กระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อการสร้างองค์ความรู้แก่โบราณวัตถุ Museum Visit You

กระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อการสร้างองค์ความรู้แก่โบราณวัตถุ Museum Visit You[1]

เบญจวรรณ พลประเสริฐ[2]

 

บทคัดย่อ

บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อค้นพบจากการทำกิจกรรมนอกอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  หริภุญไชย จังหวัดลำพูน โดยการนำเรื่องราวองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตลอดจนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชาติ เดินทางไปหาชุมชน เพื่อสร้างบริบทองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่โบราณวัตถุ  ในแง่มุมที่ชุมชนในฐานะคนใน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของข้อมูลได้ช่วยกันบอกเล่า   ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนโดยการออกแบบการจัดแสดงผ่านการแลกเปลี่ยน อาทิ เล่าเรื่องด้วยแผนที่ชุมชน สิ่งของเครื่องใช้ ภาพถ่ายหรือแม้กระทั่งการใช้โบราณวัตถุเอง  เพื่อให้คนเข้าถึงโบราณวัตถุมากขึ้น

ผลการศึกษาพบว่านอกจากจะได้บริบทองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่โบราณวัตถุแล้ว ยังก่อให้เกิดประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมระหว่างโบราณวัตถุของชาติและชุมชน  อีกทั้งได้สร้างคุณค่าทางใจ และความรับรู้ให้คนท้องถิ่นภาคภูมิใจและรู้สึกสายสัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งของที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่ามรดกวัฒนธรรมนั้นจะถูกดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐแล้วก็ตาม การเชื่อมโยงเรื่องราวของชุมชนผ่านการแลกเปลี่ยน เรื่องเล่า โบราณวัตถุนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับเนื้อหาในส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ อันเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปสู่การฟื้นฟู ถ่ายทอดองค์ความรู้ของท้องถิ่นสู่การเป็นชาติได้

การจัดกิจกรรมนอกพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นี้ถือเป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์[3] ออกสู่สายตาชุมชน นอกจากข้อดีที่กล่าวในข้างต้นแล้วยังจะเป็นการกระตุ้นให้จำนวนผู้ประสงค์เข้ามาเยี่ยมชม หรือใช้บริการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีมากขึ้นด้วยแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ทางผู้จัดหวังไว้ คือการเสริมสร้างความรู้และแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่นเอง ให้คนในท้องถิ่น ชุมชนได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์

 

คำค้น:   พิพิธภัณฑ์ ชุมชน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ


 

1. พิพิธภัณฑ์ภูมิหลังกับการพัฒนา


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ประกาศจัดตั้งอยู่ในราชกิจจานุเบกษา รัฐบาลกลางจัดสรรและสนับสนุนงบประมาณ บริหารจัดการโดยกรมศิลปากร มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นำผลการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ให้คนไทยได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นคนไทยในทุกแง่มุม จึงต้องมีศักยภาพในการเป็นสถาบันเพื่อการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติ ที่มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นสถานที่จัดตั้งขึ้นและบริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (เมือง/จังหวัดเทศบาล/ตำบล/ฯลฯ) เพื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของท้องถิ่น และ/หรือ เรื่องราวที่ท้องถิ่นนั้น ๆ สนใจ และยังเป็นสถานที่จัดกิจการด้านต่าง ๆ ของท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์เมือง เป็นต้น ปัจจุบันเมื่อกิจการพิพิธภัณฑ์โดยรัฐบาลกลางได้วางรากฐานในการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติได้เข้มแข็งขึ้น ความสนใจและแนวคิดในการอนุรักษ์สะสมสืบสาน และสืบทอดในภูมิปัญญาไทย จึงขยายไปสู่คนไทยทั่วไปมากขึ้น จึงทำให้เกิดมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้มากขึ้น โดยคนหรือหน่วยงานในท้องถิ่นนั่นเอง (สมลักษณ์, 2550)

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์กลายเป็นองค์กรที่แสดงถึงแนวความคิดอันทันสมัยของคนรุ่นเก่าและใหม่ที่ต้องการพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมและแนวคิดในรูปแบบต่างๆ ทำหน้าที่สื่อสารเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ตลอดจนหลากหลายแง่มุมในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ที่ผู้คนหลากวัยหลายอาชีพต่างต้องการเข้าใช้บริการและคาดหวังในสิ่งที่ได้รับกลับมา ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์รวมแล้ว 1,539 แห่ง[4] ในจำนวนนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพียง  42 แห่ง  กระจายไปทั่วประเทศไทยสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมในแต่ยุคแต่ละสมัยในปัจจุบันจะถูกจัดเก็บสะสมและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์มีการจัดการข้อมูลไว้อย่างดีด้วยระบบพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในแต่ละภูมิภาค สะท้อนประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งโดยรวมคือประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กันทั้งเชิงพื้นที่และเวลา

“ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน” หรือ“พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ” นับเป็นพิพิธภัณฑสถานส่วนภูมิภาคแห่งแรกของภาคเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 โดยพระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดี (อวบ  เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพเป็นผู้ริเริ่มขึ้นตามพระราโชบายการสร้างความเป็นรัฐชาตินิยม โดยมีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติในมณฑลพายัพไม่ให้สูญหาย ในนครลำพูนสมัยนั้นเป็นแหล่งที่ค้นพบศิลปโบราณวัตถุมากกว่าที่อื่นในภาคเหนือ ภายหลังการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ.2475พิพิธภัณฑสถานยังคงอยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุหริภุญชัย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัดเรื่อยมา จนรัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่“ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน” จึงถูกประกาศเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย” อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2504  เป็นต้นมา

ต่อมากรมศิลปากรมีโครงการขยายกิจการพิพิธภัณฑ์ หาสถานที่และงบประมาณจะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรทันสมัยขึ้นใหม่ พระธรรมโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยขณะนั้น จึงมอบศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมจำนวน 2,013 ชิ้น ให้กรมศิลปากร เพื่อนำออกมาจัดแสดง    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จะสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20  มิถุนายน พ.ศ.2511 แต่ก็ยังไม่มีสถานที่เหมาะสมจนกระทั่งกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุ เดิมเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ที่ถนนอินทยงยศ ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา 

ในปี พ.ศ.2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ขึ้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2517 จากนั้นได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาค และโบราณวัตถุที่ย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครส่วนพิพิธภัณฑสถานวัดพระธาตุหริภุญชัยนั้น วัดยังได้พัฒนาปรับปรุงและเปิดบริการเช่นเดิม เมื่อการดำเนินการจัดตั้งและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เรียบร้อย  กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 เป็นต้นมา

 

2. พื้นที่การจัดแสดงพื้นที่ความหมายของสังคม

“พิพิธภัณฑ์” ในการรับรู้ของกลุ่มคนลำพูนเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว เป็นเรื่องของการยกระดับจากโรง ศาลาหรืออาคารที่ใช้เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ  ที่สุ่มๆรวมกันอยู่นำมาจัดเรียงจัดแสดง ไว้เพื่อเป็นที่ศึกษาดูของเก่า ของแปลก ในท้องถิ่นนั้นๆ แก่ผู้คนต่างถิ่น และคนชั้นสูง อันแสดงถึงความศิวิไลซ์แสดงความเป็นอารยะของเมืองเก่าที่มีมากว่า 1,000 ปี ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ จะตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เนื่องมาด้วยเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามาแต่อดีตจนปัจจุบัน จึงกลายเป็นแหล่งที่รวบรวมของมีค่า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มากมายที่เป็นของวัดพระธาตุหริภุญชัยเองหรือกระทั่งเป็นที่เก็บโบราณวัตถุเก่าแก่จากวัดสำคัญและวัดร้างมากมาย ทั่วทั้งจังหวัดลำพูน

 การรวบรวมโบราณวัตถุ จากทั่วมณฑลพายัพ เริ่มโดยการรวบรวมศิลาจารึกซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่แสดงถึงความเป็นอารยะของผู้คนแถบนี้ ศิลาจารึกที่พบ ณ เมืองลำพูน คือ ศิลาจารึกมอญโบราณ ขนาดใหญ่จำนวน 8 หลักซึ่งมีขนาด ความสูงมากกว่า 120 เซนติเมตร ความกว้างเกือบ 100 เซนติเมตร และความหนาราว 30 เซนติเมตร  มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15[5] แต่ละหลักจารึกด้วยอักษรมอญโบราณ บางทีขึ้นต้นจารึกเป็นภาษาบาลีแล้วแปลงเป็นภาษามอญ หรือมิฉะนั้นจารึกทั้งภาษามอญและภาษาบาลีรวมกันไปทำนองเดียวกับลักษณะภาษาไทย ซึ่งมักจะมีภาษาบาลีปะปนอยู่ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มชนโบราณที่จังหวัดลำพูนในราวพุทธศตวรรษที่ 15 นั้น นับถือพระพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก และใช้ภาษามอญอีกภาษาหนึ่งเป็นภาษาติดต่อในกลุ่มตนด้วยเช่นกัน นอกจากศิลาจารึกมอญโบราณจำนวน 8 หลักที่พบ ณ จังหวัดลำพูนแล้ว ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน ยังได้รวบรวมศิลาจารึกจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ไว้อีกด้วย รวมทั้งหมดมีจำนวนถึง 39 หลักในขณะนั้น แบ่งออกเป็นศิลาจารึกจากจังหวัดเชียงใหม่ 2 หลัก จังหวัดเชียงรายและพะเยา 13 หลัก และจังหวัดลำพูนมีมากถึง 24 หลัก

นอกจากนี้จากข้อมูลประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องมีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ ในช่วงปี พ.ศ.2470-2475  โดยผู้มอบส่วนใหญ่มาจากส่วนราชการทั่วมณฑลพายัพถึง 90%  อาทิ ศาลจังหวัดลำพูน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน  สัสดีลำพูน ปลัดอำเภอจอมทอง รวมทั้งจากเจ้าผู้ครองนครลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เป็นต้น รองลงมาคือพระสงฆ์ และส่วนราษฎรเป็นส่วนน้อยตามลำดับ โบราณวัตถุที่มอบส่วนใหญ่แล้วเป็นเครื่องโลหะ   เครื่องอาวุธประเภท ปืนโบราณ ปืนแก๊ป ปืนดาบศิลาแฝด ในส่วนของราษฎรบริจาคเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในพื้นที่ดินทำมาหากินของตนหรือ “อัฐทองแดง ศกต่างๆ”การรับบริจาคโบราณวัตถุดังพบว่า ได้รับมอบมาอย่างหลากหลายประเภท เพื่อนำมาจัดแสดงตามรูปแบบที่ “กรมมิวเซียม” ได้กำหนดการจัดมิวเซียม ว่าควรจัดเป็น 9 แผนก[6] คือ แผนกของโบราณ   แผนกของประเทศ แผนกอาวุธ   แผนกฝีมือช่าง  แผนกกสิกรรม  แผนกสินค้า  แผนกสัตว์  แผนกพฤกษา และแผนกแร่ธาตุ “ทั้ง 9 แผนกนี้ เป็นรูปแบบการจัดประจำมิวเซียม ซึ่งมีผู้ปรารถนาจะดู ฦๅศึกษา และจะพิจารณาได้เป็นนิจ”แต่จากข้อมูลภาพถ่ายเก่าและรายละเอียดโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้รับมอบจัดแสดง ส่วนใหญ่เป็น ศาสนวัตถุ  อาทิ พระพุทธรูปที่ได้รับจากวัดสำคัญ ทำให้การแบ่งส่วนจัดแสดงตามที่กรมมิวเซียมกำหนดได้ไม่ครบ ปรากฎให้เห็นเฉพาะในส่วนของศาสนวัตถุ พระพุทธรูป และแผนกศิลาซึ่งได้รับบริจาคจากอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับศิลาจารึกอีกจำนวนหนึ่งด้วย

การจัดแสดงใน พ.ศ.2470 โดยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เป็น “คิวเรเตอร์” นั้น ลำพูนพิพิธภัณฑสถานกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความร่วมมือ ปะทะประสานกันทางความคิดในระดับชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะพบว่าใน พ.ศ.2471 ระยะเวลา 1 ปี ภายหลังการเปิดลำพูนพิพิธภัณฑสถาน มีการบริจาควัตถุจัดแสดงอย่างมากมาย จากทั่วมณฑลพายัพ เข้าใจว่าในขณะนั้นแม้ว่าทางกรมมิวเซียมได้กำหนดส่วนจัดแสดงให้พิพิธภัณฑ์หัวเมืองปฏิบัติตาม ดังวิธีคิดของนักวิชาการในปัจจุบันที่การจัดนิทรรศการต้องเริ่มด้วย theme หรือ concept  (แนวคิด) แต่การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มด้วยวัตถุ วัดมีของอะไรบ้าง มีของบริจาคอะไรบ้าง วัตถุประสงค์สำคัญที่ชาวบ้านชุมชนนำของมาร่วมบริจาคเพื่อทำบุญ ถวายทาน เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา  ชาวลำพูนต้องการเก็บอะไรไว้เป็นความทรงจำของเมืองลำพูนบ้าง มิใช่แค่เพียงแสดงความเป็นเมืองที่มีอารยะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐชาติไทยที่รุ่งเรืองตามแนวคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้น   ดังรายการของบริจาคในส่วนของเจ้าผู้ครองนครลำพูนและลูกหลาน อาทิ  ปืน  เครื่องทอผ้า  ดาบด้ามเงิน  สัตภัณฑ์และม้าเงินจำลองถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุหริภุญชัย  เครื่องดนตรีมโหรี  ซึ่งล้วนแสดงถึงความสุขความรุ่งเรือง “ศิวิไลซ์”   ครั้งแต่ยุคเจ้าหลวงปกครองทั้งสิ้น  หรือแม้กระทั่งของบริจาคจากเรือนจำลำพูนที่แสดงความมีอำนาจของเจ้าผู้ครองนครลำพูนในอดีต คือ หอกรูปใบพายสำหรับประหารชีวิตนักโทษและฆ้องสำหรับตีนำหน้าและตามหลังนักโทษเวลาเอาไปประหารชีวิต อันถือว่าลำพูนได้เลือกแล้วในสิ่งที่ต้องการจดจำและนำเสนออดีตลำพูนให้เป็นที่รับรู้แก่คนทั่วไปอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ต้องมีมิติทางสังคม วัฒนธรรมที่ถูกกดทับได้มีพื้นที่บ้าง

เมื่อย้ายโบราณวัตถุมาจัดแสดง ณ อาคารใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลำพูน แล้วในปี พ.ศ.2521 ปีก่อนการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการโดยได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้นนับว่าเป็นปีที่ได้รับมอบวัตถุจัดแสดงมากที่สุด มีประชาชนชาวลำพูนนำโบราณวัตถุมาบริจาค อีกทั้งนำมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อนำเสนอความเป็นอาณาจักรหริภุญไชยที่ยิ่งใหญ่ ผ่านศิลปะหริภุญไชยที่มีเอกลักษณ์ และในปีเดียวกันนี้เองทายาทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายได้มอบเครื่องทรงของเจ้าหลวงองค์สุดท้ายอันประกอบด้วย เสื้อครุย ผ้าแถบรัดเอว หมวก พร้อมทั้งภาพถ่ายเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ในชุดมหาดเล็กเต็มยศแก่พิพิธภัณฑ์ หรืออาจเป็นการเพิ่มพื้นที่เจ้าหลวงและทายาทราชสกุลณ ลำพูน ให้ดำรงสถานะความเป็น “เจ้า” อยู่ในความทรงจำของชาวลำพูนสืบต่อไปแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวงไปเมื่อ พ.ศ.2469 แล้วก็ตาม 

การนำเสนอโบราณวัตถุจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ละแห่งมีพื้นฐานการนำเสนองานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดีเป็นสำคัญ แม้ในปัจจุบันจะยังเน้นประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นหลัก  แต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่งก็เริ่มมีส่วนจัดแสดงอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะสมัยใหม่ ธรณีวิทยา เพื่อสนองต่อการปรับแนวทางจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองต่อคนในพื้นที่ได้รอบด้านต่อไป

 

3. พิพิธภัณฑ์และการส่งต่อองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์สู่ชุมชนจากอดีตสู่ปัจจุบัน

การสนใจใคร่รู้เรื่องราวในอดีตตนของคนลำพูน หากนำมาเทียบกับจำนวนการเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์นั้น คงจะเป็นเรื่องยาก ในช่วงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในยุคแรกๆ (พ.ศ.2470-2500) ภายในเมืองลำพูนไม่ได้มีผู้คนอาศัยอยู่มาก มีงานประเพณีประจำปีสักครั้งถึงได้เข้าเมืองสักครั้ง  ที่สำคัญบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยครั้งนั้นก็น่ากลัว มีแนวต้นตาลอยู่มากมายดูน่ากลัวไม่กล้าเดินผ่าน ไหนจะรูปยักษ์กุมภัณฑ์ที่เฝ้าองค์พระธาตุก็ตัวใหญ่ดูน่ากลัว ไม่ได้มีอาคาร พระเณร อยู่กันมากเช่นปัจจุบัน [7]

ในยุคแรกภายหลังจากการเปิดให้เข้าชมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในปี พ.ศ.2522 แล้ว ในช่วง 20 ปีต่อจากนั้น (พ.ศ.2522-2540) จัดได้ว่าเป็นยุคของการหาของ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์ เกิดกิจกรรมร่วมจัดนิทรรศการกับจังหวัดลำพูน ภาคส่วนราชการด้วยกันเองในงานเทศกาลประจำปีของจังหวัด อาทิ งานฤดูหนาว  เทศกาลลำไย เป็นต้น และในยุคนี้เองจากผลการงานวิจัยของอาจารย์บุบผา จิระพงษ์[8] กล่าวว่าเกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจังหวัดลำพูนเองก็ได้รับกระแสรื้อฟื้นท้องถิ่นมาด้วยเช่นกัน

ถัดมาในช่วง พ.ศ.2541-46 ซึ่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น มากยิ่งขึ้น พยายามลบภาพพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เอาไว้เพียงแค่รับรองชนชั้นสูง อาคันตุกะหรือราชวงศ์ เข้าเยี่ยมชมเท่านั้น ในยุค พ.ศ.2547-2558 พิพิธภัณฑ์กำหนดบทบาทตนด้วยการเป็น “เวทีของการสนทนาถกเถียง” อันถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการส่งต่อ ถ่ายทอดความรู้ แต่พิพิธภัณฑ์เองก็มิได้วางตนว่าเป็นผู้นำองค์ความรู้ หรือประกาศองค์ความรู้ ความจริงที่ได้รับการคัดสรรแล้วจากกลุ่มผู้เชียวชาญ จากกรมศิลปากรเพียงหน่วยงานเดียว ว่าดีที่สุดหรือสำคัญที่สุดเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน  แต่ได้วางตัวให้เป็นเวทีของคนหลากหลายกลุ่ม หลากความคิด หลายความทรงจำ สามารถแลกเปลี่ยนเสนอความเป็นตัวตนของท้องถิ่นได้ ซึ่งจักทำให้บทบาทพิพิธภัณฑ์มิได้รับใช้สถาบันชาติหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้มีความรู้ในท้องถิ่น ผู้มิใช่เจ้าของวัฒนธรรมหลักของประเทศได้รับรู้แลกเปลี่ยน ดังความหมายของ “พิพิธภัณฑ์” อันหมายถึง  “สิ่งของนานาชนิด” ย่อมนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่หลากหลายนั่นเอง

จากลำพูนพิพิธภัณฑสถาน สู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในปัจจุบันสร้างความรู้ ภูมิใจ ในประวัติศาสตร์เมืองลำพูนมาได้อย่างมั่นคงในรูปแบบการนำเสนอที่เชิดชูความงดงามของโบราณวัตถุ ตามพัฒนาการของรูปแบบประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นหลัก โดยข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งต่อความรู้สื่อสารกับผู้เข้าชมอยู่3 ช่องทางหลัก

(1) ป้ายโบราณวัตถุ  ข้อมูล อายุ สมัย ลักษณะ แหล่งที่มา เป็นข้อมูลอธิบายเพียงสั้นๆ

(2) เอกสารแผ่นพับ เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลการวางแผนการเดินทางของผู้ชมที่ต้องการเข้าชมเป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เช่นที่ตั้งเวลาเปิดปิดหัวข้อส่วนจัดแสดงและตารางเวลากิจกรรมต่างๆวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ถือเป็นเครื่องมือทางด้านการตลาดเป็นส่วนใหญ่

(3) ช่องทางติดต่อทางโซเชี่ยลเนตเวิร์ค หรือเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคอลเลคชั่นที่สะสมในพิพิธภัณฑ์โดยใช้ฐานข้อมูลเพื่อจัดการเก็บข้อมูลและนำเสนอด้วยแนวทางเดิมของวัตถุจริง

ปัจจุบันการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จากหลากหลายช่องทาง หลายกิจกรรมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญสำหรับผู้ดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์ จากเดิมสังเกตได้ว่าการสื่อสารระหว่างผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์กับวัตถุจัดแสดง ที่มีเพียงข้อมูลประจักษ์ ลักษณะ ขนาด ที่มา ของวัตถุนั้นๆ เป็นการจำกัดกรอบความคิดการรับรู้ของผู้เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง การนำเสนอมักตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มาจากประวัติศาสตร์ชาติไทยกระแสหลักที่ลดทอนบทบาทของท้องถิ่นลงไป อีกทั้งขึ้นอยู่กับวัตถุจัดแสดงหรือทรัพยากรของผู้จัด เลยต้องเน้นสิ่งที่มีให้โดดเด่น ลดทอนความสำคัญและความจริงบางอย่างไป  พิพิธภัณฑ์จึงควรมีการนำเสนอโบราณวัตถุศิลปวัตถุ อันมีเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจท้องถิ่นมากขึ้น

 

4. พื้นที่พิพิธภัณฑ์ = พื้นที่ของสังคม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้มีการปรับปรุงส่วนจัดแสดงในอาคารจัดแสดงเดิมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน2562 (ส่วนอาคารจัดแสดงเดิมพื้นที่ราว  400 ตารางเมตร)  การจัดแสดงนอกจากจะเป็นการนำเสนอองค์ความรู้ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุแล้ว การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้อื่นๆ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายกับชุมชนโดยรอบ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชนก่อเกิดประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนอีกด้วย   การร่วมจัดกิจกรรมด้านต่างๆ ที่สามารถนำมาซึ่งองค์ความรู้ โดยเฉพาะการบูรณาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับการจัดการเรียนการสอนและบริบทของสังคมในปัจจุบันจึงนับว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มาจากการบูรณาการระหว่างภาครัฐกับชุมชนอย่างแท้จริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จึงต้องการจัดกิจกรรมเพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมก่อนที่ส่วนจัดแสดงที่ปรับปรุงใหม่จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ทั้งนี้เป็นระยะเวลา กว่า 92 ปี ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เคยได้รับการปรับปรุงส่วนจัดแสดงเลย เวลา 92 ปี กับการเป็นสถานที่ราชการ สังกัดกรมศิลปากรแห่งเดียวในจังหวัดลำพูน ผู้คนได้เฝ้าสังเกต รอคอย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไหม ?

จึงเกิดการตั้งคำถามว่า

  • คนในชุมชนรู้สึกถึงการที่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือไม่ อย่างไร ?
  • ถ้านึกถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในช่วงการรับรู้ที่ผ่านมา คุณนึกถึงอะไร ?

จากคำถามข้างต้นนำไปสู่การจัดกิจกรรมที่ต้องการให้คนลำพูนและผู้ที่เคยมาเยี่ยมเยือนได้ส่งภาพถ่ายการเข้ามาเยี่ยมเยือน หรือภาพพิพิธภัณฑ์ในอดีตเข้ามาร่วมเติมประวัติศาสตร์และความทรงจำให้แก่พิพิธภัณฑ์  โดยมีการประชาสัมพันธ์ทางหน้าเพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย  ในเดือนพฤศจิกายน 2561 เชิญร่วมส่งภาพถ่าย ระหว่างปี พ.ศ.2470 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และความทรงจำ อาทิ เช่น ภาพอาคาร สถานที่ ภูมิทัศน์ บุคคลหรือกลุ่มเพื่อน ภาพเหตุการณ์ หรือภาพกิจกรรม ที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เข้าร่วมในกิจกรรม“ระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำ (history & memory)”  จนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2562

การตอบรับของสมาชิกเพจเฟสบุ๊คพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย น้อยมากในการนำภาพเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้กิจกรรมได้ดำเนินการต่อไปพิพิธภัณฑ์จึงเดินเข้าไปปรึกษาชุมชน โรงเรียน ผู้อยู่อาศัยโดยรอบพิพิธภัณฑ์ เชิญชวนส่งภาพเข้าร่วมกิจกรรมขอรวบรวมรูป เพื่อนำมาจัดนิทรรศการชั่วคราวในวันเปิดตัวอาคารจัดแสดงปรับปรุงใหม่ได้รับข้อมูลเสียงสะท้อนจากชุมชนและคำแนะนำเพื่อนำมาปรับกิจกรรม ดังนี้

  • ตอนเด็กๆ ที่บ้านไม่เคยพามาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เลย ผู้ใหญ่จะบอกว่าเป็นคุกเก่า น่ากลัวยังมีวิญญาณนักโทษอาศัยอยู่ในนั้น  (ข้อมูลจากคนอายุ 45 ปี)
  • ตอนยายเป็นเด็กชอบแอบมองดูความเป็นอยู่ของนักโทษในคุกจากชั้นสองของบ้าน  พ่อแม่จะห้ามเด็ดขาดบอกห้ามแอบดูเป็นเสนียดตาแม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วก็ยังจำคำสอนนี้อยู่ (ข้อมูลจากคนอายุราว 75 ปี)
  • บ้านลุงอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ตอนลุงเป็นเด็กจะเดินไปตลาดต้องเดินผ่านประตูหลังคุก จะชอบเดินเฉียดใกล้กำแพงไม้ด้านหลังเพราะนักโทษจะเรียกแล้วเอาเงินสอดช่องกำแพงไม้ออกมาให้ไปยาแก้ปวดให้ เราก็รับเงินแล้วก็หนีหายไปเลย พอเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่เคยเข้าไปดูเลย(ข้อมูลจากคนอายุราว 70 ปี)

จากข้อมูลสัมภาษณ์ข้างต้นทำให้ทราบว่าพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่คุกเดิม ชาวบ้านยังคงมีภาพจำว่าเคยเป็นคุกเก่ามาก่อน พอเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ก็มองเป็นแค่สถานที่ราชการ สังกัดกรมศิลปากรที่จัดแสดงของเก่า นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำพูนที่ภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการ การเข้ามาเพื่อเยี่ยมชมหรือพักผ่อนหย่อนใจ จึงมีโอกาสน้อยมาก อย่างมากปีละครั้งในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งพิพิธภัณฑ์จัดกิจกรรมนี้ทุกปี  นอกจากนี้การสัมภาษณ์ชุมชนโดยรอบถึงเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ในอดีตแล้ว ยังได้รับคำแนะนำในการนิทรรศการ ดังนี้

  • พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนถนนอินทยงยศซึ่งเป็นถนนสายหลักของการจัดขบวนแห่ ประเพณีต่างๆ ของจังหวัดลำพูน อีกทั้งอยู่ใกล้วัดพระธาตุหริภุญชัย และแหล่งการค้า ตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนลำพูนทั่วไปจะต้องได้เคยผ่านมาหรือร่วมกิจกรรมประจำจังหวัดอยู่แล้ว หากทางพิพิธภัณฑ์ขอภาพกิจกรรมที่เคยเกิดขึ้นบนถนนอินทยงยศนี้ น่าจะได้ภาพมาก
  • ควรจัดนิทรรศการโดยเปลี่ยนหัวข้อการจัดในทุกเดือนตามวันสำคัญ หรือประเพณีสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนนั้นๆ
  • ควรมีกิจกรรมต่อเนื่องในทุกเดือน เพื่อให้คนลำพูนได้เห็นความเคลื่อนไหว และมีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม นิทรรศการ ค่อยๆเห็นการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์ก่อนเปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรชุดใหม่ในเดือนเมษายน
  • หากมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวบริเวณล่างโถงใต้อาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ควรขยายเวลาเปิดให้คนเข้าชมในช่วงเย็นนานขึ้น

แนวคิดใหม่ในการจัดนิทรรศการชั่วคราวครั้งนี้ เกิดจากการทำงาน รับฟัง ความคิดจากชุมชนซึ่งได้แสดงความเห็นมีส่วนร่วมในการทำงาน ดังนั้นผู้คนจึงมีส่วนในการตัดสินใจ กำหนด และสร้างเรื่องราวสำหรับการนำเสนอ และการจัดแสดงในหัวข้อต่างๆที่เปลี่ยนไปทุกเดือน

หากมองในทางทฤษฎีแล้ว การมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชุมชนมี 4 ระดับ ได้แก่ 1. การแบ่งปันข้อมูล ชุมชนได้รับการแจ้งหรือรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานของพิพิธภัณฑ์ 2. การปรึกษาหารือ ชุมชนไม่เพียงได้รับข้อมูลแต่ยังมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนมุมมองในการพัฒนา 3. การตัดสินใจ นั่นคือชุมชนมีส่วนกำกับทิศทางและขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน  และ 4. การลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่ความคิดริเริ่มและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมในบริบทการทำงานพิพิธภัณฑ์หรือการพัฒนานิทรรศการในระดับแรก ชุมชนได้รับข้อมูลและเป็นเพียงผู้ที่ตั้งรับในการทำงาน ในระดับที่สอง ชุมชนร่วมให้ข้อมูลและบริจาคสิ่งของในการนำเสนอ ในระดับที่สาม ชุมชนกำกับขั้นตอนการทำงานต่างๆ และในระดับที่สี่ ชุมชนแสดงบทบาทหลักในการพัฒนานิทรรศการอย่างแท้จริง อันจะเป็นกระบวนสุดท้าย ซึ่งจะกล่าวต่อไปในกิจกรรม “เมื่อพิพิธภัณฑ์เดินทางไปหาคุณ museum visit you

เมื่อทางพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยได้สรุปหัวข้อการจัดนิทรรศการชั่วคราวเสร็จสิ้นแล้ว ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเกิดการบอกต่อกันในกลุ่มนักจัดเก็บ สะสม ภาพเก่าของจังหวัดลำพูน ได้แนะนำแหล่งที่น่าจะมีภาพเก่าสะสม รวบรวมไว้  เช่น วัด โรงเรียน หรือแม้กระทั่งห้องภาพเก่าในลำพูน ที่ปิดกิจการลงไปแล้ว  เบื้องต้นพิพิธภัณฑ์ได้ภาพเก่ามาจัดนิทรรศการจากนักสะสมและห้องภาพเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ ผลลัพธ์ของการประชาสัมพันธ์รูปแบบการจัดนิทรรศการหมุนเวียนในทุกเดือน ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ป้ายประชาสัมพันธ์ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยและบริเวณประตูทางเข้าวัดพระธาตุหริภุญชัยทางด้านทิศใต้และทางด้านทิศตะวันออกทำให้นักท่องเที่ยว ชุมชนโดยรอบ โรงเรียน ได้เข้ามาเยี่ยมชมและให้ความสนใจในนิทรรศการชั่วคราวนี้ยิ่งขึ้น ประกอบกับพิพิธภัณฑ์มีสมุดเซ็นเยี่ยม กระดาษโน้ต บอร์ดผ้า เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้มีพื้นที่ได้พูดคุย บอกเล่า แลกเปลี่ยน เรื่องราวที่ปรากฏในภาพถ่ายด้วย นอกจากภาพถ่ายเก่าที่ชุมชน โรงเรียนนำเข้ามาร่วมจัดแล้ว ยังมีเอกสารโบราณ หนังสือเก่า ของส่วนบุคคล ที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อนิทรรศการนั้นๆ นำมาจัดแสดงร่วมด้วยถือได้ว่าเป็นความพยายามในการพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์ได้สนทนากับสังคมอีกช่องทางหนึ่งผ่านการจัดนิทรรศการชั่วคราวครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาส ให้เกิดกระบวนการตีความ แลกเปลี่ยนข้อมูลภาพถ่าย หรือวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวเนื่อง พิพิธภัณฑ์จึงไม่ใช่เพียงสถาบันที่พัฒนาความรู้เชิงวิชาการด้วยผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นเวทีของความร่วมมือกับชุมชนเปิดบทสนทนาใหม่ให้กับสังคมเพื่อได้รับองค์ความรู้ที่มาจากคนในจริงๆ

แม้ว่าการดำเนินการจัดแสดงภาพถ่ายเก่าและวัตถุเกี่ยวเนื่อง ในกิจกรรม“ระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำ (history & memory)” จะได้รับการตอบรับจากการเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ตลอดระยะเวลาการจัดในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561- เมษายน พ.ศ.2562 แต่เป้าหมายหลักในการจัดนิทรรศการชั่วคราวที่ต่อเนื่องมาหลายเดือนครั้งนี้เพื่อต้องการภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยกลับพบน้อยมาก แต่กระนั้นก็สามารถเห็นภาพพัฒนาการการใช้พื้นที่ตั้งแต่ครั้งเป็นเรือนจำลำพูน และการเริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยจากภาพถ่ายการจัดกิจกรรมบนถนนอินทยงยศซึ่งเป็นถนนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์นั้นเอง นอกจากภาพถ่ายเก่าที่เราได้รับมอบให้มาร่วมจัดนิทรรศการชั่วคราวในครั้งนี้จากชุมชน ซึ่งเป็นคนนอกพิพิธภัณฑ์แล้ว การให้ความสำคัญกับคนในพิพิธภัณฑ์เองจึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการหาวัตถุเกี่ยวเนื่องมาร่วมจัดแสดงในงานเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการของส่วนจัดแสดงใหม่ ซึ่งกิจกรรมได้ถูกกำหนดจัดขึ้นใหม่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562

นิทรรศการชั่วคราวที่จัดในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งถือเป็นนิทรรศการเรื่องสุดท้ายก่อนการเปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ จึงเป็นการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของและสมาชิกภายในพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ที่อยู่เบื้องหลังการดูแลโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำงาน สื่อการศึกษา หรือแม้กระทั่งสมุดเซ็นเยี่ยมชมตั้งแต่ครั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 จนกระทั่งถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงส่วนจัดแสดงครั้งใหญ่ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559–2562  นับว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวและจัดเก็บสิ่งสะสมเพื่อนำเสนอเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยสู่ชุมชนในมุมมองของคนทำงานภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอีกด้านที่คนภายนอกไม่เคยสัมผัส

 


กิจกรรม “MUSEUM EXPLORER  นักสำรวจพิพิธภัณฑ์” เป็นกิจกรรมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ต้องการเชิญกลุ่มผู้สนใจในงานพิพิธภัณฑ์เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการถาวรชุดใหม่เป็นกลุ่มแรก และร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมหรือสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนหลายวัย หลากกลุ่ม ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ต่อไป กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤษภาคม พ.ศ.2562 โดยแบ่งการเข้าชมออกเป็นสองรอบ เช้า-บ่าย รวม 2 วันเป็นจำนวน 4 รอบ การเข้าชมครั้งละ 30 ท่าน รวมจำนวนทั้งสิ้น 120 ท่าน ที่เป็นแขกพิเศษของการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรชุดใหม่ครั้งแรกนี้

การประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว คัดเลือกจากการตอบคำถามผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย และการเชิญชุมชน เพื่อนบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่รายรอบพิพิธภัณฑ์  บุคคล วัด ที่มอบโบราณวัตถุร่วมจัดแสดง ตั้งแต่ครั้งพิพิธภัณฑ์เปิด และกลุ่มเครือข่ายชุมชน อาทิ ตัวแทน 17 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน สภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดลำพูนเข้าร่วม

กิจกรรม MUSEUM EXPLORER เป็นกิจกรรมที่ต้องการให้ผู้เข้าชมที่ร่วมกิจกรรมได้เริ่มชมส่วนนิทรรศการพิเศษ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ก่อนและพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงวัตถุเล่าเรื่องเมื่อครั้งอดีต นิทรรศการพิเศษชั่วคราวนี้จัดขึ้น บริเวณโถงด้านล่างอาคารจัดแสดงต่อเติมใหม่ ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ตามระยะเวลา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ทราบที่ไปที่มา การเติบโตของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จนถึงกระบวนการการปรับปรุงส่วนจัดแสดงถาวรชุดใหม่ที่แล้วเสร็จ โดยแบ่งออกเป็นช่วงเวลา ดังนี้

1.       ช่วง พ.ศ.2470- 2549 วัตถุจัดแสดงที่นำเสนอผ่านภาพถ่ายเก่า (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากชุมชนที่ร่วมมาจัดในนิทรรศการ ระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำ ซึ่งเป็นกิจกรรมก่อนหน้านี้) สมุดเซ็นเยี่ยมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สไลด์สื่อการสอนภาพเรื่องราวโบราณวัตถุที่จัดเก็บและจัดแสดงเมื่ออดีต  ตู้เก็บป้ายทะเบียนโบราณวัตถุ

2.       ช่วง พ.ศ.2550- 2563  วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นงานเอกสาร เริ่มตั้งแต่ บทจัดแสดงที่เริ่มเขียน  ภาพการออกแบบเมื่อปี 2550 จนมาเรื่องปรับปรุงส่วนจัดแสดงอีกครั้งในปี 2559 เขียนบท แบบจำลองอาคาร การออกแบบผนังกราฟฟิก การปรับปรุงบทจัดแสดง จนมาแล้วเสร็จในส่วนนิทรรศการถาวรของอาคารจัดแสดงหลังเดิม ในเดือนเมษายน 2563

จากการพูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ความทรงจำของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทราบถึงที่มาของการเกิดนิทรรศการถาวรชุดใหม่นี้จนถึงที่มาของโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  เดิมจะมาจากการบริจาคซึ่งเป็นของส่วนบุคคล หรือสมบัติของวัดที่มีมาแต่เดิม แต่ส่วนนิทรรศการถาวรใหม่นี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้พยายามสืบค้นหาแหล่งที่เก็บโบราณวัตถุเพื่อนำมาร่วมจัดแสดง โดยคำนึงถึงประวัติ ที่มาของโบราณวัตถุ เป็นสำคัญ จึงได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ซึ่งมีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในสมัยหริภุญไชย จัดเก็บอยู่ จากการมองข้ามพรมแดนจังหวัดในปัจจุบัน นำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการถาวรชุดใหม่นี้  หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของการจัดเตรียมดินเพื่อนำมาใช้ในการจัดแสดงโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งหมดมาจากแหล่งโบราณคดีจริงซึ่งเจ้าของที่ดินได้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่นี้

เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้นำเสนอเรื่องราว กระบวนการ ที่ไปที่มาก่อนการเกิดนิทรรศการถาวรชุดนี้แล้ว  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยน โดยการให้ความเห็นผ่านการเขียนและบอกกล่าว พอสังเขป ดังนี้

  • การนำเสนอวีดีทัศน์ น่าจะมีเรื่องอื่นสลับ สับเปลี่ยน มาเล่าบ้าง เช่น เรื่องเล่าแต่ละชุมชน
  •  วีดีทัศน์ น่าจะมีภาพภาษามือ เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินได้เข้าใจเรื่องราวที่เล่าด้วย
  • โบราณวัตถุจัดแสดงดูน้อยไปฃ
  • บรรยากาศน่าชมมาก แอร์เย็น จัดแสดงได้ดี เทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ
  • น่าจะมีชุดออดิโอไกด์เพื่อใช้ในการฟังข้อมูลโบราณวัตถุ แต่ละชิ้นด้วย
  • ป้ายคำบรรยายในส่วนศิลาจารึก น่าจะให้รายละเอียดข้อมูลในจารึกด้วย

กิจกรรม MUSEUM EXPLORER นักสำรวจพิพิธภัณฑ์ เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ต้องการผลลัพธ์แค่ความเห็น หรือข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรมชมนิทรรศการถาวรใหม่ครั้งนี้เท่านั้น พิพิธภัณฑ์เชื่อว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกถึงความเป็นคนพิเศษที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเพื่อร่วมพัฒนาพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนตนอีกด้วย นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมสร้างกิจกรรมแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สามารถนำแนวคิด ข้อแนะนำ ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มาสร้างสรรค์กิจกรรม เติมเต็มความรู้ใหม่ๆ ของพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ของผู้เข้าชมได้ทุกระดับในคราต่อๆไปได้อีกด้วย





5. กิจกรรม “Museum visit you เมื่อพิพิธภัณฑ์เดินทางไปหาคุณ”

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในทุกวันศุกร์ เวลาราวบ่ายสามโมงถึงราวสี่ทุ่ม จากการรวมกลุ่มกันของเจ้าของบ้าน ร้านค้า ที่ตั้งอยู่บนถนนรถแก้ว ซึ่งเทศบาลเมืองลำพูนต้องการให้ถนนสายนี้เป็นถนนคนเดินซึ่งหากนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมวัดพระธาตุหริภุญชัยแล้ว หากเดินออกทางด้านหลังวัดจะเจอกับถนนรถแก้วนี้ ซึ่งอันที่จริงเป็นเพียงถนนเส้นเล็กๆ ที่แยกออกมาจากถนนอินทยงยศ อันเป็นถนนด้านหลังวัดพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็นเส้นทางหลักและดั้งเดิมของการสัญจรระหว่างจังหวัดลำพูน เชียงใหม่

กลุ่มเจ้าของบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินสองฝั่งถนนรถแก้วเห็นว่า การทำถนนคนเดินเพื่อการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ชุมชนเราอยากทำอะไรให้เป็นที่จดจำแก่คนมาเที่ยวชม และที่สำคัญคนในชุมชนได้เรียนรู้การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะนี้ขึ้นมาร่วมกันด้วย จึงเกิดการรวมกลุ่มกันของคนที่อาศัยบนถนนเส้นนี้  เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ หลากหลายวัย รวมไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งนับเป็นเพื่อนบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งบนถนนอินทยงยศซึ่งเชื่อมต่อกับถนนรถแก้วนี้ ได้ร่วมประชุม ระดมความคิด ถึงสิ่งที่ชุมชนต้องการให้พื้นที่บนถนนเส้นนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวในลำพูน นำเสนอออกเป็นนิทรรศการ โดยเริ่มจากการพูดคุย สำรวจ สืบหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนถนนรถแก้วนี้ กำหนดหัวข้อ เตรียมวัตถุจัดแสดง ภาพถ่ายเก่า (จากนิทรรศการระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำบางส่วน) โดยได้มีการเปลี่ยนหัวข้อจัดแสดงทุกวันศุกร์ บนพื้นที่ความยาวช่วงต้นของถนนรถแก้วราว 150 เมตร ในทุกวันอาทิตย์ทีมงานได้พูดคุย ถึงผลลัพธ์ของการทำนิทรรศการ แต่ละครั้ง และร่วมเสนอแนวคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในศุกร์ต่อไป ซึ่งการจัดนิทรรศการในแต่ละครั้งได้รับการตอบรับ ชื่นชม ถึงสิ่งที่ชุมชนได้ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเอง โดยที่เทศบาลเมืองลำพูนไม่ได้เข้ามาควบคุมและสนับสนุนงบประมาณให้แต่อย่างใด





เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ออกไปจัดแสดงภายในชุมชน  เกิดปฎิสัมพันธ์ชุมชน นำเรื่องราว วัตถุ ของบุคคล ชุมชน จัดแสดงร่วมกัน โดยชุมชนเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว ชุมชนกลายเป็นผู้ส่งต่อ สืบทอดความรู้ เรื่องเล่าของตนสู่คนภายนอก กลายเป็นการเล่าเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องเล่าของมรดกวัฒนธรรมที่เป็นกายภาพและที่ไม่เป็นกายภาพ  หรือการสาธิตการใช้ข้าวของเครื่องใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงหนึ่ง ทำให้คนท้องถิ่นได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตน และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการอย่างมีชีวิตชีวา มิใช่เพียงการนำเสนอวัตถุสิ่งของหรือป้ายคำอธิบาย กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องและการส่งเสริมสิ่งสะสม เรื่องเล่าของชุมชน พร้อมไปกับการสนับสนุนให้ชุมชนสืบทอดความรู้และสานต่ออนาคต ถนนคนเดินสายนี้จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตขึ้นมา  

          แต่เดิมการสืบค้น หาความรู้ การแสวงหาความรู้ ของโบราณวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะเน้นในเรื่องรูปแบบศิลปะ ที่มา โดยการอาศัยเทียบเคียง จากแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องหรือส่งอิทธิพลให้แก่กันและกัน เพื่อนำไปสู่การเสนอความรู้ในเชิงวิชาการ อันถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักของกรมศิลปากร การวางบทบาท หน้าที่ดังกล่าวนี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์  ทำให้ลักษณะของเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอต้องใช้ความเชี่ยวชาญ จากผู้มีความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการ กรณีข้อมูลจัดแสดงก็ต้องนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่คนในแต่เป็นนักวิชาการที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติมาเป็นหลักในการตรวจสอบข้อมูลการวางบทบาทดังกล่าวถึงแม้ในภาพรวมจะนำไปสู่การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมถูกต้องตามหลักวิชาการของกรมศิลปากร  แต่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ไม่เกิดการบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตชุมชน   ทำให้ชุมชนมองไม่เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ฉะนั้นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องสร้าง กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งมีลักษณะเป็น “กิจกรรมพิเศษ” ที่ต้องใช้โอกาสพิเศษ หรือวาระที่สมควรในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในงานที่ชุมชนจัดขึ้นจะเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการทำงานของพิพิธภัณฑ์ที่ได้ถูกบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตชุมชน อันทำให้ผู้คนในชุมชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน หากคนในชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบถกเถียง จากข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้   ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ควรนำเสนอได้ทั้งนี้หากในอนาคตมีการค้นพบข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือกว่าคนในชุมชนจะร่วมกันตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลก็สามารถทำได้ ทำให้เกิดองค์ความรู้   และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่อไป

          การออกไปทำกิจกรรม  อาทิ การจัดนิทรรศการนอกสถานที่พิพิธภัณฑ์นี้ ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่เป็นแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา นำเสนอ เรื่องเล่า ที่สอดคล้องกับวิถีประเพณีชุมชน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ยั่งยืนคนในชุมชนจะต้องออกมาเล่าเรื่องของตนเองเล่าเรื่องพ่อแม่ลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายบรรพบุรุษเล่าประวัติความเป็นมาเล่าเรื่องสิ่งใกล้ตัวความเป็นอยู่อย่างไร ทำมาหากินอย่างไร ดำรงชีวิตมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร ความเชื่อเรื่องศาสนา เรื่องผีประเพณีวัฒนธรรมการสร้างบ้านแปงเมือง ผู้นำในอดีต เป็นใครคนในชุมชน ได้บอกเล่าเล่าด้วยภาษาของตนเองเพราะคนในชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูลโดยใช้สิ่งของที่มีอยู่ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นของเก่าราคาแพงหายากการออกแบบจัดแสดงอาจเล่าเรื่องด้วยแผนที่ชุมชน สิ่งของ เครื่องใช้ ภาพถ่าย

แนวทางการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมาทุกอย่างเปลี่ยนไป ทุกคนตื่นตัวในการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์มีผู้ชมเยอะขึ้นและมีส่วนร่วม แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคืองบประมาณที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ วิธีการนำเสนอโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ รูปแบบการจัดแสดงไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงประการเดียว แต่ต้องสร้างความหมาย วิเคราะห์ ตีความให้ผู้ชมได้เห็นคุณค่า เพราะฉะนั้นการอธิบายจึงมีความสำคัญ พิพิธภัณฑ์จึงควรให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยตีความอธิบายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นเกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ จากบริบท มุมมองที่เปลี่ยนไปของสังคม ตลอดจนจากงานการศึกษาใหม่ที่นำมาเชื่อมโยงอ้างอิง  และทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่คนเข้าไปชมอยู่เสมอ ในแง่มุมของคนที่สนใจการจัดการพิพิธภัณฑ์แบบมีส่วนร่วม พิพิธภัณฑ์จะไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชนและคนที่อยู่รอบข้าง พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่หมายถึงห้องจัดแสดงเพียงอย่างเดียว   ยังจะต้องมีส่วนในการอนุรักษ์และการเก็บรักษาให้ความรู้ตามภารกิจของพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์ออกสู่สายตาชุมชน ที่นอกจากจะกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์มีมากขึ้นแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ภัณฑารักษ์หวังไว้ ยังต้องการที่จะเสริมสร้างความรู้และต้องการแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่น เมื่อเยาวชน ผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้พบเห็น และเข้ามามีส่วนร่วม จะได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์   และบทบาทหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มุ่งเพียงการพัฒนาความรู้   สะสม และจัดประเภทของสิ่งต่างๆอีกต่อไป แต่เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ต้องดำรงอยู่เพื่อชุมชน หรือกล่าวได้ว่า หัวใจของพิพิธภัณฑ์คือชุมชน ซึ่งจะทำให้พิพิธภัณฑ์คงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลอดไป

 

เอกสารอ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ,กอง.กร.5 ศ.1/2  กรมราชเลขาธิการ  เล่ม 5 เบ็ดเตล็ด ศึกษาธิการ (ร.ศ.119-ร.ศ.128) , หน้า107.

บุบผา  จิระพงษ์. (2544). สถานภาพของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.

สมลักษณ์ เจริญพจน์. (2550). “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์คู่มือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น.” กรุงเทพฯ: กราฟิกฟอร์แมท.



[1]ทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

[2]พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย E-mail: hari_museum@yahoo.com

[3]คำในภาษาไทยที่เป็นทางการคือ พิพิธภัณฑสถาน ในบทความนี้ขอใช้ พิพิธภัณฑ์ ตามที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไป และตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน 2542 ซึ่งอนุโลมให้ใช้พิพิธภัณฑ์ในความหมายเดียวกับพิพิธภัณฑสถาน

[4]ข้อมูลตัวเลขจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562

[5]จากการปริวรรตใหม่โดยอาจารย์พงศ์เกษม  สนธิไทยผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระมอญโบราณคณะศิลปศาสตร์  สาขาวิชาภาษาไทยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตบพิตรพิมุขมหาเมฆ

[6]หจช.กร.5ศ.1/2 กรมราชเลขาธิการ เล่ม 5 เบ็ดเตล็ด ศึกษาธิการ (ร.ศ.119-ร.ศ.128), หน้า 107

[7]สัมภาษณ์ นายพิรุฬห์  แก้วประภา อายุ 78 ปี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556. เป็นชาวลำพูนแต่กำเนิดอาศัยอยู่ในเขตชุมชนท่าขาม บ้านฮ่อม ด้านทิศเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย อดีตข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งไวยวัจกรและคณะกรรมการวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ได้รับมอบหมายให้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว

[8]บุปผา  จิระพงษ์. สถานภาพของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่.(เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่ ,2544)

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กุมภาพันธ์ 2564
วันที่แก้ไข: 19 กุมภาพันธ์ 2564