โพสต์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 13:55:42
บทความโดย : ทีมงาน
ข้าพระ คือ คนที่มีผู้อุทิศให้วัด เพื่อรักษาวัด พระพุทธรูป และพระสงฆ์ เป็นต้น ในปัจจุบันมีข้าพระแล้ว
จารึกหลักที่ 107 จังหวัดแพร่ พ.ศ. 1882 เจ้าเมืองตรอกสลอบอุทิศ “คนครอกหนึ่งให้ดูพระ” จารึกหลักที่ 9 จังหวัดสุโขทัย พ.ศ. 1902 พระมหาธรรมราชาลิไทไปรบเมืองแพร่ แล้วเอา “คนสิบห้าเรือน” อุทิศให้วัดป่าแดง ศรีสัชชนาลัย จารึกหลักที่ 38 จังหวัดสุโขทัย พ.ศ. 1940 กล่าวถึงชีบาพระอุปัธยาจารย์
คำว่า “ข้าพระ” ปรากฏในจารึกผ้าขาวทอง จังหวัดสุโขทัย พ.ศ. 1965 ผ้าขาวทองอุทิศเมียและลูกเป็นข้าพระ คำ “ข้าพระ” ยังปรากฏในจารึกหลักที่ 100 จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2035 พระมหาเทวีราชเจ้าให้คนขอครัวรักษาพระพุทธรูป และพระมหาเถรเจ้า ใครอย่ารบกวนข้าพระเหล่านี้ และคำ “ข้าพระ” ปรากฏในจารึกเชียงราย 5 พ.ศ. 2045 เจ้าพันนาหวังให้ลูกเป็นข้าพระ ถ้าเขาอยู่ไม่ได้ให้เอาเงินค่าตัวไถ่ได้ ส่วนจารึกวัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2223 พระราชทานข้าพระไว้สำหรับพระอาราม ข้าพระได้แตกฉานซ่านเซ็นไปจึงถวายคนใหม่แทนตามเดิม ถ้าผู้ใดเอาไปใช้ราชการหรือทำเรื่องอื่น ขอให้ไปตกนรก
ตามศิลาจารึก ปรากฏว่า มีการอุทิศคน หุงจังหัน และตีระนาดบำเรอพระพุทธรูปเฝ้าอุโบสถพระอาราม และพระศรีรัตนธาตุ
จารึกหลักที่ 10 จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 1947 ผู้ที่ถูกอุทิศให้วัดจะต้องทำหน้าที่ในศาสนาไปตลอดจนถึงลูกถึงหลานเหลนสืบสายไป ข้อความอย่างเดียวกันปรากฏในจารึกหลักที่ 73 จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2055
จารึกหลักที่ 69 จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2039 พระเจ้าแผ่นดินปลงอาชญาให้หลาบคำ (สุพรรณบัฏ) ไว้คนสิบครัว
จารึกหลักที่ 104 จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2099 ห้ามมิให้นำข้าพระไปทำศึก แม้ข้าศึกมาประชิดเมืองก็จะเกณฑ์ข้าพระไปรักษาเมืองไม่ได้ อย่าเรียกเก็บส่วยไร อย่าให้ไปราชการทางน้ำทางบก อย่าเกณฑ์ให้เกี่ยวหญ้าช้างม้า จารึกหลักที่ 92 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2301 กล่าวถึงข้าพระ ในกฎหมายตราสามดวง พ.ศ. 2347 ยังกล่าวถึงข้าพระในพระราชกำหนดเก่าข้อ 9.
๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
ประเสริฐ ณ นคร ในสารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541) หน้า 447-448.