ศูนย์วัฒนธรรมชาวเลบ้านทุ่งหว้า


ที่อยู่:
หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งหว้า ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
โทรศัพท์:
08-6107-6212 ติดต่อคุณห้อง กล้าทะเล
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

เว็ปข้อมูลและกิจกรรมในการดำเนินงาน

http://andaman-soul.wixsite.com/andaman-soul/home
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมชาวเลบ้านทุ่งหว้า

ชุมชนบ้านทุ่งหว้า หมู่ 5 ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นชุมชนชาวเลกลุ่มมอแกน หรือชาวไทยใหม่ ที่ตั้งถิ่นฐานมานานกว่าร้อยปี แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อปลายปี 2547 ชุมชนทั้งชุมชนได้รับความเสียหายทั้งผู้คน ทรัพย์สิน และบ้านเรือน ที่ดินที่เคยครอบครองร่วมกันทั้งชุมชนจำนวน 26 ไร่ ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เข้าปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่แบบเดิมได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานในการถือครองที่ดิน แต่ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศล และการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของชาวชุมชน ทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างบ้าน ณ ที่เดิมของตนในพื้นที่ 16 ไร่ ปัจจุบันการก่อสร้างได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วนอกจากนี้ทางชุมชนยังได้กันที่ดินจำนวน 10 ไร่ไว้เพื่อใช้ทำประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมชาวเลบ้านทุ่งหว้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะประโยชน์นี้ 
 
ศูนย์วัฒนธรรมชาวเลบ้านทุ่งหว้า  ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิชุมชนไท DANIDA UNDP สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) และ มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นสถานที่ที่พยายามเก็บรวบรวมเอกลักษณ์เฉพาะของชาวเลทั้ง 3 กลุ่มคือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย เพื่อตอกย้ำจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันระหว่างชาวเลกับคนกลุ่มอื่นๆ โดยศูนย์ฯ พยายามสื่อให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของชาวเล รูปแบบการดำเนินชีวิต ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของนิทานพื้นถิ่น
 
อาคารจัดแสดงอยู่ติดกับถนนใหญ่ (ถนนสายหลัก) ตัวอาคารเป็นรูปทรงคล้ายเรือ ภายในอาคารจะเล่าเรื่องผ่านภาพเขียนสีน้ำกาแฟ (คือ ใช้น้ำที่ได้จากการต้มกาแฟ) ที่อยู่ตามผนังของห้องจัดแสดง มีคำบรรยายภาพทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถแบ่งหัวข้อที่นำเสนอได้ทั้งหมด 6 หัวข้อคือ

เส้นทางการอพยพและการกระจายตัวของชนเผ่าชาวเล เดิมเชื่อว่า ชาวเลเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง ในประเทศจีน แล้วอพยพหนีภัยลงใต้มาเป็นกลุ่มๆ โดยอาศัยอยู่บริเวณแหลมมลายูเรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะมะริดของพม่า อย่างไรก็ดีการจัดแสดงในส่วนนี้เป็นการตีความและค้นคว้าของผู้จัดทำ ซึ่งภายในชุมชนเอง ยังคงมีข้อโต้แย้งในบางประการเรื่องเส้นทางการอพยพของชาวเล ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์คงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป หากแต่ชุมชนและผู้ชมสามารถยกประเด็นหรือนำเสนอแนวคิดอื่น ๆ ได้
 
ตำนานความเชื่อ... หลังการเดินทาง เป็นการแสดงตำนานปรัมปราที่ว่า โลกของการมีชีวิตอยู่กับโลกของความตายนั้น ห่างกันแค่เส้นขอบน้ำกั้น ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ชาวมอแกนจะต้องเดินทาง เมื่อใดที่หยุดเดินทางหมายความว่า ชาวมอแกนได้ตายจากไปเพื่อพบกับ “เกดัง” และดินแดนใหม่ที่สงบสุข และมีอิสระอย่างแท้จริง 
 
สัมพันธภาพแห่งเรือ คน และทะเล เป็นเรื่องราวของชาวมอแกนที่ต้องต่อ “เรือก่าบาง” เรือที่เป็นทั้งที่เกิด ที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน และที่ตายของชาวมอแกน เมื่อเรือก่าบางคือ ทุกอย่างที่ชาวมอแกนมี การสร้างเรือจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวมอแกนให้ความสำคัญ จนมีคำกล่าวที่ว่า ไม่มีเรือก็ไม่มีมอแกน 
 
เหตุที่ยิปซีทะเลต้องหยุดเร่ร่อน แสดงถึงภาวะของการเปลี่ยนแปลงของชาวมอแกนที่ต้องมาขึ้นฝั่ง และอยู่เป็นหลักแหล่ง เพราะในปัจจุบันพื้นดิน และพื้นน้ำในทะเลต่างล้วนมีเจ้าของ ทำให้ชาวมอแกนไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิม
มอแกน ชนเผ่าผู้โหยหาเสรีภาพ... แห่งชีวิต เป็นส่วนต่อเนื่องมาจากทำไมชาวมอแกนจึงต้องหยุดเร่ร่อน เป็นบทสะท้อนความต้องการภายในจิตใจของชาวมอแกนที่หวังว่า สักวันพวกเขาจะได้กลับไปเดินทางในท้องทะเลได้อีกครั้ง
นิทานพื้นบ้านของชาวมอแกน เป็นการนำนิทานพื้นบ้านขนาดสั้นมาเขียนไว้บนผนังด้านทางเข้า- ออก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวที่ผูกพันกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว
 
นอกจากนั้นในบริเวณผนังด้านหนึ่งของห้องจัดแสดงทำเป็นผนังดินขนาดใหญ่ที่ย้ำเตือนให้คนมาเยี่ยมชมได้นึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ ส่วนบริเวณตรงกลางของห้องจัดแสดงได้มีการแสดงพิธีกรรมจำลองที่สำคัญของชาวเลทั้ง 3 กลุ่มคือ พิธีกรรมการหล่อโบง หรือบูชาเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ของชาวมอแกน พิธีกรรมลอยเรือปลาจั้ก ของกลุ่มอุรักลาโว้ย และพิธีกรรมบูชาศาลตาสามพัน ของกลุ่มมอแกลน โดยบริเวณรอบๆ จะเป็นที่แสดงขายของที่ระลึกผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานของคนในชุมชน
 
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 2 สิงหาคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-