ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

กมรเตง

กมรเตง

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:49:17

บทความโดย : ทีมงาน

ในศิลาจารึกเขมรโบราณสมัยขอมพระนครหลวง จะพบตำแหน่งขุนนางและคำนำหน้าชื่อบุคคลตั้งแต่ชั้นสูงลงมาจนชั้นต่ำพวกหนึ่ง ล้อกันลงมาทำนองนี้เสมอ คือ 
วฺระบาทกมฺรเตงฺกํตฺวนฺอญฺ - พระบาทกมรเตงอัญ
วฺระกมฺรเตงฺอญฺ - พระกมรเตงอัญ
วฺระกมฺรเตงฺ - พระกมรเตง
กมฺรเตงฺ - กมรเตง
อมฺรเตง - อมรเตง
มฺรเตง - มรเตง
กํ เสฺตงฺ อญฺ - กำเสตง
เสฺตงฺ อญฺ - เสตงอัญ
เสฺตงฺ - เสตง
เตงฺตฺวนฺ - เตงตวน
เตงฺ - เตง
คำที่ยกมาเรียงไว้ ขอให้สังเกตว่ามีคำยืนพื้นอยู่คำหนึ่ง คือ ‘เตง’ คำ ‘เตง’ ที่แทรกอยู่ในคำนำหน้านามและบรรดาศักดิ์เหล่านั้น ในศิลาจารึกเขียนด้วยตัวอักษรตัวเดียวกันทั้งหมด ซึ่งอักษรตัวนี้สามารถอ่านเป็นสองเสียงคือ “ด” และ “ต” พูดง่ายๆ ก็คือ ด และ ต เขมรโบราณใช้อักษรตัวเดียวกัน เหมือนอย่าง t ในภาษาอังกฤษ ออกเสียง ด บ้าง ต บ้าง อย่างคำ stand กับ time เป็นต้น. แต่ในคำที่ยกมาข้างบนนั้น ออกเสียงเป็น ‘ด’ หมดทุกตัว กมรเตง ต้องอ่านว่า กมรเดง, เสตง อ่านว่า เสดง ดังนี้เป็นต้น
ตรงนี้จะต้องอธิบายถึงการเปลี่ยนเสียงสระของเขมรโบราณกับเขมรรุ่นหลังสักเล็กน้อย เสียงสระของเขมรโบราณนั้นเริ่มแปรเสียงรวนเรอยู่พักหนึ่งในตอนปลายสมัย และในที่สุดก็มาเปลี่ยนแปลงกันขนานใหญ่เมื่อผู้คนต่างทิ้งราชธานีนครธมลงไปตั้งที่พนมเพ็ญเมื่อ พ.ศ. 1975 หลังจากไทยตีนครธมได้แล้ว เสียงสระที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือสระ “เอ” 
สระ “เอ” ในสมัยพระนครหลวงนั้น พอสิ้นสมัยพระนครหลวง ก็เริ่มเปลี่ยนเสียงไปเป็นสองทางคือ เปลี่ยนเป็น “เออ” ทางหนึ่ง กับ “แอ” ทางหนึ่ง เฉพาะ “แอ” นั้นมีตัวอย่างเช่น
กํเวง - กํแผง (กำแพง)
เอฺลง - แลง (ศิลาแลง)
เสฺร - แสฺร (นา)
เผฺล - แผฺล (ผลไม้)
พวกคำ “เตง” ในบรรดาศักดิ์และคำเฉลิมยศดังกล่าวนั้น เข้าในพวกที่เปลี่ยนเป็น แอ นี้ เช่น กมรเดง เปลี่ยนเป็น “กมรแดง” มีหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกที่นครวัดซึ่งเป็นจารึกที่ทำกันรุ่นหลังในศตวรรษที่ 22 – 23 ในนั้นใช้คำ “กมรแดง” อยู่บ่อยๆ เสียง “กมรเดง” ที่เปลี่ยนเป็น “กมรแดง” นั้น ปรากฏหลักฐานในเมืองไทยว่าเปลี่ยนมาแต่ในศตวรรษที่ 19 คือ ปรากฏในจารึกวัดศรีชุมของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจูลามูนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า หลานพ่อขุนผาเมือง ในจารึกนั้นมีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

0 พขุนผาเมืองจิงอภิเสกพ่ขุนบางกลางทาวเจาเมิองสุโขไทใหทังชีตนแกพระสหายรยกชี สริอินทรบดินทราทิตย 0 นามเดิม กมรแตงอญผาเมิอง 0

ที่เราเรียกในจารึกว่า กมรแตง นั้น ถ่ายออกจากตัวอักษรเขมรตามตัวเขียนไม่มีปัญหา เพราะเขมรเขียน กมฺรเตฺง แต่อ่าน กมรแดง และคำนี้ตกมาสมัยปัจจุบันกลายเป็น “คมแดง” ยังคงใช้อยู่ในท้องถิ่นบางถิ่น ถือเป็นคำเก่าจำพวกคำในวรรณคดี ใช้ในรามเกียรติ์อยู่บ่อยๆ
คราวนี้หันมาพิจารณา “กมรแดง” หรือ “กรมเดง” ในภาษาเขมรดูบ้างว่าใช้ในความหมายอย่างไร กมรเดง ในภาษาเขมรโบราณนั้นใช้เป็นคำเฉลิมยศยกย่องผู้ที่ควรเคารพ ใช้ได้ตั้งแต่กษัตริย์ลงมาจนถึงขุนนางหัวเมืองซึ่งตกราวตำแหน่ง พระยา ของไทย
กมรเดง ที่ใช้เรียกหรือนำหน้าพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น บางครั้งก็ใช้ประกอบกับคำอื่นอีกหลายคำแล้วแต่จะเทิดทูนกันเพียงไร เช่น
ธูลิ วฺระ ปาท ธูลิ เชงฺ วฺระ กํมฺรเตงฺ อญฺ ศฺรี ชยวีรวรฺมฺมเทว ๏
ธุลี พระบาท ธุลี เชิง พระกำมรเดง อัญ ศรี ชยวีรวรรมเทวะ
คำนำหน้า “ธุลีพระบาท ธุลีเชิง” นั้นแปลว่า “ละอองเท้า” ใช้ซ้อนทั้งภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต ตรงกับสำนวนไทยว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”
บางครั้งก็ใช้เพียง พระยาทกมรเตงอัญ เท่านั้น เช่น
วฺระ ปาท กํมรเตง อญฺ ศรีธรณีนทรวรฺมฺมเทว ๏
พระบาทกำมรเดงอญฺศรีธรณินทรวรรมเทวะ
สำนวนนี้ไทยเราเคยรับมาใช้ในสมัยสุโขทัยอยู่พักหนึ่ง เช่นในจารึกที่วัดป่ามะม่วงภาษาเขมรหลักที่ 4 ใน ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 เรียกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “พระกรมเดงอญศรีรามราช” เรียกพญาฦาไทยเมื่อยังไม่เสวยราชย์ว่า “พระบาทกมรเดงอญ ฤไทยราช” และเมื่อเสวยราชย์แล้วเรียกว่า “พระบาทกมรเดงอญศริศูรยยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช” ดังนี้เป็นต้น
กรมเดง ที่ใช้นำเป็นคำเฉลิมพระยศกษัตริย์นั้น บางครั้งเขมรก็ใช้ กมรเดง โดดๆ เช่นเรียกว่า “กมฺรเตงฺไผฺทกโรม” ไผฺทกโรม เขมรปัจจุบันใช้เป็น ไผฺทโกฺรม แปลว่า แผ่นดินต่ำ คือโลก กมรเตงไผทโกรมก็คือ เจ้าโลก (กมรเตงอัญ = เจ้ากู) ไทยยืมมาใช้ว่า “กรุงไผทโกรม” ในวรรณคดีไทยแปลว่ากษัตริย์เหมือนกัน
นอกจากนี้จะใช้นำพระนามกษัตริย์ กมรเดง ก็ใช้นำหน้าชื่อบุคคลที่เป็นที่เคารพชั้นสูงอยู่บ่อยๆ เช่น จารึกเรียกครูพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – หลัง 1744) ว่า
กมฺรเตงฺ ชคตฺ ศรี ชยกีรฺติเทว วฺระ รูป ธูลิ เชงฺ วฺระ กมฺรเตงฺ อญฺ ศรี ชยกีรฺติ ปณฺฑิต วฺระ คุรุ
กมรเตงชคัตศรีชยกีรติเทพ พระรูปธุลีเชิงพระกมรเตงอัญศรีชยกีรติบัณฑิตพระคุรุ
กมรเตงชคัต นั้นเป็นคำนำสำหรับประกอบหน้านามเทวรูปหรือพระพุทธรูป ซึ่งเป็นวิธีใช้คำกมรเตงอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้พวกขุนนางผู้ใหญ่จนถึงขุนนางชั้นรองตามหัวเมืองล้วนใช้คำ กมรเตง นำหน้าชื่อได้ทั้งสิ้น มีปรากฏอยู่ทั่วไปในจารึกเขมรโบราณ จนชั้นที่สุดมาในสมัยปัจจุบันคำนี้กร่อนลงเหลือเพียง “คมแดง” ยังใช้อยู่ตามชนบทของเขมรสำหรับเรียกผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือหรือผู้ที่เรายกย่อง แต่เป็นพวกคำเก่าและกำลังจะสูญไปจากภาษาพูด และบางครั้งหรือบ่อยๆ ทีเดียวที่คำ “คมแดง” นี้พูดออกเสียงกันเร็วๆ ว่า “อมแดง” ได้ยินคำนี้แล้วนึกถึง อำแดง ของไทยเราที่ใช้เรียกผู้หญิงทั่วไปในสมัยโบราณ บางทีจะมาจากคำ “อมฺรเดง” ของเขมรก็ได้ ซึ่งกลายมาเป็น “อมฺรแดง” ในชั้นหลัง แต่นี่เป็นเพียงเดาไว้ที มีบางท่านเดาว่ามาจาก “ออแดง” ตามแต่ใจท่านผู้อ่านจะเชื่อข้างฝ่ายใด.

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ใน ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 186 – 193.

คำว่า “กมรแตง” ปรากฏในข้อมูล จารึกวัดศรีชุม ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 31 – 32.