ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

สรวง - สาง

สรวง - สาง

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:48:01

บทความโดย : ทีมงาน

“ ๏ โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังขะ จักรคธาธรณี ภีรุอวตาร อสุระแลงลาญทัค ททัคนีจรนาย ฯ ” 

ร่ายบทนี้เป็นร่ายด้นโบราณบทแรกของ ลิติโองการแช่งน้ำพิพัฒนสัตยาโคลงห้า (มณฑกคติ) ใจความของร่ายบทนี้เป็นคำสรรเสริญพระวิษณุ (นารายณ์) กล่าวถึงพระวิษณุโดยสังเขป แต่ได้ความและลักษณะสำคัญครบถ้วน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงตรัสไว้ใน ลิลิตนารายณ์สิบปาง ว่า “ที่จริงในมนตร์ต้นโองการแช่งน้ำของเราออกจะเก็บความสรรเสริญพระนารายณ์ไว้ได้ดีพอใช้... ตรงตามตำหรับข้างไสยศาสตร์”
ลักษณะสำคัญที่มีอยู่ในร่ายบทต้นโองการนั้นมีดังนี้ 
1. แผ้วมฤตยู : เป็นผู้บริหารบำรุงโลก และคอยดับภัยคือมฤตยู
2. เอางูเป็นแท่น : บรรทมเหนือพญาอนันตนาคราชเทวบัลลังก์ ณ เกษียรสมุทร
3. บินเอาครุฑมาขี่ : ขณะเสด็จโดยอากาศทรงเอาครุฑเป็นพาหนะ
4. สี่มือถือสังขะ จักรคธาธรณี : สี่กรทรง สังข์, จักร, คธา, และธรณี (คือดอกบัวอันเป็นเครื่องหมายในการบริหารโลก)
5. ภีรุอวตาร : อวตารลงมาปรากฏปราบยุคเข็ญในมนุษยโลกกล่าวว่า มีทั้งหมดสิบปาง
ดังกล่าว ร่ายบทนี้เป็นร่ายบทสรรเสริญพระวิษณุ แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ออกนามประวิษณุเลย ร่ายใน ลิลิตโองการแช่งน้ำ ต่อจากบทนี้ไปอีกสองบท สรรเสริญพระศิวะ (อีศวร) และพระพรหม ต่างออกนามเทวะที่สรรเสริญไว้ชัดเจนคือ

“โอมบรเมศวรวราย ผายผาหลวงอะคร้าว...” - พระศิวะ
“โอมไชยะไชย ไขโสพฬัสพรหมญาณ...” - พระพรหม

เมื่อเป็นดังนี้ จึงน่าจะคิดว่าเหตุใดร่ายบทแรกจึงไม่ออกนามพระวิษณุบ้าง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าต้องมีนามพระวิษณุอยู่ในร่ายบทนั้นด้วย แต่เป็นนามภาษาไทยโบราณซึ่งเลือนความหมายเสียแล้วในบัดนี้ นามที่ว่านี้ คือ “สรวง”
สรวง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ให้นิยามไว้ว่า : “ฟ้า, สรวง, เทวดา” ถ้าจะแปลวรรคแรกของร่ายที่ว่า “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว” โดยใช้ความหมายตามพจนานุกรม ก็ต้องแปลว่า “โอมขอความสำเร็จแด่เทวดาผู้เป็นศรีแห่งความแกล้วกล้า” จะแปลสรวงในที่นี้ว่า “สวรรค์” ไม่ได้เลย
เมื่อสรวงต้องแปลว่าเทวดาแล้วความก็แคบเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง
เทวดา ไทยโบราณมีคำเรียกเฉพาะอยู่แล้วว่า “แมน” แมนหมายถึงเทวดาโดยกำเนิด จะเป็นเกิดเอง (สวยัมภู) อย่างพระพรหมชื่อว่าเกิดจากไข่ทอง (หิรัณยครรภ์) หรือจะมีเทวบิดามารดาอย่างพระคเณศ ซึ่งตามตำหรับว่าเป็นโอรสพระศิวะและพระอุมาก็ได้ ส่วนเทวดาที่เดิมเป็นมนุษย์ ทำความดีไว้ได้ขึ้นสวรรค์เป็นเทวดานั้นเรียกต่างออกไปว่า “ผีฟ้า” เมื่อ “เทวดา” เรามีคำเดิมเรียกอยู่แล้ว สรวงจึงน่าจะมิได้หมายถึงเทวดาโดยทั่วไป พิเคราะห์ตามร่ายที่ว่า “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว” สรวงในที่นี้ควรจะหมายถึง พระวิษณุ ร่ายวรรคนี้ต้องแปลว่า “โอมสิทธิพระวิษณุผู้เป็นศรีแห่งความแกล้วกล้า” จึงได้ความบริบูรณ์ โดยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนี้ “สรวง” จึงควรเป็นนามของพระวิษณุในความหมายดั้งเดิมแต่มาสมัยหลังๆ ความหมายค่อยเลือนไป จึงหมายถึง เทวดา ฟ้า สวรรค์ ตามที่ปรากฏคำนิยามอยู่ในพจนานุกรม
ที่ว่า “สรวง” คือพระวิษณุ คือเป็นนามของพระวิษณุในภาษาไทยโบราณ ไทยโบราณมีคำเรียกเทพเจ้าเป็นภาษาไทยแทบทุกองค์เช่น “ขุนแผน” หรือ “ขุนแผ่น” ได้แก่พระพรหม, เรียกพระอินทร์ว่า “ฟ้าฟอก” (ใน มหาชาติคำหลวง) หรือ “ฟ้าฟอด” (ใน ทวาทศมาส), เรียกพระวิศวกรรมเทพแห่งการก่อสร้างว่า “แถนแต่ง” ดังนี้เป็นต้น
เรื่องของสรวงยังไม่หมดข้อน่าคิดเพียงเท่านี้ บางทีสรวงแต่ต้นเริ่มเดิมทีจะหมายถึง “ไวกูณฐ์สวรรค์” อันเป็นสถิตของพระวิษณุก่อนก็ได้ แต่พระวิษณุสถิตอยู่ ณ ไวกูณฐ์สวรรค์ (สรวงสวรรค์) จึงเรียกว่า “พระสรวง” หรือ “สรวง” ตามที่สถิตอย่างที่เราเรียก “พระเจ้าหงสาวดี”, “พระยาตาก” ตามที่อยู่
ใน “ลิลิตพระลอ” ชนกของพระลอทรงพระนามว่า “ท้าวแมนสรวง” ลองแปลสอบดู “แมน” คือเทวดา “สรวง” คือไวกูณฐ์ รวมแปลว่า ‘เทวะแห่งไวกูณฐ์’ ก็คือพระวิษณุ ท้าวแมนสรวงเป็นพระนามอย่างไทยๆ ถ้าจะผูกเป็นภาษาสันสกฤตอย่างที่นิยมใช้กันในชั้นหลังก็น่าจะได้แก่ “สมเด็จพระนารายณ์(มหาราช)” หรือ “สมเด็จพระรามาธิบดี” เป็นทำนองเดียวกับที่ ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช เคยแปลชื่อ “เมืองแถน” ราชธานีของไทยดึกดำบรรพ์ว่า “กรุงเทพฯ” เพราะ “แถน” ตามภาษาไทยพายัพแต่โบราณหมายถึงเทวะชั้นผู้ใหญ่ เมือง “สรวง” ที่ท้าวแมนสรวงและพระลอครองอยู่นั้น ถ้าจะแปลเป็นภาษสันสกฤตก็น่าจะแปลว่าเมือง “พิษณุโลก” (คือ ไวกูณฐ์)
เมื่อพูดเลยมาถึงเรื่องเมืองสรวงและพิษณุโลกแล้ว ก็จะเลยพูดถึงเรื่องเมืองทั้งสองเสียทีเดียว
เรื่องพระลอนั้น เป็นที่ทราบดีแล้วว่าเป็นเรื่องทางเมืองเหนืออยู่ในแถบเมืองพิจิตร พิษณุโลก เช่น เมืองสอง และเวียงกาหลง ก็ยังมีซากปรากฏอยู่ เมืองสรวงนั้นมีผู้เคยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกับเมือง “สระหลวง”
เมืองสระหลวง มีชื่ออย่างมคธว่า “โอฆบุรี” (= เมืองสระ) กล่าวกันว่าคือเมืองพิจิตร เดิมทีเดียวนักโบราณคดีเชื่อกันว่าโอฆบุรีคือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก แต่มาภายหลังได้พบชื่อเมือง “สระหลวง” ในจารึกซึ่งเข้าใจว่าเมืองพิจิตรเลยย้าย โอฆบุรีไปอยู่ที่พิจิตรเพราะชื่อโอฆบุรีตรงกับสระหลวงในภาษาไทย
เมืองสระหลวงนั้นสังเกตดูในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเขียนว่า “สรลวง” ทุกหลัก สรลวงนั้นออกเสียง สระหลวงก็จริงอยู่ แต่พึงสังเกตว่า สรลวง กับ สระหลวง เป็นคนละคำ เพราะถ้าเมืองนี้คือสระหลวง (สระใหญ่) จริง จารึกคงไม่เขียน สรลวง จะต้องเขียน สระหลวง ได้ถูกต้อง เพราะคำ “หลวง” จารึกเขียนมี “ห” นำทุกแห่ง ไม่มีที่ใดเขียน “ลวง” เลย มีตัวอย่างเช่น “ทเลหลวง” เมื่อเขียน “ทเลหลวง” ได้ “สระหลวง” ทำไมจารึกจะเขียนไม่ได้, คำสรลวงนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่ามาจากคำ “สลวง” เป็นคำแผลงอย่างเดียวกับ สลมสลอน โบราณเขียนเป็น “สรลมสรสอน” ตัว “ร” เป็นความนิยมของคนโบราณชอบเติมเข้ามาเสมอ เช่น ไฉน – สไน (ปี่) เป็น สรไทน, สนุกเป็นสรนุก เป็นต้น
เมื่อเมืองสรลวง คือ สลวงดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงคิดเลยไปว่า เดิมน่าจะเป็น สรวง แต่สรวง จะแผลงเป็น “สรรวง” ก็อ่านงงหรือออกเสียยากจึงแปรรูปเป็น “สรลวง” ดังนี้เมืองสรวง, สระหลวง ก็คือเมืองสรวง ชื่อเมืองสรวง ซึ่งได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่าตรงกับ “พิษณุโลก” ในภาษาสันสกฤต จึงทำให้น่าคิดว่า เมืองสระหลวง, สรลวง, หรือสรวงก็คือเมืองพิษณุโลกเดี๋ยวนี้ 
ส่วนสระหลวงนั้น เห็นจะมาเขียนตามเสียงที่อ่านกันในชั้นหลัง ความหมายจึงผิดไปจากเมืองสระใหญ่ แปลออก โอฆบุรี ที่นักโบราณคดีสมัยก่อนมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นอาทิ ทรงสันนิษฐานว่าเมืองโอฆบุรีคือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออกนั้น จึงเป็นสันนิษฐานที่น่าสนใจ
เมืองพิษณุโลกนั้น แม่น้ำผ่านกลางเมือง ตัวเมืองตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งน้ำ เดิมน่าจะเป็นสองเมืองอย่างพระนครและธนบุรี ทางฝั่งตะวันตกเป็นอีกเมืองหนึ่งคือเมืองสองแคว (ที่เรียกดังนี้ก็เพราะทางทิศตะวันตกของพิษณุโลกมีแม่น้ำน่านขนาบอยู่อีกสายหนึ่ง) ชื่ออย่างมคธจะชื่ออะไรไม่ทราบ ลางทีจะชื่อทวีสาขนคร (สองสาขา) กระมัง เป็นคล้องจองกันได้คือ โอฆบุรี ทวีสาขนคร เรียกเข้าคู่กันไปอย่างโบราณเรียก “สรลวงสองแคว” แต่ตามหนังสือ สังคีติยวงศ์, จามเทวีวงศ์ ที่แต่งเป็นภาษามคธ ว่าทวีสาขนครคือเมืองแพรก มาภายหลังจะเป็นเมื่อใดไม่ทราบ รวมเมืองทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันเป็นเมืองเดียว เลยเกิดเรียกว่าเมืองอกแตกเพราะมีแม่น้ำผ่านกลางเมือง ตอนรวมเมืองนี้เห็นจะได้ผูกชื่อเมืองเป็นภาษาสันสกฤตว่า “พิษณุโลก” โดยแปลจาก สรลวง (สรวง) ซึ่งครั้งนี้แปลได้ถูกต้อง ไม่แปลผิดเหมือนครั้งแปลโอฆบุรีโดยเข้าใจว่า สรลวง คือ สระหลวง แต่กระนั้นคนก็ยังชอบนับเป็นสองแควเรียกคู่กันว่า พิษณุโลกและโอฆบุรีอยู่อย่างเดิม ขอยุติเรื่องเมืองสรลวงไว้เพียงเท่านี้
สรวง ตามที่ได้สันนิษฐานมาหมายความถึงพระวิษณุหรือไวกูณฐ์สวรรค์ เป็นอันว่าเราได้นามเทพเจ้าเป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้นมาอีกนามหนึ่ง เทวะอันเป็นที่เคารพสูงสุดของพราหมณศาสนานั้น มีอยู่สามองค์เรียกว่าตรีเทพ คือ 
1. พระวิษณุ (นารายณ์)
2. พระศิวะ (อีศวร)
3. พระพรหม (ธาดา)
ทั้งสามองค์นี้ เราทราบแล้วว่า พระวิษณุไทยโบราณเรียก “สรวง” และพระพรหมไทยโบราณเรียก “ขุนแผน” แต่พระศิวะไทยโบราณว่ากระไร ดูเหมือนจะยังไม่มีใครทราบ และไม่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องใด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระศิวะต้องมีนามเป็นภาษาไทยอย่างแน่นอน เพราตามธรรมเนียมไทยโบราณชอบแปลวิสามานยนามต่างๆ ของอินเดียออกเป็นภาษาไทย ขอยกตัวอย่างดังนี้ 
เขาพระสุเมรุ ไทยแปลเป็น “ผาหลวง” โดยอาศัยคติที่ว่า ‘พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง’
เขาจิตรกูฏ ไทยแปลเป็น “ผาลาย” โดยนัยว่าเป็นเขาที่มีลวดลายแพรวพรายของสัตตรัตน์ (จิตร = ลวดลาย)
เขาไกลาศ ไทยแปลเป็น “ผาเผือก” เพราะมีสีขาว ดังสีเงินยวง
เขากาฬกูฏ (ยอดสีดำ) เรียกว่า “ผาดำ”
เขาคันธมาทน์ ไทยโบราณเรียกว่า “ผาหอมหวาน” เพราะมีกลิ่นหอมจนสัตว์มึนเมา
ฉกามาวจร เรียกเป็นไทยว่า “ฟ้าทั้งหก” หรือ “หกห้องฟ้า”
คาวุต มาตราวัดระยะทางยาวสุดเสียงโค เรียกเป็นไทยว่า “วัวมอ” (1 คาวุต = 100 เส้น)
ตามความนิยมอย่างนี้ พระศิวะจึงน่าจะมีนามในภาษาไทยบ้างแต่นามนั้นเลือนหายไปจากความนิยมเสียแล้ว เราจึงไม่มีโอกาสทราบได้ จนมาเมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้าได้พบคำๆ หนึ่ง ซึ่งมีเค้าเป็นพระนามพระศิวะได้ นามนั้นคือ “พระสาง” ดังจะแสดงเหตุผลต่อไปนี้
ทางลานนาไทยคือดินแดนของภาคพายัพขึ้นไปมีนิทานเล่าสืบกันมาแต่โบราณเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องต้นกำเนิดของผีคู คือผีครูหรือผียักษ์ เรื่องตอนต้นมีว่า ในครั้งไตรดายุค มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงเบื่อหน่ายสงครามจึงละราชสมบัติออกทรงผนวชบำเพ็ญตบะขอพระพระผู้เป็นเจ้า จนได้ครบ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เทวะองค์หนึ่งทรงทราบถึงพระวิริยะของพระกษัตริย์พระองค์นี้ จึงลงมาประทานพรว่าถ้าประสงค์สิ่งใดก็ให้ภาวนามนตร์ “มนพระสางศรีแก้ว” แล้วจะได้สมปรารถนา ทำนองเป็น “มหาจินดามนตร์” (มนตรสารพัดนึก) ผู้ที่ลงมาประทานพรนี้เป็นพระศิวะไม่ต้องสงสัย เพราะพระศิวะโปรดการบูชาสรรเสริญ ใครปฏิบัติถูกพระทัยก็ให้พรง่ายๆ ไม่เลือกว่าจะเป็นคนดีหรือเลว พวกพราหมณ์จึงเรียกพระศิวะว่า “พระคุณ” เพราะมีคุณแก่มนุษย์ แต่ลางคราวผู้ที่ได้รับพรนำพรไปใช้อาละวาดเดือดร้อนไปทั่วเทวโลกมนุษยโลก “พระคุณ” ก็ไม่มีปัญญาถอนพร ร้อนถึงพระนารายณ์อวตารลงมาปราบ อย่างเรื่องนนทุกมีนิ้วเพ็ชร ไล่ชี้เทวดาในรามเกียรติ์ โดยมีหน้าที่ปราบปรามผู้กำเริบ พระนารายณ์จึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเดช”
มนตร์ที่พระศิวะประทานว่า “มนพระสางศรีแก้ว” นั้น ต้องเป็นมนตร์ที่กล่าวสรรเสริญเรียกร้องพระองค์เป็นแน่
“มน” คำนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ “มน” ในภาษาเขมร เขมรโบราณมีคำ “มน” ใช้นำหน้านามเทวะหรือกษัตริย์ (ทำนองเดียวกับ “สัง” หรือ “หยัง” ของชวา) มีอยู่เกลื่อนกลาดในศิลาจารึกภาษาเขมรเก่าๆ เช่น “มนพระบาทปรเมศวร” (ชัยวรมันที่ 2) “มน พระกมรเตงอัญศรีอุทัยทิตยวรรมเทวะ” “มนพระศาสนธูลิพระบาทธูลิ” เป็นต้น ใน ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ของขุนเทพกระวี ชาวเมืองสุโขทัย ซึ่งแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มีคำ “มน” นี้เหมือนกัน แต่เขียนเป็น “มนตร”

๏ อัญขญมบังคม บรมภูวศวะ
มนตรชากรุงชนะ นิตยเทวดาผอง
๏ มนตรพระดอาจโปรด ชนะเคราะหบังคอง
เนาบาปเนาะผอง ดศรีรแสมสะ......
(สรรเสริญพระศิวะ)

คำ “มน” ขณะนี้ข้าพเจ้ายังไม่ทางสันนิษฐานเป็นทางอื่น จึงขอให้เข้าใจว่าเป็นคำนามหน้าพระนามกษัตริย์และเทวะไปพลางก่อน มนตร์บทที่พระศิวะประทานนั้นแปลความว่า “มนพระสาง ผู้เป็นศรีแห่งความแกล้ว (แก้ว) กล้า” พระสาง ในมนตร์บทนี้ต้องเป็นพระศิวะแน่นอน จะเป็นเทพองค์อื่นไม่ได้ ที่ชาวพายัพโบราณเรียกพระศิวะว่า “พระสาง” นี้ พอมีเค้ามูลอยู่
“สาง” ในภาษาไทยทางลานนาแต่โบราณหมายถึงผีตายโหงแต่ตายห่า ตายห่าของไทยโบราณไม่ได้ตายด้วยโรคระบาดหรือโรคห่าเหมือนเรา ตายห่าหมายถึงตายปัจจุบันทันด่วน เช่น อาเจียนเป็นโลหิตหรือเส้นโลหิตในสมองแตกหรือเป็นโรคลมปัจจุบันทันตาย (ถ้าตายด้วยโรคห่าเรียก “ขี้ฮากสองกอง” คือ ขี้ และ ราก ได้สองกองก็ตาย
จะต้องอธิบายเรื่องผีทางลานนาเสียก่อน จึงจะเข้าใจได้ดี ผีทางลานนาแบ่งออกเป็น 4 พวก
1. ผี คือ วิญญาณของผู้มีคุณธรรมดี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องเร่ร่อนเป็นบริวารใคร
2. สาง วิญญาณของพวกตายโหงตายห่าหรือฆ่าตัวตาย พวกนี้มีเวร ไม่มีที่อาศัยต้องเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ เป็นผีชั้นต่ำเกกมะเหรกเกเร
3. เทวดา วิญญาณของพวกพ่อเมืองที่ทำดีไว้มาก พวกนี้ได้ขึ้นสวรรค์ (สวรรคต)
4. เผด (เปรต) วิญญาณของพวกพ่อเมืองที่ทุจริต ถูกลงโทษให้ทำความสะอาดลานวัด เอาปากกัดต้นหญ้าที่ละเส้น กินเศษอาหารเหลือเดนพระสงฆ์
ผีทั้ง 4 ชนิดนี้ มี “สาง” พวกเดียวที่ไม่มีเครื่องผูกมัด เที่ยวไปตามอำเภอใจ พระศิวะจึงต้องควบคุมปกครอง พระศิวะตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ว่าเป็นเจ้าแห่งพวกผี มักโปรดอยู่ตามเชิงตะกอน จนได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “ภูเตศวร” ด้วยเหตุพระศิวะเป็นเจ้าแห่งพวกผีนี้เอง ไทยโบราณจึงเรียก “พระสาง” (ตรงกับภูเตศวร) 
“สาง” ในพจนานุกรมอาหม – อังกฤษ ให้คำแปลว่าไว้ว่า “เทวะ” (God) ในพจนานุกรมไทยใหญ่ (Shan - English) ให้คำแปล “สาง” ว่า “พระพรหม” (Brahma)
เป็นอันว่าไปกันได้กับที่ว่า สาง คือ พระศิวะ แต่ที่ทางไทยเพี้ยนไปเป็นพระพรหมนั้น อาจจะเป็นการเข้าใจผิดในชั้นหลัง หรือผู้รวบรวมอาจจะเข้าใจเทวะผิดองค์ก็เป็นได้ การผิดพลาดสับสนกันอย่างนี้มีอยู่บ่อยๆ เช่น แปล “ก้อนผาเผือก” ว่าเขาพระสุเมรุ ซึ่งที่จริงควรเป็นเขาไกรลาส

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ในศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 17 – 28.