ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน 2557

ขอเชิญเที่ยวงาน เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน โพธาราม ราชบุรี  วันที่ 13 – 14 เมษายน 2557 ภายในงานท่านจะได้พบกับการแสดงสาธิตงานศิลปะช่างสิบหมู่  การแสดงสี่ภาค  อาทิ หนังใหญ่วัดขนอน, โขนล้านนา, หุ่นละครเล็ก, หุ่นคน, ลิเกฮูลู ฯลฯ และอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้านไทยมอญ  อาทิ ข้าวแช่ การกวนกาละแม เป็นต้น  ในบรรยากาศย้อนยุคสัมผัสวิถีชีวิตไทยโบราณ  ด้วยไฮไลท์ “การเผากะลาเล่นไฟ – หนังใหญ่ โบราณ”   นอกจากนี้  ยังมี  “ครูมืด – ประสาท ทองอร่าม”   มาร่วมโชว์ขับเสภาตลก  ตอน พายบัวจับผี  ณ  บริเวณลานแสดงหนังใหญ่  การประกวดกลองยาวระดับชุมชน  โดยสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่ เวลา 15.00 น. – 21.00 น. ณ ลานกลางแจ้งวัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี   เข้าชมฟรี! เพื่อเป็นกำลังใจส่งเสริมและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมไทย   ข้อมูลจาก http://www.wikalenda.com

กรมศิลป์รับมอบคัมภีร์อัล-กุรอาน มาซ่อมแซม

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนางสุรีรัตน์ วงศ์เสงี่ยม รองธิบดีกรมศิลปากร รับมอบคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณอายุ 260 ปี จากนายมาหะมะลุตฟี หะยีสาแม ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยนายเอนก กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมอบหมายให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ของกรมศิลปากรดำเนินการซ่อมแซมคัมภีร์ เนื่องจากพบว่าคัมภีร์ดังกล่าวมีความชื้น ตัวอักษรที่เขียนด้วยลายมือเริ่มเลือนลาง และหลังจากซ่อมแซมแล้วเสร็จก็จะนำมาจัดแสดงยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษา         นายเอนก กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัล-กุรอาน เพื่อจัดเก็บรวบรวมคัมภีร์อัล-กุรอาน เอกสารโบราณและจัดแสดงองค์ความรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานทางวิชาการชาวมุสลิม เบื้องต้นจากการหารือจะตั้งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวที่ โรงเรียนสมานมิตรวิทยา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 คาดว่าจะใช้เวลาจัดสร้างทั้งหมด 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2559 ใช้งบประมาณจัดสร้างทั้งหมด 142 ล้านบาท โดยขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบระมาณมาให้แล้ว 2.5 ล้านบาท         นายมาหะมะลุตฟี กล่าวว่า สำหรับคัมภีร์ที่นำมามอบให้เป็นคัมภีร์ที่เขียนด้วยลายมือ เมื่อปี 2297 หรือประมาณ 260 ปี ตัวคัมภีร์ล้อมด้วยกรอบทองคำเปลว ใช้สีดำ เขียว แดง หนาประมาณ 300 หน้า เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นบิดาของตน คาดว่ามีชาวบ้านในพื้นที่แหลมมลายูนำมามอบให้ ทั้งนี้ การนำคัมภีร์ดังกล่าวมามอบให้กรมศิลป์เพราะต้องการให้กรมศิลป์ได้เก็บรักษาอย่างถูกวิธี และให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ "ที่ ร.ร.สมานมิตรวิทยายังมีคัมภีร์อัล-กุรอาน และคัมภีร์โบราณที่ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้นำมามอบให้กว่า 70 เล่ม คัมภีร์บางเล่มมีอายุกว่า 1,200 ปี นอกจากนี้ที่ผ่านมาตนได้นำคัมภีร์บางส่วนที่ชำรุดส่งไปซ่อมแซมที่ตุรกี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากพิพิธภัณฑ์ซึ่งกรมศิลปากรจัดสร้างเสร็จตนก็จะรวบรวบคัมภีร์และเอกสารทั้งหมดไปจัดเก็บและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว” นายมาหะมะลุตฟี กล่าว    ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 มีนาคม 2557

พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก เชิญสักการะพระพุทธรูปโบราณ

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จำนวน 9 องค์ มาจัดแสดงนิทรรศการ “พุทธประติมา : สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ ความศรัทธา ในสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไท” โดยจะเปิดให้ประชาชนสักการะที่บริเวณโถงกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 เมษายน 2557 เวลา 09.00-16.00 น. ส่วนความเชื่อในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 องค์นี้ มีความหลากหลาย ทั้งทางด้านโชคลาภ ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้พ้นทุกข์พ้นภัย ที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สักการะ และขอความร่วมมือประชาชนโปรดนำดอกไม้มาสักการะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น งดการจุดธูปเทียนและการถวายอาหารคาวหวานต่างๆ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุ ที่สำคัญจะต้องให้ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ด้วย สำหรับรายชื่อพระพุทธรูปที่นำมาจัดแสดงนั้น ประกอบด้วย   1.พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน ศิลปะพื้นถิ่นไทลาว ไม้ลงรักปิดทอง (พุทธศตวรรษที่ 23) 2.พระพุทธรูปประทับยืน ปางห้ามสมุทร ศิลปะพื้นถิ่น ไม้ปิดทอง (พุทธศตวรรษที่ 25) 3. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ศิลปะพื้นถิ่น ไม้ปิดทอง (พุทธศตวรรษที่ 24-25) 4.พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ ไม้ปิดทอง (พุทธศตวรรษที่ 25) 5.พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ ไม้ปิดทอง (พุทธศตวรรษที่ 24-25) 6.พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา (ไม้) 7.พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก (พุทธศตวรรษที่ 24-25) 8.พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ศิลปะพม่า ไม้ปิดทองประดับกระจก หินอ่อน (พุทธศตวรรษที่ 23) 9.พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ศิลปะพม่า ไม้ปิดทองประดับกระจก หินอ่อน (พุทธศตวรรษที่ 23)   ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จ.ปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2902-7833, 0-2902-7569   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 19 มีนาคม 2557

"อี-มิวเซียม" จับพิพิธภัณฑ์ลงโลกเสมือน

นอกจากพิพิธภัณฑ์จะเปิดบริการให้ผู้เยี่ยมชมเข้าไปตักตวงความรู้กันถึงที่แล้ว การเก็บคลังความรู้ไว้ในรูปแบบดิจิทัลก็เป็นอีกช่องทางให้ผู้สนใจได้สำรวจข้อมูลก่อนมาเยี่ยมชมของจริง         "อี-มิวเซียม" (e-Museum) พิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยสารสนเทศสื่อประสม (DMI) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นอีกตัวช่วยสำหรับพิพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการเก็บความรู้ไว้ในรูปแบบดิจิทัล         วัชชิรา บูรณสิงห์ ผู้ช่วยนักวิจัยจาก DMI และผู้พัฒนาพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว อธิบายถึงโปรแกรมดังกล่าวว่า ช่วยพิพิธภัณฑ์เก็บข้อมูลและแปลงให้อยู่ในรูปดิจิทัล โดยเวอร์ชันล่าสุดได้เพิ่มเติมส่วนแสดงวัตถุที่สามารถเลื่อนชมได้ 360 องศา ซึ่งเป็นภาพชิ้นงานได้จากการบันทึกภาพนิ่ง นอกจากนี้ยังมีชุด Theme ใช้เลือกในการปรับแต่งพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับจัดแสดงผ่านเว็บไซต์         "ตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ e-Museum คือพิพิธภัณฑ์วัดมกุฏกษัตริยารม หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) และวัดทรายมูล จ.เชียงใหม่ ซึ่งสองแห่งแรกใช้เวอร์ชันเก่า ส่วนวัดทรายมูลใช้เวอร์ชันใหม่" วัชชิรากล่าว         สำหรับผลงานพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ ได้ร่วมจัดแสดงภายในงานประชุมประจำปี สวทช.ภาคเหนือ 2557 เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง สวทช.ภาคเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 มีนาคม 2557

ชาวนาเกลือ อ.บ้านแหลม เชิญเที่ยวงาน Art Of Salt #2

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ร่วมมือกับพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เครือข่าย Biz Club จังหวัดเพชรบุรี เครือข่ายโอทอป จังหวัดเพชรบุรี สหกรณ์เกษตรชาวนาเกลือบ้านแหลม จำกัด และกลุ่มเกษตรทำนาเกลือบ้านแหลม ขอเชิญเที่ยวงานถนนสายเกลือ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แหล่งผลิตเกลือสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในงาน Art Of Salt #2 วันที่ 14-16 มีนาคม เวลา 10.00-21.00 น. บริเวณกม.41 ถนนทางหลวงชนบท สส.2021 ตรงข้ามปั๊ม ปตท.บางแก้ว อ.บ้านแหลม         ทั้งนี้ งาน Art of Salt จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมการเรียนรู้จากการเดินทางท่องเที่ยวเส้นทางเกลือ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางคลองโคน-บางตะบูน-บ้านแหลม-หาดเจ้าสำราญ-ชะอำ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ชมพิพิธภัณฑ์เกลือพื้นบ้าน เรียนรู้การทำเกลือจืด จำหน่ายอาหารทะเลแห้ง และขนมหวานจากชาวบ้านแหลม ชมประติมากรรมเกลือรูปนกริมฝั่งอ่าวไทย         นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมผ่อนคลายกับเกลือสปา กิจกรรม DIY ตกแต่งเกลือสีในภาชนะ ชมนาเกลือจำลอง ทดลองขับรถบดนาเกลือ และอิ่มอร่อยกับของฝากตลาดอิ่มสุขในรูปแบบหมู่บ้านชาวประมง อาหารพื้นถิ่น เช่น หอยเสียบคั่วราดน้ำตาลโตนด ขนมจีนทอดมันผักชะคราม หอยทอดบ้านแหลม ปูดุ๊กดิ๊ก เป็นต้น         สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวงาน Art of Salt #2 ถนนเกลือบ้านแหลม เพชรบุรี ใช้เส้นทางพระราม 2-สมุทรสงคราม กม.72 เลี้ยวซ้ายเข้าคลองโคน ใช้เส้นทางคลองโคลน-บางตะบูน-บ้านแหลม         จากถนนเพชรเกษม ใช้เส้นทาง อ.เมืองเพชรบุรี-หาดเจ้าสำราญ เลี้ยวซ้ายเข้าถนน สส.2021 หาดเจ้าสำราญ-บ้านแหลม         จากหัวหิน-ชะอำ ใช้เส้นทางชะอำ-โรงพยาบาลชะอำ-หนองตาพด เข้าสู่ภถนน สส.2021 ปึกเตียน-หาดเจ้าสำราญ-บ้านแหลม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานเพชรบุรี โทร.0-3247-1005-6   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 มีนาคม 2557

กรมศิลป์เปิดพิพิธภัณฑ์ให้สักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ต้น มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากกรณีประชาชนทราบว่าพระพุทธรูปไม้ศิลปะพม่าอายุกว่า 200 ปี ถ้าเข้าไปขอพรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี จะสมหวังได้รับโชคและมีการบอกต่อกันปากต่อปาก รวมถึงมีการโทรศัพท์มาสอบถามยังกรมศิลปากร เพื่อขอเข้าสักการะพระพุทธรูปดังกล่าวนั้น ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าจะนำโบราณวัตถุที่เก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษกที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางพุทธศิลป์ในแต่ละยุคสมัย ทั้งศิลปะสุโขทัย ลพบุรี อยุธยา และมีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านต่างๆ มาจัดแสดงและเปิดให้ประชาชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว นายเอนกกล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนจะได้ศึกษาอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของพุทธศิลป์ในยุคต่างๆ โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษกจัดเตรียมพื้นที่แสดงบริเวณห้องโถง คาดว่าเปิดให้สักการะได้ช่วงต้นมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือผู้เข้าไปสักการะห้ามสัมผัส ปิดทองหรือนำสิ่งของมาบนบานสานกล่าว อนุญาตให้นำเพียงพวงมาลัยมาสักการะเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณวัตถุ ขณะเดียวกันจัดระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น "การเปิดให้ประชาชนสักการะโบราณวัตถุมรดกอันล้ำค่านั้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในเทศกาลต่างๆ ทั้งปีใหม่ สงกรานต์หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษกครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังทำให้ประชาชนคนเกิดความงมงาย คิดว่าเมื่อเข้าไปขอพระแล้วจะได้รับโชคลาภตามที่มุ่งหมายทุกประการ แต่ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คนไทยจำนวนมากต้องการที่พึ่งและเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อันเนื่องมาจากเหตุหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ ทั้งจากเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งที่ไม่เป็นมงคลเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ดังนั้น คิดว่าการชักชวนคนมาไหว้พระเป็นเรื่องที่ดีเป็นมงคลและทำให้คนไทยสบายใจ" นายเอนกกล่าว   ข้อมูลจาก มติชนอนนไลน์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557

อารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน จัดนิทรรศการ “ไทพวน”

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญทุกท่านสัมผัสเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านแพรพรรณ ในนิทรรศการ “ไทพวน” ทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. ที่พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร   ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “นิทรรศการ ‘ไทพวน’ เป็นการจัดแสดงผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวนในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัย เช่น ผ้าห่มหัวเก็บ ผ้าจก ผ้าซิ่นมุก ผ้าซิ่นตา โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นมาไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ เกี่ยวกับความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณี อาทิ งานทำบุญ พิธีการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผ้าจกที่ขึ้นชื่อในความประณีต งดงาม เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทพวน ที่ ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย คือ ผ้าจกเก้าลาย ด้วยรายละเอียดในการออกแบบโครงสร้างและลวดลายอันแฝงไว้ด้วยวิถีของกลุ่มชน”   สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ 055-961-218 และ 055-961-207   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557

ไฟไหม้ศาลาปฏิบัติธรรม-พิพิธภัณฑ์เก่าวอดกว่า50ล.

วันที่ 13 ก.พ.57   เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งเมื่อเวลา เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 12 ก.พ.57 มีเหตุเพลิงไหม้ภายในวัดหนองปรือ หมู่ 1 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จึงประสานหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองหนองปรือ ไปยังที่เกิดเหตุ พบเพลิงกำลังโหมลุกไหม้บริเวณศาลาชั้นเดียวซึ่งใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และกำลังลุกลามไปยังโซนที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของเก่าล้ำค่ากับร้านจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของสวนจิตรลดา ขณะที่ชาวบ้านกำลังช่วยกันดับไฟ   ต่อมารถดับเพลิงจากเมืองพัทยา และเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย และพื้นที่ใกล้เคียง นำรถดับเพลิงทั้งหมดจำนวน 10 คัน ระดมฉีดน้ำสกัดทุกทิศทางอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในวงจำกัด จากการตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินภายในศาลาถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด รวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นของของเก่าล้ำค่า เช่นไม้สักเพดานแกะสลัก ภาพเก่าแก่ สิ่งของโบราณอีกมากมาย   สอบสวน น.ส.สุนิสา ทะมา พยานกล่าวว่า ขณะที่กำลังนอนเฝ้าสถานีจัดวิทยุชุมชน ซึ่งติดกับศาลาเกิดเหตุ จากนั้นได้ยินเสียงดัง ออกมาดูพบว่าไฟกำลังลุกไหม้ขึ้นบริเวณสายไฟฟ้าหลังศาลา จากนั้นไฟได้ลุกลามไปติดพรมปูพื้นอย่างรวดเร็วจนยากจะควบคุม ถึงแม้พระ-เณรและชาวบ้านใกล้เคียงจะช่วยกันระดมดับไฟแต่ก็ไม่เป็นผล จนต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ   เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร อย่างไรก็ตาม คงต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน 2 (ชลบุรี) มาตรวจที่เกิดเหตุอีกครั้งเพื่อสรุปสาเหตุที่แท้จริงต่อไป   ข้อมูลจาก คมชัดลึก วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557

เตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์ลูกปัดโบราณอันดามัน

เมื่อวันที่  4 ก.พ. รูปจำลองลูกปัดโบราณจำนวนหลายสิบชิ้น เช่น ลูกปัดแก้ว  ลูกปัดโมเสก  ลูกปัดแก้วลายแถบ ถูกนำมาติดตั้งที่ภายในบริเวณโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เรียนรู้วัฒนาธรรมอันดามัน ถนนมหาราช ติดกับโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ เขตเทศบาลเมืองกระบี่  ที่เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวชมกลางปีนี้  เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามันในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังๆ ได้ศึกษา เรียนรู้สิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอันดามัน ภายหลังจากที่จังหวัดกระบี่ ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดอันดามันให้ดำเนินการโครงการพัฒนาศิลปวัตถุกลุ่มจังหวัด (ลูกปัดโบราณ) จำนวน 30 ล้านบาท โดยทางเทศบาลเมืองกระบี่เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 และในปีงบประมาณ 2555ได้รับงบประมาณต่อเนื่องอีก 35 ล้านบาท สำหรับตกแต่งอาคาร 3 หลังและจัดซื้อครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง   นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ เปิดแผยว่าโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้วัฒนาธรรมอันดามันเป็นโครงการของกลุ่มจังหวัดอันดามัน ก่อสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามันในเชิงประวัติศาสตร์สืบเนื่องพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันนั้นเคยเป็นศูนย์กลางและประตูเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก  โดยมีร่องรอยของการเดินทางเท้าของนักเดินเรือพ่อค้า และนักแสวงโชค จากประเทศต่างๆ เช่น อาหรับ อินเดีย กรีก โรมัน เป็นต้นโดยใช้เส้นทางสายไหมอาศัยเส้นทางลำน้ำเป็นสำคัญตลอดแหลมมลาย ที่กระบี่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับฝั่งตะวันออกได้หลายทาง  และมีกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับการผลิตลูกปัดแก้วหลอม  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกค้นพบในกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน เช่น ที่ระนอง พังงา  ชุมพร  สุราษฎร์  ส่วนจังหวัดกระบี่จะพบมากที่สุดอำเภอคลองท่อม  ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ“ ลูกปัดโบราณ ”ซึ่งมีอายุประมาณ 2,000 ปี – 3,000 ปี เช่น ลูกปัดสุริยะเทพ  เป็นต้น   คาดว่าอาคารทั้งสามหลังจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2557 นี้ ซึ่งอาคารทั้ง 3 หลัง  ตั้งอยู่ที่ถนนมหาราช ติดกับโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำของเทศบาลเมืองกระบี่ นอกจากจะดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วยังได้จัดการฝึกอบรมช่างทำลูกปัดจำนวน 32คน ให้มีความรู้และทักษะในการผลิตลูกปัด โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมการผลิตลูกปัดที่สามารถประกอบอาชีพและมีรายได้จากการผลิตลูกปัดซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากและจะได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนนายกีรติศักดิ์  กล่าว ข้อมูลจาก เดลินิวส์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557  

เปิดการแสดงรูปหุ่นขี้ผึ้ง “พระพุทธเจ้าปางปฐมเทศนา พร้อมปัญจวัคคีย์ทั้ง 5”

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ และ ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเปิดแสดงรูปหุ่นขี้ผึ้ง “พระพุทธเจ้าปางปฐมเทศนา พร้อมปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5” ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม         โดยมี นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับ ซึ่งพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย เป็นสถาบันทางศิลปะที่เกิดจากแรงบันดาลใจของผู้สร้างสรรค์กลุ่มหนึ่ง นำโดยอาจารย์ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม เผยแพร่ และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปะ-วัฒนธรรม ประเพณีไทย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของเยาวชน และผู้สนใจทั่วไปได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2532         ในการก้าวสู่ปีที่ 25 ได้จัดสร้างรูปหุ่นขี้ผึ้ง “พระพุทธเจ้าปางปฐมเทศนา พร้อมปัญจวัคคีย์ทั้ง 5” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวด้านจิตใจให้แก่พุทธศาสนิกชน และระลึกถึงองค์พระศาสดา ผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ญาณชนิดตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม         โดยภายในงานมีการปรับภูมิทัศน์ให้พักผ่อนหย่อนใจอย่างสวยงาม และเชิญชมการสาธิตงานภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ได้เปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชม “พระพุทธเจ้าปางปฐมเทศนา พร้อมปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5” ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557