ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซเผยภาพเบื้องหลังหุ่นขี้ผึ้งหนุ่มสุดฮอต โรเบิร์ต แพตตินสัน

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรุงเทพฯ เผยภาพเบื้องหลังการขึ้นรูปหุ่นนักแสดงหนุ่มดาวรุ่งสุดฮอตเมืองผู้ดี โรเบิร์ต แพตตินสัน ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนออกมาเรียกน้ำย่อยให้แฟนๆ ชาวไทยเตรียมตัวต้อนรับสมาชิกระดับเซเลบคนใหม่ล่าสุด ผู้กระชากใจสาวๆ มาแล้วทั่วโลก   ตามรายงานระบุว่าหุ่นขี้ผึ้งตัวนี้ใช้เวลาการปั้นนานถึง 4 เดือน เสกสรรค์จากฝีมือช่างปั้นรวม 20 ชีวิต และมีมูลค่า 150,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,200,000 บาท โดยก่อนที่จะขึ้นรูป ทีมงานจะทำการวัดขนาดร่างกายโรเบิร์ต แพตตินสัน ทุกสัดส่วนอย่างละเอียดรวมกว่า 500 จุด เพื่อให้หุ่นที่ออกมามีลักษณะ บุคลิกท่าทางไม่ผิดเพี้ยนจากตัวจริง ขณะที่ส่วนที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนอย่างเส้นผม หรือคิ้ว ก็จะค่อยๆ บรรจงใช้เส้นผมมนุษย์ติดลงไปบนหุ่นทีละเส้นๆ ก่อนจะแต่งแต้มเติมสีสันเพื่อสร้างสีผิวทีละชั้นๆ อย่างปราณีต ออกมาเป็นผลงานศิลปะๆ ที่คนทั่วโลกต่างยกนิ้วให้   งานนี้พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรุงเทพฯ เตรียมเปิดพื้นที่ส่วนวีไอพีในโซนปาร์ตี้สำหรับสมาชิกระดับเซเลบโดยเฉพาะร่วมกับเหล่าซูเปอร์สตาร์ระดับโลกที่แฟนๆ ชาวไทยรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น แองเจลิน่า โจลี่ แบรด พิตต์ ซึ่งพร้อมเผยโฉมให้แฟนคลับชาวไทยได้กระทบไหล่และสัมผัสอย่างใกล้ชิดที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรุงเทพฯ ชั้น 6 สยามดิสคัฟเวอรี่ ตลอดเดือนเมษายนนี้ เพียง 1 เดือนเท่านั้น!! (ThaiPR.net วันที่ 21 มีนาคม 2555)  

เปิดหอประวัติเมืองเชียงราย 750 ปี พรุ่งนี้!!

นางรัตนา จงสุทธนามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงหอประชุมเม็งรายอนุสรณ์ ให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์เมืองเชียงราย ทั้งนี้เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 750 ปี และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ผู้สร้างเมืองเชียงราย  โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กำหนดเปิด "หอประวัติศาสตร์เชียงราย 750 ปี" ในวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป ณ ศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี บริเวณศาลากลาง จ.เชียงราย  นอกจากนี้จัดให้มีกิจกรรมการแสดงนิทรรศการ นำเสนอประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเชียงรายในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเปิดให้ประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างเป็นทางการอีกด้วย (เชียงรายโฟกัสดอทคอม วันที่ 19 มีนาคม 2555)

สร้างอาคารเรียนไม้ตะเคียนเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานี

  ที่ลานหน้าอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเก่า ถนนอุปราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กลุ่มสื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระดมความเห็นการอนุรักษ์อาคารโรงเรียนเบญจะมะมหาราชที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลังอายุกว่าร้อยปี ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยเชิญนักประวัติศาสตร์สถาปนิก และศิษย์เก่าหลายรุ่นร่วมแสดงความเห็น โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินรายการ                ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวถึงความเป็นมาของอาคารหลังนี้ว่า เดิมตั้งอยู่หลังอาคารศาลากลางหลังเก่าที่ถูกเผาจากเหตุการณ์ปี 2553 โดยถูกปล่อยทิ้งร้างนานหลายสิบปี กระทั่งเมื่อปี 2541 มีคนเสนอให้รื้ออาคารออก เพื่อทำเป็นที่จอดรถของหัวหน้าส่วนราชการ                แต่นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น ซึ่งไม่ใช่ศิษย์เก่าและไม่ใช่คนเมืองอุบลราชธานี แต่คัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตของเมืองอุบลราชธานี ควบคู่ไปกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เคียงกัน                กระทั่งปี 2543 พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ศิษย์เก่าได้ชักชวนเพื่อนร่วมหารือที่จะอนุรักษ์อาคารไม้ตะเคียนหลังนี้ไว้ จนถึงปี 2545 กรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนอาคารให้เป็นโบราณสถานประจำจังหวัด ทำให้ศิษย์เก่าโล่งใจต่อไปไม่มีใครสามารถมารื้ออาคารออกไปได้ จึงได้ช่วยกันเสนอของบประมาณจำนวน 13 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงบูรณะตัวอาคารให้ดีขึ้นในปี 2551 และทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า จะใช้อาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง                โดยจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอย ทั้งการเล่าเรื่องราวในอดีตถึงปัจจุบัน โดยทำเป็นกิจกรรมรายวัน เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ไม่ใช่ใช้เก็บแต่ของเก่า และให้เยาวชนได้เข้ามาศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ จึงมีการออกแบบแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับตัวอาคารและภูมิทัศน์รอบตัวอาคารไปแล้วระดับหนึ่ง พร้อมทั้งจะระดมความเห็นการปรับปรุงต่อสาธารณชนต่อไปด้วย                ด้าน ดร.วรงค์ นัยวินิจ คณะทำงานวิจัยโบราณสถานโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (ฝ่ายออกแบบภูมิทัศน์) กล่าวว่า อาคารของโรงเรียนแห่งนี้เป็นศิลปฮอนแลนด์ผสมไทย การออกแบบส่วนที่ยากที่สุดคือ แนวคิดการผสมผสานกับประวัติศาสตร์ของตัวอาคารในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา รวมทั้งการวางแผนภูมิทัศน์ภายนอกให้เหมาะสมสอดรับกับความเก่าแก่ของตัวอาคาร                ซึ่งภายในตัวอาคารและภายนอกจะมีพื้นที่ใช้สอยราว 28,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 90 ล้านบาท ทำให้พิพิธภัณฑ์เมืองแห่งนี้มีชีวิตตามที่ได้ตั้งเป้าไว้                สำหรับบรรยากาศการเสวนาครั้งนี้มีศิษย์เก่าหลายรุ่นหลายยุค อาทิ นายสมพงษ์ โลมรัตน์ นายอิทธิพล ทองปน ซึ่งเป็นทั้งศิษย์เก่าและเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน น.พ.ดนัย ธีวันดา ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 7 จ.อุบลราชธานี ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก โดยมีการแสดงความเห็นในการอนุรักษ์อย่างหลากหลาย ซึ่งทุกฝ่ายจะหาข้อสรุปเพื่อใช้ดำเนินการทำให้อาคารหลังนี้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตต่อไป (ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 มีนาคม 2555)

ตะลุยพิพิธภัณฑ์ใหม่ในสิงคโปร์

ใครที่เคยบอกว่า ไปเที่ยวสิงคโปร์ครั้งสองครั้งก็เที่ยวหมดแล้ว คงต้องเปลี่ยนคำพูดกันซะแล้ว และรีบหาเวลาว่างไปเที่ยวสิงคโปร์อีกรอบ เพราะล่าสุดมีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ และเครื่องเล่นชนิดใหม่ที่บอกได้คำเดียวว่า พลาดแล้วจะต้องเสียใจ!   เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ สถานที่ที่มักจะอยู่ในโปรแกรมเที่ยวเสมอคงหนีไม่พ้นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น พระราชวังโบราณ หอสมุดแห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑ์ เพราะนอกจากจะได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่แห่งนั้น เมืองนั้น หรือประเทศนั้นแล้ว เรามักจะได้ความรู้ใหม่ๆ หรือข้อมูลที่น่าสนใจอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่สิงคโปร์ และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์เรือเดินสมุทร” แห่งแรกของประเทศสิงคโปร์ ในรีสอร์ท เวิลด์ เซ็นโตซ่า ชื่อ มารีไทม์ เอ็กซ์เปอร์เรนเชียล มิวเซียม แอนด์ อะควาเรียม   ความโดดเด่นเริ่มตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างพิพิธภัณฑ์จากด้านนอกเข้าไปถึงด้าน เพราะออกแบบให้ตั้งอยู่บนเรือที่สร้างจากเหล็ก และกระจก ลอยตระหง่านอยู่บนน้ำ และภายในยังซ่อนเรือโบราณจำลองขนาดเท่าของจริงอยู่อีกหนึ่งลำ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกันชื่อดัง ราล์ฟ อัพเพลโบม ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบ และวางแผนพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเคยสร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในโลกอีกด้วย เมื่อย่างก้าวเข้าไปข้างในจะรู้สึกราวกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปสู่ยุคทองของการสำรวจทางทะเลของเส้นทางสายไหม ซึ่งถือเป็นเส้นทางการค้าขายสมัยโบราณที่มีความสำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศฝั่งตะวันออกกับตะวัน ตกเข้าด้วยกัน สิ่งที่คอยต้อนรับท่านอยู่ตรงกลางของพิพิธภัณฑ์ คือ หัวเรือจำลองเบาฉวน ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของพลเรือเอกเจิ้งเหอ นักสำรวจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน เรื่องราวการผจญภัยของเขาถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของวีดิโอแอนิเมชั่น ฉายในโรงภาพยนตร์แบบเปิด เดินมาเรื่อยๆ จะพบกับ ซุก แกลอรี่ (Souk Gallery) เพลิดเพลินไปกับนิทรรศการประวัติศาสตร์แบบมัลติมีเดียเชิงโต้ตอบ ภาพประกอบที่สวยงาม และเสียงดนตรีประหนึ่งเข้าไปอยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าสมัยโบราณ ซึ่งมีถึง 7 แห่ง 7 เมือง ระหว่างเมืองจีนไปยังแอฟริกา จัดแสดงสินค้าที่มีค่าของแต่ละเมือง มีตั้งแต่ ผ้าไหม ผ้าทอมือ ผ้าส่าหรี ชุดกาน้ำชา เครื่องประดับทำมือ ไปจนถึง ข้าวสาร ผลไม้ เครื่องเทศ แร่ธาตุ และอัญมณีหายาก   เมื่อเดินถึงด้านหลังของหัวเรือ เป็นที่ตั้งของเรือ จิวเวล ออฟ มุสแคท จำลองมาจากเรืออาหรับในศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นของกำนัลที่ทางสิงคโปร์ได้รับมาจากโอมาน มีความยาวถึง 18 เมตร กว้าง 6 เมตร เป็นเรือที่สร้างขึ้นโดยไม่ใช่ตะปูเลยแม้แต่ตัวเดียว แต่ใช้กากมะพร้าวเป็นตัวประกอบชิ้นส่วนเรือเข้าด้วยกัน อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ไต้ฝุ่น เธียเตอร์ โรงภาพยนตร์มัลติมีเดีย 360 องศา ขนาด 150 ที่นั่ง ที่จะนำพาท่านนั่งเรือสินค้าโบราณที่อับปางใกล้สิงคโปร์เมื่อ 1,100 ปีก่อน ตามรอยการเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปีของพลเรือเอกเจิ้งเหอ ที่ต้องฝ่าพายุ ลมมรสุมที่พัดกระหน่ำรุนแรง กระทั่งเรือแตก และจมลึกลงไปในใต้ท้องทะเลลึกในที่สุด ที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อยู่ตรงที่ให้ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้สำรวจ เรียนรู้ และทดลองร่วมกิจกรรมหลายๆ อย่างที่จัดขึ้นในแต่ละโซนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพับเรือจำลอง การถ่ายภาพในชุดสมัยโบราณผ่านจอ การปั้น และวาดลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาด้วยตัวเองผ่านจอ หรือจะเล่นเพลงด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดผ่านโปรแกรมระบบสัมผัส ฯลฯ อีกมากมาย ทุกกิจกรรมมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หรืออาจารย์ระดับมืออาชีพคอยดูแล และให้ความรู้ตลอด เรียกได้ว่า เรียนรู้ไปด้วย และเสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยนั่นเอง   สำหรับบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เรือเดินสมุทร เริ่มต้นที่ 2 เหรียญดอลล่าร์สิงคโปร์ (หรือราว 50 บาท) สำหรับเด็กอายุ 4- 12 ปี, 3 เหรียญดอลล่าร์สิงคโปร์ สำหรับผู้สูงวัย อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และ 5 เหรียญดอลล่าร์สิงคโปร์ สำหรับผู้ใหญ่ เปิดทำการทุกวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เวลา 10.00-19.00 น. วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-21.00 น. ชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rwsentosa.com (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 19 มีนาคม 2555)

ราชภัฏโคราชเชิญชมเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือน

สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้พัฒนาเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) ซึ่งเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสื่อมัลติมีเดียในการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ รวมทั้งส่วนอื่น ๆเช่น ฟอสซิล 360 องศา ฟอสซิล 3 มิติ และเกมส์ ซึ่งเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้น เป็นการจำลองบรรยากาศเสมือนจริงในพิพิธภัณฑ์ให้ทุกท่านได้รับชม ผ่านทาง www.khoratfossil.org โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ติดต่อ: บุษบาบรรณ ไชยศิริ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ติดต่อได้ที่: nrrupr@gmail.com โทร. 0-4400-9009

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายาครั้งที่ 2

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายครั้งที่ 2 โดยมีการคัดเลือกภาพยนตร์สารคดีที่น่าสนใจจากทั่วโลก และ การประกวดภาพยนตร์สารคดีจากประเทศอาเซียน จัดฉายให้ดูระหว่างวันที่ 20- 25 มีนาคม พร้อมทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการจากผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชื่อดัง ส่วนที่ 26 – 27 มีนาคม หอภาพยนตร์ฯ โดยการสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ในประเทศอาเซียน และ มูลนิธิหนังไทย จะจัดการสัมมนาเชิงกลยุทธ์ด้านการสร้างภาพยนตร์สารคดี โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหาทุนสร้างภาพยนตร์สารคดี, การควบคุมและเซ็นเซอร์เนื้อหาภาพยนตร์, ช่องทางการเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีในยุคปัจจุบัน ฯลฯ โดยมีวิทยากรจากหลากหลายประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ (การสัมมนาเชิงกลยุทธ์นี้ จะจัดเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีล่ามแปลภาษาไทย) ทั้งหมดนี้ จะจัดที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ฯ (ถ.พุทธมณฑลสาย 5) นอกจากนี้ จะมีการจัดฉายภาพยนตร์สารคดีบางครั้งอีกครั้งที่ห้องออดิทอเรี่ยมชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม และ อาทิตย์ที่ 1 เมษายน ศกนี้ อีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี้ เร็วๆ นี้ (http://salayadoc.blog.com/2012/03/02/intro/)

อาร์เจนตินาสร้างพิพิธภัณฑ์แด่ทหารสงครามฟอล์คแลนด์

อีกเพียงเกือบหนึ่งเดือนจะถึงวันครบรอบ 30 ปีของสงครามแย่งชิงเกาะฟอล์คแลนด์ระหว่างอาร์เจนตินาและอังกฤษ ล่าสุดอาร์เจนตินาเตรียมสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่ออุทิศให้กับทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนั้น  ประธานาธิบดีคริสติน่า เฟอร์นันเดซ เคิร์ชเนอร์ แถลงข่าวเปิดตัวรูปแบบจำลองพิพิธภัณฑ์เมื่อวาน โดยประกาศว่า การสร้างพิพิธภัณฑ์ที่จะใช้งบก่อสร้าง 20 ล้านดอลาร์สหรัฐนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ทหารกว่า 300 นายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่อังกฤษยิงจมเรือรบ เบลกราโน่ ในช่วงสงครามแย่งชิงเกาะฟอล์คแลนด์ที่กินเวลานาน 74 วัน พิพิธภัณฑ์จะถูกสร้างขึ้นในอดีตโรงเรียนนายเรือ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่กักขังในยุคเผด็จการทหารระหว่างปี 2519-2526 และกำหนดเปิดในเดือนส.ค.ปีหน้า การแถลงข่าวก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้มีขึ้นเพียงเกือบหนึ่งเดือนก่อนที่จะถึงวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 30 ปีของการเริ่มต้นสงครามที่อาร์เจนตินายกทัพบุกเกาะแห่งนี้ ซึ่งอาร์เจนตินาเรียกว่าเกาะมาลวินาส สงครามสิ้นสุดลงโดยอาร์เจนตินาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สูญเสียทหารไป 649 นายและอังกฤษสูญเสียทหาร 255 นาย เฟอร์นันเดซ ยืนยันว่า อาร์เจนตินาไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเจ็บปวดให้กับใคร แต่ต้องการปกป้องสิทธิและกฎหมายระหว่างประเทศและเจตนารมณ์ของมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2508 ที่ให้สองฝ่ายเจรจากันอย่างสันติเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้ (nationchannel-breakingnews วันที่ 6 มีนาคม 2555)

เสวนาทางวิชาการ เรื่อง "เจาะลึกการทำงานในพิพิธภัณฑ์"

สมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดบรรยายและเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "เจาะลึกการทำงานในพิพิธภัณฑ์" ในวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2555 เวลา 10.00 - 16.00 น. ณ ห้องกาลิเลโอ ชั้น 4 จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จามจุรีสแควร์ สามย่าน กทม. พบกับวิทยากร Mr.Carl Patterson อดีต ผอ.ฝ่ายอนุรักษ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองเดนเวอร์ มาบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ การสงวนรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ กรณีศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองเดนเวอร์ และ Ms.Mary Lanius ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาและศิลปะอินเดีย ม.เดนเวอร์ บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ การจัดตั้งและการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ชุมชน กรณีศึกษาจากการอนุรักษ์และพัฒนาโรงแรมในเหมืองแร่เงินเก่า พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเสวนาในหัวข้อ ชุมชนอาสาพิพิธภัณฑ์ อาทิ ดร.อุดม สมพร บุคคลดีเด่นของชาติและ ผอ.จิปาถะภันธ์สถานบ้านคูบัว Mrs.Ines Ehrich ประธานกลุ่มอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อ.สมลักษณ์ เจริญพจ อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร และที่ปรึกษาสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ดำเนินการเสวนาโดย อ.สมชาย ณ นครหนม นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 081-558-3593  สมชาย ณ นครพนม 086-008-2541  สุจิตร สุวภาพ 084-165-7432  เอกริน ลัทธศักย์ศิริ

ม.บูรพาชวน ฟัง-คุย-ดม-ชม-ชิม กับ "นิทรรศการมีชีวิต" มิวเซียมสยาม

ผศ. ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในอดีตคนไทยมักจะเรียกประเทศโปรตุเกสว่า พุทธเกตุ หรือ ปะตุกัน ซึ่งเป็นสำเนียงไทยที่ได้ออกเสียงเพี้ยนไป ชาวโปรตุเกสเป็นนักเดินทาง จนถือว่าเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่สำคัญของโลกเมื่อ 500 ปีก่อน สาเหตุสำคัญที่ต้องออกมาเป็นนักเดินทางคือเรื่องการค้า และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ โดยสินค้าที่โปรตุเกสสนใจในดินแดนแถบนี้คือเครื่องเทศ ซึ่งจะมีคุณค่าและราคาสูงลิบลิ่วเมื่อนำกลับไปขายยังทวีปยุโรป จนถึงขนาดเรียกเครื่องเทศทองคำ                "ส่วนการเผยแผ่ศาสนานั้น เมื่อได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 โปรตุเกสก็เริ่มออกเดินทางในทันที ในสมัยอยุธยาเริ่มปรากฏศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิต ซึ่งเป็นของโปรตุเกส ก่อนสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ 200 ปี ส่วนการเข้ามาเป็นทหารรับจ้าง และพ่อค้าอาวุธสงครามนั้น เริ่มปรากฎเป็นครั้งแรกสมัยอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราช"                นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ได้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในปี พ.ศ. 2054 นับถึงปัจจุบันโปรตุเกส-สยาม (ไทย) มีสัมพันธไมตรีกันมายาวนาน 500 ปี ซึ่งเป็นเวลายาวนานที่สุดจากในบรรดาชาติตะวันตกทั้งมวล ความสัมพันธ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมเปิดของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งสามารถทำการค้ากับนานาชาติและต้อนรับชาวต่างชาติจากทั่วโลก อีกทั้งพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันและอดีต ที่ทรงริเริ่มและเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติมหาอำนาจตะวันตกได้ในฐานะเป็นรัฐที่เท่าเทียมกันตลอดมา                “นิทรรศการ “Olá Sião 500 ปี ไทย-โปรตุเกส” ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของวงการพิพิธภัณฑ์ไทย ที่ได้มีการจัดนิทรรศการพิเศษที่ไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ โดยผู้ชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวสำคัญต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่องจากนักแสดงที่สวมบทบาทเป็นชาวโปรตุเกสผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสยาม ในชุดแต่งกายสมจริง เพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปกับบรรยากาศจำลอง ซึ่ง ภาพจำ ที่เกิดขึ้นจากการชมนิทรรศการมีชีวิตครั้งนี้ เราคาดหวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจ และจดจำ ได้มากกว่าการอ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว” นายราเมศ กล่าว                ภายในงานนิทรรศการครั้งนี้จะมีนักแสดงกว่า 10 ชีวิต สวมบทเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์สำคัญ 8 บทบาท ได้แก่ อัลฟองซู ดือ อัลบูแกร์เกอ, โดมิงกูซ ดือ ไซซ่าส์, ฟรานซิส จิตร, ดอญ่า กูโยมาร์ เดอ ปินา หรือ มารี กีมาร์, ปินตู, คริสเตียโน โรนัลโด, บาทหลวง และหญิงสาวชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งเป็นบุคคลที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ในรูปของศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ที่หลอมรวมกันระหว่างโปรตุเกสและสยามจนกลายเป็นมรดกสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ควบคู่ไปกับการนำเสนอภาพและอุปกรณ์ประกอบที่มีสีสันสดใส โดยวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ชมจะได้ชิมอาหารโปรตุเกสคาวหวานหลากหลายชนิด ซึ่งบางเมนูเริ่มหารับประทานได้ยากมากขึ้น คุณจุลลดา มีจุล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า การรับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของโปรตุเกสและสยามค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยในปัจจุบันมักจะอยู่ในวงวิชาการ มิวเซียมสยามจึงหยิบยกเอาประเด็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยามมานำเสนอในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิตให้เหมาะกับยุคสมัย ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงพื้นหลังของโปรตุเกสและสยามประเทศเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมาได้เข้าใจมากขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 29 เมษายน 2555 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-225-2777 ต่อ 407 หรือ  http://www.facebook.com/museumsiamfan และ  http://www.museumsiam.com/