ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

เปิด “บ้านศาลาดิน” เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม” เมื่อวันที่ 9 พ.ย.56 เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน         ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ แจงแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนนั้นเป็นผลจากการเรียนรู้ของชุมชนที่เข้าใจว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นเป็นสมบัติของชุมชนที่ต้องบริหารจัดการ โดยมีการบริหารจัดการตามแนวพระราชดำริ และเรียนรู้แก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น หากคลองตันจะทำอย่างไร หากน้ำท่วมนาจะทำอย่างไร สูบน้ำออกหรือเปลี่ยนไปทำนาบัว เป็นต้น         “เมื่อจัดการน้ำ ดินได้ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด คุณภาพชีวิตประชาชนก็จะดีขึ้น ความสงบสุขก็เกิด การจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพราะอยากให้เกิดการเรียนรู้ ให้ชุมชนสอนกันเอง แล้วเขาจะเชื่อกันมากกว่าจะให้หน่วยราชการมาสอน จากนั้นผลักดันให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ และนำไปสู่การกระทำ สุดท้ายปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งก็ทุเลา” ดร.สุเมธกล่าว         ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่งทั่วประเทศ ที่แสดงการบริหารจัดการดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนก็มีการเดินตามแนวพระราชดำริ โดยลักษณะของพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงทั้งคนและสภาพแวดล้อมไปสู่ความยั่งยืน มั่นคง และสมดุล และมียังชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชม         สำหรับประวัติของชุมชนบ้านศาลาดินนั้น เดิมชุมชนมีอาชีพทำนาเพียงปีละครั้ง ทำให้เกษตรกรยากจนและต้องขายที่ทำกินของตัวเอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหาจึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้แก่เกษตรกรจำนวน 1,009 เมื่อปี 2518 โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดรูปที่ดินให้เกษตรกรแปลงละ 20 ไร่ และเริ่มเข้าทำกินได้ตั้งแต่ปี 2520         ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ชาวชุมชนศาลาดินได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็น “กรอบคิด” ในการแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาตนเอง ใช้ธรรมชาติแก้ธรรมชาต คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และทำเป็น “กรอบงาน” ที่มีกระบวนการชัดเจน ด้วยการเก็บข้อมูลและสรุปปัญหาที่แท้จริง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ระบบพิกัดดาวเทียม (จีพีเอส) วางแผนงานแนวคิดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่จริง ใช้ทฤษฎีใหม่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน แล้วขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น จนเกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         “การที่พิพิธภัณฑ์ฯ มาเปิดที่นครปฐมนั้น เนื่องจากชาวบ้านที่ชุมชนได้ดำเนินการมาแล้วอย่างชัดเจน และสามารถเป็นแบบอย่างในการพัฒนาได้ ทางมูลนิธิฯ จึงได้มาช่วยเหลือด้านศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แผนที่และจีพีเอส เป็นต้น ชุมชนบ้านศาลาดินเคยประสบปัญหาน้ำเน่าเสียจากสารเคมี การทิ้งขยะและน้ำเสียจากครัวเรือนสู่ลำคลอง และมีปัญหาน้ำท่วมที่มีระยะเวลานานขึ้น การฟื้นฟูคลองมหาสวัสดิ์ ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพลำคลอง เช่น ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมัน ใช้จุลินทรีย์ปรับสภาพน้ำ พัฒนากังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จนปัจจุบันเรือสามารถสัญจรได้โดยสะดวก และจำนวนสัตว์เพิ่มขึ้น” ดร.รอยลกล่าว         บ้านศาลาดินเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแห่งที่ 2 ตามที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เปิดให้เป็นแหล่งแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดให้ วังบัวแดง จ.หนองคาย เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริด้วยเช่นกัน   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 10 ธันวาคม 2556

“มหกรรมสตูลฟอสซิล เฟสติวัล”

จ.สตูล ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี จัดงาน “มหกรรมสตูลฟอสซิล เฟสติวัล”ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ บริเวณสนามกีฬาหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า และที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในโรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู จ.สตูล ระหว่างวันที่ 6 - 15 ธันวาคม 2556   แบ่งการจัดนิทรรศการและกิจกรรมเป็น 2 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการมหัศจรรย์ฟอสซิลไทย และนิทรรศการอุทยานธรณี โดยได้นำเอาซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของประเทศไทยที่จัดเก็บโดยกรมทรัพยากรธรณี อาทิ ซากไดโนเสาร์ กรามช้างสี่งา ฟันแพนด้า และยังมีกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์อื่นๆ อีกมากมาย   ไฮไลต์ของงานอยู่ที่การแสดงไดโนเสาร์เดินได้ และฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วประเทศไทยนอกจากนั้นยังมีนิทรรศการอุทยานธรณีของกรมทรัพยากรธรณี นิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ปลาหิน อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี อีกทั้งผู้ที่สนใจยังสามารถไปท่องเที่ยวใน “เส้นทางท่องเที่ยวทางธรณี...สู่ Geopark” ซึ่งมีทั้งการพายเรือแคนูชมถ้ำเล สเตโกดอน ชมถ้ำภูผาเพชร พายเรือชมหินงอกหินย้อยถ้ำเจ็ดคต เป็นต้น         ผู้สนใจร่วมเข้าชมนิทรรศการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลางกรมทรัพยากรธรณี โทรศัพท์ 0 2621 9603 หรือที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล โทรศัพท์ 0 7478 9109 ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556

กรมศิลป์หนุนสร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัลกุรอ่านภาคใต้

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลนั้น ขณะนี้มอบนโยบายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทำโครงการกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความปลื้มปีติให้แก่พสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ และโครงการเกี่ยวกับการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังสามารถจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับบทบาท วธ. ที่กำลังปรับบทบาทจากกระทรวงสังคมเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดสินค้าทางภูมิปัญญาทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ทำให้เกิดรายได้แก่ประชาชน ปลัด วธ. กล่าวว่า นอกจากนี้ วธ.ยังมีการดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น การเก็บรักษาคัมภีร์อัลกุรอ่าน ล่าสุดกรมศิลปากร ของบประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อไปศึกษาดูงานการก่อสร้างและบริหารดูแลพิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่มาเลเซียและสิงคโปร์โดยเฉพาะ เพื่อนำองค์ความรู้มาก่อสร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัลกุรอ่านให้พี่น้องภาคใต้ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา เพราะเกรงว่าสร้างแล้วไม่ตรงกับความต้องการของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ซึ่งโครงการนี้นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยอาจจะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านพิพิธภัณฑ์ คัมภีร์อัลกุรอ่านที่ประเทศอียิปต์มาเป็นแนวทางให้ด้วย   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน วังบัวแดง

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ วังบัวแดง ณ บ้านไผ่สีทอง ต.เวียงคุก อ.เมือง จ.หนองคาย โดยมีนายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรกปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน หลังจากนั้นได้รับมอบเรือกำจัดวัชพืช จากบริษัท ฟินิกส์ จำกัด         ดร.รอยลกล่าวว่า มูลนิธิได้ลงพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2553 พบว่า หนองเบ็น หนองบ่อ หรือที่เรียกปัจจุบันว่า วังบัวแดง มีพื้นที่ประมาณ 4,768 ไร่ เดิมนั้นเคยมีบัว แต่หายไประยะหนึ่งเนื่องจากความสมดุลทางธรรมชาติเปลี่ยนไป ต่อมาในปี 2554 ได้ติดตาม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงการบริหารจัดการน้ำชุมชนในภาคอีสาน      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งอย่างชัดเจนว่า การจัดการน้ำชุมชนประสบผลแล้ว ให้ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ช่วยขยายผลไปยังชุมชนอื่น และให้ดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกัน ให้ปรับวิธีการในแต่ละพื้นที่ ไม่ยึดติดกับทฤษฎีมากจนเกินไป เมื่อได้ดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชาวชุมชนเวียงคุก จนประสบผลสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมามีความอุดมสมบูรณ์ จนเกิดดอกบัวพันธุ์พื้นเมืองสีแดงบานสะพรั่งบนผืนน้ำ มีพันธุ์ปลาพื้นเมืองที่หายากเกิดขึ้น และนกนานาชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยรับสั่งว่าอยากเห็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เป็นศูนย์ศึกษาที่ดีเป็นรูปธรรม ให้วิถีชุมชนเป็นตัวถ่ายทอด ชุมชนสอนชุมชน ชุมชนทำงานร่วมกัน มีการจัดการน้ำที่สมบูรณ์ เพื่อขยายผลสู่ชุมชนอื่น เป็นแหล่งสาธิตอย่างมีระบบในการบริหารจัดการน้ำ         ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็น 1 ใน 63 ชุมชนที่ประสบผลสำเร็จสูง และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ไปยังชุมชนข้างเคียง ทั้ง ต.ปะโค และ ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง และต้องไม่ลืมว่าวังบัวแดงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เป็นอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน         ทั้งนี้ วังบัวแดง บ้านไผ่สีทอง ต.เวียงคุก ช่วงฤดูหนาวจะมีดอกบัวสีแดงบานสะพรั่งชูช่อให้เห็น แม้ว่าขณะนี้ดอกบัวยังไม่เกิดขึ้นมากนัก มีเพียงพื้นที่บางส่วน แต่ชาวบ้านเชื่อว่าประมาณเดือนธันวาคม บริเวณที่กำจัดวัชพืช ผักตบชวาออกไปแล้วจะทำให้กอบัวที่อยู่ใต้ผืนน้ำสามารถผุดขึ้นมาอวดความงามให้ทุกคนได้ชม   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

อาสาสมัครธรรมภาคีทำความสะอาดหนังสือ

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญเชิญชวนเป็นอาสาสมัครธรรมภาคีทำความสะอาดหนังสือในครอบครองของพุทธทาสภิกขุ เพื่อนำหนังสือเข้าสู่ระบบจดหมายเหตุต่อไป วันที่ปฏิบัติงาน : วันพุธที่ 27 และวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2556  สามารถเลือกอาสามาทำได้ทั้ง 2 วันหรือวันใดวันหนึ่งก็ได้  เวลาปฏิบัติงาน 9.30 – 16.30 น.  สถานที่ปฏิบัติงาน : หน้าห้องจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จำนวนที่รับสมัคร 40 คนต่อวัน กรุณาแจ้งความจำนงภายในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556  [ วิธีการสมัคร ] แจ้งชื่อ – นามสกุล อีเมลและโทรศัพท์ที่ติดต่อกลับได้ (เพื่อความสะดวกหากกรณีมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ) วันที่ประสงค์มาช่วยงาน แล้วส่งมาที่ อีเมล annsomaras@gmail.com สมัครแล้วกรุณารออีเมล์ยืนยันกลับด้วยนะคะ [ ลักษณะงาน ] - ทำความสะอาดเอกสาร แกะลวดเย็บกระดาษออก ซ่อมแซมเอกสารที่ชำรุด - จัดทำบัญชีรายการเอกสาร  - จัดระบบเก็บเอกสาร โดยแยกเอกสารที่เกี่ยวเนื่องไว้ด้วยกัน เก็บเข้าแฟ้ม - ตั้งรหัสเอกสาร โดยเขียนลงในแบบฟอร์มเอกสาร พร้อมให้หัวเรื่องเอกสาร - ในการทำงานอาจต้องช่วยหยิบยก เคลื่อนย้าย จัดเก็บสิ่งของอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก [ คุณสมบัติ ] - มีอายุระหว่าง 18 – 55 ปี - รับสมัครทั้งชายและหญิง  - ใจเย็น ละเอียดรอบคอบ มีความสนใจชอบทำงานเกี่ยวกับเอกสาร การจัดเก็บข้อมูล - สนใจในงานพุทธศาสนาและของพุทธทาสภิกขุ - ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคระบบทางเดินหายใจ (มีหน้ากากอนามัยสำหรับใส่ขณะปฏิบัติงาน) [ สถานที่ และ การเดินทาง ] แผนที่ตามลิงค์นี้ http://goo.gl/maps/EzxdT   ข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives

'พระเทพ' ทรงเรียนรู้การทรงงาน จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ

เปิดโอกาสให้นักวิชาการไทยและต่างชาติได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งทอในราชสำนัก รวมทั้งผ้าชาติพันธุ์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเสริมสร้างความรู้เรื่องผ้า ประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย ตลอดจนเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อการพัฒนาผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักแก่นานาประเทศ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ผ้าและฉลองพระองค์ในราชสำนัก” ซึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปทรงเปิดการประชุมดังกล่าว ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาวต่างชาติ จากสาขาต่าง ๆ ในสายงานพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ผ้า เครื่องแต่งกาย และงานอนุรักษ์ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผ้าจากต่างประเทศที่ใช้ในราชสำนักไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พระราชกรณียกิจของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เกี่ยวกับเรื่องผ้า” ทรงบรรยายถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมชาวบ้านให้มีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้นอกเหนือจากการทำการ เกษตร พร้อมทั้งช่วยพัฒนาฝีมือการทอผ้าของชาวบ้าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการทอผ้ามิให้สูญหายไปตามกาลเวลา “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความสนพระทัยด้านผ้าและสิ่งทอมานานและทรงงานด้านนี้มาตลอดเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทย ทรงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความยากไร้หรือประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติคือ การสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นพัฒนาฝีมือและความชำนาญให้เกิดแก่ตัว ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ทำด้วยมือและสามารถบ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญด้านหัตถศิลป์อย่างครบวงจรกำลังถูกท้าทายด้วยผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตขึ้นในจำนวนมากโดยเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักในความสำคัญที่จะต้องปกป้องรักษา ประเพณีดั้งเดิมเหล่านี้ไว้ ซึ่งอาจสูญหายไปได้หากคนรุ่นใหม่ไม่หันมาใส่ใจเรียนรู้ จึงทรงอุทิศเวลาและแรงพระวรกายในการอนุรักษ์ประเพณีเหล่านี้ให้คงอยู่คู่คนไทยต่อไป ทรงอนุรักษ์ลายผ้าและสีสันของผ้าของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ด้วยการทรงเก็บตัวอย่างผ้าเก่า ๆ และทำให้ผ้าเหล่านี้รวมทั้งผ้าโบราณในประวัติศาสตร์และผ้าประจำท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ช่างทอผ้าได้ อ่านต่อ ข้อมูลจาก เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

กรมศิลป์ ขุดพบปืนใหญ่ 8 กระบอก

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่สนามด้านข้างของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งจากการขุดค้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากบริษัท นอร์ทเทิร์นซัน จำกัด ผู้รับจ้างว่า การดำเนินการขุดค้นในพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ได้พบกองปืนที่มีขนาดและลักษณะต่างๆ กัน รวม 8 กระบอก พร้อมลูกกระสุนปืนจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้คณะนักโบราณคดี เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งรายงานกลับมาว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ซึ่งตามหลักฐานตำนานวังหน้า จากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการใช้พื้นที่บริเวณนี้ ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพื้นที่ตรวจแถวทหารประจำวัง และโรงทหาร อีกทั้งยังปรากฏในแผนที่ช่วงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 และแผนที่ช่วงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2461 ว่าเป็นที่ตั้งของอาคารโรงทหาร         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตำแหน่งของการขุดพบ กลุ่มปืนใหญ่ขนาดต่างๆ พร้อมลูกกระสุนปืน นั้น พบว่า อยู่ด้านนอกของส่วนฐานรากอาคาร ที่สันนิษฐานว่าเป็นโรงทหาร มีการวางกองกันไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ มีลักษณะเป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดกระบอกปืนเล็ก บางกระบอกเป็นปืนประเภทปืนหลังช้าง หล่อด้วยสำริด และเหล็ก ขนาดกระบอกยาว ประมาณ 75-100 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลักษณะการยิงใช้ดินปืนเป็นตัวขับเคลื่อนลูกกระสุนปืน (ลูกเหล็กกลม) ใส่ลูกกระสุนปืนจากปากกระบอก แล้วจุดชนวนเพื่อให้ดินปืนขับลูกกระสุนออกไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ปืนใหญ่ดังกล่าวปรากฏมีการใช้ทั้งยุโรป และเอเชีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 และมีการพัฒนาศักยภาพการใช้งานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการซื้อปืนใหญ่จากตะวันตก มาใช้ในการทหารนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์          จึงได้มีการสันนิษฐานว่า ปืนใหญ่ที่ค้นพบ อาจเป็นปืนที่ปลดประจำการแล้ว และไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องถึงสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และเมื่อเปลี่ยนสภาพโรงทหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังทรงโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อปี 2429 อาคารโรงทหารดังกล่าวจึงเป็นส่วนแรกที่ถูกรื้อถอน พร้อมกับส่วนป้อมและกำแพงวัง ขณะที่อาวุธที่ไม่ได้ใช้งานเหล่านี้ จึงถูกนำมากองไว้นอกอาคาร อย่างไรก็ตามภายหลังการตรวจสอบปืนใหญ่ที่พบแล้ว ทางกรมศิลปากร จึงได้นำบางส่วนไปขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ และให้ทางกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการอนุรักษ์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางวิชาการ จากนั้นนำไปเก็บไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจะนำมาจัดแสดงเผยเป็นองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แก่ประชาชนในโอกาสต่อๆ ไป   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 31 ตุลาคม 2556

รู้หรือไม่ 'วิธีลดธงครึ่งเสา' ทำอย่างไร ?

ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานที่ต่างๆ ลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช  โดยพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย ได้แนะนำวิธิการลดธงครึ่งเสาแบบถูกวิธีไม่ใช่ลดธงลงมาครึ่งเสาตามภาษาพูด   พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย โพสต์ข้อความแนะนำวิธิการลดธงครึ่งเสาแบบถูกวิธี ผ่านเฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย หลังมีบริษัทแห่งหนึ่งโทรศัพท์มาสอบถามถึงการลดธงครึ่งเสา โดยมีรายละเอียดดังนี้    เมื่อสักครู่ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง โทรมาปรึกษาเรื่องลดธงครึ่งเสาว่าแล้วธงเครื่องหมายของบริษัทที่อยู่บนเสาข้างๆ เสาธงชาติ จะต้องทำอย่างไร? ตอบ: เมื่อเราชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาหลังจบเพลงชาติแล้ว จากนั้นจึงลดธงชาติลงมาที่ความสูง 1 ใน 3 ของเสา (นับจากยอด) ไม่ใช่ลดธงลงมาที่ตำแหน่งครึ่งเสาอย่างในภาษาพูดนะครับ ... และเมื่อลดแล้ว ธงของบริษัทหรือธงตราสัญลักษณ์สำคัญในวาระต่างๆ ที่ทางราชการประกาศออกมา จะต้องถูกลดตามไปด้วย โดยจะต้องลดลงมาไม่ให้ธงที่เหลือโดยรอบ อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าธงชาติครับ ... ขอย้ำ! เมื่อลดธงชาติลงมา 1 ใน 3 ของความสูงเสาธงแล้ว ... ธงต่างๆ โดยรอบต้องถูกลดลงมาโดยปริยาย โดยจะลดลงอยู่ในตำแหน่งเทียบเท่า หรือหลั่นต่ำกว่าก็ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีประกาศจากทางราชการ แต่เพราะความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า "ห้ามธงอื่นใดในราชอาณาจักรถูกชักสูงกว่าธงชาติไทย" ข้อมูลจาก voicetv.co.th วันที่ 25 ตุลาคม 2556

นักสะสมมอบมอบวัตถุโบราณให้พิพิธภัณฑ์วังหาด

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายเอนก (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี นักสะสมวัตถุโบราณชาวสุโขทัย นำวัตถุโบราณอายุนับพันปี ประกอบด้วย พระพุทธรูปศิลา (หมวดแม่มอก) พระพิมพ์ดินเผาโบราณ แท่นบดยาสมัยทวารวดี หินพิมพ์ลายสำหรับขึ้นลวดลายเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องประดับสัมฤทธิ์ต่างๆ มามอบคืนให้กับนายสิงห์ วุฒิชมภู ประธานวัฒนธรรมตำบลตลิ่งชัน เพื่อนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนวังหาด หมู่ที่ 2 ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ไว้ให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป   นายเอนกกล่าวว่า ได้ติดตามข่าวการลักลอบขุดวัตถุโบราณที่บ้านวังหาดจากสื่อต่างๆ จึงตั้งใจว่าจะส่งมอบวัตถุโบราณที่ตนเก็บสะสมไว้คืนแก่ชุมชนวังหาดเสียที เพราะมีไว้ครอบครองแล้วก็ไม่เคยมีความสุข และก็ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าจะเก็บไว้ในตู้โชว์ที่บ้านเฉยๆ “ของโบราณเหล่านี้ ผมซื้อต่อมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2540 ยืนยันว่าของเก่าแน่นอนจึงซื้อเก็บไว้ แต่ก็มารู้เอาทีหลังว่าของเก่าที่เขาขายให้ผมนั้น เขายึดมาจากชาวบ้านอ้างนำมาตรวจสอบ แล้วมาขายต่อให้ผมอีกที” ทางด้านนายสิงห์ วุฒิชมภู ประธานวัฒนธรรมตำบลตลิ่งชัน กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในการอนุรักษ์พัฒนาแหล่งโบราณวังหาด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่มีใครสนใจ และเขายังบอกว่าขวานหินขัดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่รู้จักบ้านวังหาด และไม่เป็นแหล่งโบราณคดีเพราะไกล ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 25 ตุลาคม 2556  

วธ.พลิกโฉมพิพิธภัณฑ์ชาติ 3 แห่ง นำร่องพัฒนาพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สั่งการให้กรมศิลปากรนำร่องโครงการวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรในปีงบประมาณ 2557 แล้วนั้น ขณะนี้กรมศิลปากรได้จัดทำแผนการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 3 แห่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร นำร่องเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ อีก 41 แห่งรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว โดยปรับโฉมการจัดแสดงใหม่ นำเสนอโบราณวัตถุที่มีการค้นพบใหม่ๆ มาจัดแสดง รวมทั้งมีแนวคิดว่า พิพิธภัณฑ์ต้องมีการจัดแสดงดนตรี การแสดงนาฏศิลป์ต่างๆ ทั้งโขน ลิเก จัดแสดงให้ประชาชนได้ชม เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่สนใจมาพิพิธภัณฑ์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กำลังดำเนินการปรับปรุงห้องจัดแสดงบริเวณพระที่นั่งศิวโมกขพิทาน เนื่องจากจัดแสดงมานานกว่า 30 ปี ให้มีความน่าสนใจ ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเป็นสถานที่เล็กและเป็นสถาปัตยกรรมโบราณ การนำเสนอต้องจัดเป็นแบบผังรวมเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งควบคู่ไปด้วย คือ หมู่พระวิมาน ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไหนที่ยังไม่ได้มีการปรับโฉม ตนได้ให้นโยบายไปว่า ให้ปรับกิจกรรมภายในให้มีความเคลื่อนไหว ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กำลังปรับปรุง ต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปี โดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชรและเชียงใหม่ต้องจัดกิจกรรมกลางแจ้งและนิทรรศการเคลื่อนที่แทน เพื่อให้ความรู้ประชาชนที่มาท่องเที่ยวไปก่อน ทั้งนี้ การปรับโฉมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 3 แห่งและพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวนั้นได้รับงบจากรัฐบาลประมาณ 200 ล้านบาท   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 21 ตุลาคม 2556