ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

แจ้งเวลาเปิด-ปิด พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556 - วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 10.00 – 15.00 น.   ** ปิดวันจันทร์ที่ 27 มกราคม - วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 **   การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ควรทำการนัดหมายล่วงหน้าติดต่อนัดหมายและขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-252-1965-7   * กรุณาแต่งกายสุภาพ สตรีสวมกระโปรงหรือผ้าซิ่น ห้ามแต่งกายสีดำล้วน สีขาวดำ เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น *   ข้อมูลจาก มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วันที่ 29 มกราคม 2557

กทม.เร่งปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กเปิดให้ทันสิงหาคม

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายมานิต เตชอภิโชค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.กำลังเร่งรัดการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดให้ทันในเดือนสิงหาคม จากที่ได้เคยเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์เด็กฯ แห่งที่ 1 (จตุจักร) มาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2544 จนถึงปี 2552 รวมระยะเวลากว่า 8 ปี ทำให้อาคาร สถานที่รวมถึงชุดนิทรรศการ เกิดชำรุดและล้าสมัย กทม.จึงมีความจำเป็นต้องปิดให้บริการเพื่อทำการปรับปรุงอาคาร สถานที่ ภูมิทัศน์ และชุดนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน เดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 กทม.โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (สวท.) ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบปรับปรุงอาคาร สถานที่ ภูมิทัศน์ และชุดนิทรรศการ โดยได้ตรวจรับงานจ้างที่ปรึกษาฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 และในปีงบประมาณ 2554 ได้ดำเนินการถอดแบบพร้อมเห็นชอบให้ดำเนินการจ้างเหมาปรับปรุงอาคาร สถานที่ ชุดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์เด็กฯ ต่อมาในปีงบประมาณ 2555 มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีหนังสือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ขอให้ส่งคืนพื้นที่บริเวณจัดสร้างเต็นท์สำหรับรับประทานอาหาร เนื้อที่ 470 ตารางวา เนื่องจากมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีความจำเป็นต้องปลูกหม่อนไหม และจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่ง กทม.มีหนังสือขอส่งคืนพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 ทำให้ สวท. ต้องปรับเนื้องานและต้องขอความเห็นชอบดำเนินการใหม่ โดยได้เห็นชอบให้ดำเนินการจ้างประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วอยู่ระหว่างขั้นตอนอนุมัติจ้างเหมาฯ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ 180 วัน คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนสิงหาคม   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 27 มกราคม 2557 

ผู้ปกครองสุดทน! ลุยรณรงค์ขอคืน′พิพิธภัณฑ์เด็ก′

หลังจากที่พิพิธภัณฑ์เด็กกทม.ต้องถูกปิดร้างเพราะซ่อมไม่เสร็จนานกว่า 4 ปี อ้างไม่มีผู้รับเหมา ล่าสุดกลุ่มผู้ปกครองได้ตัดสินใจรณรงค์ขอคืนพิพิธภัณฑ์เด็ก ผ่าน www.change.org/kidsmuseum โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนเกือบ 20,000  คนแล้ว เตรียมเดินหน้่่ายื่นรายชื่อและจัดกิจกรรมกดดันอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จ    อดีตครูอาสา นางสาวปรีห์กมล จันทรนิจกร ในฐานะผู้เริ่มรณรงค์ กล่าวว่า เหตุที่รณรงค์เรื่องนี้เพราะอยากให้ กทม.เข้ามาแก้ไขปัญหาพิพิธภัณฑ์เด็กอย่างจริงจัง  พิพิธภัณฑ์เด็กที่จตุจักร ปัจจุบันถูกทิ้งร้างนานกว่า 4 ปี เพื่อ “ปิดปรับปรุง” ซึ่งเป็นการซ่อมแซมที่นานเกินไป ขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์เด็กที่เขตทุ่งครุก็มีปัญหา เพราะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดทำการได้เสียที จึงอยากรณรงค์ให้ กทม. เห็นว่ามีคนจำนวนมากต้องการพิพิธภัณฑ์เด็กจริงๆ ให้จริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้   ครูอาสาผู้นี้ ซึ่งมักใช้เวลาว่างในการสอนหนังสือให้เด็กในสวน กล่าวต่ออีกว่า “จุดเริ่มของแรงบันดาลใจ คือได้เห็นข้อความและรูปภาพของผู้ปกครองคนหนึ่งในเฟซบุ๊ก ที่พาลูกไปพิพิธภัณฑ์เด็กในช่วงวันหยุด แล้วพบว่ามันปิดและถูกทิ้งร้าง รู้สึกหดหู่ใจและเคลือบแคลงสงสัย จึงกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าถูกปิดมา 4 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดออกมาชี้แจงรายละเอียด นอกจากการออกมาสัญญาด้วยคำเดิมๆทุกปีว่าจะเปิดทำการช่วงใกล้วันเด็ก จึงตัดสินใจรณรงค์เรื่องนี้ โดยอยากให้ผู้ว่าฯ กทม.เข้ามาแก้ไขเรื่องนี้โดยเร่งด่วน” นางสาวปรีห์กมล กล่าว ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์วันเด็กที่ผ่านมา ตนเองได้ชวนเพื่อนๆไปทำกิจกรรมนำร่อง โดยการชวนผู้ปกครองและเด็กๆที่สวนรถไฟ คุยเรื่องพิพิธภัณฑ์ในฝัน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมไปสำรวจพิพิธภัณฑ์เด็กที่ถูกทิ้งร้าง ก็ได้พบกับผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่พาลูกหลานไปพิพิธภัณฑ์เด็ก แต่ต้องเศร้าและหันหลังกลับบ้าน เพราะมีการซ่อมแซม เห็นแล้วรู้สึกเสียดายเป็นอย่างมาก พื้นที่เหล่านี้มีความหมายต่อเด็กๆจริงๆ นางสาวปรีห์กมล กล่าวต่อว่า การรณรงค์ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากคนไทยจำนวนมาก  โดยจากนี้ไปตนเองและกลุ่มผู้ปกครองจะมีเตรียมยื่นรายชื่อต่อผู้ว่ากทม  และเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ที่ลานหน้าพิพิธภัณฑ์เด็กทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของทุกเดือนจนกว่าพิพิธภัณฑ์จะเปิดทำการ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. 2557 เพื่อกดดันผู้มีอำนาจให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการขอพิพิธภัณฑ์กลับคืนมา    อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  ในฐานะเป็นผู้ปกครองคนหนึ่งที่ร่วมการรณรงค์ครั้งนี้เห็นว่าอยากให้มีการเปิดบริการของพิพิธภัณฑ์เด็กอีกครั้ง เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ และเป็นสถานที่ที่เด็กๆใฝ่ฝันอยากไป แต่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวกลับถูกปิดเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลเรื่องนี้ต้องออกมารับผิดชอบ “ลูกๆผมก็ผูกพันธ์กับที่นี่โดยเฉพาะลูกสาวคนโตที่เคยไปพิพิธภัณฑ์เด็กเป็นประจำ แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปมาหลายปีแล้วเพราะโดนปิด  จนลูกคนเล็กถามว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์เด็กด้วยหรือ  ผมในฐานะคนเป็นพ่่อก็อยากให้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์อีกครั้งเพราะอยากให้ลูกคนเล็กไปเห็นบ้าง” นายเดชรัต กล่าว   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มกราคม 2557  

วอนจังหวัดประสานทายาทตระกูล “ณ ระนอง” ส่งมอบพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า เป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้วที่ทางเทศบาลได้พยายามประสานไปยังทายาทตระกูล ณ ระนอง เพื่อขอให้ส่งมอบพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง เนื่องจากนับเป็นจวนเก่า หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยที่ พระยารัษฎาฯ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วได้ย้ายที่ตั้งเมืองตรัง จาก ต.ควนธานี มาอยู่ที่ ต.กันตัง ในช่วงปี 2433-2444 หรือเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เพื่อให้เทศบาลเมืองกันตังเป็นผู้เข้ามาดำเนินการดูแลเสียเอง         เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท เบียนเจง ณ ระนอง จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชน ทำให้เทศบาลเมืองกันตัง ไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงในด้านต่างๆ ได้ เพราะจะเป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากจะมีการโอนมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ขณะที่ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์เริ่มเกิดสภาพชำรุดทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ แต่ทางเทศบาลกลับไม่สามารถเข้ามาดำเนินการอะไรได้เลย ซึ่งหากปล่อยให้ผุพังลงไปทั้งหมดก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชาวจังหวัดตรัง จึงควรหาทางอนุรักษ์เอาไว้อยู่คู่กับจังหวัดให้นานที่สุด         สำหรับพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ตั้งอยู่บนถนนค่ายพิทักษ์ ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง มีลักษณะเป็นเรือนไม้ปั้นหยา ขนาด 2 ชั้น ตัวบ้านโปร่ง มีระเบียงรับลมโดยรอบ และแวดล้อมด้วยสวนเล็กๆ ภายในมีการสร้างหุ่นขี้ผึ้งรูปพระยารัษฎาฯ เอาไว้พร้อมทั้งยังมีห้องทำงาน ห้องนอน ห้องโถง ห้องรับประทานอาหาร ห้องเตรียมอาหาร ห้องครัว ห้องน้ำ และโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอย ชุดเฟอร์นิเจอร์ ตู้ โต๊ะ เตียง และภาพถ่ายเก่าแก่อายุนับ 100 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีการพยายามประสานมาหลายผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว แต่การโอนพิพิธภัณฑ์มาให้ทางเทศบาลดูแลก็ยังไม่ได้ข้อสรุป   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 มกราคม 2557

กทม.รับพิพิธภัณฑ์เด็กสวนรถไฟเสร็จไม่ทันวันเด็กปีนี้

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นางสาวกนกแสง ศิลป์จารุ ผู้อำนวยการกองวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร ที่สวนรถไฟ ว่า พิพิธภัณฑ์เด็กขณะนี้ยังปิดปรับปรุงอยู่ คงไม่ทันเปิดให้บริการวันเด็กที่จะถึงนี้ แต่ที่ผ่านมาเราได้ผ่านการจัดจ้างหรืออีอ็อกชั่นเรียบร้อยแล้ว คาดว่ากระบวนการปรับปรุงทั้งหมดจะเสร็จในช่วงเดือนมิ.ย. ด้านนางปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวว่า ขณะนี้พิพิธภัณฑ์เด็กที่สวนรถไฟ เพิ่งผ่านการประมูลจ้างเอกชนเข้ามาปรับปรุง โดยในสัญญาจะดำเนินการในแล้วเสร็จใน 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยสาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงเพราะพิพิธภัณฑ์เด็กที่นี่เก่ามาก เมื่อจะปรับปรุงก็เกิดความล่าช้าจะเหตุการณ์น้ำท่วม รวมถึงมีการดำเนินการขอคืนที่บางส่วนจากกทม. ทำให้กทม.ต้องดำเนินการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งการปรับปรุงทั้งหมดจะแล้วเสร็จก่อนวันเด็กปีหน้าแน่นอน นางปราณี กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ กทม.ยังคงจะจัดงานวันเด็กแห่งชาติจากเดิมที่ลานคนเมืองเป็นสวนรถไฟ โดยจะเน้นเรื่องการอ่าน และวิทยาศาสตร์ ตามผู้ว่าฯกทม. เพราะขณะนี้ระดับการศึกษาน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ซึ่งปีนี้กทม.จะร่วมกับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊กส์ จะแจกหนังสือเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์จำนวน 4 หมื่นเล่ม และมีซุ้มเกมวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆได้เรียนรู้เช่นกัน นอกจากนี้ กทม.จะจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่ศูนย์เยาวชนทั้ง 36 แห่ง โดยเฉพาะที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย- ญี่ปุ่น) ดินแดงด้วย ซึ่งขณะนี้มีการซ่อมแซมสถานที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว   ข้อมูลจาก breakingnews.nationchannel.com วันที่ 9 มกราคม 2557

บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 2

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญร่วมงาน "บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 2" ระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม 2557 เวลา 15.00-21.30 น. ณ บริเวณปากคลองบางกอกน้อย หน้าพลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์ (บริเวณหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน)     วันพุธที่ 8 มกราคม  2557      16.00 – 17.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      17.00 – 18.00 น.     พิธีเปิดงาน  "บางกอกน้อยเฟสติวัล  ครั้งที่ 2"                                      - ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร                                         คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประธานในพิธีถึงเวทีกิจกรรม                                         บริเวณสนามหญ้าด้านข้างลานพลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์                                      - รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปรีชา สุนทรานันท์                                          รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  กล่าวรายงาน                                      - ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร                                         คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวเปิดงาน                                      - คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ,ผู้สนับสนุน , หน่วยงานภาคีเครือข่าย                                        ทำพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการร่วมกัน                                      - คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ,ผู้สนับสนุน , หน่วยงานภาคีเครือข่าย                                        ถ่ายภาพร่วมกัน                                      - คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในนามประธานการจัดงานฯ รับมอบ                                        ป้ายเงินสนับสนุนจากผู้สนับสนุนการจัดงาน พร้อมมอบของที่ระลึก      18.00 น.                    - การเสวนาเรื่อง “บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ต้นกำเนิดกรุงเทพฯอยู่ที่ฝั่งธนบุรี”                                        ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร      18.00 – 18.30 น.     การเสวนา เรื่อง “สุนทรภู่  กับบ้าน วัด วัง  ที่บางกอกน้อย”                                     โดย  อ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล  คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง      18.30 – 19.00 น.     การแสดงดนตรี Bossa & Folksong                                     โดย  ชมรมประสานเสียงนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล      19.00 – 19.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 1"       19.30 – 20.00 น.     การแสดงเห่เรือพระราชพิธี      20.00 – 20.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 2      20.30 – 21.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      21.00 – 21.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 3   วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม  2557      16.00 – 17.00 น.    การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      17.00 – 18.00 น.    การแสดงดนตรี Acoustic    โดย คณะดุริยางคศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร      18.00 –18.30 น.     การเสวนา เรื่อง “ศาสนสถานล้ำค่า  ย่านบางกอกน้อย”                                    โดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง   คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร      18.30 – 19.00 น.    การแสดงดนตรี Acoustic   โดย คณะดุริยางคศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร      19.00 – 19.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 1"       19.30 – 20.00 น.     การแสดงดนตรี Acoustic  โดย คณะดุริยางคศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร      20.00 – 20.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 2      20.30 – 21.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      21.00 – 21.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 3 วันศุกร์ที่ 10 มกราคม  2557      16.00 – 17.00 น.    การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      17.00 – 18.00 น.    การแสดงดนตรี Combo    โดย กองดุริยางค์ทหารเรือ      18.00 – 18.30 น.     การเสวนาเรื่อง “บางกอกน้อย บางกอกใหญ่  ต้นกำเนิดกรุงเทพฯอยู่ที่ฝั่งธนบุรี”                                    โดย  ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร      18.30 – 19.00 น.    การแสดงดนตรี Combo   โดย กองดุริยางค์ทหารเรือ      19.00 – 19.30 น.    การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 1"       19.30 – 20.00 น.    การแสดงดนตรี Combo    โดย กองดุริยางค์ทหารเรือ      20.00 – 20.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 2      20.30 – 21.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      21.00 – 21.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 3 วันเสาร์ที่ 11 มกราคม  2557      16.00 – 17.00 น.    การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      17.00 – 18.00 น.    การแสดงดนตรีลูกทุ่ง   โดย ศิลปินแห่งชาติ คุณชินกร  ไกรลาศ      18.00 – 18.30 น.     การเสวนาเรื่อง การเสวนา เรื่อง "ณ บางกอกน้อย"     โดย คุณอนุชา ปราชญ์ชาวบ้าน      18.30 – 19.00 น.     การแสดงดนตรีลูกทุ่ง      โดย ศิลปินแห่งชาติ คุณชินกร  ไกรลาศ      19.00 – 19.30 น.    การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 1"       19.30 – 20.00 น.     การแสดงเห่เรือพระราชพิธี      20.00 – 20.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 2      20.30 – 21.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      21.00 – 21.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม  2557      16.00 – 17.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      17.00 – 18.30 น.     การแสดงดนตรี Combo     โดย กองดุริยางค์ทหารเรือ      19.00 – 19.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 1"       19.30 – 20.00 น.     การแสดงดนตรี Combo      โดย กองดุริยางค์ทหารเรือ       20.00 – 20.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 2      20.30 – 21.00 น.     การแสดงของชุมชนและโรงเรียนในเขตบางกอกน้อย      21.00 – 21.30 น.     การแสดง Mini Light & Sound รอบที่ 3 15.00 - 20.00  เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน  ส่วนจัดแสดง "นิวาสศิรินาเวศ"  อาคาร 3  **ไม่เสียค่าใช้จ่าย** 18.00 - 18.40 / 19.00 - 19.40 / 20.00 - 20.40  Night at The Museum  ณ  พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช  ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2  **ค่าเข้าชม 20 บาท**   ตั้งแต่วันที่ 8 -12 มกราคม 2557  เวลา  15.00 - 20.00 น.  พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน  อาคาร 1  **จากค่าเข้าชมปกติ 100 บาท  เหลือเพียง 50 บาท (เฉพาะงานนี้เท่านั้น)** 15.00 - 21.30  เยี่ยมชมโซนนิทรรศการ / ร่วมกิจกรรมโซนผู้สนับสนุนและสุขภาพ / เลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ ณ โซนศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญา และโซนร้านค้า  โดย ชุมชนบางกอกน้อย / ร่วมสืบสานการละเล่นสะบ้าทอยของชุมชนบางกอกน้อย / ร่วมเรียนรู้การเป็นฝีพาย และการเห่เรือพระราชพิธี โดย กองทัพเรือ    ข้อมูลจาก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล     

อพวช.เปิดโดมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 360 องศา

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดโดมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ และ 3 นิทรรศการใหม่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.57 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. โดย ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด         ทางด้าน นายสาคร ชนะไพทูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้เปิดให้บริการ "ตึกลูกเต๋า" มาเป็นเวลา 13 ปี ซึ่งควรแก่เวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ จึงได้เปิดโดมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ พร้อม 3 นิทรรศการใหม่อย่างเป็นทางการ         สำหรับโดมภาพยนตร์นั้น นายสาครกล่าวว่าเป็นโดมเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ที่ให้มุมมอง 360 องศา รองรับผู้ชม 96 ที่นั่ง ฉายภาพยนตร์ด้วยเครื่องฉายดาวแบบดิจิทัลเลนส์เดี่ยว ผ่านเลนส์ตาปลา (Fish Eye) ไปยังจอโค้งเหมือนรูปท้องฟ้าที่เรียกว่าฟูลโดม (Full Dome)         ในเบื้องต้น อพวช. จัดฉายภาพยนตร์ผ่านโดมภาพยนตร์วันละ 5 รอบมโดยมีภาพยนตร์ที่ฉายทั้งหมด 3 เรื่อง คือ กำเนิดระบบสุริยะ (The Birth of the Solar) ดาราศาสตร์ 3,000 ปีแห่งการดูดาว (Astronomy: 3,000 Years of Stargazing) และตำนานแห่งการเดินทางมาสู่โลก (ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท, เด็ก 20 บาท)         ส่วนนิทรรศการใหม่ ได้แก่ นิทรรศการระบบอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์ ให้ความรู้พื้นฐานและการประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ นิทรรศการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสดงกลไกและหลักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบรวมถึงแนวทางแก้ปัญหา และนิทรรศการ Science on the Move เป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ ที่ อพวช.ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เควสตาคอน (Questacon) ออสเตรเลียพัฒนาขึ้นมา เพื่อร่วมเดินทางไปกับคาราวานวิทยาศาสตร์ ที่ออกจัดแสดงทั่วประเทศ         นายสาครกล่าวว่า คาราวาานวิทยาศาสตร์สายด่วน (Science Express) ของ อพวช. เป็นชุดรถ 3 คัน ประกอบด้วยเทรลเลอร์ 1 คัน และรถหกล้ออีก 2 คัน ซึ่งสามารถเข้าถึงพื้นที่ให้บริการได้ มีนิทรรศการที่ขนย้ายและติดตั้งในพื้นที่แสดง 200-400 ตารางเมตร รองรับการเข้าชมของเยาวชนและนักเรียน 250 คน พร้อมกันนี้ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโดมวิทยาศาสตร์และคาราวายวิทยาศาสตร์บางส่วนด้วย   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7 มกราคม 2557 คลิกดูคลิปวีดีโอ Digital Home

นิทรรศการ “อะไรอยู่ในเส้น”

นิทรรศการ “อะไรอยู่ในเส้น” เวลา: 22 พฤศจิกายน 2556 - 2 มีนาคม 2557 | 10.30 – 18.00 สถานที่: ห้องนิทรรศการ TCDC เชียงใหม่   แต่ละวันประชากรมากกว่าหนึ่งส่วนสี่ของโลกบริโภคอาหารประเภทเส้น มูลค่าของเส้นก๋วยเตี๋ยวในตลาดค้าปลีกทั่วโลกปี 2013 มีมูลค่าถึง 1,413.3 พันล้านบาท ตามมาด้วยพาสต้าที่มีมูลค่า 837 พันล้านบาท   ยังไม่รวมถึงปริมาณเส้นก๋วยเตี๋ยวและพาสต้าที่ทํากินเองที่บ้านซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในสถิติที่บันทึกไว้     จาก 'ลาเมี่ยน' เส้นหมี่จีนดึงด้วยมือแบบบ้านๆ สู่เส้น 'โซบะ' บัควีทญี่ปุ่นชั้นดี และ 'ฟูซซี่ลี่' พาสต้าอิตาเลียนเส้นเกลียว ประวัติศาสตร์ของอาหารประเภทเส้นนั้นกําเนิดขึ้นจากความจําเป็นและพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ตามสถานที่ เวลา และเทคนิคทักษะ   ความต้องการยืดอายุการเก็บรักษาข้าวสาลีและข้าวเจ้าหลังฤดูเก็บเกี่ยวของคนโบราณกลายเป็นความหลากหลายทางรสชาติและรสสัมผัสแบบร่วมสมัยได้อย่างไร? เส้นต่างๆ คงไม่เกิดขึ้นมากมายหากปราศจากการประดิษฐ์คิดค้นโรงสีที่ช่วยให้ชาวนาสามารถเปลี่ยนข้าวสาลี ข้าวฟ่าง และข้าวเจ้าให้กลายเป็นแป้ง   เมื่อเส้นแพร่หลายจากจีนไปทั่วเอเชีย เทคนิคการทำถูกผสมผสานเข้ากับเมล็ดพืชและเครื่องเทศในแต่ละท้องถิ่น ในประเทศญี่ปุ่นเรายังมีโอกาสเห็นร้านอูด้งและโซบะที่ทำตามตำรับดั้งเดิมจากเมื่อหลายร้อยปีก่อนอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ส่วนสยามประเทศศูนย์กลางเส้นทางการค้าที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก็โดดเด่นเรื่องน้ำซุปและเครื่องปรุงรสซึ่งผสมเข้ากับการปรุงอาหารพื้นเมืองที่รับมาจากต่างถิ่น ได้ผลเป็นก๋วยเตี๋ยวที่มีเอกลักษณ์ของไทยในปัจจุบัน    แต่พัฒนาการที่ละเอียดลออมากที่สุดของส่วนผสมง่ายๆ จากแป้งและน้ำ คือการทำพาสต้าอิตาเลียน ซึ่งประยุกต์กระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาใช้ออกแบบก้อนแป้งให้มีผลต่อรูปทรงและความเหนียว ตลอดจนการดูดซับน้ำซอส การศึกษารายละเอียดต่างๆ เหล่านี้อย่างถ้วนถี่เพื่อตอบความต้องการการปรุงอาหารของแต่ละท้องถิ่นในขั้นแรกได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตพาสต้าที่หลากหลาย   สุดท้าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ไอคอนอาหารและวิถีการกินของศตวรรษที่ 20 ซึ่งกระจายไปทั่วทุกชนชั้นทางสังคมจากเขตเมืองสู่ชนบทห่างไกล ด้วยความหลากหลายของเครื่องโรยหน้า เครื่องปรุง และหีบห่อ ยึดพื้นที่ในแต่ละครัวเรือนทั่วโลก    ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าสี่พันปีของเส้น แสดงให้เห็นความชาญฉลาดของมนุษย์ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตอาหาร ถ้าปราศจากมัน… ตอนนี้เราจะอยู่กันอย่างไร?     เข้าชมฟรี  TCDC เชียงใหม่ 1/1 ถนนเมืองสมุทร ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300   สอบถาม โทร. 052-080-500 # 1 เวลา 10.30 - 18.00 (ปิดวันจันทร์)    ข้อมูลจาก TCDC วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556  

เปิดพิพิธภัณฑ์ “พระอุบาลี” ที่วัดธรรมาราม

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่วัดธรรมาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วย สมเด็จพระสังฆราชศรีลังกา ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประธานฝ่ายฆราวาส และหน่วยงานราชการ ประชาชนเข้าร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ         สำหรับการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา ที่มีมานานกว่า 260 ปี ประกอบกับรัฐบาลได้อนุมัติงบจัดสร้าง จำนวน 10 ล้านบาท โดยประเทศศรีลังกา ได้จำลองพระอุบาลีมหาเถระแกะสลักด้วยไม้ความสูง 180 เซนติเมตร มอบให้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมพุทธศาสนาแห่งเมืองแคนดี้ ปาเล คาเล โดยเอกานายะกะ รัฐมนตรีประจำกระทรวงศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งศรีลังหา เพื่อนำกลับมาประดิษฐานไว้ ณ วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา         โดยภายในพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาสยามวงศ์ในลังกาทวีป เป็นการจัดแสดงในอาคารแบ่งออกเป็น 7 โซน เพื่อแสดงให้กับผู้ที่เดินทางมาเรียนรู้ได้รับทราบความเป็นมาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ประดิษฐานในสมัยอยุธยา โดยแนวคิดหลักในการนำเสนอ “ธรรมพลี” ของพระอุบาลีมหาเถระ ความเสียสละ ความวิริยะ อุตสาหะ ผลงานการกอบกู้ ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 ธันวาคม 2556

มิวเซียมกินได้ “กินข้างทาง...นั่งข้างวัง”

มิวเซียมสยาม ชวนร่วมงาน “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม (Night at the Museum)” ครั้งที่ 4 ตอน มิวเซียมกินได้ ระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคมศกนี้ ที่จะเปิดมิวเซียมสยามให้ดื่มด่ำกับบรรยากาศ “กินข้างทาง...นั่งข้างวัง” ตั้งแต่เวลา 18.00 – 22.00 น.  ภายในงานตื่นตาตื่นใจกับการเผยสูตรและสาธิตการปรุงอาหารชาววัง อาหารโบราณของห้องเครื่องต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 สาธิตโดย อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่สูตรอาหารในแต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน เพื่อเผยให้เห็นถึงวิวัฒนาการอาหารสตรีทฟู้ดของไทย ที่มีรากเหง้าแต่ดั้งเดิมมาจากห้องเครื่องต้นในรั้ววัง และในงานนี้ยังมีวางจำหน่ายให้ได้ลิ้มลอง อาทิ น้ำพริกลูกหนำเลี๊ยบ, น้ำพริกลงเรือ, น้ำพริกตะไคร้, ไก่นมวัว, ข้าวในกะหล่ำปลี, ข้าวงบไก่, ข้าวบายศรีปากชาม, แกงเลียงนพเก้า เป็นต้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้เวิร์คช็อปกับการปรุงอาหารสูตรสำรับห้องเครื่องต้น รัชกาลที่ 5 นี้อีกด้วย และยังอิ่มหนำสำราญไปกับการออกร้านค้าอาหารชื่อดัง ที่ความอร่อยยกนิ้วให้จนเป็นตำนานร่วม 30 บูธ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ย, ข้าวแกงร้านฉวาง, ผัดไทยร้านสวัสดี, ข้าวหมกไก่คุณเล็ก, กาแฟโกปี๊ นครศรีธรรมราช และน้ำแข็งใสร้านเซ็งเซียมอี้ ท่ามกลางบรรยากาศลมหนาวเย็นสบาย เคล้าเสียงเพลงอันไพเราะที่จะขับกล่อมตลอดงาน และชมนิทรรศการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของอาหารการกิน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  พบกับการสร้างประสบการณ์สดใหม่ ในการชมพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ ได้ในงาน “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม (Night at the Museum)” ครั้งที่ 4 ตอน มิวเซียมกินได้ ระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคมศกนี้ เวลา 18.00 – 22.00 น. ณ มิวเซียมสยาม เข้าร่วมงานฟรี!! สอบถาม โทร. 02-225-2777 ต่อ 414, 415 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan รายละเอียดเพิ่มเติม www.museumsiam.org * มิวเซียมสยามขยายเวลาเปิดให้บริการในระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคม 2556 จากเดิมเวลา 10.00 - 18.00 น. มาเป็นเวลา 10.00 – 22.00 น.   ข้อมูลจาก Museum Siam