สั่งปิด"พิพิธภัณฑ์ปลอม"ในจีน ด่วน!
รายงานข่าว (16 ก.ค.) เผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนได้เข้าตรวจสอบและสั่งปิดทำการพิพิธภัณฑ์ “จี้เป่าไจ” (冀宝斋) ในหมู่บ้านเอ๋อผู่ เมืองจี้โจว มณฑลเหอเป่ย หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและชาวเน็ตจีนถึง “ความไร้คุณสมบัติที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ เนื่องจากสิ่งของที่สะสมและจัดแสดงอยู่นั้นล้วนเป็นของปลอม”
กรณีการเปิดโปง 'พิพิธภัณฑ์ปลอม' แห่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวปักกิ่ง นามว่า หม่า โป๋หย่ง ได้ไปเยี่ยมชมและพบสิ่งผิดปกติ จากนั้นเขาได้เขียนข้อความลงในเวยปั๋ว (เว็ปไมโครบล็อคคล้ายทวิตเตอร์) ว่า สิ่งของหลายชิ้นที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ว่า “ดูเป็นการหลอกลวงนักท่องเที่ยว” ขนานหนักเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ซีอาร์ไอ (CRI) สำนักข่าวจีนก็ได้โพสต์รูปภาพผ่านหน้าเว็ปไซต์ของตน แสดงภาพแจกันใบหนึ่งที่ตั้งโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว โดยมีลวดลายที่ดูคล้ายตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดปลาหมึกหน้ายิ้ม ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯ ระบุว่าเป็นวัตถุโบราณในสมัยราชวงศ์ชิง อันมีอายุย้อนหลังไปเกือบ 200 ปี สร้างความประหลาดใจและตลกขบขันให้กับผู้พบเห็นอย่างมาก
ซีอาร์ไอ รายงานเพิ่มเติมว่า พิพิธภัณฑ์ขนาด 25 ไร่แห่งนี้ น่าจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2550 ด้วยงบประมาณ 50 ล้านหยวน (ราว 250 ล้านบาท) ประกอบด้วยห้องจัดแสดงวัตถุโบราณ จำนวน 12 ห้อง และจากการประเมินเบื้องต้น พบวัตถุโบราณปลอมกว่า 40,000 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นถูกซื้อมาในราคา 100 - 2,000 หยวน (ราว 500 - 10,000 บาท) โดยวัตถุบางชิ้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นสิ่งของที่พบในยุคจักรพรรดิเหลือง (the Yellow Emperor - 黄帝) จักรพรรดิตามตำนานจีนที่ปรากฏในศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสต์ศักราช
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ฯ ต่างแสดงความไม่พอใจในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า
“โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ปลอมนี้ เป็นฉากบังหน้าที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางรายใช้ในการทุจริต ยักยอกเงินเข้ากระเป๋าของตัวเอง”
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเผยว่า ขณะนี้ผู้ก่อตั้งและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวน โดยผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองจี้โจว มณฑลเหอเป่ย กล่าวว่า “เขาตั้งใจให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสถานที่ที่จะช่วยส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมจีน”
“มีแต่เพียงพระเจ้าเท่านั้น ที่จะรู้ว่าวัตถุเหล่านี้เป็นของจริงหรือของปลอม”
อนึ่ง มีรายงานจากสื่อตะวันตกว่า ไม่ว่าจีนจะถูกโจมตีจากทุกสารทิศถึงกรณีการปล่อยให้มีการคัดลอก ปลอมแปลงสินค้าได้อย่างเสรีอย่างไร ก็ยังสามารถพบวัตถุโบราณปลอมเช่นนี้ได้ทั่วไปในตลาดค้าของเก่าทั่วประเทศ
“พิพิธภัณฑ์ปลอมแบบนี้พบได้ทั่วไปในจีน เพราะมันสามารถนำเงิน และผลประโยชน์จำนวนมหาศาลสู่มือคนบางกลุ่ม” หม่า เว่ยโตว ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณชาวจีน กล่าวกับซีอาร์ไอ
ข้อมูลจาก
ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 17 กรกรฎาคม 2556