ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ตำรวจ

ตำรวจ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:42:11

บทความโดย : ทีมงาน

อากาสคงคา กล่าวไว้ในเรื่อง “ประวัติตำรวจ” ตอนหนึ่งว่า ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่คิดตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนารถ ข้อความนี้เป็นเนื้อหาสำคัญที่จะบันทึกต่อไป
1. ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่แปลงมาจาก ‘ตรวจ’ เป็นภาษาเขมรมาแต่เดิม มิใช่เป็นคำไทยที่เราคิดขึ้นแล้วเขมรยืมไปใช้ หากเป็นคำเขมรที่ไทยยืมมา พยานที่ว่าคำทั้งสองนี้เป็นภาษาเขมรก็คือตัว ‘จ’ สะกด ถ้าเป็นคำไทยแล้ว ตำสองคำนี้จะต้องมีรูปเป็น ‘ตรวด’ และ ‘ตำรวด’ (ด สะกด) เพราะหลักของไทย มาตรากด ต้องใช้ตัว ‘ด’ สะกดเสมอ ไม่ใช้ จ, ช, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ถ, ท, ศ ฯลฯ สะกดเลย (หากจะมีบ้างก็เป็นกรณีพิเศษที่เราดัดแปลงให้เข้ากับความนิยมของอักขรวิธีเขมรและมคธสันสกฤตในชั้นหลัง)
2. ‘ตำรวจ’ เป็นคำเขมรที่คิดแผลงใช้กันมานานแล้วแต่โบราณครั้งแรกสร้างนครธมเป็นราชธานี (พ.ศ. 1432) ยังมีสัตย์สาบานของตำรวจเขมรโบราณจารึกปรากฏอยู่ที่ประตูพระราชวังในนครธมจนบัดนี้ แสดงว่า ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่มีใช้มาในกัมพูชาประเทศก่อนแล้ว ไทยจึงขอยืมมาใช้ มิใช่ไทยจะเป็นผู้คิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถดังที่ ‘องกาสคงคา’ กล่าวไว้
3. ในประเทศไทย ศิลาจารึกภาษาเขมรที่พบ ณ เมืองลพบุรีซึ่งพวกเขมรจารึกไว้(ครั้งเป็นใหญ่ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) ในราว พ.ศ. 1565 – 1600 (ศิลาจารึกหลักที่ 20 และ 21 ในประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 2 จารึกกรุงทวาราวดี เมืองละโว้ และเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย) ปรากฏชื่อขุนนางพวก “ตำรวจ” ประจำอยู่ ณ เมืองละโว้ เรียกในจารึกว่า “ตมฺรฺวจวิษย” (ตำรวจวิษัย) ซึ่งศาสตราจารย์ยอช เซเดส์สันนิษฐานไว้ว่า “เห็นจะเป็นตำแหน่งข้าราชการในราชสำนักซึ่งว่าราชการเมือง”
4. คำว่า “ตำรวจวิษัย” นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเป็นชื่อตำรวจประเภทหนึ่งของเขมร อย่างตำรวจของเราก็มีประเภท ภูธร และ นครบาล (หรือภูธรและภูบาลตามธรรมเนียมเดิม) ที่กล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะสังเกตได้จากคำ “วิษัย” ซึ่งแปลว่า เมือง, เขต, แดน ตำรวจวิษัยก็คือตำรวจในเมืองหรือประจำเมืองคือพวกนครบาลอย่างนี้กระมัง ในจารึกภาษาเขมรที่ปราสาทสด็กก๊อกธมจารึกราว พ.ศ. 1500 – 1600 มีตำแหน่งขุนนางเขมรตำแหน่งหนึ่ง เรียกว่า โฉลญ์ (เฉฺลาญ์) มี 2 ประเภทคือ โฉลญพลคู่กับโฉลญวัย (เฉฺลาญ์วล – เฉฺลาญ์วิษย) ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจว่า ‘ตำรวจวิษัย’ เป็นประเภทหนึ่งของขุนนางตำรวจ คงจะเป็นคู่กันกับ ‘ตำรวจพล’ พล แลว่า ทหาร, กำลัง, ตำรวจพลก็คือตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามใช้กำลังคล้ายทหาร แบ่งออกเป็นประเภทดังนี้
ก. ตำรวจวิษัย : คือตำรวจที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรภายในเมืองหรือภายในประเทศ ทำนองข้าราชการตำรวจกึ่งพลเรือน บางทีตำรวจวิษัยอาจจะทำหน้าที่เป็นข้าราชการพลเรือนโดยตรงก็ได้อย่างเช่น ตอนแรกสร้างกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าอู่ทองทรงโปรดให้ ‘ขุนตำรวจ’ ไปตรวจที่ทางทำเลจะสร้างพระนคร 
ข. ตำรวจพล : เห็จจะเป็นพวกใช้กำลังปราบปรามทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร เวลาสงครามก็ออกทำการรบอย่างทหารเช่นเดียวกับตำรวจของไทยสมัยก่อนเวลามีสงครามก็ออกรบเสมอ เช่น พระยาอภัยรณฤทธิ์ (จางวางกรมพระตำรวจซ้าย) พระยาอนุชิตราชา (จางวางกรมพระตำรวจขวา) เป็นต้น
5. ตามที่ข้าพเจ้าได้แบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำรวจพลและตำรวจวิษัยนั้นเพียงเดา ไม่รับรองว่าจะถูก เพราะยังไม่มีเวลาค้นศิลาจารึกเขมรได้ทั่วถึง ว่ามีตำรวจพลคู่กับตำรวจวิษัยหรือไม่ ด้วยการบันทึกนี้กระทำโดยกะทันหัน
อนึ่งนอกจากจะมีหลักฐานอ้าอิงว่าตำแหน่ง โฉลญ ยังมีโฉลญวัยคู่กับโฉลญพลแล้ว ในจารึกภาษเขมรยังมรตำแหน่ง โขลญ (เขฺลาญ์) อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเคยพบว่ามีโขลญพล (เขฺลาญ์วล) อาจจะเป็นคู่กับโขลญวิษัยก็ได้ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยพบคำโขลญวัย
อย่างไรก็ตาม เมื่อตำแหน่งโฉลญยังมีทั้ง โฉลญพล โฉลญวิษัย แล้ว ตำแหน่งโขลญพลที่ได้พบจึงย่าจะเป็นคู่กับโขลญวิษัย และตำแหน่งตำรวจวิษัยที่ได้พบแล้วก็น่าจะมีตำรวจพลเป็นคู่
6. ศิลาจารึกภาษเขมรที่พบที่จังหวัดลพบุรี (คือหลักที่ 21 ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาค 2) มีคำ ‘โฉลญตำรวจวิษัย’ (เฉฺลาญ์ตมฺรฺจจ์วิษย) เห็นจะเป็นยศตำรวจชั้นสูงขึ้นไปอีกจึงเอาตำแหน่ง โฉลญ กับ ตำรวจ รวมเป็นตำแหน่งเดียว การรวมตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์สองที่เข้าด้วยกันเป็นบรรดาศักดิ์ใหม่สูงขึ้นไปนั้นเขมรโบราณนิยมมาก เช่น มรตาญ (มรฺตาญ์) เป็นตำแหน่งหนึ่ง โขลญตำแหน่งหนึ่ง เอามารวมกันเป็นตำแหน่งใหม่ว่า ‘มรตาญโขลญ’
อนึ่ง ตำแหน่งขุนนางเขมรโบราณนั้นตามที่ได้พบในจารึกบรรดาศักดิ์มักจะตั้งล้อกันขึ้นไป เช่น เตง – เสฺเตง – กมฺสเตง – เสตงอัญ – กมฺรเตง – กมฺรเตงอัญ – โลญ – โฉลญ – โขลญ ดังนี้เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ตำแหน่ง ‘โฉลญตำรวจ’ จึงควรจะเป็นตำแหน่งเหนือ ‘ตำรวจ’ ขึ้นไปอีกหนึ่งชั้น แต่ก็ยังไม่แน่นัก ‘โฉลญตำรวจ’ อาจเป็นบรรดาศักดิ์ทั้งตำรวจและพลเรือน ซึ่งบุคคลผู้เดียวได้รับยศทั้งสองฝ่ายอย่างอำมาตย์เอก พระยา – หรือพลเอกพระยา พระยา – ของเราก็ได้
7. สรุปแล้ว “ตำรวจ” มิใช่คำที่ไทยคิดขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และขุนนางพวก “ตำรวจ” มีมาในเขมรก่อน

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ในศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 65 – 69.

คำ "ตำรวจ" ปรากฏในข้อมูล จารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ 2) ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 1 – 2 และ จารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี บรรทัดที่ 4