กรมศิลป์ ขุดพบปืนใหญ่ 8 กระบอก

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่สนามด้านข้างของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งจากการขุดค้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากบริษัท นอร์ทเทิร์นซัน จำกัด ผู้รับจ้างว่า การดำเนินการขุดค้นในพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ได้พบกองปืนที่มีขนาดและลักษณะต่างๆ กัน รวม 8 กระบอก พร้อมลูกกระสุนปืนจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้คณะนักโบราณคดี เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งรายงานกลับมาว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ซึ่งตามหลักฐานตำนานวังหน้า จากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการใช้พื้นที่บริเวณนี้ ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพื้นที่ตรวจแถวทหารประจำวัง และโรงทหาร อีกทั้งยังปรากฏในแผนที่ช่วงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 และแผนที่ช่วงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2461 ว่าเป็นที่ตั้งของอาคารโรงทหาร
       
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตำแหน่งของการขุดพบ กลุ่มปืนใหญ่ขนาดต่างๆ พร้อมลูกกระสุนปืน นั้น พบว่า อยู่ด้านนอกของส่วนฐานรากอาคาร ที่สันนิษฐานว่าเป็นโรงทหาร มีการวางกองกันไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ มีลักษณะเป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดกระบอกปืนเล็ก บางกระบอกเป็นปืนประเภทปืนหลังช้าง หล่อด้วยสำริด และเหล็ก ขนาดกระบอกยาว ประมาณ 75-100 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลักษณะการยิงใช้ดินปืนเป็นตัวขับเคลื่อนลูกกระสุนปืน (ลูกเหล็กกลม) ใส่ลูกกระสุนปืนจากปากกระบอก แล้วจุดชนวนเพื่อให้ดินปืนขับลูกกระสุนออกไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ปืนใหญ่ดังกล่าวปรากฏมีการใช้ทั้งยุโรป และเอเชีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 และมีการพัฒนาศักยภาพการใช้งานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการซื้อปืนใหญ่จากตะวันตก มาใช้ในการทหารนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ 
       
จึงได้มีการสันนิษฐานว่า ปืนใหญ่ที่ค้นพบ อาจเป็นปืนที่ปลดประจำการแล้ว และไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องถึงสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และเมื่อเปลี่ยนสภาพโรงทหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังทรงโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อปี 2429 อาคารโรงทหารดังกล่าวจึงเป็นส่วนแรกที่ถูกรื้อถอน พร้อมกับส่วนป้อมและกำแพงวัง ขณะที่อาวุธที่ไม่ได้ใช้งานเหล่านี้ จึงถูกนำมากองไว้นอกอาคาร อย่างไรก็ตามภายหลังการตรวจสอบปืนใหญ่ที่พบแล้ว ทางกรมศิลปากร จึงได้นำบางส่วนไปขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ และให้ทางกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการอนุรักษ์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางวิชาการ จากนั้นนำไปเก็บไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจะนำมาจัดแสดงเผยเป็นองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แก่ประชาชนในโอกาสต่อๆ ไป
 
ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 31 ตุลาคม 2556

เผยแพร่เมื่อ: 31 ตุลาคม 2556