สร้างอาคารเรียนไม้ตะเคียนเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานี

  ที่ลานหน้าอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเก่า ถนนอุปราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กลุ่มสื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระดมความเห็นการอนุรักษ์อาคารโรงเรียนเบญจะมะมหาราชที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลังอายุกว่าร้อยปี ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยเชิญนักประวัติศาสตร์สถาปนิก และศิษย์เก่าหลายรุ่นร่วมแสดงความเห็น โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินรายการ
       
       ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวถึงความเป็นมาของอาคารหลังนี้ว่า เดิมตั้งอยู่หลังอาคารศาลากลางหลังเก่าที่ถูกเผาจากเหตุการณ์ปี 2553 โดยถูกปล่อยทิ้งร้างนานหลายสิบปี กระทั่งเมื่อปี 2541 มีคนเสนอให้รื้ออาคารออก เพื่อทำเป็นที่จอดรถของหัวหน้าส่วนราชการ
       
       แต่นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น ซึ่งไม่ใช่ศิษย์เก่าและไม่ใช่คนเมืองอุบลราชธานี แต่คัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตของเมืองอุบลราชธานี ควบคู่ไปกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เคียงกัน
       
       กระทั่งปี 2543 พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ศิษย์เก่าได้ชักชวนเพื่อนร่วมหารือที่จะอนุรักษ์อาคารไม้ตะเคียนหลังนี้ไว้ จนถึงปี 2545 กรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนอาคารให้เป็นโบราณสถานประจำจังหวัด ทำให้ศิษย์เก่าโล่งใจต่อไปไม่มีใครสามารถมารื้ออาคารออกไปได้ จึงได้ช่วยกันเสนอของบประมาณจำนวน 13 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงบูรณะตัวอาคารให้ดีขึ้นในปี 2551 และทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า จะใช้อาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง
       
       โดยจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอย ทั้งการเล่าเรื่องราวในอดีตถึงปัจจุบัน โดยทำเป็นกิจกรรมรายวัน เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ไม่ใช่ใช้เก็บแต่ของเก่า และให้เยาวชนได้เข้ามาศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ จึงมีการออกแบบแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับตัวอาคารและภูมิทัศน์รอบตัวอาคารไปแล้วระดับหนึ่ง พร้อมทั้งจะระดมความเห็นการปรับปรุงต่อสาธารณชนต่อไปด้วย
       
       ด้าน ดร.วรงค์ นัยวินิจ คณะทำงานวิจัยโบราณสถานโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (ฝ่ายออกแบบภูมิทัศน์) กล่าวว่า อาคารของโรงเรียนแห่งนี้เป็นศิลปฮอนแลนด์ผสมไทย การออกแบบส่วนที่ยากที่สุดคือ แนวคิดการผสมผสานกับประวัติศาสตร์ของตัวอาคารในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา รวมทั้งการวางแผนภูมิทัศน์ภายนอกให้เหมาะสมสอดรับกับความเก่าแก่ของตัวอาคาร
       
       ซึ่งภายในตัวอาคารและภายนอกจะมีพื้นที่ใช้สอยราว 28,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 90 ล้านบาท ทำให้พิพิธภัณฑ์เมืองแห่งนี้มีชีวิตตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
       
       สำหรับบรรยากาศการเสวนาครั้งนี้มีศิษย์เก่าหลายรุ่นหลายยุค อาทิ นายสมพงษ์ โลมรัตน์ นายอิทธิพล ทองปน ซึ่งเป็นทั้งศิษย์เก่าและเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน น.พ.ดนัย ธีวันดา ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 7 จ.อุบลราชธานี ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก โดยมีการแสดงความเห็นในการอนุรักษ์อย่างหลากหลาย ซึ่งทุกฝ่ายจะหาข้อสรุปเพื่อใช้ดำเนินการทำให้อาคารหลังนี้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตต่อไป
(ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 มีนาคม 2555)

เผยแพร่เมื่อ: 21 มีนาคม 2555