'พระเทพ' ทรงเรียนรู้การทรงงาน จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ

เปิดโอกาสให้นักวิชาการไทยและต่างชาติได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งทอในราชสำนัก รวมทั้งผ้าชาติพันธุ์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเสริมสร้างความรู้เรื่องผ้า ประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย ตลอดจนเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อการพัฒนาผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักแก่นานาประเทศ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ผ้าและฉลองพระองค์ในราชสำนัก” ซึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปทรงเปิดการประชุมดังกล่าว ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาวต่างชาติ จากสาขาต่าง ๆ ในสายงานพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ผ้า เครื่องแต่งกาย และงานอนุรักษ์ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผ้าจากต่างประเทศที่ใช้ในราชสำนักไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พระราชกรณียกิจของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เกี่ยวกับเรื่องผ้า” ทรงบรรยายถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมชาวบ้านให้มีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้นอกเหนือจากการทำการ เกษตร พร้อมทั้งช่วยพัฒนาฝีมือการทอผ้าของชาวบ้าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการทอผ้ามิให้สูญหายไปตามกาลเวลา “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความสนพระทัยด้านผ้าและสิ่งทอมานานและทรงงานด้านนี้มาตลอดเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทย ทรงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความยากไร้หรือประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติคือ การสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นพัฒนาฝีมือและความชำนาญให้เกิดแก่ตัว ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ทำด้วยมือและสามารถบ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญด้านหัตถศิลป์อย่างครบวงจรกำลังถูกท้าทายด้วยผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตขึ้นในจำนวนมากโดยเครื่องจักรกล

อย่างไรก็ตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักในความสำคัญที่จะต้องปกป้องรักษา ประเพณีดั้งเดิมเหล่านี้ไว้ ซึ่งอาจสูญหายไปได้หากคนรุ่นใหม่ไม่หันมาใส่ใจเรียนรู้ จึงทรงอุทิศเวลาและแรงพระวรกายในการอนุรักษ์ประเพณีเหล่านี้ให้คงอยู่คู่คนไทยต่อไป ทรงอนุรักษ์ลายผ้าและสีสันของผ้าของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ด้วยการทรงเก็บตัวอย่างผ้าเก่า ๆ และทำให้ผ้าเหล่านี้รวมทั้งผ้าโบราณในประวัติศาสตร์และผ้าประจำท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ช่างทอผ้าได้ อ่านต่อ

ข้อมูลจาก เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

เผยแพร่เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2556