พิพิธภัณฑ์และอุทยานแมลง 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


พิพิธภัณฑ์และอุทยานแมลง ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน การจัดแสดงของที่นี่ใช้รูปแบบนิทรรศการ ออกแบบหัวข้อและเนื้อหาให้เข้าใจง่าย โดยดึงสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนที่สัมพันธ์กับมนุษย์ทั้งประโยชน์และโทษ รวมถึงความสัมพันธ์ของแมลงกับธรรมชาติมาเสนอ เ แบ่งการแสดงเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ภายในห้องพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงตัวอย่างแมลงหลากหลายชนิด ทั้งกลุ่มผีเสื้อ ด้วง แมลงทับ แมลงปอ ฯลฯ รวมทั้งจัดแสดงความแตกต่างระหว่างแมลงและสัตว์จำพวกอาร์โทรพอดหรือสัตว์ขาข้ออื่น ๆ แมลงที่เป็นสัตว์คุ้มครอง และแมลงหายากในประเทศไทย ส่วนที่ 2 ภายในอุทยานแมลง การจัดแสดงเน้นการศึกษาทางนิเวศวิทยาและวงจรชีวิตของแมลงที่มีชีวิตจำพวก ผีเสื้อ ต้นไม้ และไม้ดอกที่เป็นพืชอาหารของแมลง

ที่อยู่:
อาคารวิจัยกีฏวิทยา ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
0-2942-8350
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 9.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
agrchk@ku.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์แมลงชีววิทยาของเจ้าตัวจ้อย

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 9/26/2548

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์แมลง

ชื่อผู้แต่ง: ปณิธาน ผลานิสงค์ | ปีที่พิมพ์: 2546

ที่มา: สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์แมลง

ชื่อผู้แต่ง: โอภาส วันชนะ | ปีที่พิมพ์: 2535

ที่มา: สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์และอุทยานแมลง 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทำไมวัยรุ่นต้องใส่กางเกงเอวต่ำ ชุดลายพรางเลียนแบบทหาร เจาะหู เจาะสะดือ หรือสักลายตามเนื้อตัว คำตอบที่ได้คงจะการเป็นแต่งกายเลียนแบบดาราหรือนักร้องที่ตนชื่นชอบ บางคนก็คงแสดงความร่วมสมัยเพื่อให้เข้ากับสังคมวัยเดียวกัน การเลียนแบบยังดำเนินต่อไปแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ยังแต่งตัวให้เหมาะสมกลมกลืนกับหน้าที่การงาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ผู้หญิงจะใส่คอกระเช้าไปทำงานธนาคารหรือผู้ชายจะนุ่งขาสั้นไปขายรถยนต์ก็คงไม่เหมาะ พฤติกรรมเลียนแบบเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น สัตว์ตัวจิ๋ว เพื่อนร่วมโลกของเราอย่างแมลงก็มีการเลียนแบบเช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลที่จริงจังกว่ามาก

แมลงหลายชนิดเป็นสุดยอดนักเลียนแบบ ผีเสื้อกลางคืนบางชนิดมีสีสันและลวดลายคล้ายกับเปลือกไม้ ตั๊กแตนใบไม้มีทั้งสีเขียวและสีน้ำตาลตามสีใบไม้ที่มีทั้งเขียวสดและใบไม้แห้ง แม้แต่ลายเส้นบนปีกก็มีเหมือนกับเส้นใบไม้ ส่วนตั๊กแตนกิ่งไม้ลำตัวเป็นแท่งตรง มีสีน้ำตาลอ่อนแก่ เมื่อเกาะกิ่งไม้แทบจะแยกไม่ออกว่ามีแมลงเกาะอยู่ ที่แปลกยิ่งขึ้นไปอีกคือการลอกเลียนแบบแมลงด้วยกัน ด้วงหนวดยาวซึ่งเป็นแมลงที่ไม่มีพิษภัยป้องกันตัวโดยการเลียนแบบรูปร่างหน้าตาให้คล้ายกับตัวต่อแมงมุมที่มีพิษ สามารถทำร้ายสัตว์ที่คิดจะกินมันได้ ความคล้ายกันอาจทำให้ผู้ล่าเข้าใจผิด ไม่กล้ากินเพราะกลัวโดนต่อย อาจช่วยรักษาชีวิตด้วงหนวดยาวไว้ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักข้อหนึ่งในการเลียนแบบของแมลง

เหล่าแมลงที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นตัวอย่างของแมลงหลากหลายชนิดที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์และอุทยานแมลง ๖๐ ปี มก. ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่อาคารวิจัยกีฏวิทยาใกล้กับประตูวิภาวดี การจัดแสดงของที่นี่ใช้รูปแบบนิทรรศการ ออกแบบหัวข้อและเนื้อหาให้เข้าใจง่าย โดยดึงสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนที่สัมพันธ์กับมนุษย์ทั้งประโยชน์และโทษ รวมถึงความสัมพันธ์ของแมลงกับธรรมชาติมาเสนอ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะกับเยาวชนในการทำความรู้จักและศึกษาชีวิตของแมลง

แมลงและแมงต่างกันอย่างไร เด็กๆบางคนอาจเข้าใจสับสนอยู่บ้าง ภาพเปรียบเทียบแมลงและแมงบนบอร์ดนิทรรศการช่วยให้ความรู้และสังเกตลักษณะที่แตกต่างกัน ประกอบกับมีตัวอย่างจริงของแมลงและแมงให้ดูด้วย แม้ว่าแมลงจะมีช่วงชีวิตสั้น แต่รูปร่างของในแต่ละระยะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก งานของนิสิตแสดงวงจรชีวิตของแมลงบางชนิด ตั้งแต่ระยะที่เป็นไข่ เป็นตัวอ่อน เป็นดักแด้ จนโตเต็มวัย

จากการสัมภาษณ์ ดร. อภิชัย ดาวรายได้กล่าวถึงประโยชน์ของแมลงที่มีหลายด้าน แมลงหลายชนิดกินได้ และมีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงตับเต่า แมลงกินูน ตัวอ่อนของแมลงปอ และหนอนเยื่อไผ่หรือที่รู้จักกันในชื่อรถด่วน เป็นต้น แมลงยังเป็นสัตว์ที่มีทั้งประโยชน์และโทษต่อเกษตรกร แมลงที่หากินกับดอกไม้ช่วยผสมเกสร เช่น ผึ้ง ต่อ แตน และด้วงบางชนิด ในขณะเดียวกันแมลงบางชนิดก็เป็นศัตรูตัวร้าย สร้างปัญหาแก่เกษตรกร เช่น เจาะลำต้น ทำให้ยอดแคระแกร็น ทำให้ผลเน่า กลีบดอกไม้มีรอยกัด แมลงเหล่านี้ได้แก่ เพลี้ย มวน เต่าทองลายจุด ด้วงไฟ ผีเสื้อหนอนชมพู่ เป็นต้น

แมลงบางชนิดมีพิษอาจทำให้มนุษย์ถึงตายได้ เช่นต่อหัวเสือ ถ้าไปยุ่งกับรังของมันก็อาจโดนรุมต่อยเคยเป็นข่าวมาแล้ว หรือด้วงน้ำมันที่มีสารพิษ มีคนเข้าใจผิดว่ากินได้ แต่ถ้ากินเข้าไปมากก็ตายได้เช่นกัน ส่วนแมลงบางชนิดที่อยู่ใกล้ตัวเราอาจทำให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรค เช่น แมลงสาบ เห็บ เหาและ หมัด

ที่นี่มีส่วนจัดแสดงการจำแนกแมลงแบบนักวิทยาศาสตร์ให้ดูด้วย ซึ่งใช้ลักษณะโครงสร้างร่างกายของแมลงเป็นหลักเพื่อศึกษาวิวัฒนาการ ตัวอย่างแมลงแต่ละกลุ่มเรียกว่าเรียกว่าอันดับ(ORDER) ถูกจัดไว้ในช่องสี่เหลี่ยมแต่ละช่อง เช่น กลุ่มผีเสื้ออยู่ใน ORDER LEPIDOPTERA กลุ่มแมลงปออยู่ใน ORDER ODONATA กลุ่มตั๊กแตนอยู่ใน ORDER ORTHOPTERA เป็นต้น

แมลงหลายชนิดมีความสามารถที่มนุษย์ต้องอิจฉา เช่น จิงโจ้น้ำมีวิทยายุทธเดินบนน้ำได้ ส่วนแมลงดาอยู่ใต้น้ำได้โดยหายใจผ่านท่ออากาศบริเวณปลายหางที่โผล่เหนือผิวน้ำ

ผีเสื้อและด้วงเป็นแมลงยอดนิยมของนักสะสมเพราะมีสีสันสวยงามหรือมีรูปร่างแปลก ผีเสื้อแบ่งแบบง่ายๆเป็นสองประเภท ผีเสื้อที่หากินกลางวันมักมีปีกใหญ่กว่าผีเสื้อที่หากินกลางคืน(หรือที่เรียกว่ามอส) แม้ว่าในปัจจุบันจะมีธุรกิจฟาร์มผีเสื้อ แต่การจับผีเสื้อและแมลงอื่นเพื่อนำไปขายในตลาดต่างประเทศก็ยังมี เพราะผู้ขายได้ราคาสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องมีกฎหมายคุ้มครองแมลงหายากและใกล้สูญพันธุ์(พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.๒๕๓๕) ซึ่งห้ามจับ ซื้อขายและมีไว้ในครอบครองแมลง๑๕ชนิด สาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งคือพื้นที่ป่าลดลงเนื่องจากการลักลอบตัดไม้และการขยายตัวของชุมชนมนุษย์ ทำให้ต้นไม้ที่แมลงใช้อาศัยเป็นแหล่งอาหารลดลง ผนังด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์จึงอุทิศให้แมลงที่กำลังตกอยู่ในอันตราย รวมถึงแมลงที่ยังพอมีอยู่แต่เสี่ยงต่อการถูกล่า โดมใสขนาดพอดีตัวแมลงครอบแมลงแต่ละชนิดไว้ภายใน มีชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะเด่น และแหล่งที่พบอยู่ด้านล่าง เช่น ด้วงกว่างดาว ด้วงคีมยีราฟ ผีเสื้อค้างคาว ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อนางพญาสยาม ผีเสื้อภูฏานหรือสมิงเชียงดาว ฯลฯ ผีเสื้อชนิดหลังนี้ไม่พบในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ผีเสื้อที่ได้รับความคุ้มครองบางชนิด เช่นผีเสื้อกลางคืนหางยาวยังมีขายอยู่ทางภาคเหนือ

ส่วนการจัดแสดงภายนอกหรืออุทยานแมลงเป็นโครงการที่รองบประมาณอยู่ ส่วนนี้มีโดมแมลง ซึ่งจะเลี้ยงแมลงให้ใช้ชีวิตอยู่ภายใน มีการปลูกต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของแมลงไว้ ผู้มาชมจะได้เห็นวงจรชีวิตของแมลงที่มีหลายขั้นตอน ปัญหาคือจะต้องมีผู้ดูแลเลี้ยงดูตลอด เพราะต้องเลี้ยงตั้งแต่เป็นหนอนหรือตัวอ่อน และแมลงมีวงจรชีวิตสั้น นอกจากนั้นมีห้องจัดแสดงอีกห้องที่เตรียมไว้เพื่อเลี้ยงแมลงที่อยู่เป็นสังคมในตู้กระจก หรืออาจทำเป็นห้องฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับแมลง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล มักมากันเป็นหมู่คณะกับทางโรงเรียน โดยการนัดหมายล่วงหน้าทางภาควิชากีฏวิทยาจะจัดผู้นำชมให้ มีชาวต่างชาติเข้ามาชมบ้าง ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยเพราะมีตัวอย่างแมลงเก็บสะสมไว้เพื่อการศึกษาพอสมควร แต่สถานที่หลักที่ใช้เก็บตัวอย่างอยู่ที่ตึกจรัดสุนทรสิงห์ ซึ่งมีการจัดเก็บตัวอย่างแมลงตามลักษณะอนุกรมวิธานเพื่อใช้ในการวิจัยและการเรียนการสอนในคณะ แต่สามารถติดต่อขอเข้าไปศึกษาได้เช่นกัน

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

สำรวจ : 12 กุมภาพันธ์ 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-