามาใช้ทั้งรูปโบราณและรูปสมัยใหม่นั้น มีปรากฏอยู่บ่ายๆ ตัวอย่างยังจะมีต่อไปข้างหน้า) ในด้านความหมายของคำ ไทยเราก็รับมาใช้ทั้งสามความหมายแต่โบราณ “กรุง” ที่ใช้ในความหมายว่าเมืองหลวงนั้น เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว จะไม่ยกตัวอย่าง จะกล่าวถึงแต่เฉพาะอีกสองความหมาย คือ ในความหมายว่า กษัตริย์ และ เป็นกษัตริย์
ท่านที่อ่านวรรณคดีเก่าๆ คงจำได้ว่าพบคำ “กรุงกษัตริย์” เสมอ และมักปรากฏในวรรณคดีจำพวกกลอน เช่น 

“เสรจกรุงกระษัตรนมัสการ ก็กำหนดทิวาวัน
จาฤกลิขิตสุวรรณพรรณ ณบัตรสุภไพศาล”

คำ “กรุง” ในที่นี้ก็คือ “กษัตริย์” นั่นเอง เราใช้ซ้อนเป็นศัพท์เขมรควบกับสันสกฤตอย่างเดียวกับพวกไพรสณฑ์ สำนวน “กรุงกษัตริย์” นี้ปรากฏใช้ในวรรณคดีเขมรเหมือนกัน ยังมียักษ์อีกตนหนึ่งในวรรณคดีเรียกเรียกว่า “กรุงพาณ” เป็นบิดาของนางอุษา ในเรื่องอนิรุทธิ์คำฉันท์ (คือท้าวพาณาสูร) ซึ่ง “กรุง” ก็คือกษัตริย์นั่นเอง เรียกอย่างคำไทยก็คือ “ท้าวพาณ” หรือ “เจ้าพาณ” อะไรอย่างนั้น
ส่วนคำ “กรุง” หรือ “กุรุง” ในความหมายว่า “เป็นกษัตริย์” นั้นไม่ค่อยปรากฏบ่อยนักในวรรณคดีไทย แม้ในภาษาเขมรโบราณเองก็พบใช้น้อยแห่ง มีใน สมุทโฆษคำฉันท์ ว่า

“พระคำนึงนางพันทุมดี ลูกสาวกษัตริย์
กุรุงในรมยนคร ฯ”

ความของฉบังบทนี้ เป็นตอนที่พระโพธิ์เห็นพระสมุทโฆษมาบรรทมหลับอยู่ใต้ร่มโพธิ์ จึงคำนึงถึงนางพันทุมดี ธิดาของกษัตริย์ผู้ “กุรุง” ในรมยนคร ซึ่งมีรูปโฉมโนมพรรณสมกัน กรุง ในที่นี้เป็นคำกริยา
สรุปแล้ว “กรุง” เป็นคำไทยที่มียืมมาจากภาษาเขมร ยืมมาใช้ในรูปโบราณคือ “กุรุง” และรูปสมันใหม่คือ “กรุง” ความหมายที่เราใช้ ก็ใช้ทั้งสามความหมาย ตามภาษาเขมรโบราณ คือ ในความว่า เมืองหลวง กษัตริย์และเป็นกษัตริย์ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามคำทั้งสองไว้เพียงความหมายว่า “เมืองหลวง” อย่างเดียว จึงขอถือโอกาสเสนอหลักฐานการใช้คำ “กรุง” ในอีกสองความหมายไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างความหมายบ้างตอนของ “กรุง” ใน ลิลิตตะเลงพ่าย มีโคลงอยู่บทหนึ่งตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปูนบำเหน็บรางวัลนายทัพนายกอง มีว่า

“334. กรุงรามฤทธิ์เรืองฟ้า ฟูภพ
ตระบัดบพิตรปรารภ ชอบพัน
เจ้าราราฆพ คงคู่ เสด็จนา
ตำแหน่งกลางช้างต้น ต่อด้วยดัสกร”

ท้ายหนังสือ ลิลิตตะเลงพ่าย แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการมีคำอธิบาย “กรุงราม” ไว้ว่า “เมืองพระราม” หมายถึงพระนครศรีอยุธยา “กรุงเก่า” ซึ่งมีชื่อพ้องกับเมืองอยุธยาของพระรามในเรื่อง รามเกียรติ์ ถ้าจะแปลว่า “กรุงราม” ตามคำอธิบายนี้ก็จะได้ความหมายว่า “พระนครศรีอยุธยามีฤทธิ์ขจายขจรฟูเฟื่องไปทั้งฟ้าแลดิน ทันใดนั้นพระองค์ (บพิตร) ก็ทรงปรารภ...” ซึ่งความออกจะไม่เข้ากัน การแปลความกรุงราม ในความหมายนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย กรุง ในโคลงบทนี้หมายถึง กษัตริย์ กรุงราม คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหตุที่เรียกว่า กรุงราม นั้น จะตีความหมายว่าเป็นการสรรเสริญพระองค์ ซึ่งมี “พระฤทธิ์ดั่งฤทธิ์ราม รอนราพณ์แลฤา” (บทที่ 2) ก็ได้ หรือจะพิจารณาอีกอย่างหนึ่งก็ได้เหมือนกัน คือ พระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทองลงมาทุกพระองค์จนถึงองค์ปัจจุบัน ทรงมีพระนามในพรพะสุพรรณบัฏว่า รามาธิบดี ทั้งสิ้น คือเปรียบเป็น พระราม ครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตฯ ผู้ทรงนิพนธ์ลิลิตนี้จะทรงเรียกพระนเรศวรว่า กรุงราม ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวนี้ ความในบาทแรกและบาทที่สองของโคลงที่ยกมานั้น ควรจะแปลว่า “ในทันใดนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้ทรงฤทธิ์เฟื่องฟูทั้งฟ้าแลดินก็ปรารภ...” มากกว่าที่กระทรงศึกษาธิการอธิบายไว้
กรุงราม ในที่นี้แปลว่า สมเด็จพระรามาธิบดี หรือ กษัตริย์ผู้ทรงฤทธิ์ดั่งพระราม ดังกล่าวมาแล้ว แต่อย่าตีความกรุงรามทำนองนี้เสมอไป เพราะ กรุง มีความหมายหลายนัย การตีความคำ “กรุง” ทุกแห่งในวรรณคดีต้องพิจารณาความเป็นสำคัญด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นเคยทรงใช้ “กรุงราม” ในความหมายว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” ก็มี เช่นใน ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคแลชลมารค” ทรงใช้ว่า

“กรุงรามเลอรุ่งหล้า เลอสวรรค์
เสนอสนุกนิสิ่งสรรพ์ สุดอ้าง
ไพชยนต์พิมลบรร เจอดจิ่ม หาวเฮย
หอแห้งสิงหาส์นห้าง หกฟ้ามาปูน ฯ”

สำนวนไทยที่นิยมใช้ในประวัติศาสตร์ว่า กรุงศรีอยุธยา นั้นมักใช้อย่างสมมติเป็นตัวตน คือให้เป็นบุคลาธิษฐาน เช่น “กรุงศรีอยุธยาจึงไปบอกยังเมืองเชียงใหม่ว่า” คล้ายกับกรุงศรีอยุธยาจะเป็นมนุษย์ คราวนี้ถ้าอ่านยวนพ่ายจะพบคำ กรุงลาว เสมอ แต่กรุงลาวในที่นี้มิได้มีความหมายทำนองเดียวกับ กรุงศรีอยุธยา แต่หมายถึง กษัตริย์ลาว คือ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ซึ่งสำนวน กรุงลาว ใช้ในยวนพ่ายมีอยู่มากหลายแห่ง และใช้ในความที่อธิบายมานี้ทั้งสิ้น.

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ในศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 91 – 98.