รถไฟฯเร่งปฏิรูป'หัวลำโพง' จ่อสร้างแลนด์มาร์ค-พิพิธภัณฑ์

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 57 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ระบบขนส่งทางบกของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายให้ ร.ฟ.ท. เร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในสถานีรถไฟหัวลำโพงและความสะอาดของรถไฟไทย ขณะนี้ ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ไปจัดทำแผนงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมแล้ว
 
ซึ่งในขณะนี้ ร.ฟ.ท. กำลังพิจารณาเลือกร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านค้าที่มีชื่อเสียงเพื่อมาเปิดให้บริการแทนร้านเดิมที่ทยอยหมดสัญญา และแนวทางการลงทุนเป็นไปได้ทั้งการใช้งบประมาณของ ร.ฟ.ท. เอง หรือเปิดให้เอกชนมาลงทุนและบริหารจัดการ(PPP Cost) ด้านการปรับปรุงความสะอาด ทางฝ่ายบริหารจะจัดทำแผนงานพร้อมรายละเอียดด้านงบประมาณกลับมาเสนอคณะกรรการการรถไฟภายใน 1-2 เดือนข้าง
 
โดยเบื้องต้นจะให้ทยอยปรับปรุงความสะอาดของห้องน้ำในขบวนรถไฟและสถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนจะปรับปรุงความสะอาดของสถานีรถไฟขนาดใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งได้มอบนโยบายให้ปรับปรุงห้องน้ำด้วยวิธีติดตั้งวัสดุสำเร็จรูปเหมือนห้องน้ำในประเทศญี่ปุ่นแทนการทาสีเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นวิธีการรวดเร็วและทำให้ความรู้สึกสะอาดมากกว่าการทาสี โดยหากใช้วิธีนี้จะสามารถปรับปรุงห้องน้ำบนขบวนรถไฟทั่วประเทศได้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
 
ทั้งนี้ คาดว่าการจัดทำแผนปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงนำมาเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ ได้ โดยตั้งเป้าจะยกระดับสถานีรถไฟหัวลำโพงให้เป็นแหล่งพบปะแห่งใหม่ของประชาชนและพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย เนื่องจากเมื่อสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จก็จะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟแห่งใหม่แทนสถานีรถไฟหัวลำโพง  ซึ่งส่งผลให้รถไฟที่จะเดินขบวนมายังสถานีรถไฟหัวลำโพงลดลงเหลือเฉพาะรถไฟดีเซลท่องเที่ยวและรถไฟจากเมืองชานเท่านั้น  ส่วนรถด่วนและรถขบวนสำคัญจะจอดที่สถานีกลางบางซื่อแทน  จึงควรพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟเหมือนรูปแบบในต่างประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯได้ส่งแผนฟื้นฟูองค์กรให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดพิจารณาต่อไป
 
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูตามแผนยังคงเป็นการให้ภาครัฐช่วยรับหนี้สินของ ร.ฟ.ท. ใน 4 แนวทางเหมือนเดิม แต่แผนการนี้ยังไม่รวมการแยก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และการตั้งกรมการขนส่งทางราง เนื่องจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ยังศึกษาแนวทางแยกทรัพย์สินไม่แล้วเสร็จ และแผนการตั้งกรมการขนส่งทางรางยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษาแนวการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มรายได้ของ ร.ฟ.ท. ก็ยังศึกษาแนวทางการพัฒนาไม่แล้วเสร็จ แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนพร้อมนำเสนอบอร์ดภายในปีนี้

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 30 กันยายน 2557

เผยแพร่เมื่อ: 17 ตุลาคม 2557