ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

กรมศิลป์โชว์เหล็กไหลสมัย ร.5

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน เปิดนิทรรศการงาน 102 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการทำนุบำรุงและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติสู่ประชาชน พร้อมทั้งจัดนิทรรศการพิเศษมรดกล้ำค่าสมเด็จพระปิยมหาราชในมิวเซียมหลวง โดยนำโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าและหาชมได้ยากมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชม นอกจากตราแผ่นดินประจำรัชกาล หีบทองคำลงยา เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ไม้กลายเป็นหิน แล้วไฮไลต์สำคัญวันนี้คือ เหล็กไหล น้ำหนักประมาณ 50-60 กิโลกรัม มีลักษณะมันวาวสีดำ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่หาชมได้ยาก นำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมตั้งแต่บัดนี้ ถึง 30 เม.ย.นี้         พร้อมกันนี้ยังมีการแสดงผลงานของสำนักศิลปากร ทั้ง 15 แห่ง การออกร้านจำหน่ายสินค้าศิลปวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกรมศิลปากรให้ประชาชนได้รับทราบ โดยครั้งนี้กรมศิลปากร ได้เปิดตัวรถโมบายพิพิธภัณฑ์สัญจร ที่ครบวงจรเป็นคันแรก ภายในรถมีการแสดงโบราณวัตถุจำลอง 10 ชิ้น อาทิ ประติมากรรมรูปเคารพอรรธนารีศวร มีอายุเก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อายุ 1,300 ปี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานีแห่งเดียวเท่านั้น พระพุทธรูปทรงเครื่องวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปลีลา พบที่จ.สุโขทัย ภาพสลักยมกปาฏิหาริย์ พบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตะเกียงโรมัน สำริด พบที่ จ.กาญจนบุรี         นอกจากนี้ยังมีการแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เรื่องราวผืนแผ่นดินไทย วิดีทัศน์สารคดีความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ไทย การค้นหาโบราณวัตถุสำคัญๆ ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 200 ชิ้น โดยจะสัญจรให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ในเดือนเมษายนนี้ โดยโรงเรียนใดสนใจประสานมายังกรมศิลปากรได้   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 มีนาคม 2556

เลือกลำปางสร้างพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ร้อยล้าน

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า นับเป็นโชคดีของจังหวัดที่กรมทรัพยากรณีได้เลือกลำปางเป็นพื้นที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา และศูนย์ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์และทรัพยากรธรณี เพื่อจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ เช่น ไดโนเสาร์ ช้างโบราณสี่งา มนุษย์โบราณเกาะคา การกำเนิดโลก องค์ประกอบของโลก อุกกาบาต ภูเขาไฟระเบิด ด้านทรัพยากรธรณี เช่น หินชนิดต่างๆ และการใช้ประโยชน์ ด้านทรัพยากรแร่ เช่น แร่ดินขาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก ถ่านหินลิกไนต์ ด้านธรณีพิบัติภัย เช่น รอยเลื่อน แผ่นดินไหว และดินถล่ม เป็นต้น ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา         “พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง จะก่อสร้างในเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลเกาะคา อ.เกาะคา ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอาคาร 3 ชั้น เนื้อที่ใช้สอย 7,038 ตารางเมตร งบประมาณ 100 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ปลายปี 2558”         นายธวัชชัยกล่าวว่า เมื่อก่อสร้างและตกแต่งเสร็จ พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง จะเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ทางวิชาการเกี่ยวซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา สำหรับนักเรียน นิสิต นักศีกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาศรษฐกิจและสังคม ทำรายได้เพิ่มให้กับท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง         และวันนี้ (18 มี.ค.) นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง บริเวณเทศบาลตำบลเกาะคา   ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 17 มีนาคม 2556

นิทรรศการ รำลึกจิตรกรรม คำกวี อังคาร กัลยาณพงศ์

พิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเชิญท่านเข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการรำลึกจิตรกรรม คำกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2556 เวลา 18.00 น. ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน นิทรรศการ "รำลึกจิตรกรรม คำกวี อังคาร กัลยาณพงศ์" เป็นการย้อนความทรงจำถึงศิลปินที่ได้เสียชีวิตไปไม่นาน โดยแบ่งผลงานของอังคาร กัลยาณพงศ์ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย งานวรรณกรรม งานจิตรกรรม และงานร่วมวิจัยคัดลอกจิตรกรรมโบราณ เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสทำงานกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ผลงานทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ ในอดีต อีกทั้งบางชิ้นไม่เคยมีการจัดแสดงมาก่อน เช่น การแสดงบทกวีที่คัดลายมือ ด้วยปากกาคอแร้ง หรืองานคัดลอกสมุดข่อยไตรภูมิกถา ฉบับอยุธยา เป็นต้น นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 30 เมษายน 2555 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. เว้นวันจันทร์และวันหยุดสำคัญทางราชการ ข้อมูลจาก http://www.ryt9.com/s/prg/1609594  

งานเสวนากึ่งวิชาการ "เปิดหีบผ้า จากภูมิปัญญาสู่นักสะสม"

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เรียนเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนากึ่งวิชาการ "เปิดหีบผ้า จากภูมิปัญญาสู่นักสะสม" ของบรรดานักสะสมผ้าผู้มีชื่อเสียง ในวันที่ 24 มีนาคม 2556 ชมผ้าที่หาดูได้ยาก อย่างผ้าสะสมของอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ, อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เรียนรู้ทิศทางการแต่งกาย ร่วมสร้างกระแสการใช้ผ้าไทยกับคุณอรนภา (ม้า) กฤษฎี และคุณสมชาย แก้วทอง นักออกแบบจากห้องเสื้อชื่อดัง (ไข่ บูติค) พร้อมเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายแต่งกายอย่างไทย (กิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย)  สำรองที่นั่งได้ที่ 02-225-9420 กด 0 หรือในข้อความ Facebook พร้อมระบุชื่อและอีเมล์  ที่มา Facebook  Queen Sirikit Museum of Textiles  

กิจกรรมสำหรับน้องๆ วันเสาร์นี้ที่สวนโมกข์

กิจกรรมสำหรับน้องๆ บ่ายวันเสาร์นี้ (9 มีนาคม 2556) ที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) 12.00 - 13.30 น. "เพลินนิทานเด็ก" โดย สถาพรบุ๊กส์ ฟังนิทานสร้างเสริมคุณธรรม และเพลินไปกับดนตรี (ลงทะเบียนที่ http://www.bia.or.th/regis/member_select.php?act_id=0202) 16.00 น.ชมภาพยนต์แอนิเมชันจากญี่ปุ่น เรื่อง "โปเนียว" กับกิจกรรม "ดูหนังหาแก่นธรรม" ตัวอย่างหนัง http://www.youtube.com/watch?v=bskgNOXbdiE (ลงทะเบียนที่ http://www.bia.or.th/regis/member_select.php?act_id=0210) โปเนียว (Ponyo on the Cliff by the Sea) – ต้อนรับปิดเทอมด้วยเรื่องราวของปลาทองน้อยสีชมพูหน้าคน ซึ่งที่จริงแล้วคือธิดาสมุทร ได้หนีขึ้นมาเที่ยวบนผิวน้ำแล้วเผอิญเกิดอุบัติเหตุตัวไปติดอยู่ในโหลแก้ว แต่โชคดีที่ได้ โซสุเกะ เด็กชายวัย 5 ขวบช่วยเอาไว้ และตั้งชื่อปลาน้อยว่า “โปเนียว” โดยหารู้ไม่ว่าไม่ใช่ปลาธรรมดา ต่อมาพ่อของโปเนียว ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นมนุษย์ ได้ขึ้นไปบนบกเพื่อตามลูกกลับมา แต่โปเนียวไม่ยอมกลับขึ้นไปอีกครั้ง แถมยังนำอาเพศมาด้วย ทำให้เกาะทั้งเกาะถูกกลืนอยู่ใต้น้ำทะเล หมายเหตุ ภาพยนตร์เสียงภาษาญี่ปุ่น คำบรรยาย ไทย ที่มา Facebook หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives

“พิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว” ขนของ 48 ตู้ โชว์เต็ม 2 เดือนที่เชียงใหม่ ซู อควาเรียม

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 56 ที่เชียงใหม่ ซู อควาเรียม จ.เชียงใหม่ เชียงใหม่ ซู อควาเรียม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว แถลงข่าวการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์จิ๋วสัญจร ณ เชียงใหม่ ซู อควาเรียม โดยมีนายธนภัทร พงษ์ภมร ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ นายนฤทัต เจริญเศรษฐศิลป์ รองประธานกรรมการเชียงใหม่ ซู อควาเรียม นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ น.ส.ปิยะนุช นาคคง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว อาจารย์ดรุณีนาถ นาคคง ที่ปรึกษาชมรมของจิ๋วแห่งประเทศไทยร่วมในการแถลงข่าว         การจัดกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเชียงใหม่ ซู อควาเรียม ได้ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วที่เล็กที่สุดในโลกแห่งเดียวในประเทศไทย ในการนำของจิ๋วมาจัดแสดงให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับชม โดยพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วจะทำการจัดแสดง ณ เชียงใหม่ ซู อควาเรียมเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. - 30 เม.ย. 2556 โดยการจัดแสดงในครั้งนี้มีการนำของจิ๋วมาจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 48 ตู้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนการแสดง ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงของจิ๋วเล่าขานการวัฒนธรรม จำนวน 28 ตู้ จัดแสดงเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของบไทย อาทิเช่นเรือนไทย 4 ภาค ขนมไทยจิ๋ว เครื่องจักรสานจิ๋ว เป็นต้น           ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนจัดแสดงทั่วไป นำเสนอผลงานของจิ๋วจากสมาชิกในชมรมของจิ๋วที่มีการรวบรวมมาจัดแสดง อาทิเช่นตู้ขนมเบเกอรี่จิ๋ว ตู้ตุ๊กตา ตู้สวนนก เป็นต้น โดยตู้ของจิ๋วทั้งหมดจะจัดแสดงใน 2 จุด ได้แก่ บริเวณทางเข้าอาคารเชียงใหม่ ซู อควาเรียม ใกล้จุดตรวจบัตร และบริเวณชั้น 2 ใกล้กับร้านขายของที่ระลึก โดยนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเชียงใหม่ ซู อควาเรียม สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ         ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว กล่าวถึงการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วที่เชียงใหม่ ซู อควาเรียมในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจะได้ชมของจิ๋วซึ่งถือเป็นงานฝีมือที่มีความสวยงามและเหมือนจริง อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีที่ผู้สนใจจะได้เรียนรู้การทำของจิ๋ว โดยมีสมาชิกชมรมของจิ๋วแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนักปั้นในระดับแชมป์ปั้นของจิ๋วแห่งประเทศไทยเป็นผู้สอน          ขณะเดียวกัน ต้องขอขอบคุณเชียงใหม่ ซู อควาเรียม ซึ่งถือเป็นพันธมิตรที่ให้ความอนุเคราะห์ทั้งในเรื่องสถานที่และความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอพยพของจิ๋วมาเก็บรักษาที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 จนทำให้พิพิธภัณฑ์ตัดสินใจเลือกนำของจิ๋วมาจัดแสดงที่เชียงใหม่ ซู อควาเรียมในครั้งนี้   ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 มีนาคม 2556

สพร. พัฒนาเครือข่าย “Museum Family” เชื่อมโยงองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ทั่วไทย

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จับมือเครือข่ายพันธมิตรพิพิธภัณฑ์ไทย 20 แห่ง ร่วมลงนามความร่วมมือในการจัดทำโครงการ Museum Family รวบรวมพิพิธภัณฑ์เครือข่ายจากทั่วประเทศ เพื่อสร้างระบบพิพิธภัณฑ์ไทย พร้อมยกขบวนความรู้และกิจกรรมหลากหลายมาจัดแสดงที่ “มิวเซียมสยาม” ตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน หวังยกระดับมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ไทยให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เปิดเผยว่า พันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สพร.คือการเชื่อมโยง สนับสนุน และผสานความร่วมมือกับเครือข่ายกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบพิพิธภัณฑ์ของประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในปี พ.ศ.2549-2552 พบว่า มีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้จำนวนทั้งสิ้น 792 แห่ง ที่ผ่านมา สพร.และพิพิธภัณฑ์เครือข่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในหลายรูปแบบ โดยได้รับความร่วมมือและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดมา “เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของพิพิธภัณฑ์ที่มีความพร้อมในการเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จึงได้จัดทำ โครงการ Museum Family เพื่อสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่มีความพร้อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้สาขาต่างๆ ในทุกรูปแบบ โดยแต่ละแห่งจะมาร่วมจัดกิจกรรมในเชิงบูรณาการตามพันธกิจและนโยบายขององค์กร โดยให้มิวเซียมสยามเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการครอบครัวมิวเซียม จะนำมาซึ่งการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ของไทยให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป” นายราเมศกล่าว โดยกลุ่มพิพิธภัณฑ์เครือข่ายที่เข้าร่วม โครงการ Museum Family จำนวน 20 แห่ง ประกอบไปด้วย กรมศิลปากร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จังหวัดจันทบุรี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี, กลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ, หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก, พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จังหวัดนครปฐม, กรมทรัพยากรธรณี กำกับดูแลพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์, ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, พิพิธภัณฑ์แมลงสยาม จังหวัดเชียงใหม่, พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, นิทรรศรัตนโกสินทร์ และ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยทางเครือข่ายฯ จะนำนิทรรศการ กิจกรรม และการแสดงต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาจัดแสดงที่มิวเซียมสยามเป็นประจำ นำร่อง 8 แหล่งการเรียนรู้ ในเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย กิจกรรมภาพติดตา จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), กอและแกะรอย จากสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มอ.ปัตตานี, Kalasin’ Dino on Tour จากพิพิธภัณฑ์สิรินธร, ย้อนร้อยจินตนาการ สร้างสรรค์ศิลปะบ้านเชียง จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง, คน เชิด คน จาก มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, คน เชิด หนัง จากพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน และ เล่า เรื่อง ถ้วย พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษ “สิ่งประดิษฐ์เพื่อการเรียนรู้” จากบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) อีกด้วย กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน จะช่วยทำให้พื้นที่ของมิวเซียมสยามเป็นสถานที่เพิ่มพูนความรู้ และความคิดสร้างสรรค์จากองค์ความรู้ และวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เครือข่าย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดและยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยให้สูงขึ้น และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้พิพิธภัณฑ์เครือข่ายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผู้สนใจสามารถชมนิทรรศการ การแสดง และร่วมกิจกรรมจากพิพิธภัณฑ์เครือข่ายได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม ณ มิวเซียมสยาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556                 

การสำรวจ ทำทะเบียน และทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ

การสำรวจ ทำทะเบียน และทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา ระหว่างวันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2556 ในโครงการสำรวจ รวบรวม และศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นำโดย คุณดอกรัก พยัคศรี และทีมงาน ได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ทีมงานเริ่มศึกษาเอกสารโบราณ เอกสารโบราณ ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา การทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ การทำทะเบียนเอกสารโบราณ นำมาจัดแสดงในตู้กระจกอย่างสวยงาม ทีมงานโครงการสำรวจ รวบรวม และศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก    ข้อมูลและภาพประกอบจาก Facebook เอกสารโบราณภาคตะวันตก ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.488493314543098.108974.391462004246230&type=1  

1-3 มี.ค.พิพิธภัณฑ์การเกษตรจัดงาน'มหกรรมบุญ'

คนไทยมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม และมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน การสร้างโอกาสให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้และร่วมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า เพื่อร่วมสืบสานประเพณี วัฒนธรรมในวิถีเกษตร 4 ภาค และร่วมสร้างบุญบารมีเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ เตรียมจัดงานวัฒนธรรมประเพณี 4 ภาค “มหกรรมบุญ สะเดาะเคราะห์ วิถีเกษตรไทย” ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2556 นี้ โดยได้รวมประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรมเกี่ยวกับงานบุญและการสะเดาะเคราะห์ตามแบบวิถีเกษตรไทยจาก 4 ภาค ที่หาชมได้ยากมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่เพียงแห่งเดียวที่พิพิธภัณฑ์การเกษตร โดยไม่ต้องเดินทางไปสัมผัสไกลถึงต่างจังหวัด ที่สำคัญงานดังกล่าวผู้มาร่วมงานสามารถเข้าร่วมพิธีกรรม ร่วมขบวนแห่ ชมการแสดงและการละเล่น รวมทั้งร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะได้รับความสุข สนุกสนาน และความรู้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ   สำหรับรายละเอียดของกิจกรรมวันที่ 1-3 มีนาคม เริ่มตั้งแต่เวลา 7.00-18.00 น. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีมหามงคล 9 พิธี ใน 1 วัน อาทิ พิธีทำบุญตักบาตร พิธีสรงน้ำพระ ถวายภัตตาหารเพล พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตา พิธีส่งเคราะห์บ้าน พิธีสวดพุทธมนต์ถวายสังฆทาน พิธีส่งสะตวง พิธีเผาเคราะห์ บูชาเทียน พิธีรำเหยา พิธีรำผีฟ้า และชมการแสดง 4 ภาค ที่หาชมได้ยาก ได้แก่ ลิเกฮูลู รำมโนราห์ กลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเชิง สะล้อ ซอ ซึง รำกลองยาว กะเหรี่ยงรำตง รำมวยโบราณ รำนางด้งนางแคน รำบักโมบักแตง และการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ                     จากนั้นภาคบ่ายของวันที่ 2 และ 3 มีนาคม เวลา 16.00-17.00 น. ชมขบวนแห่วัฒนธรรม 4 ภาค อาทิ ขบวนแห่กองบุญ ขบวนแห่ปีใหม่เมือง ขบวนแห่วันสารทเดือนสิบและขบวนแห่บั้งไฟ นำมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ สนุกสนานให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เพื่อร่วมกันสืบสานไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตก นอกจากผู้เข้าเยี่ยมชมจะเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมและพิธีกรรมอันงดงามตามวิถีเกษตรไทย แล้วยังมีการจัด   “ตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง” ให้ชม ช็อปสินค้า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและชิมอาหาร 4 ภาค และเข้าร่วมเรียนรู้หลักสูตรพื้นฐานเพื่อการพึ่งตนเอง 3 วัน กับ 10 หลักสูตรพึ่งตนเอง สร้างรายได้ ฟื้นฟูอาชีพ ฟรีไม่มีค่าลงทะเบียนอีกด้วย     “พิพิธภัณฑ์การเกษตร นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร ตลอดจนภูมิปัญญาและนวัตกรรมเกษตรแล้ว ยังต้องการผลักดันให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้ประชาชนและเด็กรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ในรูปแบบที่หลากหลาย สัมผัสได้ในหลายมิติ เรียนรู้อย่างมีความสุขและได้ประโยชน์ติดไม้ติดมือกลับบ้านสร้างความสุขในชีวิตและครอบครัว” นางจารุรัฐ กล่าว        สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 0-2529-2212-13 หรือที่เว็บไซต์ www.wisdomking.or.th   คมชัดลึก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เปิดอบรม"ทำนา 1ไร่ ได้เงิน 1 แสน"

ภาพจาก ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย   นายอดิศร พวงชมภู ที่ปรึกษาหอการการค้าไทยในฐานะประธานโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน เปิดเผยว่า หลังจากเปิดโครงการอบรมหลักสูตรวิชาทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1แสนมาได้ 2 ปี ปรากฏว่าไม่เพียงแต่ชาวนาและเกษตรกรในภาคเกษตรเท่านั้นที่มีความตื่นตัวและสนใจที่จะสมัครเข้าเรียนวิชาทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน ยังพบว่ามีบุคคลหลากหลายวงการ ทั้งนักธุรกิจ นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมีความสนใจเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถือว่าน่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างมากถึงเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นหันเหกลับมาสู่ภาคเกษตรกรรม ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบรับกระแสตื่นตัววิชาทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ร่วมกับชมรมเกษตรสรรพสิ่งและบริษัท เกษตรสรรพสิ่ง จำกัด เตรียมเปิดอบรมหลักสูตรวิชาทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนรุ่นใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 มี.ค. 2556 ขึ้น ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ สำหรับผู้สนใจที่จะเข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าวสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง  จ.ปทุมธานี  ซึ่งจะเปิดรับสมัครไปถึง 4 มีนาคม 2556 สอบถามได้ที่ 0-2529-2212-13 หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556