ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

เชิญชมพิพิธภัณฑ์ประปาไทย

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี กิจการประปาไทย ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ การประปานครหลวงได้จัดกิจกรรม “รำลึก 100 ปี การประปาไทย” ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา คณะอาจารย์ และบุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทยได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 1–28 พ.ย.2557 (ยกเว้นวันที่ 14 ซึ่งมีงานใหญ่ฉลอง) เปิดให้เข้าชมวันละ 2 ช่วงเวลา คือ 09.30–11.00 น. และ 13.30–15.00 น. กลุ่มละ 100 ท่าน สนใจเข้าชมสามารถติดต่อได้ที่ คุณศิริวรรณ กันชัย หมายเลขโทรศัพท์ 0-2504-0123 ต่อ 1268 ในวันและเวลาราชการ   ข้อมูลจาก การประปานครหลวง วันที่ 10  พฤศจิกายน 2557

งานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 10

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2557 (Science Film Festival 2014) โดยในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 10 พฤศจิกายน – 14 ธันวาคม นี้ ปีนี้พบกับหัวข้อ “เทคโนโลยีเพื่ออนาคต” เตรียมพบกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หลากหลายเรื่องจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 12 ประเทศ   อาทิเช่น ภาพยนตร์เรื่อง “ความลับเสียงร้องของมนุษย์” จากประเทศออสเตรเลีย ที่เล่าเรื่องราวความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ออกแบบให้มนุษย์สามารถส่งเสียงออกมาได้ ซึ่งต้องผ่านวิวัฒนาการกว่า 200,000 ปี เปรียบเทียบกับความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการใช้คอมพิวเตอร์เลียนแบบเสียงของมนุษย์เพื่อพัฒนาการสื่อสารที่ไร้ขอบเขตในอนาคต   นอกจากนี้แล้วยังมีภาพยนตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มีสถานที่จัดฉาย 2 แห่ง คือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลอง 5จ.ปทุมธานี และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ สามย่าน สำรองที่นั่ง โทร. 02-577-9999 ต่อ 2108 หรือ 2109   กำหนดการ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กำหนดการ ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อาคารจัตุรัสจามจุรี   ข้อมูลจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ วันที่ 22 ตุลาคม 2557  

เปิดบ้าน“พิพิธภัณฑ์ฯจ่าทวี”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลก สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี กำหนดจัดงาน "เปิดบ้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีฯ ความจริง ความฝัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในอนาคต จังหวัดพิษณุโลก" ในวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2557 เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) มีการใช้เทคโนโลยี สื่อสารสนเทศ ประกอบการเรียนรู้ที่เหมาะสมบนเนื้อหาที่เรียบเรียงในมุมมองที่หน้าสนใจ   สำหรับการร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในครั้งนี้ ก็เพื่อทำให้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้นแบบของการใช้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นแหล่งรวบรวมและส่งต่อองค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือคลังความรู้ท้องถิ่นที่หลากหลาย เพื่อเป็นฐานในการศึกษาพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) และเป็นการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทย มาใช้บ่มเพาะเยาวชน และประชาชน ให้ใฝ่รู้ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยเน้นการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน สนุกสาน มีความทันสมัย และสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของสังคม   ทั้งนี้ในวันเปิดงานดังกล่าวจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ มุมกิจกรรมการเรียนรู้ ดนตรีเล่าเรื่องจากนักเดินทาง : พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง และชมพิพิธพันธ์พื้นบ้านจ่าทวีฯ โฉมใหม่ ฯลฯ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สำนักงานพิษณุโลก โทร.0-5525-2742-3 หรือ www.facebook.com/การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557

กรมศิลป์ พัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิต

นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับสนองรับสั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิต และน่าสนใจนั้น ตนได้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ทำการสำรวจพิพิธภัณฑ์ เพื่อทำการ ปรับปรุง และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ทั้งในด้านอาคารจัดแสดง และการจัดทำบทจัดแสดง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดใหญ่ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ฯลฯ ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายให้สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ออกแบบปรับปรุงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งส่วนใหญ่ใช้จัดแสดงนิทรรศการสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระดับชาติ ซึ่งเน้นย้ำให้มีความสวยงามและมีคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมของอาคารและศิลปกรรมภายใน และให้มีการเปิดพื้นที่โล่งให้สามารถเคลื่อนย้ายการจัดแสดงได้ง่าย เพื่อให้จัดรูปแบบการจัดแสดงได้หลากหลายยิ่งขึ้น        นายบวรเวท กล่าวด้วยว่า มีแผนนำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ มาจัดนิทรรศการชั่วคราว ทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยจะมีการเรียงร้อยเรื่องราวของโบราณวัตถุแต่ละยุคสมัย พร้อมทั้งมีคำบรรยายบอกเล่าความสำคัญทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ผ่านโบราณวัตถุชิ้นต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกเข้าใช้บริการพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ กรมศิลปากรจะเร่งปรับปรุงพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้พร้อมสำหรับรองรับการจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี 2558 เป็นนิทรรศการแรก   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557

ทายาทกษัตริย์ลาวยกผ้าไหมดิ้นทอง 200 ปี ให้พิพิธภัณฑ์

       เจ้าสร้อยมาลา อินทร์เอี่ยม ณ จำปาสัก อายุ 77ปี ทายาทอดีตกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาว ได้นำผ้าซิ่น ผ้าสไบ ผ้าคลุมโลงศพ และผ้าไหม 12ราศี ดิ้นทองคำแท้ ซึ่งเป็นผ้าโบราณ อายุกว่า 200ปี แต่ละผืนมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ที่ได้รับมรดกมาจากอดีตกษัตริย์ สปป.ลาว มอบให้แก่ น.ส.นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ จำนวน 5ผืน เพื่อให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน และจัดแสดงโชว์ต่อไป               นอกจากนั้น เจ้าสร้อยมาลา ยังได้มอบผ้าไหมโบราณให้แก่พิพิธภัณฑ์วัดอินทะขีลสะดือเมือง และพิพิธภัณฑ์วัดศรีสุพรรณ อ.เมืองเชียงใหม่ รวมทั้งหมดอีก 25ผืน เพื่อนำไปจัดแสดงให้แก่ประชาชนที่สนใจ และอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้               ซึ่งผ้าโบราณทั้งหมดถือว่าเป็นผ้าที่มีความสำคัญ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน เป็นต้นกำเนิดของผ้าทองคำแท้ที่มีแห่งเดียวในโลก แต่ละผืนมีคุณค่าทางจิตใจ ไม่สามารถประเมินได้ ขณะที่ลวดลายบนผืนผ้าบอกเล่าเรื่องราวในอดีต และมีตราครุฑที่บ่งบอกว่าเป็นของกษัตริย์               เจ้าสร้อยมาลา กล่าวว่า อายุมากแล้ว เมื่อมีโอกาสจึงแสดงความจำนงมอบผ้าโบราณที่ได้รับมรดกตกทอดมาหลายยุคหลายสมัยให้เป็นสมบัติของแผ่นดินไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต ซึ่งผ้าทุกชิ้นเป็นของราชวงศ์ และกษัตริย์ลาวในอดีต แต่ละชิ้นมีความสวยงาม และประณีตมาก   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 ตุลาคม 2557

เปิดแล้วพิพิธภัณฑ์แมวตาเพชร

จากกรณีที่ "เดลินิวส์" นำเสนอข่าวเจ้า “น้ำเพชร” แมวเพศผู้สีขาวสลับดำ อายุ 3 ปี ที่มีดวงตาข้างซ้ายเป็นสีเขียวมรกต หรือที่เรียกว่า "แมวตาเพชร" และเจ้า “สโนว์” แมวเพศผู้ สีขาว อายุ 1 ปี ดวงตาทั้งสองข้างมีสีแดง ของ นายฉลวย พึ่งบุญ อายุ 53 ปี อาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งแมวทั้งสองตัวถูกเลี้ยงไว้ภายในบ้านเลขที่ 26 ซอยรามอินทรา 46/1 ถนนรามอินทรา กม.8 แขวงและเขตคันนายาว โดย นายฉลวย มีแนวคิดที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์แมวเพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานที่ต้องการศึกษาเข้าชมได้ในเดือนตุลาคมนี้ ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฉลวย พร้อมครอบครัวได้ร่วมกันเปิดพิพิธภัณฑ์เพชรตาแมวที่บ้านเลขที่ 26 ซอยรามอินทรา 46/1 โดยช่วงเช้าได้มีพิธีนิมนต์พระครูใบฎีกาวีรวัฒน์ ฐิตญาโณ เจ้าอาวาสวัดคู้บอน และพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 5 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นศิริมงคล และได้มีประชาชนที่ให้ความสนใจเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง   นายฉลวยกล่าวว่า ภายหลังจากที่ "เดลินิวส์" นำเสนอข่าวไปนั้น ทำให้มีประชาชนจำนวนมากมาสอบถามเพื่อขอดูแมวตาเพชร ตนจึงเกิดความคิดที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์ เพื่อต้องการให้ประชาชนที่สนใจและหน่วยงานที่ต้องการศึกษาเข้าชมได้ ซึ่งตอนนี้ตนก็ได้เลี้ยงแมวอยู่กว่า 20 ตัว ภายในพิพิธภัณฑ์จะมีวีดีโอบรรยายถึงประวัติของแมวตาเพชร และให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงแมว รวมถึงเปิดให้ถ่ายรูปคู่กับแมวอีกด้วย โดยทางพิพิธภัณฑ์จะคิดราคาเข้าชมคนละ 100 บาท ส่วนนักเรียน นักศึกษา สามารถติดต่อเข้าชมได้ฟรี และจำหน่ายเสื้อยืดที่ระลึกในราคา 299 บาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะนำไปเป็นค่าอาหารแมว และอีกส่วนจะนำไปทำนุบำรุงวัดในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสร้างอุโบสถและศาลา เท่ากับว่าผู้ที่เข้าชมแมวจะได้ร่วมทำบุญไปในตัวอีกด้วย   ข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 18 ตุลาคม 2557

รถไฟฯเร่งปฏิรูป'หัวลำโพง' จ่อสร้างแลนด์มาร์ค-พิพิธภัณฑ์

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 57 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ระบบขนส่งทางบกของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายให้ ร.ฟ.ท. เร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในสถานีรถไฟหัวลำโพงและความสะอาดของรถไฟไทย ขณะนี้ ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ไปจัดทำแผนงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมแล้ว   ซึ่งในขณะนี้ ร.ฟ.ท. กำลังพิจารณาเลือกร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านค้าที่มีชื่อเสียงเพื่อมาเปิดให้บริการแทนร้านเดิมที่ทยอยหมดสัญญา และแนวทางการลงทุนเป็นไปได้ทั้งการใช้งบประมาณของ ร.ฟ.ท. เอง หรือเปิดให้เอกชนมาลงทุนและบริหารจัดการ(PPP Cost) ด้านการปรับปรุงความสะอาด ทางฝ่ายบริหารจะจัดทำแผนงานพร้อมรายละเอียดด้านงบประมาณกลับมาเสนอคณะกรรการการรถไฟภายใน 1-2 เดือนข้าง   โดยเบื้องต้นจะให้ทยอยปรับปรุงความสะอาดของห้องน้ำในขบวนรถไฟและสถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนจะปรับปรุงความสะอาดของสถานีรถไฟขนาดใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งได้มอบนโยบายให้ปรับปรุงห้องน้ำด้วยวิธีติดตั้งวัสดุสำเร็จรูปเหมือนห้องน้ำในประเทศญี่ปุ่นแทนการทาสีเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นวิธีการรวดเร็วและทำให้ความรู้สึกสะอาดมากกว่าการทาสี โดยหากใช้วิธีนี้จะสามารถปรับปรุงห้องน้ำบนขบวนรถไฟทั่วประเทศได้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี   ทั้งนี้ คาดว่าการจัดทำแผนปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงนำมาเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ ได้ โดยตั้งเป้าจะยกระดับสถานีรถไฟหัวลำโพงให้เป็นแหล่งพบปะแห่งใหม่ของประชาชนและพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย เนื่องจากเมื่อสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จก็จะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟแห่งใหม่แทนสถานีรถไฟหัวลำโพง  ซึ่งส่งผลให้รถไฟที่จะเดินขบวนมายังสถานีรถไฟหัวลำโพงลดลงเหลือเฉพาะรถไฟดีเซลท่องเที่ยวและรถไฟจากเมืองชานเท่านั้น  ส่วนรถด่วนและรถขบวนสำคัญจะจอดที่สถานีกลางบางซื่อแทน  จึงควรพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟเหมือนรูปแบบในต่างประเทศ   อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯได้ส่งแผนฟื้นฟูองค์กรให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดพิจารณาต่อไป   สำหรับแนวทางการฟื้นฟูตามแผนยังคงเป็นการให้ภาครัฐช่วยรับหนี้สินของ ร.ฟ.ท. ใน 4 แนวทางเหมือนเดิม แต่แผนการนี้ยังไม่รวมการแยก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และการตั้งกรมการขนส่งทางราง เนื่องจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ยังศึกษาแนวทางแยกทรัพย์สินไม่แล้วเสร็จ และแผนการตั้งกรมการขนส่งทางรางยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษาแนวการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มรายได้ของ ร.ฟ.ท. ก็ยังศึกษาแนวทางการพัฒนาไม่แล้วเสร็จ แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนพร้อมนำเสนอบอร์ดภายในปีนี้ ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 30 กันยายน 2557

เทศกาลหุ่นโลก กรุงเทพฯ 2014

เทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ  ณ กรุงเทพมหานคร  ประเทศไทย เทศกาลหุ่นที่จะเป็นศูนย์รวมของ ละครหุ่น ภาพยนตร์หุ่น วีดีโอหุ่น การอบรมสัมมนาหุ่นต่างๆจากทั่วโลก ขบวนพาเหรดพร้อมทั้งดนตรี การเต้น และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในเทศกาล ในวันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2557 ณ เกาะรัตนโกสินทร์และท้องสนามหลวง จัดแสดงที่ 1. สนามหลวง (3 เวที) 2. โรงละครแห่งชาติโรงใหญ่ 3. โรงละครแห่งชาติโรงเล็ก 4. โรงละครวังหน้า 5. หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน 6. หอศิลป์เจ้าฟ้า 7. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 8. ลานพลับพลาทหาเจษฎาบดินทร์ 9. ศาลาเฉลิมกรุง 10. ศูนย์การค้าสยามพารากอน 11. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.harmonyworldpuppet.com/ https://www.facebook.com/HarmonyWorldPuppetCarnivalinBangkok2014/

Workshop ปักผ้ามาลัยดอกไม้ไทย

ทุติยบท ภาคสอง ของมหากาพย์ 12 ภาค 12 เดือน 12 ชิ้นงาน งานปักลวดลายงานดอกไม้ไทย โดยครูอ๋าย นิรมิตาจารย์ ครูงานปักผ้าร่วมสมัย   พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ และสกุล อินทกุล ขอเชิญคุณๆ ร่วมเดินทางไปในโลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ไทย ผ่านมุมมองของครูอ๋าย นพเก้า เนตรบุตร ผู้จะพาคุณๆ เดินทางไปบนเส้นทางสายดอกไม้ ผ่านด้ายฝ้าย แพรไหม ไข่มุก ลูกปัดแก้ว และผ้าลายลูกไม้หวาน เย็บๆ ปักๆ ถักๆ ร้อยๆ นิรมิต ด้ายฝ้าย แพรไหม ไข่มุก และลูกปัดแก้วอันสวยงาม ให้แปรเปลี่ยนเป็นงานปักที่เปี่ยมล้นด้วยจินตนาการ และรสนิยม   ท่องไปในโลกของวัฒนธรรมดอกไม้ไทยใน 12 เดือน กับ series งานปักผ้าวัฒนธรรมดอกไม้ไทย ที่ครูอ๋ายที่ออกแบบใหม่ทั้งหมดรวม 12 ชิ้น เที่ยวไปในโลกแห่งจินตนาการของดอกไม้ไทยบนผืนผ้า และแพรไหม กับใจที่แสนสวยงาม โดยมีครูอ๋าย ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ส่วนตัว ณ สถานที่ที่วิเศษสุด พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ หนึ่งเดียวในโลก ที่เดียวเท่านั้น   คลาสเดียว วันเดียวเท่านั้น สำหรับเดือนตุลาคมกับงานปักผ้ามาลัยดอกไม้ไทย ในวันเสาร์ที่ 18ตุลาคม 2557เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้   สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนเรียนได้ที่ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ โทร. 02 669 3633-4 วันอังคารถึงวันอาทิตย์ 10.00 น. ถึง 18.00 น.   ข้อมูลจาก Facebook -The Museum of Floral Culture วันที่ 9 ตุลาคม 2557

ขยายเวลาชมฟรี! พิพิธบางลำพู-พิพิธภัณฑ์เหรียญอีก 3 เดือน

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กรมธนารักษ์ ได้ริเริ่มโครงการพิพิธบางลำพู และ พิพิธภัณฑ์เหรียญ โดยได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 30 กันยายน ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าทั้ง 2 พิพิธภัณฑ์ได้การตอบรับจากประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจเข้าชมกันอย่างล้นหลาม โดยตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายน มีจำนวนผู้เข้าชมพิพิธบางลำพูรวม 8,328 คน และมีจำนวนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เหรียญรวม 5,543 คน        ทั้งนี้ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวต่อไปว่า สืบเนื่องจากการมอบนโยบายร่วมคืนความสุขให้กับคนไทย ทางกรมธนารักษ์จึงตัดสินใจขยายเวลาในการเปิดพิพิธบางลำพู และพิพิธภัณฑ์เหรียญให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งกรมธนารักษ์เชื่อมั่นว่า ทั้งพิพิธบางลำพูและพิพิธภัณฑ์เหรียญจะสามารถเป็นแหล่งเรียนด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าของแผ่นดิน ที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้าถึง และเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี โดยพิพิธบางลำพูเปิดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นรอบทุกๆ 30 นาที โดยรอบแรกเวลา 10.00 น. และรอบเข้าชมสุดท้ายเวลา 16.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของพิพิธบางลำพู ได้ที่ www.facebook.com/pipitbanglamphu หรือโทร 02-629-1850        สำหรับพิพิธภัณฑ์เหรียญได้เปิดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นรอบทุกๆ 20 นาที โดยรอบแรกเวลา 10.00 น. และรอบเข้าชมสุดท้ายเวลา 17.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของพิพิธภัณฑ์เหรียญ ได้ที่ www.facebook.com/coinmuseumthailand หรือโทร 02-282- 0818   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 ตุลาคม 2557

พระเทพฯรับสั่งพัฒนาพิพิธภัณฑ์-หอสมุด

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการที่เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี 2557 พระองค์ทรงแสดงความห่วงใยงานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกรมศิลปากร พร้อมรับสั่งว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศมีการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีค่าไว้มาก จึงควรมีรูปแบบการจัดแสดงที่น่าสนใจและมีชีวิตชีวา รวมทั้งรับสั่งให้กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานทั้ง 3 ด้าน ในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการงาน พิพิธภัณฑ์ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ ทั้งประเทศสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ เพื่อให้บุคลากรด้านวัฒนธรรมนำความรู้และประสบการณ์การทำงานมาใช้พัฒนางานทั้ง 3 ด้านอย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   รมว.วัฒนธรรมกล่าวต่อไปว่า สมเด็จพระเทพฯ รับสั่งด้วยว่า หลังจากมีการสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติใหม่แล้ว ควรพัฒนารูปแบบการบริการประชาชนให้มีมาตรฐาน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น ปรับปรุงระบบจัดเก็บเอกสารหายากให้สามารถสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ส่วนงานด้านจดหมายเหตุ ควรร่วมมือกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติของต่างประเทศ เพื่อขอสำเนาเอกสารมาให้คนไทยศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วย ทั้งนี้ วธ. ได้รับสนองรับสั่งโดยจะมอบหมายให้ นายบวรเวท รุ่งรุจี ว่าที่อธิบดีกรมศิลปากร เร่งปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก่อน ให้เป็นโครงการนำร่องในการจัดทำระบบคลังข้อมูลพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดเก็บโบราณวัตถุให้เป็นระเบียบ สามารถสืบค้นได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกโบราณวัตถุมาจัดแสดงได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้จะต้องปรับปรุงนิทรรศการจัดแสดงโบราณวัตถุให้มีความน่าสนใจ สลับสับเปลี่ยนโบราณวัตถุออกมาจัดแสดง ตลอดจนแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุไปจัดแสดงหมุนเวียนไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนต่างพื้นที่ได้เรียนรู้ ส่วนงานหอสมุดและหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะต้องวางแผนปรับปรุงและพัฒนาควบคู่ไปด้วย โดยได้ให้นายบวรเวทรายงานความคืบหน้าแผนดำเนินงานให้ตนรับทราบอย่างต่อเนื่อง และจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานโดยเร็วที่สุด   ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 6 ตุลาคม 2557

เจ้าอาวาสวัดดังบางปลาม้าเตรียมสร้างพิพิธภัณฑ์เรือ

วันที่ 2 ตุลาคม พระครูปลัดวิสุทธิวรวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลายและ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่าพระครูโสภณ คุณาธาร สิงโต ปสนนจิตโต เจ้าอาวาสวัดสาลี เจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สะสมเรือชนิดต่างๆ ทั้งเรือขนาดเล็กและเรือขนาดใหญ่จำนวนมากมายหลายชนิด เตรียมสร้างพิพิธภัณฑ์เรือให้ประชาชนได้ดูความเปลี่ยนแปลงของเรือที่เป็นพาหนะของคนไทยที่อดีตเคยใช้สัญจรทางน้ำจนมาถึงในปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงไร   สำหรับที่วัดสาลียังมีของเก่าโบราณอีกเป็นจำนวนมากหลากหลายชนิดที่มีการสะสมมานานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากการรับบริจาคจากญาติโยมและเจ้าอาวาสเก็บสะสมไว้อีกบางส่วน อาทิ ตะเกียงเจ้าพายุที่มีมากมาย ของเล่น ของเก่าเก็บ มีการจำลองร้านกาแฟ ร้านโชว์ห่วยโบราณต่างๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้แล้วเพื่อนำไปไว้พิพิธภัณฑ์ว่ายุคสมัยมีความเปลี่ยนแปลงจากในอดีตมาจนถึงในปัจจุบันมากน้อยเพียงไร   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 2 ตุลาคม 2557