ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

ร่วมด้วย ช่วยกัน เพื่อพิพิธภัณฑ์จิตรกรกวี อังคาร กัลยาณพงศ์

ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์" ได้ถึงแก่กรรมเมื่อเวลาเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยโรคชรา   ในส่วนของกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ทางครอบครัวของท่านอังคารได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ อังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2556 เวลา 17.00 ณ เมรุวัดทองนพคุณ คลองสาน โดยในช่วงเช้า 10.00 น. จะเป็นการสวดและเลี้ยงเพล ก่อนจะเริ่มการแสดงที่น่าสนใจตั้งแต่เวลา 14.00 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามวันและเวลาดังกล่าว และเนื่องจากสถานที่บริเวณวัดทองนพคุณมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงขอแนะนำผู้ที่จะเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม ให้ใช้รถโดยสารสาธารณะ ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มกราคม 2556 จะมีการสวดอภิธรรมศพก่อนวันพระราชทานเพลิงในเวลา 19.00 น. ณ วัดทองนพคุณ ศาลา 5   เดินหน้า "พิพิธภัณฑ์จิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์" ที่่ผ่านมาทางครอบครัวกัลยาณพงศ์ได้ตั้ง "กองทุนเพื่ออังคาร กัลยาณพงศ์" โดยมีจุดประสงค์เพื่อการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ จิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์" ขึ้น เพื่อรวบรวมผลงานทั้งบทกวี งานจิตรกรรม และข้อมูลสำคัญอันมีความเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท่านอังคารในแต่ละยุคสมัย สำหรับเผยแพร่ยังสาธารณชนและคนรุ่นหลัง   จากตัวอย่างของศิลปินหลายท่านในอดีตที่มีความสำคัญกับประเทศไทย พบว่ายังขาดการให้การสนับสนุนจากรัฐบาลในระยะต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่คุณค่าของผลงานเหล่านี้นับเป็นมรดกของประเทศชาติ สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทุกยุคสมัย อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ยังคงต้องการพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้ง รวมถึงเรื่องของงบประมาณการบริหารจัดการด้วย จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเพื่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีความพร้อมและมีมาตรฐาน   ในเบื้องต้น ทางครอบครัวมีแผนที่จะจัดพิพิธภัณฑ์ในส่วนที่ท่านอังคารได้ใช้เป็นที่พำนักและทำงานจวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าต่อไป   ระวังผู้แอบอ้างขายผลงาน "ท่านอังคาร" วงการศิลปะมีเรื่องของการค้าขายผลงานทางศิลปะผ่านคนกลางมานานแล้วและเป็นเรื่องปกติ แต่บางกรณีจัดว่าเป็นการแอบอ้างโดยเจตนา ซึ่งนำความเสียหายมาสู่ทางครอบครัวของศิลปินในทางใดทางหนึ่ง มีกรณีตัวอย่างของศิลปินที่เสียชีวิตไปแล้วหลายคนที่ถูกนำชื่อมาแอบอ้างหาผลประโยชน์ส่วนตน   ที่ผ่านมา หลังจากท่านอังคารได้เสียชีวิตลงนั้น พบว่ามีผู้นำประเด็นดังกล่าวไปใช้เป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์เป็นจำนวนหนึ่งในรูปแบบต่างกัน เช่น มีการนำผลงานจิตรกรรมของท่านไปจำหน่ายให้กับนักสะสมงานศิลปะหรือจำหน่ายให้แกลเลอรี่โดยอ้างว่าทางครอบครัวกำลังเดือดร้อน มีความจำเป็นต้องใช้เงิน มีการกล่าวชักจูงให้ผู้ซื้อผลงานโดยอ้างเหตุผลใดๆ หรือมีการนำสินค้าส่วนตนไปจำหน่ายโดยอ้างว่าจะแบ่งรายได้ให้กับทางครอบครัวของศิลปินแต่ไม่ได้มีการนำมาให้จริง เพื่อป้องกันความสับสนในเรื่องของกองทุน ครอบครัวขอแจ้งให้ทราบว่า "กองทุนท่านอังคาร" มีเพียงกองทุนที่บริหารโดยครอบครัวเพียงกองทุนเดียวเท่านั้น และทางครอบครัวไม่มีการนำผลงานของท่านอังคารไปจำหน่ายผ่านตัวแทนทางศิลปะหรือผู้ใดทั้งสิ้นในทุกกรณี และขอความกรุณาจากสื่อมวลชน เครือข่ายศิลปิน และประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง   .... ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท่านอังคารได้ โดยบริจาคผ่านบัญชี "กองทุนเพื่ออังคารกัลยาณพงศ์" ธนาคารกสิกรไทย ออมทรัพย์ สาขาหัวหมาก หมายเลขบัญชี 078-2-69785-6 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ โทรศัพท์ 08 6099 9002 / อีเมล ormkaew@gmail.com ......................................................................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 ธันวาคม 2555

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯสร้างเครือข่ายเพื่องานอนุรักษ์

ด้วยขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแลกเปลี่ยนความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง จึงร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SEAMEO-SPAFA) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านงานอนุรักษ์สิ่งทอแก่นักอนุรักษ์จากพิพิธภัณฑ์ในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนรวม 11 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ลาว พม่า บรูไน ติมอร์ และไทย เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการจัดการงานพิพิธภัณฑ์ และความรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บและอนุรักษ์ผ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเร็วๆนี้                    โดยมีคณะทำงานแผนกอนุรักษ์และทะเบียน และ จูเลีย เอ็ม เบรนแนน ที่ปรึกษาอาวุโส ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ว่า งานอนุรักษ์ผ้า เป็นอีกหนึ่งพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่ต้องดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว และมีการซ่อมแซมวัตถุที่ได้รับความเสียหายให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง คงสภาพเป็นตัวแทนสมบัติทางวัฒนธรรมให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป ที่นี่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐานเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ระดับโลก มีห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ จนสามารถทำงานด้านอนุรักษ์ได้ในระดับสากล เราจึงรู้สึกยินดีที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านงานอนุรักษ์สิ่งทอแก่นักอนุรักษ์จากพิพิธภัณฑ์ในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนในครั้งนี้                          “สำหรับเนื้อหาในการอบรม มีข้อมูลเกี่ยวกับพื้นฐานการจัดเก็บผ้าและสิ่งทอ การจัดแสดงอย่างถูกวิธี ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ การเลือกใช้วัสดุและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการจัดเก็บ-จัดแสดงผ้า ผ่านการลงมือทำอย่างจริงจังภายในห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ของทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวมทั้งการศึกษาดูงานคลัง นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ พระตำหนักอรไทยเทพกัญญา ในพระราชวังดุสิต, นิทรรศการผ้าปัก จากฝีมือสมาชิกศิลปาชีพ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นต้น” หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวถึงภาพรวมในการอบรม                           ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำงานแบบครบวงจร จนได้รับการยอมรับจากนักอนุรักษ์นานาประเทศ การจัดอบรมครั้งนี้นอกจากเป็นการนำเสนอข้อมูลและวางแผนด้านงานอนุรักษ์สิ่งทอให้เกิดประสิทธิภาพ ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับทราบแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนและเพิ่มศักยภาพบุคลากรงานด้านอนุรักษ์ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายกลุ่มเพื่อนงานอนุรักษ์ในภูมิภาคอีกด้วย                          พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.30. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี สำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรุณาแต่งกายสุภาพ (ห้ามสวมกางเกงขาสั้น)   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0-2225-9420, 0-2225-9430 หรือ  www.queensirikitmuseumoftextiles.org ----------------------------------------------------------------------------------- คมชัดลึก วันที่ 5 ธันวาคม 2555

มี.ค.ปีหน้า พิพิธภัณฑ์ศิลปะในนิวยอร์กจัดแสดงเกี่ยวกับเกม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะในนิวยอร์กเตรียมจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเกมโดยมีเกมดังอย่าง Pac-Man, Tetris, The Sims, Flow, Minecraft และอื่นๆอีกมากมาย โดยนิทรรศการจะเปิดให้ชมในเดือนมีนาคมปีหน้า นิทรรศการ "Art of Games" ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเกมในพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนได้สิ้นสุดลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ล่าสุดจะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเกมขึ้นอีกครั้งในพิพิธภัณฑ์ชื่อดังของสหรัฐ เมื่อพิพิธภัณฑ์ "The Museum of Modern Art" ประกาศเลือก 40 เกมเตรียมนำมาจัดแสดงที่แกเลอรี่ในนิวยอร์กช่วงต้นปีหน้า      เกมที่จะเลือกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art จะเป็นเกมเก่าที่ย้อนไปหลายสิบปี อย่าง Pac-Man และ Spacewar แต่ก็จะมีเกมสมัยใหม่ร่วมจัดแสดงด้วย อย่าง Portal และ Minecraft การจัดแสดงเกี่ยวกับเกมครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่จัดแสดงในฟิลิปป์ จอห์นสัน แกเลอรี่ โดยจะเริ่มจัดแสดงในเดือนมีนาคม ปีหน้า ด้านผู้จัดแสดงระบุว่าการจัดแสดงเกี่ยวกับเกมครั้งนี้ ใช้เวลาเตรียมงานมากกว่า 1 ปี มีการปรึกษาผู้รอบรู้ , นักกฏหมาย , นักประวัติศาสตร์ และนักวิจารณ์ ว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกเกมเข้ามาจัดแสดง               รายชื่อ 14 เกมที่จะได้รับคัดเลือกมาจัดแสดง         Pac-Man        Tetris        Another World        Myst        SimCity 2000        vib-ribbon        The Sims        Katamari Damacy        EVE Online        Dwarf Fortress        Portal        flOw        Passage        Canabalt         ผู้จัดแสดงต้องการจะเพิ่มจำนวนเกมเข้าไปอีกเพื่อให้จำนวนเกมที่จัดแสดงถึงเป้า 40 เกม โดยเกมที่วางแผนจะเพิ่มเข้ามามีหลายเกม อาทิ Spacewar! (1962), เกมบนคอนโซล Magnavox Odyssey(1972), Pong (1972), Snake (เวอร์ชั่นต้นแบบในปี 1970s และเวอร์ชั่นโทรศัพท์โนเกียในปี 1997), Space Invaders (1978), Asteroids (1979), Zork (1979), Tempest (1981),Donkey Kong (1981), Yars’ Revenge (1982), M.U.L.E. (1983), Core War (1984), Marble Madness (1984), Super Mario Bros. (1985), The Legend of Zelda (1986), NetHack (1987), Street Fighter II (1991), Chrono Trigger(1995), Super Mario 64 (1996), Grim Fandango (1998), Animal Crossing (2001) และ Minecraft (2011) ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555

สพร.เปิดพิพิธภัณฑ์กลางคืน เผยปริศนา “หิน เหล็ก ไฟ”

หากตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า เทคโนโลยีทันสมัยต่างสูญหายไปหมดสิ้น รอบๆ ตัวเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง สิ่งแรกที่คุณจะทำคืออะไร? เหตุการณ์ข้างต้นหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่จากเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก และทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อม!!!   ด้วยเหตุนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือมิวเซียมสยาม จึงได้ใช้ประเด็นฉุกเฉิน กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิด ต่อยอดสู่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สนุกสนาน และเป็นประโยชน์ โดยการจัดงาน Night at the Museum III ตอน หิน เหล็ก ไฟ พร้อมจัดนิทรรศการประกอบกิจกรรมชุด หิน เหล็ก ไฟ เพื่อให้ลูกหลานไทยยุค 2012 ได้เรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ ผู้สร้างอารยธรรมแรกเริ่ม และวิวัฒนาการเรื่อยมาจนกลายเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน   งาน NIGHT AT THE MUSEUM III ตอน หิน เหล็ก ไฟ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 -16 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ภายในงานพบการเสวนาให้ความรู้เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ การแสดง แสง สี เสียงประกอบเทคนิคพิเศษเต็มรูปแบบ ที่จะพาผู้ชมร่วมเดินทางย้อนเวลาไปพบกับต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศลานนิทานรอบกองไฟในราตรีมืดมิด พร้อมเรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างสนุกสนาน เช่น เรียนรู้การจุดไฟจากธรรมชาติ การทำอาวุธ การเขียนสีบนผนังถ้ำ และพบกับหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ได้จากนิทรรศการประกอบกิจกรรมชุด “หิน เหล็ก ไฟ” ณ ห้องตึกเก่าเล่าเรื่อง จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 56 ณ มิวเซียมสยาม สนามไชย กรุงเทพฯ   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0-2225-2777 ต่อ 413, 414 www.facebook.com/museumsiamfan www.museumsiam.com อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 2 ธันวาคม 2555

เตรียมเฮ เปิด ′พิพิธภัณฑ์การแห่งการเรียนรู้ การประปาไทย′ ปี 2557

พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทย ถูกสร้างตั้งปี 2554 เพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อการพัฒนาและส่งเสริมงานด้านระบบการประปา ด้วยการบูรณะโรงงานผลิตน้ำสามเสน ซึ่งเป็นโรงกรองน้ำแห่งแรกของประเทศไทย และให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการ ความเป็นมาของการผลิตน้ำประปาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาน้ำของประชาชน โดยดำเนินการซ่อมแซมบูรณะหมู่อาคารอนุรักษ์และอาคารบริวาร ให้เป็นไปตามหลักวิชาการอนุรักษ์ เพื่อรักษาคุณค่าของโรงกรองน้ำสามเสน ซึ่งเป็นอาคารลักษณะที่หาชมได้ยาก และเดิมของอาคารนั้น เป็นสีเหลืองหมากสุก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการใช้สีเหลืองหมากสุกแทนสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำองค์กรของการประปานครหลวง เพื่อคงรักษาอาคารเหล่านี้ให้เป็นเหมือนดังเช่นในอดีตให้ได้มากที่สุด ส่วนการดำเนินงานจะเป็นงานด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่พิพิธภัณฑ์ มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับงานพิพิธภัณฑ์ และในปี 2556 จะเป็นงานจัดแสดงนิทรรศการและตกแต่งภายในอาคาร การติดตั้งสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ เพื่อ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำให้กับผู้ชม เช่น วัฏจักรของน้ำ คุณภาพน้ำประปา และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มติชนออนไลน์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2555

ค้นคลังความรู้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

ต่อเนื่องมาสำหรับเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดเผยแพร่เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของความรู้ในสังคมไทยโดยครั้งที่ 3 “ภูมิรู้สู้วิกฤติ” เตรียมมีขึ้นในวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2555 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งนี้นอกเหนือจากแสดงสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นภูมิความรู้ใช้แก้ปัญหาของแต่ละท้องถิ่นแล้ว ตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 69 แห่ง ยังร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น การดูแลรักษามรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ ภูมิรู้สู้โรคภัย ภูมิรู้สู้ภัยธรรมชาติ ภูมิรู้สู้ภัยสงคราม-การเมือง ภูมิรู้สู้เศรษฐกิจ และภูมิรู้สู้การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม พร้อมให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมในกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาท้องถิ่นองค์ความรู้ที่เตรียมเผยแพร่ ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) บอกเล่าว่า เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ผ่านมาได้จัดขึ้นปีเว้นปีโดยเริ่มมานับแต่ปี 2551 ต่อเนื่องมาถึงครั้งนี้โดยมีแนวคิดแตกต่างกันไป ภูมิรู้สู้วิกฤติ แนวคิดครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์น้ำท่วมปีที่ผ่านมาซึ่งหลายพื้นที่มีวิธีการต่อสู้การฝ่าฟันอุปสรรคที่น่าศึกษาสนใจ แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำท่วมด้านเดียว ยังมีอีกหลายด้านที่เป็นภูมิความรู้ทรงคุณค่าของแต่ละพิพิธ   ภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งครั้งนี้ได้รวบรวมนำมาเสนอไว้พร้อมให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยรูปแบบของการจัดแสดงซึ่งมีทั้ง นิทรรศการ การเสวนา การแสดงทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีการสาธิตการทำอาหาร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่น่าศึกษาสนใจในความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ภูมิรู้สู้การเปลี่ยนแปลง ส่วนนี้ถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กลับมาเป็นพลังสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง เกิดการรื้อฟื้นอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม อย่างในเรื่องของ ภาษา ประเทศเรามีภาษาถิ่นอยู่มาก ชอง เป็นภาษาหนึ่งที่เป็นภาษาถิ่นซึ่งก่อนจะสูญไปชาวชุมชนร่วมกันรื้อฟื้น เช่นเดียวกับการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน ถ่ายทอดแสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจกันทั้งวัดและชุมชนช่วยกันดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมการแสดง โดยนอกจากแนะนำให้เด็ก ๆ คนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้จักหนังใหญ่ ยังมีการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เกิดการสืบทอดต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์ถ่ายทอดแนวคิดการสู้กับวิกฤติการณ์  ต่าง ๆ อย่าง น้ำท่วม พิพิธภัณฑ์เรือไทยได้นำ เรือผ้าขาวม้า จัดแสดง โดยเรือลำดังกล่าวไม่เพียงใช้งานได้จริงยังทำขึ้นจากวัสดุเรียบง่ายและสามารถประดิษฐ์ขึ้นใช้ได้ด้วยตนเอง เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้ง นี้ยังจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจไม่เคยได้สัมผัสกัน อย่าง ระฆังลูกระเบิด เตาเผาหลบภัย ของเล่นพื้นบ้าน ลวดลายผ้าโบราณ หนังตะลุงน็อกดาวน์ ฯลฯ อีกทั้งยังมีการแสดง เสวนา ในประเด็นต่าง ๆ จากผู้รู้ในท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้ภูมิรู้สู้วิกฤติต่าง ๆ รวมถึงการประดิษฐ์ ฯลฯ ซึ่งมีความหมายต่อการสืบรักษาองค์ความรู้ สร้างความยั่งยืนต่อเนื่องไป. เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

เชิญร่วมงานแถลงข่าวจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมงานแถลงข่าวงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3 "ภูมิรู้สู้วิกฤต" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าว กล่าวรายงานโดย ผศ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ผู้อำนวยการศูนย์ และการนำเสนอคอนเซปต์งานโดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์ฯ และ content curator ประจำงานเทศกาลครั้งนี้ พร้อมชมการแสดง "หมอลำขอข้าว" พ่อเสนอ เศษไม้ พักชิมอาหารเชิงนิเวศจากครัวยี่สาร และ อาหารจากป้าถนอม พงษ์ยิ้มละไม นำอาหารลาวโซ่งมาให้ชิม ช่วงเสวนา ขอเชิญฟังเสวนา "เรื่องน่าสน คนเล่าเก่ง เจ๋งที่ของ" จาก คุณกนก ขาวมาลา คุณสุรชัย รุณบุญรอด คุณอำคา แสงงาม คุณโกมล พานิชพันธุ์ และ พ่อเสนอ เศษไม้ ดำเนินรายการโดย คุณนราวิทย์ ดาวเรือง งานนี้ฟรีค่ะ ผู้สนใจเข้าร่วมงานแถลงข่าว สอบถามโทร 0 2880 9429 Website :  http://www.sac.or.th/databases/localmuseumfestival2012/ Facebook : https://www.facebook.com/localmuseum.festival?ref=stream

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย ต้อนรับลูกแมวน้ำเกิดใหม่

แมวน้ำเคปเฟอร์ซีล (แมวน้ำแอฟริกาใต้) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เลี้ยงลูกด้วยนม ตัวผู้จะตัวใหญ่กว่าตัวเมีย มีคอเป็นสันใหญ่ สีขนลำตัวของตัวผู้เป็นสีเทา ดำ และมีสีน้ำตาลแซม ตัวเมียมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาล เทา จะกินปลาเป็นอาหารหลัก แมวน้ำเป็นสัตว์สังคม ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลใกล้เกาะเล็กๆ และขึ้นฝั่งบนเกาะบริเวณชายหาดที่เป็นโขดหินในเขตแอฟริกาใต้ ประเทศไทยมีการนำแมวน้ำเคปเฟอร์ซีลมาเลี้ยง ซึ่งมีอยู่ที่สวนสัตว์ 4 แห่ง ได้แก่ สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย ตรัง ในส่วนของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้นำแมวน้ำเคปเฟอร์ซีลจากประเทศนามิเบีย ทวีปแอฟริกา มาเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ.2549 ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ตัว เป็นเพศผู้ 1 ตัว ชื่อโอเล่ เพศเมีย 4 ตัว ชื่อ เป๊ปซี่ ตัวเล็ก ป๊อป และเปรี้ยว และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2555 เวลาประมาณ 14.00 น. พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย ตรัง ได้ต้อนรับแมวน้ำที่ได้ลืมตาดูโลกขึ้นอีกหนึ่งตัว ซึ่งเป็นแมวน้ำเพศผู้ เกิดจากแม่แมวน้ำเพศเมียชื่อเจ้าเป๊ปซี่ โดยมีน้ำหนักแรกเกิด 4 กิโลกรัม สำหรับการดูแลลูกแมวน้ำนั้น นายภากรณ์ จู้ห้อง นักวิชาการประมง ซึ่งเป็นครูฝึกและดูแลแมวน้ำของสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “สำหรับลูกแมวน้ำที่เพิ่งเกิดใหม่ทางเจ้าหน้าที่ได้แยกแม่และลูกแมวน้ำไปอยู่อีกห้อง ซึ่งเป็นห้องที่ปลอดเชื้อ เพื่อให้ลูกแมวน้ำสามารถกินนมแม่ได้อย่างเต็มที่และเพื่อป้องกันอันตรายจากแมวน้ำตัวอื่นๆ ”ในส่วนของการดูแลแม่แมวน้ำ นายภากรณ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “ระยะ 5 วันหลังจากออกลูก จะมีการปล่อยให้แม่แมวน้ำออกมาอยู่รวมกับแมวน้ำตัวอื่นๆ ในช่วงเวลา 08.30-10.30 น. ของทุกวัน เพื่อเป็นการลดความเครียด เพราะหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวแม่แมวน้ำจะต้องอยู่กับลูกในห้องที่แยกไว้ การให้อาหารแม่แมวน้ำจะให้วันละ 2 มื้อ มื้อละ 3-4 กิโลกรัม ซึ่งอาหารจะเป็นปลาทู ปลาลัง ปลาข้างเหลือง และมีการให้อาหารเสริมเพิ่มพวกวิตามินบีรวม น้ำมันตับปลา และแคลเซียม อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเสริมสร้างน้ำนมและบำรุงสุขภาพให้กับแม่แมวน้ำ” ซึ่งทางสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีการนำลูกแมวน้ำออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมเป็นครั้งคราวสลับกับการแสดงของแมวน้ำตัวอื่นๆ และจะเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปร่วมประกวดตั้งชื่อลูกแมวน้ำเพศผู้ที่เกิดใหม่ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ และคาดว่าลูกแมวน้ำตัวนี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรังแห่งนี้ได้มากขึ้น   หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 10 พฤศจิกายน 2555  

ออสเตรเลียช่วยไทยอนุรักษ์มรดก ส่งมอบแผ่นเสียงไทยโบราณ

เจมส์ ไวส์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้ส่งมอบแผ่นเสียงเพลงไทยเก่าแก่และหายาก จำนวน 18 แผ่น ซึ่งรวมถึงแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรก ให้แก่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ในงานวันมรดกทางโสตทัศน์โลกแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ แผ่นเสียงไทยโบราณทั้ง 18 แผ่นเป็นสมบัติของนาย กัส วอเตอร์เฮาส์ วิศวกรชาวออสเตรเลีย ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.2483-2493 เขาได้นำแผ่นเสียงเหล่านี้กลับไปยังออสเตรเลียด้วย ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2529 ไมเคิล วอเตอร์เฮาส์ ผู้เป็นหลานชาย ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้เก็บรักษาแผ่นเสียงเหล่านี้ไว้เป็นเวลาถึง 26 ปี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายไมเคิล วอเตอร์เฮาส์ ร่วมกับหอภาพยนตร์และเสียงแห่งชาติออสเตรเลีย ได้บริจาคแผ่นเสียงโบราณเหล่านี้ พร้อมกับหนังสือเพลงไทยจำนวนสี่เล่มให้แก่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ประเทศไทย “มีประวัติศาสตร์มากมายที่ไม่ได้รับการจารึก และในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมให้คุณค่าความสำคัญกับบันทึกและเอกสารดั้งเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้สูญสลายได้ง่ายและบ่อยครั้งก็เป็นเช่นนั้น กัส มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ผมคิดว่าเขาเองก็คงต้องการให้แผ่นเสียงเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ในสถานที่ที่พวกมันจะได้รับความชื่นชม” ไมเคิล กล่าว วันมรดกทางโสตทัศน์โลกตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ เช่น บันทึกข้อมูลที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555

เปิดชมฟรีพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา โชว์เทคนิคย้อนสู่ยุคไดโนเสาร์

นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ทธ.)เปิดเผยว่าตามที่ ทธ.ได้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาแล้วนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ทธ.จึงได้เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นปีนี้ สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อเป็นสถานที่อนุรักษ์แหล่งข้อมูลอ้างอิงและตัวอย่างที่สำคัญทางธรณีวิทยา ตั้งอยู่บริเวณคลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ประมาณ 245 ไร่  มีอาคารพื้นที่ใช้ประมาณ 14,0000 ตารางเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 419.5 ล้านบาท ส่วนการการแสดงแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการภายในบริเวณชั้น 2 ประกอบด้วยนิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประวัติกรมทรัพยากรธรณี ตั้งแต่ระบบสุริยจักรวาล การกำเนิดโลกส่วนประกอบ โครงสร้างโลก  ด้วยเทคโนโลยี เทคนิคสมัยใหม่ บริเวณชั้น 3 จัดแสดงด้านทรัพยากรแร่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแร่  การกำเนิดแหล่งแร่ การทำเหมืองแร่ ด้านธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและพิบัติภัย แผ่นดินไหว  ดินยุบ ดินถล่ม สึนามิ ด้านเชื้อเพลงธรรมชาติ แนวหน้า, วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

เร่งจัดระเบียบวัตถุโบราณพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุฯ รับเป็นมรดกโลก

เมื่อวันทึ่ 3 พ.ย. ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเร่งจัดระเบียบ และการแสดงวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นมรดกโลกขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ และรองรับการตรวจเยี่ยมของคณะอีโคโมส ที่บริเวณพระวิหารระเบียงคตที่ได้ถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมวัตถุโบราณจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ของบรรพบุรุษที่นำมาถวายเป็นพุทธบูชา และได้มีการจัดแสดงอย่างเป็นทางการ แต่ยังคงมีวัตถุโบราณอีกเป็นจำนวนมากยังไม่ได้มีการจัดระเบียบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ         ทั้งนี้ เพื่อการจัดระเบียบ และการจัดแสดงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้ทำหนังสือไปยังทุกภาคส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมี น.ส.ทัศนีย์ พิกุล อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เป็นหัวหน้าทีม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายเข้าร่วมทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร อัยการ และมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุ และการบันทึกภาพเข้าร่วมด้วย         น.ส.ทัศนีย์ พิกุล อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ในฐานะหัวหน้าทีมเปิดเผยว่า กระบวนการนั้นต้องใช้เวลา โดยเจ้าหน้าที่จะต้องแบ่งกลุ่มกันรับผิดชอบจากทั้งหมด 42 ตู้แสดง ซึ่งมีทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งการดูแลทั้งหมดนั้นได้ใช้งบประมาณของวัดเอง โดยได้เข้าตรวจสอบทะเบียนวัตถุโบราณ และเร่งจัดระเบียบหมวดหมู่วัตถุโบราณประเภทต่างๆ ทั้งเครื่องสังฆภัณฑ์โบราณ, พระเครื่องทองคำโบราณ, เครื่องสักการะพระบรมธาตุเจดีย์, พุ่มไม้เงิน พุ่มไม้ทองจากหัวเมือง 12 นักษัตรสมัยโบราณ, อาภรณ์ภัณฑ์ของขุนนางสมัยโบราณ, เครื่องทองเหลือง, อาวุธโบราณ ซึ่งมีทั้งดาบศึก กริช และปืนคาบศิลาโบราณ ซึ่งเป็นของที่ได้มีการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา โดยแต่ละกลุ่มนั้นได้ถูกจัดให้เป็นหมวดหมู่ และจัดแสดงให้ถูกต้องพร้อมทั้งการเก็บรักษาที่มั่นคงแข็งแรง และรักษาอุณหภูมิ และจัดแสงให้ถูกต้องไม่สร้างความเสียหายแก่พื้นผิววัตถุโบราณ         การจัดการทั้งหมดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนองค์พระบรมธาตุเจดีย์สู่การเป็นมรดกโลก และเพื่อรอรงรับการตรวจเยี่ยมของคณะอีโคโมส เพื่อเป็นหลักฐานที่สำคัญสนับสนุนให้เห็นว่า วัตถุโบราณเหล่านี้ ล้วนแต่มีที่มาจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่โบราณ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2555