เถร-เถน
สองคำนี้เขียนต่างกัน บางกรณีอ่านเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน เช่น มหาเถร (ร สะกด) อ่าน “มะ-หา-เถน” มหาเถน (น สะกด) อ่าน “มะ-หา-เถน” เหมือนกัน คำแรกแปลว่า พระเถระผู้ใหญ่ คำหลังแปลว่า โจรผู้ใหญ่
มีสมณศักดิ์ของพระภิกษุบางตำแหน่งลงท้ายด้วยคำว่า เถร (ไม่ประวิสรรชนีย์) เช่น พระโพธิญาณเถร พระวิสุทธิสารเถร อ่านว่า “พระ-โพ-ทิ-ยาน-เถน” และ “พระ-วิ-สุด-ทิ-สา-ระ-เถน” ตามลำดับ
หรือสำนวน (หรืออะไรก็แล้วแต่) ว่า “เถรส่องบาตร” ก็อ่านว่า “เถน-ส่อง-บาด” นี้คือคำอ่านที่ถูกต้อง (ที่สุดในโลก)
คำว่า เถร ถ้าเป็นคำตั้งที่จะต้องสมาสกับคำอื่น แน่นอนต้องอ่านลงท้ายว่า “เถ-ระ” เช่น มหาเถรสมาคม ต้องอ่านว่า “มะ-หา-เถ-ระ-สะ-มา-คม” ไม่อ่าน “มะ-หา-เถน-สะ-มา-คม” เป็นอันขาด
ความหมายที่แท้จริงของ เถร แปลว่าผู้มั่นคง เพราะคำนี้มาจาก ถิร หมายถึง ผู้มั่นคงในคุณธรรม พูดถึงคุณธรรมหรือธรรมะก็ออกจะกว้าง แต่ถ้าดูตามพุทธวจนะที่ตรัสไว้ จะทราบชัดว่าคุณสมบัติของเถระ มีอะไรบ้าง
พุทธวจนะในคาถาพระธรรมบทให้คำจำกัดความของเถระว่า
“เพียงมีผมหงอก ยังไม่นับเป็นเถระ เขาแก่แต่วัยเท่านั้น”
คนเช่นนี้เรียกว่า “คนแก่เปล่า”
ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา สำรวม มีทมะ ฉลาด ปราศจากมลทิน ผู้นี้แลเรียกว่า เถระ”
สัจจะในที่นี้มิใช่การไม่พูดเท็จ แต่เป็นอริยสัจ 4 ธรรมะ คือ นวโลกุตรธรรม อหิงสา หมายถึง มีพรหมวิหารธรรมหาประมาณมิได้ สำรวมหมายถึง มีศีล และ ทมะ หมายถึงระมัดระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก เป็นต้น ฉลาด หมายถึง มีญาณตรัสรู้ หมดมลทิน หมายถึง หมดกิเลส
สรุปแล้วคนที่จะเรียกว่า เถระ มิใช่ธรรมดา ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจ 4 มีโลกุตรธรรม 9 มีพรหมวิหาร มีศีลและสำรวมอินทรีย์ หมดกิเลส พูดให้สั้นก็คือ พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะเป็นเถระในความหมายที่แท้ พระอรหันต์ถึงจะมีอายุน้อย เช่นสามเณรอรหันต์ก็เป็นเถระได้ ปุถุชนไร้คุณธรรม หรือมีคุณธรรมไม่ถึงขั้น ถึงจะอายุมากก็ไม่มีสิทธิเป็นเถระ อย่างมากก็เรียกว่าคนแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานแล
๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
เสถียรพงษ์ วรรณปก ใน มีศัพท์ มีแสง (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2535) หน้า 112 - 113.