ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

ขอเชิญฟังเพลงอมตะย้อนอดีต ยุค sixty

ด้วย “ชมรมคนรักษ์เพลง” เป็นกลุ่มบุคคลจากหลายอาชีพรวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่เพลงเก่าที่ทรงคุณค่าและทำกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศล ตามสถานการณ์อันสมควร และจากเหตุการณ์น้ำท่วม เมื่อปลายปี 2554 ทำให้มีผู้ประสบปัญหาได้รับความเสียหายมากมาย ในจำนวนนั้นรวมถึงพิพิธภัณฑ์ของเอกชนที่เก็บรวบวมเรื่องราวในอดีตของชาติไว้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว คือ พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง ของคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ และ บ้านพิพิธภัณฑ์ ของคุณเอนก นาวิกมูล สิ่งที่สูญเสียไปกับน้ำเป็นจำนวนมากและยากที่บูรณะให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นโบราณ, ภาพเหตุการณ์ต่างๆ, แผ่นเสียงเพลงต้นฉบับ, โน๊ตเพลงและเนื้อเพลงต้นฉบับจากลายมือครูเพลงฯลฯ ชมรมฯ จึงตั้งใจที่จะจัดคอนเสิร์ต“ เพลงเก่า เล่าเรื่อง ” เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย มอบแก่พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง และ บ้านพิพิธภัณฑ์ เพื่อบูรณะสถานที่และจัด หาของเก่า, แผ่นเสียงเก่ามาจัดแสดงให้เราได้ดูดังเดิม  คอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นการบรรเลงเพลง โดยวง“ Nice Orchestra ” เป็นเพลงสากลในยุค sixty และเพลงลูกทุ่งในยุดเดียวกัน ยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นและเสียงเพลง แม้แฟชั่นจะเปลี่ยนไปแต่เพลงในยุคนั้นยังเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ฟังเพลงจากศิลปินแห่งชาติ ผ่องศรี วรนุช และ ชาย เมืองสิงห์ ร่วมด้วยนักร้องอมตะ วิชัย ปุญญะยันต์, สมชัย ขำเลิศกุล, สุรชัย สมบัติเจริญ, ปกรณ์ พรพิสุทธิ์, ไชยา มิตรชัย, ชมพู ฟรุตตี้, ศิริมา สุนทรรังษี, น้ำอ้อย พรวิเชียร, สัญญา พรนารายณ์, ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด จารึก วิรัยะกิจ, จรวยพร จิตรีญาติ และดำเนินรายการโดย ณรงค์ ปานเจริญ และ เจนภพ จบกระบวนวรรณ ซึ่งจะจัดในวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม 2555 เวลา 13.30 น. ณ โรงละครแห่งชาติ รายการพิเศษก่อนการแสดง ได้รับเกียรติจากคุณปิยะนุช นาคคง เจ้าของพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน จะนำของจิ๋วมาแสดง และจะนำชุดของจิ๋วมาประมูลเพื่อนำรายได้สบทบคอนเสิร์ตการกุศลครั้งนี้ ร่วมกับการประมูลของรักของนักร้องที่มาร้องเพลงให้ฟังแล้ว ยังนำของรักมาร่วมประมูลด้วย ติดต่อจองบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ 0-2262-3456 www.thaiticketmajor.com ที่โรงละครแห่งชาติ  0-2224-1342 / 08-5345-9209 และ 08-1453-6830 (ThaiPR.net  วันที่ 9 กรกฎาคม 2555)   

ขอเชิญเข้าชมนิทรรศการศิลปะของกลุ่ม Confluence of 9

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ร่วมกับกลุ่ม Confluence of 9 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญท่านเข้าชมนิทรรศการ ศิลปะของกลุ่ม Confluence of 9 ตั้งแต่วันที่ 5 – 29 กรกฎาคม 2555 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 – 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป  กลุ่ม Confluence of 9 เกิดจากการรวมตัวของ Senior Constructor ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 9 ท่าน ได้แก่ รศ.พงศ์เดช ไชยคุตร (คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว รศ.เกศ ชวนะลิขิกร รศ.รสริน กาสต์  Mr.Richard Grast Prof. Kazuhiro Abe จากวิทยาลัยเซบิ อังคุเอง ประเทศญี่ปุ่น Prof. Antony Sepata จากศูนย์ศิลปะ พาซาดินา ประเทศสหรัฐอเมริกา Mr.Michael Kamson จากวิทยาลัยศิลปะ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวล ประเทศออสเตรเลีย และ Minus Ground Zero ผลงานทัศนศิลป์จำนวนกว่า 100 ชิ้น หลายรูปแบบ หลากเทคนิค มากมุมมอง สะท้อนแนวคิดของศิลปิน ส่งตรงจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าชมได้ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ภิกษุ สามเณร ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2281-2224

สตง.ตามบี้เช็กบิลทุจริตพิพิธภัณฑ์ปลาบึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่จากสำนัก งานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เดินทางลงพื้นที่ชายแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้าตรวจสอบและเรียกดูเอกสารพร้อมลงลึกสอบรายละเอียดจากผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละแผนกในเทศบาล ต.เวียงเชียงของ ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตบริหารจัดการ ทต.เวียงเชียงของจากอดีตผู้บริหารเทศบาลหลายชุดที่ผ่านมา โดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นานร่วมสัปดาห์ เพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานให้มากที่สุด แหล่งข่าวใน ทต.เวียงเชียงของ เปิดเผยว่า การบริหารงานของเทศบาล ต.เวียงเชียงของมีการโกงกินกันมานาน บางรายกระทำการทุจริตในห้วงที่เข้ามาบริหาร โดยเจ้าหน้าที่ของ สตง.ได้ปิดประเด็นการสอบสวนทั้งหมดเป็นความลับ ไม่มีการแพร่งพรายหรือแจ้งให้ทางเทศบาลได้รับทราบ เนื่องจากต้องการหาตัวคนที่กระทำผิดทุกคนมาลงโทษ แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ที่ชัดเจนในการสอบสวนของ สตง.มีเรื่องการทุจริตก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ปลาบึกน้ำโขง บ้านหาดไคร้ หมู่ 7 ซึ่งก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 9,000,000 บาท ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เพื่อจัดแสดงพันธุ์ปลาต่างๆ ที่มีในแม่น้ำโขง รวมทั้งซากสตัฟฟ์ปลาบึก อุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลาบึก เป็นศูนย์ศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับการจับปลา การเพาะพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงแห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในโลก แต่อาคารดังกล่าวกลับไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากมีการทุจริตการก่อสร้างการออกแบบตัวอาคารผิดจากความเป็นจริง มีตะไคร่น้ำจับตัวหนาในตู้โชว์ปลาบึก ปัญหาเรื่องน้ำรั่วซึมทุกพื้นที่ ระบบการกรองน้ำใช้การไม่ได้ มีปัญหาการทรุดตัวของอาคารจนเกิดรอยร้าวโดยรอบ "ทั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องเก่าแต่เป็นเรื่องการทุจริตที่ทำให้เงินของรัฐเสียหายไปถึง 9 ล้านบาท มีความคาบเกี่ยวกับอดีตผู้บริหารบางรายที่เสียชีวิตไปแล้วก็มี และที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตก็ได้โยกย้ายไปอยู่ที่อื่นแต่ทั้งนี้ คดีความคำสั่งศาลให้ชดใช้ยังมีปรากฏ แต่ไม่เคยมีผู้บริหารรายใดเข้ามาติดตามทวงถามความชอบธรรมให้องค์กรและเงินของแผ่นดิน การเข้ามาของ สตง.นอกจากจะเร่งรัดติดตามคดีค้างเก่าแล้ว เจ้าหน้าที่ในแผนกการคลัง สำนักปลัดโยธาฯ ก็ต้องถูกสอบสวนหลายคน เพราะในยุคหลัง 8 ปีที่ผ่านมามีการทุจริตมากมาย ทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่หวาดหวั่นมาก เพราะหาก สตง.รวบรวมหลักฐานชี้มูลความผิดได้ก็จะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด (ไทยโพสต์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2555)  

ไฟไหม้เสียหาย 'เรือหลวงลันตา' ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์

เกิดเหตุเพลิงไหม้เรือรบหลวงลันตา ที่หน้า อบจ.กระบี่ ที่เตรียมจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ เบื้องต้นพบจุดเพลิงไหม้อยู่ใต้ท้องเรือภายในห้องเครื่อง คาดต้นเพลิงมาจากสะเก็ดไฟจากการเชื่อมไปถูกน้ำมัน... เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 ก.ค. 2555 พ.ต.ท.ธงชัย เส้งรอด สารวัตรเวรสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุสภ.เมืองกระบี่ ว่ามีเหตุเพลิงไหม้ภายในเรือรบหลวงลันตา ที่หน้า อบจ.กระบี่ หมู่ 7 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ ติดกับท่าเรือโดยสารท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด หลังรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบ พบรถดับเพลิงของ อบจ. กำลังฉีดน้ำสกัดเพลิงภายในตัวเรือ จากนั้นได้ประสานไปยังเทศบาลเมืองกระบี่ และ อบต.ไสไทย อบต.อ่าวนาง นำรถฉีดน้ำเข้าสกัดเพลิง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงสามารถสกัดเพลิงไว้ได้ จากการตรวจสอบพบว่า ต้นเพลิงน่าจะอยู่ที่บริเวณด้านใต้ท้องเรือบริเวณห้องเครื่อง ซึ่งมีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการซ่อมแซมเรือลำดังกล่าว แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า มีส่วนที่ได้รับความเสียหายเพียงด้านล่างเท่านั้น ซึ่งจะได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่ามีอะไรเสียหายบ้าง ส่วนสาเหตุในครั้งนี้จากการสันนิษฐาน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจากการเชื่อมเหล็กของช่างที่ลงไปทำงานด้านใต้ท้องเรือบริเวณห้องเครื่อง ซึ่งในจุดดังกล่าวมีคราบน้ำมันอาจเกิดจากสะเก็ดไฟ กระเด็นไปถูกจนเกิดเพลิงลุกขึ้นมา แต่โชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ส่วนค่าความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ สำหรับเรือรบหลวงลันตาลำดังกล่าว เป็นเรือยกพลขึ้นบกและเรือลาดตระเวนขนาดใหญ่ มีขนาดความยาว 98 เมตร กว้าง 15.5 เมตร สร้างเมื่อปี 2488 โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ จากนั้นเมื่อปี 2513 ได้ส่งมอบให้กองทัพเรือไทยและได้รับการพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อ เรือหลวงลันตา 714 จนกระทั่งปี 2542 ได้ปลดประจำการ จากนั้นทาง อบจ.กระบี่ ได้ขอจากกองทัพเรือมาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาของเยาวชนในจังหวัดกระบี่. (ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 3 กรกฎาคม 2555)

"หนังสั้นมาราธอน"

เชิญชวนเพื่อนๆ เข้าร่วมชมผลงานภาพยนตร์สั้นไทยทุกรูปแบบ ในงานหนังสั้นมาราธอน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่งของเทศกาลภาพยนตร์สั้น โดยภายในงานจะมีการฉายภาพยนตร์สั้นของไทยทุกเรื่อง ที่ร่วมส่งเข้าประกวดในงาน "เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16" ถือเป็นการโหมโรงก่อนจะเทศกาลจริงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคมนี้ (ยกเว้นวันจันทร์ และ วันที่ 10 – 15 กรกฎาคม) ที่ชั้น 4 ห้องประชุม 401 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยวันธรรมดาจะเริ่มฉายเวลา 17.30 – 20.30 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะฉายตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.30 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิหนังไทย 080-557-9709 หรือ thaishortfilmfestival@gmail.com และ ติดตามตารางหนังสั้นมาราธอนได้ที่ http://www.thaifilm.com/ หรือ Facebook Fan Page : 16th Thai Short Film and Video Festival

วธ.นำงานศิลปินโชว์พิพิธภัณฑ์เอกชน

นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ ว่า พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของภาคเอกชนแห่งแรกๆของไทย โดยได้เก็บรวบรวมผลงานของศิลปินแห่งชาติ และศิลปินร่วมสมัยของไทย และศิลปินชื่อดังชาวต่างชาติที่ทรงคุณค่าเอาไว้จำนวนมาก และมีการดำเนินการที่ทันสมัย ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้งานศิลปะ ควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองไทย สอดคล้องกับนโยบาย ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการพัฒนา และค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นในประเทศ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพของการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานไม่แพ้นานาชาติ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยก็ตาม รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่าได้หารือ กับนายบุญชัย เบญจรงคกุล ซึ่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ โดยมีแนวคิดที่จะนำผลงานศิลปินของไทย ในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวภายในพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย MOCA เพื่อเปิดพื้นที่การจัดแสดงให้แก่ศิลปินแต่ละสาขา รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับชมผลงานของศิลปินที่ตนเองชื่นชอบได้อย่างใกล้ชิด โดยได้มอบให้ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และนายชาย นครชัย ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ไปศึกษาแนวทางในการบูรณาการการดำเนินงานแล้ว เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 หน่วยงาน ให้การสนับสนุนทั้งศิลปิน และผลงานของศิลปิน "ดิฉันเห็นว่า การพัฒนาหอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากที่ทรุดโทรม และขาดการดูแล รวมถึงในอนาคต เราจะมีการสร้างหอศิลป์ร่วมสมัย ซึ่งได้รับการอนุมัติวงเงินในการก่อสร้างมาแล้ว จำนวน 900 ล้านบาท ซึ่งตน จะมอบหมายให้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ศึกษาแนวทางการดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ รวมทั้งยังสามารถจะใช้ประโยชน์ทางด้านศิลปะได้หลายด้าน" นางสุกุมล กล่าว (เนชั่นแชลแนล วันที่ 2 กรกฎาคม 2555)

นิทรรศการ "กินของเน่า"

คุณกิน “ของเน่า” คุณนั่นแหละกินของเน่า ยิ่งเน่าก็ยิ่งอร่อย ยิ่งเน่าก็ยิ่งกิน และคุณกินของเน่าเข้าไปแล้ว! จะไม่ให้เน่าได้ไง ลองนึกดู อาหารส่วนมากที่เรากินล้วนถูกย่อยหรือแปรสภาพโดยจุลินทรีย์มาก่อนทั้งนั้น แต่ด้วยความช่างสังเกตและการทดลองเป็นศตวรรษ เราจึงเลือกเวลาในการนำของเน่ามารับประทานโดยไม่เกิดโรค ของเน่าที่เรากินจึงมัก “เน่า” จน “เกินเน่า” กลับกลายเป็นของอร่อย ที่เก็บไว้กินได้นาน  ถ้ายังนึกไม่ออก ลองมาดูที่นิทรรศการ "กินของเน่า" 10 ก.ค. - 4 พ.ย. 55 ที่ มิวเซียมสยาม ฟรี!! ติดตามรายละเอียดได้ https://www.facebook.com/museumsiamfan เร็ว ๆ นี้

เดินย้อนรอยพิพิธศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 3

ชมรมพิพิธสยาม ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม เดินย้อนรอยพิพิธศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 3 อภิเนาว์สถานวังเจ้า "จากวังเดิม สู่ วังหลัง" ในวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 8.30 - 17.00 น. ณ พระราชวังเดิมธนบุรี (ภายในกองทัพเรือ) และ ศิริราชพยาบาล (รวมพื้นที่ต่อเนื่องของแนววังหลังเดิมตั้งแต่วัดระฆังโฆษิตาราม -กำแพงวังสวนมังคุด)  ชมพระราชวังเดิมธนบุรี สถานที่ประทับในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อครั้ง กรุงธนบุรีเป็นราชธานี 15 ปี ซากกำแพงเก่าแก่ของวังสวนมังคุด หอไตรวัดระฆังที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1   ชมพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของโรงพยาบาลความก้าวหน้าทางการแพทย์และสถานที่สำคัญ 120 ชิ้นเอก ของศิริราชพยาบาลที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้เรื่องราวต่างๆ ของสถานที่เหล่านี้ และเรื่องราวอันทรงคุณค่าจากอดีตถึงปัจจุบันของศิริราชพยาบาลที่คุณจะประทับใจกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เคียงคู่กับวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ไทย ท้ายสุดของรายการจะพาไปเยี่ยมชมร้านโกลเด้นท์เพลส ร้านภายในโครงการส่วนพระองค์ฯ เลือกชมเลือกซื้อสินค้าจากโครงการหลวงตามอัธยาศัย และคุณจะรักพระราชวังเดิมธนบุรี และรู้จักศิริราชพยาบาลมากขึ้น เปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 - 28 มิถุนายน 2555 ตั้งแต่เวลา 9.30 - 17.00 น. ที่ โทร 085-222-6256 ค่าลงทะเบียนท่านละ 340 บาท (รวมค่าธรรมเนียมเข้าเยี่ยมชมพระราชวังเดิมธนบุรี /วิทยากร/และขนมไทยสูตรชาววัง) รับเพียง 30 ท่านเท่านั้น

วธ.สั่ง 3 หน่วยงานในสังกัด จัดกิจกรรมเสริมความรู้ประวัติศาสตร์

  วธ.เล็งถก ศธ.ดึงเด็กไทยใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ สั่งหอสมุด หอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้                นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมสัมมนาวิชาการ 150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ว่า กรมศิลปากร จัดการสัมมนาขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ครบ 150 ปี และทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย และยังได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย และมองว่า เด็กและเยาวชนไทย ห่างเหินในการเข้าถึงวิชาประวัติศาสตร์ไทย จึงไม่มีความเข้าใจในรากเหง้าตนเอง                 ทาง วธ.จะสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดเจน ว่า เกิดช่องว่างระหว่างเด็กและเยาวชน กับการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติ ส่วนหนึ่ง คิดว่า เกิดจากเด็กได้เข้าถึงเพียงแต่ในชั่วโมงเรียนในโรงเรียนเท่านั้น แต่เด็กยังไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงในสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทั้งพิพิธภัณฑ์ หอสมุด หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ                ทั้งนี้ ตนจะขอหารือกับทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหาแนวทางดึงเด็กและเยาวชนเข้าศึกษาประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ในแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่ง ทาง วธ.ได้ดูแลแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่แล้ว                พร้อมกันนี้ จะให้หน่วยงานต่างๆ ทั้ง หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมหมุนเวียน ในวันสำคัญต่างๆ ที่น่าสนใจ ให้สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กและเยาวชน รวมถึงครอบครัว เข้ามามีส่วนร่วมศึกษา ค้นคว้าข้อมูล เรื่องประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นให้มากขึ้น นอกเหนือจากการเรียน ซึ่งเด็กๆ จะได้รับรู้เพียงบรรยากาศในห้องเรียนเท่านั้น แต่เมื่อมาสัมผัสสถานที่จริง ก็จะทำให้ได้พบได้เห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยหวังว่า จะทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าและหันมาสนใจการศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น (ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 21 มิถุนายน 2555)

โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 3

ความคิดเล็กๆ...ก็เปลี่ยนโลกทั้งใบได้ มิวเซียมสยาม ชวนเยาวชน อายุ 18-25 ปี ส่งแนวคิดเพื่อจัดทำนิทรรศการ ในหัวข้อ “นิทรรศการ...กู้โลก” ต้องอธิบายที่มาของแนวคิดได้อย่างชัดเจนว่านิทรรศการจะนำเสนอเรื่องการกู้โลกรูปแบบไหน อย่างไร โดยสามารถนำเสนอแนวคิดไม่จำกัดรูปแบบ อาทิ ภาพ Perspective, คลิปวีดีโอ, งานโมเดล, ภาพประกอบบรรยาย, เรียงความ หรืออื่นๆ คัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายร่วมแคมป์ “Young Muse Project” วันที่ 20–22 ตุลาคม 2555 ทีมชนะเลิศได้รับทุนผลิตผลงานจริง 300,000 บาท พร้อมดูงานที่ฮ่องกง ภายในแคมป์จะพบกับกิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ กระทบไหล่นักคิดคนดัง อาทิ จิระนันท์ พิตรปรีชา, นิ้วกลม, วรรณสิงห์ พร้อมรับประกาศนียบัตรจากมิวเซียมสยาม การสมัคร - ส่งแนวคิดเพื่อจัดทำนิทรรศการ ในหัวข้อ “นิทรรศการ...กู้โลก” ต้องอธิบายที่มาของแนวคิดได้อย่างชัดเจนว่านิทรรศการจะนำเสนอเรื่องการกู้โลก รูปแบบไหน อย่างไร และต้องมีความเป็นมิวเซียมสยาม โดยสามารถนำเสนอแนวคิดไม่จำกัดรูปแบบ อาทิ ภาพ Perspective, คลิปวีดีโอ, งานโมเดล, ภาพประกอบบรรยาย, เรียงความ หรืออื่นๆ - ส่งผลงานเป็นทีม ทีมละ 3 คน (1 ทีม 1 ผลงาน) - เขียนชื่อทีม ชื่อสมาชิกพร้อมภาพและข้อมูลส่วนตัว (ข้อมูลตามใบสมัคร) ช่องทางการส่งผลงาน - E-mail : youngmuse@hotmail.com  - ทางไปรษณีย์ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพ 10200 (วงเล็บมุมซองว่า Young Muse Project) - ส่งโดยตรงที่มิวเซียมสยาม ฝ่ายกิจกรรมชั้น 4 ส่งได้ตั้งแต่ วันนี้ - 15 กันยายน 2555 ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก 10 ทีม สุดท้าย ทางเว็บไซต์ www.museumsiam.com ในวันที่ 30 กันยายน 2555 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-225-2777 ต่อ 411, 414 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan  ดาวน์โหลดรายละเอียดและใบสมัครได้ที่ :http://www.museumsiam.com/ymp3