ที่อยู่:
โรงเรียนวัดบ้านธิ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
โทรศัพท์:
086-9171245 (ผู้ใหญ่บ้าน ราตรี สายวังจิตต์)
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เรือนไทลื้อจำลอง, เครื่องแต่งกาย, ครัวไฟ, นิทรรศการถ่ายทอดครูภูมิปัญญาต่าง ๆ ของชุมชน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์ไทลื้อ บ้านธิ
พิพิธภัณฑ์ไทลื้อ บ้านธิ ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดบ้านธิ เป็นอาคารบ้านไทลื้อจำลองที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือศูนย์กลางของการสืบสานประเพณีไทลื้อ และสถานที่ทำการชมรมไทลื้อจังหวัดลำพูน อย่างไรก็ดีประวัติความเป็นมาของงานสืบสานประเพณีและพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะงานสืบสานประเพณีไทลื้อบ้านธินั้น เกิดขึ้นจากงานชมรมศิษย์เก่าและผู้ปกครองโรงเรียนวัดบ้านธิ ย้อนไปเมื่อกว่าสี่สิบปีที่ผ่านไป งานสำคัญ ๆ ที่รวบรวมผู้คนจากบ้านธิคือความเป็นคนไทลื้อที่จบจากสถานศึกษาแห่งเดียวกัน และในหนึ่งรอบปีจะมีการจัดงานประเพณีลอยกระทง แม่ราตรี สายวังจิตต์ ผู้ใหญ่บ้านให้คำอธิบายถึงต้นเหตุของการรวมตัว
เมื่อเวลาผ่านไปยี่สิบปีตั้งแต่การตั้งชมรมศิษย์เก่า ชมรมได้รับการเปลี่ยนแปลงชื่อให้เป็นชมรมไทลื้อ บ้านธิ เพราะลูกหลานของชาวไทยลื้อที่เป็นนักเรียนและศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดบ้านธิแห่งนี้ มาจากผู้คนใน 10 หมู่บ้านที่เป็นผู้สืบทอดชุมชนชาวไทลื้อไปพร้อมกัน และในปัจจุบันนี้ ชมรมไทลื้อได้กลายเป็นสมาคมไตลื้อล้านธิเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือในราว พ.ศ. 2557
งานสืบสานวัฒนธรรมต้นธารของชมรมไทลื้อ
“ตอนที่เปลี่ยนชมรมศิษย์เก่ามาเป็นชมรมไทลื้อ เพราะว่าเราอยากให้สิบหมู่บ้านรวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้าคนในหมู่บ้านมีใจรักโรงเรียน แต่เมื่อเป็นชมรม [ไทลื้อ] แล้ว มีผู้ใหญ่บ้านในสิบหมู่บ้านเป็นผู้นำที่ชัดเจนขึ้น ผู้นำและกรรมการหมู่บ้านเป็นตัวแทนมาร่วมกันจัดงาน กิจกรรมของทางชมรมที่ทำร่วมกันทุกปี
หนึ่ง งานลอยกระทง ในเดือนพฤศจิกายน
สอง งานกินหวานตานม่วน ในเดือนเมษายน เป็นงานขึ้นปีใหม่ของคนไทลื้อ
สาม งานกีฬามวลชนสัมพันธ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ งานมวลชนของคนไทลื้อทุกกลุ่มอายุ มาทำกิจกรรมร่วมกันทั้งเดือน เย็นมา บางคนหอบข้าวมานั่งข้างสนาม พ่อมาเชียร์ลูก ลูกมาเชียร์พ่อ ทั้งเดือนและทุกกลุ่มอายุ มีบอลเด็กสี่ขวบห้าขวบ ช่วงเยาวชน จนไปถึงระดับพ่อบ้านแม่บ้าน เป็นฟุตบอล
สี่ งานสืบสานตำนานไตลื้อ
นอกจากสี่อย่างนี้ แล้วก็จะมีกิจกรรมที่เราไปร่วมกับองค์กรข้างนอกที่เขาประสานงานเรามา เช่น งานลานนาเอ็กซ์โป ที่เชียงใหม่ และยังมีงานศิษย์เก่าในปลายเดือนธันวาคม”
แม่ราตรีให้คำอธิบายถึงกิจกรรมที่ใช้ในการรวมตัวสมาชิกในชุมชนให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่กิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและเกี่ยวข้องกับการจัดตึ้งพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ บ้านธิ คืองานสืบสานตำนานไตลื้อ แม่ราตรีขยายความต่อเนื่องว่าเดิมทีนั้น ตัวแทนชมรมไทลื้อจังหวัดพะเยานั้นเป็นแม่ข่ายสำคัญในการจัดงาน เป็นความพยายามสร้างโอกาสในการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่าง “พี่น้องไตลื้อ” ใน 7 จังหวัด รวมถึงไทลื้อที่อยู่ในต่างประเทศทั้งในจีน เวียดนาม ลาว ก็มาร่วมงานเป็นครั้งคราว ในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสของการเดินทางเป็นจำนวน 7 ครั้งในรอบปีที่ชมรมหรือสมาคมไตลื้อในแต่ละจังหวัดจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประเพณีสืบสาน
สำหรับงานสืบสานตำนานไตลื้อที่บ้านธินั้น นอกเหนือจากเป็นกลไกสร้างความแน่นแฟ้นระหว่าง “พี่น้องไตลื้อ” แล้ว ยังขยายความสัมพันธ์ไปยังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ดังจะเห็นได้จากชื่อการจัดงานอย่างเป็นทางการว่า “งานวัฒนธรรมไทลื้อและชนเผ่า” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองในท้องถิ่น และยังกลายเป็นงานส่งเสริมท่องเที่ยวบ้านธิอยู่ในที
รูปแบบการจัดงานกินระยะเวลา 2 วัน โดยแต่ละหมู่บ้านเตรียมงาน 4-5 วันก่อนหน้านั้น “งานจัดอยู่บริเวณโรงเรียนวัดบ้านธิ พิพิธภัณฑ์ และสนาม มีกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรม แสดงวิถีชีวิต เช่น ข้าวแคบ เป็นของดีของเรา นำมาทำทุกขั้นตอนจนถึงขาย ...แต่ละหมู่บ้านเอาของดีของตัวเองมาแสดง มี ‘น้ำถุ้ง’ คือเป็นที่ตักน้ำ สาธิตการทำ ตั้งแต่ละบ้านมีคนละซุ้ม มีการจัดแสดงวิถีชีวิต การแสดง
…ในวันแรก จัดแสดงวิถีชีวิต มีการขายของ พี่น้องจากหกจังหวัดโดยแต่ละจังหวัดจัดมาสองสามร้านแล้วแต่เขา ...พอถึงวันที่สอง พี่น้องไตลื้อก็มาเสวนาทำกับข้าวกิน คุยกัน รู้จักกัน สอบถามถึงปัญหาและสารทุกข์สุข ...เมื่อถึงเวลาประมาณสี่โมงเย็น เป็นการเดินขบวน โดยมีท่านผู้ว่าฯ มาเป็น ‘เก๊า’ หรือเจ้าภาพ เพราะจังหวัดลำพูนมาเป็นเจ้าภาพ คนที่มาร่วมงานมีถึงสองพันกว่าคน เดินขบวนเข้ามาในบริเวณงาน มีผู้ว่าฯ เดินนำหน้า ตรงลานนี้คนเต็มหมดเลย แล้วก็มีการจัดซุ้ม จัดทานข้าวกันกลางสนาม มีละเล่นบนเวที มีพิธีเปิด การเล่าประวัติ บางปีมีราชวงศ์ของคนลื้อ เช่น เจ้าหม่อมตานคำ ซึ่งเป็นประมุขของคนลื้อ ท่านเป็นเจ้าหญิงมาจากเมืองสิบสองปันนา” แม่ราตรีถ่ายภาพของการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไตลื้อได้อย่างมีชีวิตชีวา
“บ้านไทลื้อ” หรือพิพิธภัณฑ์ไทลื้อและรูปแบบการใช้ประโยชน์ในรอบปี
บ้านจำลองหลังที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดบ้านธิในปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อครั้งเปลี่ยนเป็นชมรมไทลื้อบ้านธิเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ข้าวของต่าง ๆ ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ทยอยได้รับมาจากการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องแต่งกาย และในปัจจุบัน ยังมีองค์กรหรือหน่วยงานจากภายนอกที่เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านธิ ครูภูมิปัญญา และสถานที่สำคัญภายในชุมชน จึงเกิดเป็นป้ายคำอธิบายเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์
เรือนไทลื้อจำลองหลังนี้คล้ายกับเรือนไทในภาคอื่น ๆ ที่ยกพื้นสูง โดยใต้ถุนได้รับการเทคอนกรีตและมีเครื่องเรือนสำหรับการประกอบกิจกรรม บันไดที่เดินขึ้นสู่ชั้นสองนั้นนำผู้ชมขึ้นสู่ชั้นบนบริเวณชานที่เชื่อมระหว่างเรือนครัวไฟทางซ้ายมือของผู้ชม และเรือนนอนทางขวามือ กล่าวถึงครัวไฟ ในปัจจุบัน ผู้ชมจะเห็นฉากการจำลองครัวไฟเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะพื้นที่โล่งภายในใช้เก็บสิ่งของ เครื่องประดับในขบวนแห่จากกการจัดงานวัฒนธรรมเสียมากกว่า ส่วนเมื่อเข้าสู่เรือนนอน มีป้าย “พิพิธภัณฑ์ไทลื้อ” เป็นป้ายผ้าขาวบางที่เป็นฉากหน้ารับผู้ชม เบื้องหลังเป็นห้องโล่งที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของเรือนที่ไม่มีการแบ่งห้องอย่างชัดเจน หากแต่มีมุ้งและเครื่องนอนที่ใช้แสดงถึงรูปแบบกิจกรรมบนเรือน
ผนังทางซ้ายมือผู้ชมเมื่อเข้าสู่เรือนนอนเป็นภาพถ่ายเก่าจำลองให้เห็นบุคคลสำคัญหรือผู้นำชุมชนในอดีต เมื่อเดินเข้าสู่พื้นที่ด้านในจะเห็นหุ่นชายและหญิงที่แสดงเครื่องแต่งกายเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ หญิงนุ่งซิ่นและเสื้อปาดซ้ายสีเข้ม ส่วนชายนุ่งเสื้อปาดขวาที่มีการเดินเส้นสีขาวและแดง มีผ้าโพกศีรษะทั้งชายและหญิง บริเวณใกล้เคียงยังมีกรอบภาพเก่าจำลองที่แสดงให้เห็นบรรยากาศและสภาพสังคมบ้านธิในอดีต จากนั้น เป็นบริเวณมุ้งจำลองการใช้พื้นที่ห้องนอน โต๊ะเครื่องแป้งและเครื่องจักสานตั้งอยู่บนพื้นใกล้กันนั้น
ผนังในส่วนที่เหลือทางขวามือของผู้ชมจะใช้จัดแสดงป้ายนิทรรศการต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เข้ามาทำงานวิจัยและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในชุมชน เช่น แผ่นที่ท่อเที่ยวชุมชนไตลื้อบ้านธิที่แสดงให้เห็นสถานที่สำคัญอย่างอุโบสถกลางนนและศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงที่ในปัจจุบันยังสามารถใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสำหรับบุคคลภายนอก นอกจากนั้นยังแสดงตำแหน่งของศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ ข้าวแต่น กลุ่มทอผ้าไตลื้อบ้านธิ ศูนย์การเรียนรู้ข้าวแคบ ศูนย์การเรียนรู้น้ำถุ้ง กลุ่มผู้สูงอายุทำหัตถุกรรม ทั้งหมด ถัดจากนั้นเป็นป้ายแสดงให้เห็นสาระทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นบ้านโบราณ หรือบ้านเลขที่ 138 ที่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 13 สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ชุดไตลื้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเช่นยาสมุนไพร ข้าวแคบ ข้าวแต๋น ถุงหอม บุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น พ่ออุ๊ยที่สามารถแต่งกะโล่งที่ใช้ในพิธีสลากย้อม แม่เงินขาและพ่อสมที่คงจักสานเครื่องใช้หัตถกรรมเป็นอาชีพหลัก แม่นภาที่คงสืบสานวัฒนธรรมทอผ้าและคงทอลาย “กุญแจหลงตู้” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอไทลื้อบ้านธิ
นอกเหนือจากกิจกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่สะท้อนผ่านป้ายนิทรรศการที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกแล้ว แม่หลวงราตรียังกล่าวถึงกิจกรรมในช่วง 3-4 ปีที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันวัฒนธรรมเอเชียเข้ามาจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียน สืบค้นความรู้เกี่ยวกับชุมชนและของดีต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้จักและซึมซับวัฒนธรรมในท้องถิ่น รวมถึงองค์กรอย่าง “สสส.” และ “สยามกัมมาจล” ที่เข้ามาทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภายในสังคมอยู่เป็นระยะ ทั้งหมดนี้พอจะแสดงให้เห็นถึงความกระตือร้นของการสืบสานวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และการเปิดรับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกที่นำโครงการต่าง ๆ มาสร้างศักยภาพของคนในพื้นที่ ให้เป็นโอกาสของเรียนรู้ทางสังคมและส่งเสิรมรายได้ในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี.
อ้างอิง
ราตรี สายวังจิตต์, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ไทลื้อ บ้านธิ,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ณ พิพิธภัณฑ์ไทลื้อ บ้านธิ, โรงเรียนวัดบ้านธิ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เรือนไทลื้อ ไทลื้อ
พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทตากผ้า
จ. ลำพูน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบนพื้นที่สูงบ้านพระบาทห้วยต้ม
จ. ลำพูน
พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม
จ. ลำพูน