พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ วัดตาพระยา


ที่อยู่:
เลขที่ 180 ม.1 บ้านตาพระยา ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
โทรศัพท์:
037-510228
ของเด่น:
จารึกวัดตาพระยาและโบราณวัตถุในศิลปะเขมร
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ตาพระยา : พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ วัดตาพระยา

วัดตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2505 มีพระครูปัจจันตเขตคณาภิรักษ์ เป็นเจ้าอาวาส เดิมวัดตาพระยาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของตลาด ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาลตาพระยา จนกระทั่ง พ.ศ.2460 มีการย้ายวัดมาอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของตลาดจนทุกวันนี้
 
อาจกล่าวได้ว่าวัดตาพระยาเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอตาพระยา พระภิกษุสงฆ์ของวัดล้วนแต่ได้รับการเคารพสักการะจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลวงตาออกและหลวงพ่อเทียบ
 
ราว พ.ศ.2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องกับสงครามอินโดจีน หลวงตาออก[1] พระภิกษุที่ได้รับการนับถือของชาวบ้านทั้งในอำเภอทะมอพวก ราชอาณาจักรกัมพูชา และชาวตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ในขณะนั้น  ได้เดินทางออกจากอำเภอทะมอพวกพร้อมกับภิกษุสามเณรจำนวนมาก มาจำพรรษาที่บ้านโคกมะกอก อำเภอตาพระยา เพื่อเผยแผ่พระธรรมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน (ในอดีตการเดินทางไปมาข้ามชายแดนไทย-กัมพูชาคงยังไม่เข้มงวดนัก) หลังจากนั้นท่านก็เดินทางกลับกัมพูชา แต่ไม่นานหลังจากนั้น ชาวตาพระยาก็พร้อมใจกันนิมนต์หลวงตาออกให้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตาพระยาที่กำลังว่างอยู่ แต่ท่านปฏิเสธและเสนอให้หลวงพ่อใน อิ่มกุศล เป็นเจ้าอาวาส ส่วนท่านจะเป็นพระอาจารย์ให้คำปรึกษาในการบริหารวัด จนทำให้วัดตาพระยารุ่งเรืองสืบมา
 
หลังจากหลวงตาออกมรณภาพในปี พ.ศ.2494 และมีพิธีฌาปนกิจสรีระสังขารเมื่อ พ.ศ.2497 ศิษยานุศิษย์ได้แบ่งอัฐิของท่านออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำไปบรรจุไว้ที่อำเภอทะมอพวก อีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่วัดตาพระยา ด้วยความเคารพบูชาและศรัทธาในจริยาวัตรของท่าน ชาวตาพระยานำโดยหลวงพ่อเทียบ พร้อมใจกันให้ช่างปั้นรูปเหมือนหลวงตาออกเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดตาพระยา ให้ผู้ศรัทธาได้เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจ
 
 
หลวงพ่อเทียบ หรือ พระครูประทีปปัจจันตเขต (อดีตเจ้าคณะอำเภอตาพระยา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตาพระยายาวนานถึง 41 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2501-2542 ท่านได้รับการเคารพนับถือจากชาวตาพระยาเป็นอย่างมาก นอกจากท่านจะมีวัตรปฏิบัติที่งดงามแล้ว ท่านยังเอาใจใส่พัฒนาวัดตาพระยาอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ.2529และท่านยังส่งเสริมด้านการศึกษาทั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และโรงเรียนปริยัติธรรม ผลงานที่โดดเด่นของท่านอีกประการหนึ่งคือ การเก็บรวบรวมโบราณวัตถุมาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะในเขตอำเภอตาพระยา พร้อมทั้งทำบัญชีไว้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้อนุชนรุ่นหลัง
 
หลวงพ่อเทียบมรณภาพในปี พ.ศ.2542 แต่สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันนำสังขารของท่านบรรจุในโลงแก้ว แล้วอัญเชิญไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ เพื่อให้ชาวตาพระยาและผู้ที่นับถือท่านสักการะจนปัจจุบัน
 
นอกจากโลงแก้วบรรจุสังขารของหลวงพ่อเทียบแล้ว ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ ยังเก็บโบราณวัตถุที่หลวงพ่อเก็บรวบรวมไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เข้ามาศึกษาและทำทะเบียนไว้แล้ว[2] โบราณวัตถุชิ้นสำคัญส่วนใหญ่มีรูปแบบศิลปะแบบเขมร เช่น[3]
 
- หลวงพ่อทับพระยา (หลวงพ่อทัพพระยา) เป็นพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ ศิลปะเขมร สร้างด้วยหิน หน้าตักกว้าง 19นิ้ว สูง 27 นิ้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 สภาพชำรุด หัวและหางนาคหัก ข้อพระกรขวาหัก ชาวบ้านขุดพบที่บ้านโคกไพล (ปัจจุบันอยู่ใน ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา) เมื่อปี พ.ศ.2490 เจ้าอาวาสวัดตาพระยาในขณะนั้นได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดตาพระยา

- หลวงพ่อพัฒนาการ เป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ปางสมาธิ สร้างด้วยหิน ศิลปะเขมร หน้าตักกว้าง 6 นิ้ว สูง 13 นิ้ว ชาวบ้านพบพระพุทธรูปองค์นี้ในปี พ.ศ.2503ขณะขุดสระใกล้คลองทางทิศเหนือของกิ่งอำเภอตาพระยาสมัยนั้น

- หลวงพ่ออยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระวรกายอวบอ้วน ทำจากหิน หน้าตักกว้าง 5 นิ้ว สูง 9นิ้ว

- เศียรพระวิษณุ ทำจากหินทราย ศิลปะเขมรแบบไพรกเมง-กำพงพระ พุทธศตวรรษที่ 13-14

- นางอัปสรศิลปะเขมร ทำจากหินทราย สูง 69 เซนติเมตร แสดงท่าทางยืน นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ผ้านุ่งส่วนบนเว้าต่ำเปิดหน้าท้อง คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ ศีรษะเกล้ามวย ส่วนเท้าและแขนหักหายไป อาจมีอายุอยู่ในสมัยบาปวน หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16

- อมลกะ (ส่วนยอดของปราสาทขอม) รูปกลีบบัว ทำจากหิน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 

- จารึกวัดตาพระยา เป็นจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร บนหินทราย อายุราว พ.ศ.1520 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพบที่ใดและเมื่อใด จารึกมี 2 ด้าน ด้านที่ 1 มี 22 บรรทัด (บันทึกโดยข้าราชการของพระเจ้าอินทรวรมัน) ด้านที่ 2 มี 19 บรรทัด (บันทึกโดยข้าราชการของพระเจ้ายโศทรวรมัน) รวม 41 บรรทัด
 
นอกจากนั้นยังมีประติมากรรมพระวิษณุสำริด พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด เสมาหิน โยนี เศียรเทวรูปขนาดต่างๆ ประติมากรรมรูปบุคคล ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะปราสาทเขมร ปราสาทจำลอง ภาชนะดินเผา เป็นต้น
 
ปัจจุบัน (กันยายน 2555) พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ วัดตาพระยา ยังไม่เปิดให้เข้าชมโดยสมบูรณ์ เนื่องจากเพิ่งปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2555 หากพุทธศาสนิกชนหรือผู้สนใจต้องการเข้าสักการะสังขารหลวงพ่อเทียบและเข้าชมโบราณวัตถุ ควรติดต่อกับทางวัดตาพระยาล่วงหน้า
 
สรุปความจากบทความ “ตาพระยา : พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ วัดตาพระยาฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย โดย คุณทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
 
คลิกดูบทความ “ตาพระยา : พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเทียบ วัดตาพระยา” ฉบับเต็ม


[1]สันนิษฐานว่าหลวงตาออกเป็นพระสงฆ์ชาวกัมพูชา
[2]หลวงตาจัน, (2555, กันยายน 7), วัดตาพระยา, สัมภาษณ์.
[3]คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,อ้างแล้ว, 64-67.
ชื่อผู้แต่ง:
-