ชื่อเรียกอื่น:
มิวเซียมธนบดี
ที่อยู่:
32 ถนนวัดจองคํา พระบาท ซอย 1 ต.พระบาท อําเภอเมืองลําปาง ลําปาง 52000
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-อาทิตย์ 09.00-17.00 น. (พักเที่ยง 12.00-13.00 น.)
ค่าเข้าชม:
1.ผู้ใหญ่(ไทย) ค่าเข้าชม 60 บาท 2.นักเรียน/ นักศึกษา ค่าเข้าชม 30 บาท 3.ต่างชาติ 100 บาท (เด็กต่างชาติ 60 บาท) ชมฟรี 1.เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี 2.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3.นักบวช/ผู้พิการ
อีเมล:
pr.dcm89@gmail.com
ของเด่น:
ชามตราไก่จิ๋ว ขนาดเล็กกว่าเมล็ดข้าวเปลือก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 มิลลิเมตร,ชามตราไก่ทองคำ มูลค่า 500,000 บาท จากทองคำแท้ 99% มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 17 นิ้ว ใต้ชามมีโลโก “เล้งเอี้ย”, ชามตราไก่ที่บางที่สุด ความหนาเพียง 0.9 มิลลิเมตร (900 ไมครอน)
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี
ก่อตั้งโดย นายพนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นที่ 2 ของ นายอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) เพื่อรักษาเกียรติประวัติอาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ต้นตระกูลธนบดีสกุลผู้ค้นพบแร่ดินขาวและก่อตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกของลำปาง
พื้นที่พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยนิทรรศการ 4 ส่วน
1. นิทรรศการการเล่าประวัติความเป็นมาของ อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) มาจากไหนทำอะไรอยู่ที่ไหน การใช้ชีวิตครอบครัวในไทย การก่อตั้งโรงงาน มีของโบราณหลายชิ้นจัดแสดงไว้ เช่น จักรยานโบราณที่อาปาอี้ (ซิมหยู) ถีบตามหาดินขาวที่ อ.แจ้ห่ม ก้อนหินลับมีดดินขาวจุดเริ่มต้นการตั้งโรงงานร่วมสามัคคี(ตำนานชามตราไก่ลำปาง) จัดแสดงห้องครัวโบราณผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมเมืองเหนือของครอบครัว และการบอกเล่าขั้นตอนในการสร้างอนุสาวรีย์อาปาอี้(หนึ่งเดียวในไทย)กับคณะผู้สร้าง และไก่ส้ม (มาสคอสประจำพิพิธภัณฑ์ฯ)
2. นิทรรศการชามไก่เล่าประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์ของชามตราไก่ในแต่ละยุค ภาพแสดงการทำชามตราไก่แบบโบราณ (พ.ศ. 2500-2508) ชามตราไก่รุ่นเก่าในยุคต่างๆ ลักษณะพิเศษชามไก่แบบโบราณ สาเหตุที่ชามไก่หายจากไทยและการกลับมาอีกครั้งของชามไก่
3. นิทรรศการสาธิตขั้นตอนการผลิตชามโบราณแบบปั้นมือ การผลิตชามไก่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย การวาดภาพ ลงสี การวาดลวดลายแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งดูกระบวนการผลิตเซรามิกสมัยใหม่ยุคปัจจุบันควบคู่กันไป ชมเตามังกรโบราณที่สร้างในปี พ.ศ. 2508 สามารถเผาชามไก่ได้ถึง 5,000-8,000 ใบ ต่อครั้ง เลิกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2555
4. โรงงานธนบดีสกุล(ใช้พื้นที่ร่วมพิพิธภัณฑ์ฯ) ผลิตถ้วยขนมหรือถ้วยตะไลแห่งแรกในประเทศไทย สามารถชมกระบวนการการปั้นชามแบบเครื่อง การขูดและการวงถ้วยได้อย่างใกล้ชิด
5. นิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ของโรงงานยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน แบรนด์สินค้าที่ส่งจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ รางวัลเกียรติยศที่ได้รับต่างๆ ผลงานการวาดชามไก่ของศิลปินแห่งชาติ ตลอดจน “ขลุ่ยเซรามิก” ผลิตจากดินขาวลำปาง ควบคุมการผลิตและบรรเลงเพลงโดยอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ เสียงเพราะนุ่มนวลไม่ต่างจากขลุ่ยไม้ ถือเป็นสถานที่อนุรักษ์พร้อมรวบรวมข้อมูลศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเซรามิคและศิลปะให้กับผู้ที่สนใจทุกระดับ
รางวัลอันทรงเกียรติที่ทางมิวเซียมธนบดีได้รับ
- 2560 ชนะรางวัล “ดีเด่น” (Kinnari Award) ประเภท แหล่งท่องเที่ยว สาขา นันทนาการเพื่อการเรียนรู้
- 2562 ชนะรางวัล “ยอดเยี่ยม” (Kinnari Gold Award) ประเภท แหล่งท่องเที่ยว สาขา นันทนาการเพื่อการเรียนรู้
**รางวัลกินรี หรือ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) เปรียบเสมือนเครื่องหมายรับประกันคุณภาพสินค้าทางการท่องเที่ยวที่สร้างความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดประกวดรางวัลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ครั้งแรกในปี 2539 และทุกๆ 2 ปี
พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี
“เปิดมาแล้วประมาณ 5 ปี มีผู้ชมเป็นกลุ่มมากกว่าตอนที่ยังไม่มีมิวเซียม
ก่อนหน้านั้นมีเฉพาะนักเรียนสายเซรามิค และมีส่วนโรงงานที่เปิดให้ผู้สนใจการผลิต
แต่พอมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ลำปางเป็นเมืองเซรามิค ชามไก่มีชื่อเสียง
เลยทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ข้อมูลเบ็ดเสร็จในที่เดียว”
“คุณพลอย” หรือวลัยทัศน์ สวัสดี ทำหน้าที่ในการนำชม แม้พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดีจะเปิดมาได้ไม่นาน แต่มีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย คุณพลอยกล่าวไว้ในตอนหนึ่งถึงที่มาของความตั้งใจในการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ คุณพนาสิน ธนบดีสกุล เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาในสถานที่ที่เป็นต้นกำเนิดของโรงงานธนบดีสกุล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องกระเบื้องดินเผาในอันดับแรกๆ ของลำปางได้ถ่ายทอดเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ เช่น ชามไก่ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดแม้ลดความนิยมไปช่วงหนึ่ง
เดิมทีสถานที่ตั้งแห่งนี้เป็นสถานที่ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของธนบดีสกุล แต่ในระยะต่อมา โรงงานได้ขยายการผลิตและออกไปจัดตั้งนอกเมืองลำปาง คงเหลือแต่เพียงการผลิตสินค้าขนาดเล็ก เช่น ถ้วยตะไลที่ใช้ใส่ขนม อย่างไรก็ดี โรงงานที่เป็นต้นกำเนิดนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลภายนอกที่เป็นนักศึกษาในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่เมื่อมีความสนใจของสาธารณชนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่โรงงานได้พัฒนาให้บริเวณนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีการจัดตั้งเป็น บริษัท พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จำกัด
แต่กว่าจะถึงสถานะของพิพิธภัณฑ์ในวันนี้ ผู้ก่อตั้งหรือคนรุ่นพ่ “อาปาอี้” ผู้ก่อตั้งโรงงานธนบดีสกุลต้องใช้ความอุตสาหะ อาปีอี้อพยพจากเมืองจีนและย้ายจากกรุงธนบุรี เพื่อเดินทางมายังเชียงใหม่ในการร่วมผลิตเซรามิค เพราะเป็นผู้ที่มีทักษะการปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากจีน โดยเริ่มต้นที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ร่วมหุ้นกับเพื่อนในการเปิดโรงงานร่วมสามัคคี จังหวัดลำปาง เพราะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีความเหมาะสม เพื่อการผลิตชามไก่ ที่เรียกว่าเป็นจุดเด่นเพราะผลิตภัณฑ์เป็นเซรามิคที่มีเนื้อแกร่งด้วยการเผาสองครั้ง
“ร่วมสามัคคี” ดำเนินการเป็นเวลาห้าปี จากนั้นต่างแยกย้ายไปก่อตั้งโรงงานของตัวเอง ปัจจุบันคือบริษัทธนบดีอาร์ตเซรามิค จำกัด, โรงงานกฏชาญเจริญ, โรงงานเจริญเมือง และโรงงานเอเชีย เซรามิค ส่วนโรงงานร่วมสามัคคีเดิมขายให้กับนักลงทุนจากกรุงเทพฯ อาปาอี้สร้างโรงงานตัวเอง คือ โรงงานธบดีสกุล โดยเลิกการผลิตชามไก่ แต่ยังคงผลิตเครื่องถ้วยด้วยเทคนิคดั้งเดิมและการใช้เตามังกรที่เป็นเตาเผาด้วยฟืนในการผลิต อาปาอี้ตายเมื่อวัย 83 ปี
จากนั้น รุ่นลูกได้รับกิจการและในปัจจุบันพัฒนาต่อมาเป็นบริษัทมี 4 แห่ง ดังนี้ โรงงานธนบดีสกุล เป็นบริษัทก่อตั้งครั้งแรก, บริษัทธนบดีอาร์ตเซรามิคเป็นผู้ส่งออก, บริษัทธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด เป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทธนบดีอาร์ตเซรามิค จำกัด และบริษัทพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จำกัด เป็นธุรกิจบริการ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเตามังกรโบราณ ชามไก่โบราณ ผลิตภัณฑ์เซรามิคต่างๆ
พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ประกอบอาณาบริเวณสำคัญๆ ได้แก่ส่วนต้อนรับลูกค้า ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอนุสรณ์อาปีอี้ผู้ก่อตั้งโรงงานธนบดีสกุล ในส่วนที่สองบอกเล่าประวัติธนบดีสกุลไล่เรียงตั้งแต่การเดินทางมาของอาปาอี้ การก่อตั้งบริษัทร่วมสามัคคี การพัฒนาเป็นโรงงานธนบดีสกุล ส่วนการจัดแสดงที่บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของอาปาอี้โดยใช้ใต้ถุนเรือนเดิมแสดงให้เห็นลักษณะของครัวไฟและความเป็นอยู่ที่สมถะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตั้งใจในการดูแลกิจการของครอบครัว
จากนั้นเป็นการบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชามไก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปาง คุณพลอยกล่าวถึงลวดลายของชามไก่ที่เป็นเอกลักษณ์เพราะลวดลายที่ปรากฏนั้นเป็นไปตามจินตนาการของผู้เขียน ช่างวาดจะวาดไก่ที่มีเค้าโครงคล้ายคลึงกันแต่มีความแตกต่างกันบ้างในลายละเอียด แต่จุดเด่นที่สุดคือความแกร่งของเนื้อเซรามิค ประวัติความเป็นมายังเท้าความกลับไปถึงประเทศต้นกำเนิดคือประเทศจีน ชามไก่เป็นทั้งสินค้าส่งออกและช่างที่อพยพไปตั้งรกรากในประเทศอื่นๆ ก็ “ส่งออก” ด้วยเช่นกัน
ประวัติของชามไก่ คือมาจากภาคใต้ของจีน ผู้ผลิตหรือผู้ริเริ่มจะเป็นกลุ่มชาวนา ซึ่งเมื่อว่างจากการเก็บเกี่ยวข้าว จะนำเข้าไปเก็บไว้บนภูเขา ซึ่งจะมีดินขาวมาก และจะทำการขุดดินขาวเพื่อทำเป็นเตาและปั้นชามไก่เข้าไปเผาข้างใน โดยจะใช้ฟางข้าวที่มีอยู่ห่อหุ้มชามไก่ สำหรับลวดลายบนชามไก่จะมาจากวิถีชีวิตประจำวัน ทานข้าวด้วยชาม และการวาดจะมาจากสภาพแวดล้อมนำมาตกแต่ง เช่น ต้นกล้วย หญ้า ใบไม้ ดอกเบญจมาศ และไก่ ซึ่งเลี้ยงไว้ โดยลักษณะเด่นของชามไก่ คือ จะมีความหนาและขาสูงเพื่อป้องกันความร้อน รูปทรงด้านข้างจะเป็นรอยบุ๋ม
ในส่วนต่อมาคือส่วนของการสาธิตการผลิต ที่แสดงให้เห็นการขึ้นรูปที่ใช้จานหมุนและการใช้โมล การสร้างลวดลายด้วยการเขียนสีและการใช้สติ๊กเกอร์ซึ่งเป็นเทคนิคในระยะหลัง การเผาเตาซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ใช้เตามังกรอีกต่อไป เตามังกรมีขนาดใหญ่และจะต้องใช้ฟืนไม้ไผ่จำนวนมาก ในระหว่างทำการเผาจะต้องให้ความร้อนตลอดเวลา จึงทำให้เกิดควันจำนวนมาก โรงงานหยุดใช้เตามังกรเป็นเวลาไม่ถึงสิบปี และหันมาใช้เตาไฟฟ้าและเตาแก๊ส ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์
นิทรรศการ 2 เป็นการนำเสนอผลงานเซรามิคที่เป็นงานศิลป์ แสดงให้เห็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ใช่ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นผลงานศิลปะเพื่อการจัดแสดง โดยเป็นผลงานที่ผลิตจากศิลปินหลายคนในวาระต่างๆ ผลงานศิลปะดังกล่าวแสดงให้เห็นความสร้างสรรค์ในการปั้นแต่งรูปทรง สี และการสร้างผิวพื้นของวัสดุที่แตกต่าง ในช่วงท้ายของนิทรรศการนี้ยังแสดงให้เห็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัทจัดให้กับพนักงาน และเพื่อการบำเพ็ญประโยชน์สู่สาธารณะ.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 30 มกราคม 2559
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งแรกในลำปาง เรียนรู้การเผาด้วยเตามังกรและปั้นถ้วย ตราไก่โบราณที่ขึ้นชื่อของเมืองนครลำปาง
คำว่าเซรามิกเมืองลำปาง ใครๆ ก็รู้จัก ต้องมีที่เดียวก็คือจังหวัดลำปาง แต่บางท่านยังไม่รู้กรรมวิธีการผลิต เริ่มต้นวัตถุดิบใช้อะไรบ้าง แล้วนำมาปั้นเป็นถ้วยตราไก่หรือชุดถ้วยชามหรือจำพวกเครื่องใช้ที่เป็นเซรามิกรูปแบบที่นำออกมาจำหน่ายต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง รวมถึงผู้ที่ก่อตั้งทำเซรามิกในสมัยก่อนเริ่มต้นมาจากใคร ดังนั้น บริษัทพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี ลำปาง ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์เซรามิกขึ้นมาให้ประชาชนที่สนใจการเรียนรู้การทำเซรามิก วัตถุประสงค์การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เซรามิกเพื่อรักษาเกียรติประวัติของ อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ผู้ก่อตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องปั้นดินเผา เซรามิค ชามก๋าไก่ เตาเผามังกรโบราณ ชามไก่
พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยลำปาง
จ. ลำปาง
ศูนย์บ้านปูนิทัศน์
จ. ลำปาง
พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32 (บ้านป่องนัก)
จ. ลำปาง