ดงปู่ฮ่อ: พัฒนาการรูปแบบการจัดการพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน

ดงปู่ฮ่อ: พัฒนาการรูปแบบการจัดการพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน[1]

วนิษา ติคำ[2]

จีรวรรณ ศรีหนูสุด[3]

 

บทคัดย่อ

“ดงปู่ฮ่อ” พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนที่เป็นทั้งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่อยู่ของผีอารักษ์และแหล่งโบราณคดีอีกแห่งหนึ่งของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน มีความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมอยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนกับคน และคนกับธรรมชาติทั้งการเป็นพื้นที่ทางกายภาพและการเป็นพื้นที่กิจกรรมการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชุมชน    มายาวนาน หลายด้าน บนฐานทรัพยากรที่มี ทั้งจากภายในชุมชนเองและภายนอกที่มาเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับตัว และรักษาตัวตนไว้ผ่านรูปแบบการจัดการที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงพัฒนาการ คือ ช่วงแรก ช่วงการเป็นที่อยู่ของศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่หวงห้าม ร่วมกับการเป็นแหล่งอาหารและยาของชุมชน (ก่อน พ.ศ.2542) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ พื้นที่หวงห้าม รวมถึงแหล่งอาหารและยาของชุมชน ช่วงที่ 2 ช่วงการถูกให้ความสำคัญในฐานะแหล่งโบราณคดี (พ.ศ.2543 – พ.ศ.2546) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ซึ่งยังคงแบบเดิม และการพัฒนาเป็นแหล่งโบราณคดีนำมาสู่การเกิดแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของชุมชนควบคู่กับการหายไปของแหล่งอาหารและยา ช่วงที่ 3 ช่วงแห่งการฟื้นฟูให้อยู่รอด (พ.ศ.2547 – พ.ศ.2549) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ รวมถึงการพัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน นำมาสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชน การฟื้นฟูแหล่งอาหารและยาของชุมชน จนมาช่วงปัจจุบัน เป็นช่วงการรักษา ปรับตัวและพัฒนาให้อยู่ได้ (พ.ศ.2550 – ปัจจุบัน) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ที่ยังคงอยู่เรื่อยมา แหล่งเรียนรู้ชุมชนและแหล่งโบราณคดีของและชุมชน พื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชุมชน รวมถึงพื้นที่ป่าฟื้นฟูของชุมชน พัฒนาการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เด่นชัด ยังคงอยู่เรื่อยมา ไม่ปรับเปลี่ยนมากนักจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เนื่องจากยังคงเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และยังอยู่ในความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ว่ามีส่วนต่อการอยู่รอดของชีวิตทั้งในยามปกติและยามลำบากภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัว รวมถึงการส่งทอดและเห็นร่วมกันของชุมชน ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาตินั้นปรับเปลี่ยนไปตามสภาพปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง บทเรียนรู้สำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การจัดการมรดกวัฒนธรรมของชุมชนนั้น สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การจัดการที่ควรอยู่บนฐานของวิถีชีวิตชุมชน การพัฒนา   ต่อยอดที่จะเกิดขึ้นควรอยู่บนฐานของความเหมาะสม ไม่ขัดกับสภาพวิถีชีวิต และอยู่บนฐานศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมที่มี รวมถึงการมองเห็นร่วมของชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง การจัดการต่อเพื่อให้สมประโยชน์ในฐานะพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่คู่ชุมชนมาสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ การรักษาให้คงไว้ซึ่งการเป็นพื้นที่ของวิถีชีวิตคนในชุมชน และการพัฒนาเป็น “แหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีชีวิตแบบบูรณาการบนฐานการพึ่งตนเอง”

 

คำค้น: ดงปู่ฮ่อ พัฒนาการรูปแบบการจัดการ พื้นที่มรดกวัฒนธรรม

 

1. บทนำ

         “...การที่จะทำให้โบราณสถานคงอยู่ได้นั้น ต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนก่อน ต้องให้เขาเห็นความสำคัญและคุณค่าของโบราณสถานนั้นๆ ก่อน จนเขามีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของแล้ว ประชาชนก็จะสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ โดยไม่ต้องแยกออกจากกัน...”

 

พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, พระนครศรีอยุธยา 7 เมษายน พ.ศ.2534 แสดงให้เห็นว่า คนกับมรดกวัฒนธรรมของอดีต หรือในที่นี้คือโบราณสถานนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่จะต้องสร้างให้คนในพื้นที่เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของโบราณสถานนั้นๆ   จนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม ร่วมในการจัดการมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งที่เป็นพื้นที่ของหลักฐานทางโบราณคดีและเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมซึ่งอยู่ร่วมกันมากับชุมชนอย่างยาวนาน

“ดงปู่ฮ่อ” เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนในฐานะพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลายในการใช้ประโยชน์และอยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งเป็นพื้นที่ป่า เป็นที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ของคนที่มีที่นารอบดงปู่ฮ่อซึ่งเรียกกันรุ่นต่อรุ่นว่า “ปู่ฮ่อ” หรือ “เจ้าหนานฮ่อ” เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี เป็นพื้นที่ของการบนบานสานกล่าวของคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีอีกแห่งหนึ่งของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภายในดงปู่ฮ่อมีการจัดการที่ประกอบด้วย เตาปู่ฮ่อ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา สิ่งของเครื่องใช้ของคนบ้านสวกพัฒนา และนิทรรศการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ ภูมิทัศน์รอบดงปู่ฮ่อร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และมีพิธีบวงสรวงปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานปู่ฮ่อประจำปีในงานของดีบ่อสวก ดงปู่ฮ่อจึงเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของคนในชุมชนและนอกชุมชน

  


ภาพ : สภาพพื้นที่ดงปู่ฮ่อ

 

 

ภาพ : ศาลเจ้าปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเพื่อประกอบพิธีกรรม


ภาพ : ศาลเจ้าปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเพื่อไหว้สักการะ


ภาพ : เตาปู่ฮ่อ


ชุมชนบ้านสวกพัฒนาเป็นที่รู้จักของคนน่านในฐานะแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียงหรือเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก จากการขุดเจอกรุพระบ่อสวกและเฟื้องหม้อ (ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา) ที่บริเวณลำน้ำห้วยปวนและดอยเฟื้องหม้อ รวมทั้งการขุดค้นเตาเผาโบราณ จำนวน 4 เตา และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียงของพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นในบริเวณบ้านของดาบตำรวจมนัส – คุณสุนัน ติคำ ประกอบกับการเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ.2544 ณ พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น และการเสด็จของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน พ.ศ.2542 ณ วัดบ่อสวก และบ้านของดาบตำรวจมนัส – คุณสุนัน ติคำ จึงนำไปสู่การพัฒนาชุมชนบ้านสวกพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบลบ่อสวก

ดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่หนึ่งของชุมชนบ้านสวกพัฒนาที่พบหลักฐานผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาและเนินดินเตาเผา และเป็นพื้นที่ทางความเชื่อ พิธีกรรมของชุมชน โดยมีปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเป็นผีอารักษ์ จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน กล่าวว่า ดงปู่ฮ่อเป็นป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่หวงห้ามให้เฉพาะคนที่ไปเลี้ยงผีปู่ฮ่อและบางคนจะเข้าไปหาเห็ด หน่อไม้ และสมุนไพร ซึ่งคนที่จะเข้าไปต้องขออนุญาตจากปู่ฮ่อผ่านการบอกกล่าว ส่วนลูกหลานในชุมชนจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไป

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อเกี่ยวกับดงปู่ฮ่อยังคงอยู่กับชุมชน แต่ขณะเดียวกันก็ควบคู่กับความต้องการพัฒนาให้สมสมัย จึงนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ดงปู่ฮ่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ในปี พ.ศ.2543 โดยกลุ่มผู้นำชุมชนและคนในชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐร่วมกันพัฒนาดงปู่ฮ่อ ทั้งการสร้างอาคาร การขุดค้นเตาเผา ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา และปรับปรุงภูมิทัศน์ดงปู่ฮ่อ จากพื้นที่ป่าของชุมชนสู่แหล่งเรียนรู้ของตำบลบ่อสวก แต่ด้วยการจัดการที่ขาดช่วงเกิดการชะงักในมิติของการจัดการ ทำให้การจัดการหยุดนิ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ชุมชนบ้านสวกพัฒนาร่วมกับศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันฟื้นฟูดงปู่ฮ่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์ทั้งการปลูกต้นไม้ พืชสมุนไพร จากการฟื้นฟูดงปู่ฮ่อให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นประกอบกับการส่งเสริมกิจกรรมจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ด้วยเงื่อนไขการจัดการที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวกเป็นผู้รับผิดชอบดูแลจัดการดงปู่ฮ่อ แต่ความเป็นพื้นที่ทางความเชื่อ พิธีกรรมของการเลี้ยงผีปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อยังคงอยู่คู่กับชุมชนจนถึงปัจจุบัน

          บทความนี้จึงมุ่งศึกษาความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรม พัฒนาการรูปแบบการจัดการดงปู่ฮ่อทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีวิธีการศึกษาผ่านเอกสารงานศึกษา งานวิจัย ประสบการณ์ของผู้เขียนที่เกี่ยวข้องและเคยทำกิจกรรมกับพื้นที่ การพูดคุย สัมภาษณ์ โดยผู้เขียนได้ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม มรดกวัฒนธรรม พื้นที่วัฒนธรรม เศรษฐกิจพอเพียง และการบูรณาการ มาเป็นแนวทางในการศึกษา วิเคราะห์ บนฐานความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน บ้านสวกพัฒนา

 

2. ดงปู่ฮ่อในฐานะพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน

มรดกวัฒนธรรม หมายถึง ระบบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนซึ่งตกทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่นทั้งที่ใช้ประโยชน์และไม่ได้ใช้ประโยชน์อันอยู่ในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม (สายันต์ ไพรชาญจิตร์,31 กรกฎาคม 2562; Hitchcock อ้างใน ศิริพร ณ ถลาง, 2652, หน้า 32; ธนิก เลิศชาญฤทธ์, 2554, หน้า 14, 17 -18)

ส่วนพื้นที่วัฒนธรรมนั้น มีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่เป็นกายภาพ (รูปธรรม) และที่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหว (นามธรรม) ที่มีการให้คุณค่าความหมาย ให้ความสำคัญ สร้างตัวตน สร้างความสัมพันธ์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างการจัดการ และสร้างการพัฒนา ที่อยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ นำมาสู่การประมวลสร้างความหมายของพื้นที่มรดกวัฒนธรรม หมายถึง พื้นที่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งรูปธรรมและนามธรรมในชุมชนซึ่งตกทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นทั้งที่ใช้ประโยชน์และไม่ได้ใช้ประโยชน์ มี 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่ซึ่งเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวซึ่งมีการให้คุณค่าความหมาย ให้ความสำคัญ สร้างตัวตน สร้างความสัมพันธ์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างการจัดการ และสร้างการพัฒนา (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2555, หน้า 30 32; 2561, หน้า 185 – 186, อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2555, หน้า 39 40;2558, หน้า 23 - 27)

นำมาสู่การเชื่อมโยงกับ “ดงปู่ฮ่อ” พบว่า จากอดีตถึงปัจจุบันดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ล้อมรอบด้วยทุ่งนา มีลำห้วยที่ชาวบ้านเรียกว่าห้วยปวนไหลผ่าน ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือติดกับบ้านและสวนของคนในชุมชน คนในชุมชนมักเรียกพื้นที่ทั้งหมดนี้ว่า “ทุ่งกุ้ง” โดยมีดงปู่ฮ่อเป็นศูนย์กลาง การเรียกชื่อดงปู่ฮ่อบอกเล่าต่อกันมาว่าเป็นการเรียกชื่อตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีอารักษ์ที่คนในชุมชนเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ ชื่อ “ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ” สืบทอดความเชื่อต่อๆ กันมาว่าเป็นผู้ปกปักษ์รักษาคนในชุมชนและคนที่มีที่นาที่สวนในบริเวณนี้ ในอดีตดงปู่ฮ่อมีลักษณะเป็นป่าทึบ เป็นแหล่งอาหารและยาของคนในชุมชน แต่ด้วยในเวลาต่อมามีการขุดค้นทางโบราณคดีและพบว่าพื้นที่ชุมชนบ้านสวกพัฒนาเป็นแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ดงปู่ฮ่อในฐานะพื้นที่ของชุมชนจึงถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีตามมา “ดงปู่ฮ่อ” จึงมีความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งปรากฏใน 6 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งอาหารและยา พื้นที่แหล่งโบราณคดี พื้นที่แหล่งเรียนรู้ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่กิจกรรมการเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏใน 10 ลักษณะ คือ พื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำ (คนประกอบพิธีกรรมที่ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเป็นผู้เลือก) กับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่บนบานในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เป็นพื้นที่เข้าไปหาอาหารและยา เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สามารถใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน โดยทั้งสองส่วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นภายใต้การใช้ประโยชน์ การจัดการที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันตามแต่ละช่วงเวลาของชุมชน กลุ่มคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

3. พัฒนาการรูปแบบการจัดการดงปู่ฮ่อ

การศึกษาถึงพัฒนาการและความเป็นมาของดงปู่ฮ่อพบว่า ดงปู่ฮ่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชุมชนมายาวนานและหลากหลายด้าน บนฐานทรัพยากรที่มีทั้งจากปัจจัยภายในชุมชนเองและปัจจัยภายนอกที่มาเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับตัว และรักษาตัวตนไว้ผ่านรูปแบบการจัดการที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก ช่วงการเป็นที่อยู่ของศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่หวงห้าม ร่วมกับการเป็นแหล่งอาหารและยาของชุมชน (ก่อน พ.ศ.2542) นับแต่อดีตเรื่อยมาจน พ.ศ.2542 ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของดงปู่ฮ่อชัดเจนที่สุดอยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติคือการเป็นพื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนในฐานความเชื่อของคนในชุมชนว่าเป็นพื้นที่อยู่ของปู่ฮ่อผีอารักษ์ของชุมชน โดยคนในชุมชนมีความเชื่อร่วมกันว่าดงปู่ฮ่อเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองคนในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน รองลงมาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ชัดเจนในมิติเป็นพื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านพิธีกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ โดยดงปู่ฮ่อมีฐานะเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งอาหารและยาของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนบางกลุ่มใช้เป็นพื้นที่เพื่อเข้าไปหาอาหารและยามาอุปโภคบริโภค

การจัดการเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะ คือ การจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ ที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่อยู่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ในลักษณะผีชาวนาดูแลนาในนาม “ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ” การจัดการเกิดขึ้นในลักษณะของการบนบาน เช่น ให้ผลผลิตจากการทำนาได้ผลดี เป็นต้น การทำพิธีกรรมเลี้ยงผีหลังจากฤดูการทำนาหรือบนบานได้ตามปรารถนาโดยจะเอาข้าวมาเลี้ยงหลังจาทำนาได้ผลผลิต คนในชุมชนก็มักจะขอความช่วยเหลือผ่านการบนบานสานกล่าวให้ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อช่วยเหลือให้สมความปรารถนาที่ต้องการร่วมกับการเลี้ยงผีประจำปี โดยทุกปีคนที่มีนาบริเวณรอบ   ดงปู่ฮ่อหรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “นาทุ่งกุ้ง” จะมารวมตัวกันเลี้ยงผีปู่ฮ่อในช่วงแรม 13 ค่ำ เดือน 3 และเดือน 9 โดยมีข้าวจ้ำเป็นผู้สื่อสารกับปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ ซึ่งในการเลี้ยงนั้นจะประกอบไปด้วย ไก่ เหล้า ข้าวตอกดอกไม้ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และทุกๆ 3 ปี จะมีการเลี้ยงด้วยหมู 1 ตัว โดยการเลี้ยงนั้นคนที่มีนาอยู่บริเวณดงปู่ฮ่อ หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “หัวนาทุ่งกุ้ง” จะต้องนำไก่มาคนละตัวหรือหัวนาคนใดไม่มีไก่มาร่วมก็จะร่วมด้วยการสบทบเงินเพื่อนำไปซื้อไก่ซื้อเหล้า ทุกคนจะมาร่วมกันเตรียมข้าวของ ทั้งการนำไก่มาต้ม นึ่งข้าวเหนียว หุงข้าวเจ้า เตรียมกระทง 4 อัน การเลี้ยงผีแต่ละครั้งจะไก่มาน้อยกว่า 30 ตัว หลังจากนั้นข้าวจ้ำจะเป็ฯผู้ทำพิธีเลี้ยงผี หลังเสร็จพิธี จะมีการนำไก่ต้มมาประกอบอาหารร่วมกันกิน เหลือก็แบ่งกันนำกลับบ้าน ซึ่งการเลี้ยงปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเพื่อตอบแทนที่ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อดูแลรักษานาข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดี และเป็นการสานสัมพันธ์กันของหัวนาที่ช่วยเหลือ แบ่งปันกันในการทำนา สังสรรค์ร่วมกันจากการทำนา

“สมัยก่อนเจ้าหนาน เปิ้นชอบมาลง (ทรงเจ้า) มาแอ่วมาทักหมู่เฮา เปิ้นจะมาลงที่ป้าเรียว เปิ้นมาจ่อยมาซอ มาม่วน เจ้าบ้าน (ชาวบ้าน) ไปผ่อ (ดู) กันนัก บางครั้งมาเปิ้นก่ไขใดสาว เปิ้นโสดมา สมัยนั้นป้าๆ สาวรุ่น พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหื้อพากันไปอยู่ที่อื่น แต่ถ้าบ้านเฮายะอะหยัง (ทำอะไร) บ่(ไม่)ดีบ่(ไม่)ถูก เปิ้นก็จะมาบอกมาเตือนหื้อ(ให้) เฮา(เรา) ทำหื้อ(ให้)ถูก เปิ้นก็ช่วยฮักษา(รักษา)”

(บัวตอง ขัดโน, สัมภาษณ์ 22 พฤษภาคม 2562)

 

“แต่ละปีหัวนาจะหื้อ(ให้)ข้าวจ้ำ บอกกล่าวปู่ฮ่อก่อนทำนา เพื่อหื้อ(ให้)ได้ข้าวหลาย(จำนวนมาก) มีน้ำเหมาะสำหรับการทำนา หยะ(ทำ)นาแล้ว(เสร็จ) ก่(ก็)จะปา(พา)กันมาเลี้ยงปู่ฮ่อ ส่วนคนที่มาบน ขอหื้อ(ให้)เปิ้น (ปู่ฮ่อหรือ    เจ้าหนานฮ่อ)ช่วย จะบนด้วยหมู 1 ตัว บางคนก่(ก็)จะบนด้วยหมูหัว”

(สุนัน ติคำ, สัมภาษณ์ 3 ตุลาคม 2562)

 

ลักษณะต่อมาเป็นรูปแบบพื้นที่หวงห้าม ด้วยเชื่อว่าดงปู่ฮ่อพื้นที่หวงห้ามและศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน มีปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเป็นผีอารักษ์   คอยปกปักษ์รักษาคนในชุมชน เพราะเชื่อว่าหากเข้าไปโดยพลกาลจะเจอเรื่องไม่ดีต้องขออนุญาต การเข้าไปโดยพละกาลไม่ได้ต้องเป็นวาระโอกาสที่เหมาะสม เข้าไปคือ ตอนเลี้ยงผี หาของกิน แต่ต้องบอกกล่าวเจ้าที่ปูฮ่อและเอามาตามบอกเท่านั้น รวมถึงห้ามใช้ประโยชน์และยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่เกินความจำเป็นและอยู่ในขอบเขตจำกัด ใครจะเข้าไปในดงปู่ฮ่อ ต้องบอกกล่าวหรือขออนุญาตก่อนทุกครั้ง ดังคำบอกเล่าของพ่ออุ๊ยแก้ว ถุงบุญ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่จะบ่(ไม่)หื้อ(ให้)ลูกหลาน และคนที่มีขวัญอ่อนเข้าไปในดงปู่ฮ่อ เพราะปู่ฮ่อ เป็นคนสวก(ดุ) ใครที่เข้าไปในดง โดยที่ไม่มีการขออนุญาตหรือเข้าไปบุกรุกตัดไม้ในดง จะมีอันเป็นไปหรือไม่ก็จะไม่สบาย (อ้างในวนิษา ติคำ, 2553 : 59) “จะเข้าไปในดง ไปเลี้ยงผีปู่ฮ่อแต่ละครั้งนั้นลำบาก ต้องเดินไปทางนาห้วยปวน ต้องเดินลัดเข้าป่าไปที่ศาล” (สุนัน ติคำ, สัมภาษณ์ 8 พฤศจิกายน 2562) และสุดท้ายเป็นการจัดการในรูปแบบแหล่งอาหารและยาของชุมชน โดยคนในชุมชนบางกลุ่มจะเข้าไปหาอาหารและสมุนไพร พืชจำพวกเห็ด หน่อไม้ ยา สมุนไพร มาใช้ประโยชน์ ในช่วงฤดูกาลที่มีเท่านั้นและการเข้าไปต้องผ่านการขออนุญาต ส่วนคนที่ขอเมื่อขอจะเอาอะไรก็เอาแค่นั้นห้ามเกิน เห็นได้ว่าการจัดการที่ผ่านมาอยู่บนฐานของคนในชุมชนเป็นหลักและเป็นไปเพื่อการอยู่รอด อยู่ได้ร่วมกันอย่างพอดี สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งตนเองได้ของชุมชนด้านจิตใจ อาหารและยาของชุมชนบนฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ และธรรมชาติ

ช่วงที่ 2 ช่วงการถูกให้ความสำคัญในฐานะแหล่งโบราณคดี (พ.ศ.2543 – พ.ศ.2546) ในช่วงเวลานี้ดงปู่ฮ่อได้รับผลกระทบจากการขุดค้นเตาเผาโบราณบ้านจ่ามนัส และเปิดบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางโบราณคดีแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ดงปู่ฮ่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของตำบลบ่อสวก ผ่านการสำรวจ ขุดค้นเตาเผาโบราณ และสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของดงปู่ฮ่อปรากฏชัดเจนในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ในฐานะพื้นที่แหล่งโบราณคดี เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน และการพยายามสร้างเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ขณะที่การเป็นพื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านพิธีกรรมก็ยังคงอยู่ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และคนกับธรรมชาติในรูปแบบพื้นที่ป่านั้นหายไป แต่ในส่วนอื่นก็ยังคงอยู่เพียงแต่เข้มข้นน้อยลง เนื่องด้วยการถูกเข้ามาแทนที่ด้วยวิธีคิดที่เปลี่ยนไปในมิติการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ มากขึ้น

ภายใต้ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปการจัดการจึงปรากฏรูปแบบที่ชัดเจนใน 2 ลักษณะ คือ รูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ซึ่งยังคงแบบเดิม และรูปแบบการพัฒนาเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยเริ่มจากการสำรวจเนินดินเตาเผาในดงปู่ฮ่อของนางสาวอมรรัตน์ ชูพลู (นักศึกษาคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร) พบว่าบริเวณดอยเฟื้องหม้อและดงปู่ฮ่อมีเนินดินเตาเผาที่ยังไม่ถูกทำลาย ซึ่งใน พ.ศ.2543 โดยผู้นำชุมชนทั้งบ้านสวกพัฒนาและชุมชนบ้านบ่อสวกเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบ่อสวก ต่อมา พ.ศ.25452546 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ได้พัฒนาดงปู่ฮ่อภายใต้โครงการพัฒนานิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านบ่อสวก ทั้งการสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ และการขุดค้นเตาเผา  โดยใน พ.ศ.2546 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน ขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียงบริเวณดงปู่ฮ่อ โดยสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่านได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดเฌอกรีน    เข้ามาทำการสำรวจศึกษาแหล่งเตาดงปู่ฮ่อโดยที่เจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่านเป็นผู้ควบคุมการขุดค้น ซึ่งการขุดค้นครั้งนี้ได้มีการขุดค้นจำนวน 19 หลุมมีการค้นพบภาชนะดินเผาทับทมหนาแน่น เตาเผา 2 เตา และพบแนวอิฐขนาดความกว้าง 0.40 เมตรและเศษกระเบื้องดินขอเล็กน้อยในบริเวณดงปู่ฮ่อ (รายงานการขุดค้นศึกษาเบื้องต้นแหล่งเตาเมืองน่านดงปู่ฮ่อ, หน้า 14-15 อ้างใน วนิษา ติคำ, 2553, หน้า 139 ) แต่การจัดการต้องหยุดซะงักด้วยเหตุของการขาดผู้รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ จึงไม่มีการจัดการกับอาคารที่สร้างและหลุมขุดค้นเตาเผา ทั้งนี้การจัดการดังกล่าวนำมาสู่การพยายามพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของชุมชน แต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือการหายไปของการจัดการในรูปแบบแหล่งอาหารและยาของชุมชน การจัดการในรูปแบบพื้นที่หวงห้าม

ช่วงที่ 3 ช่วงแห่งการฟื้นฟูให้อยู่รอด (พ.ศ.2547 – พ.ศ.2549) ภายหลังจากการขุดค้นเตาเผาและสร้างอาคารเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในดงปู่ฮ่อ การจัดการได้หยุดชะงักลงเนื่องจากข้อจำกัดในการระดมทรัพยากรของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยความต้องการของชุมชน ผู้นำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงนำมาสู่การฟื้นฟูและพยายามพัฒนาพื้นที่ดงปู่ฮ่ออีกครั้ง ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของดงปู่ฮ่อจึงปรากฏชัดเจนในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ในรูปแบบพื้นที่แหล่งโบราณคดี การพยายามสร้างเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สามารถใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน รองลงมาคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ยังคงลักษณะเดิมอย่างที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติที่ยังคงอยู่ คือ การพยายามฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่แหล่งอาหารและยาในลักษณะป่าของชุมชน

การจัดการในช่วงเวลานี้ปรากฏชัดเจนใน 2 ลักษณะ คือ รูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ผ่านการจัดการในแบบที่เป็นมา ทั้งการบนบาน การทำพิธีกรรมเลี้ยงผี ส่วนอีกรูปแบบคือการจัดการในรูปแบบการพัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชน ผู้นำในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ร่วมกันพัฒนาฟื้นฟูดงปู่ฮ่อ ภายใต้กิจกรรมของโครงการโบราณคดีชุมชน โดยใช้แนวคิด “ผู้เฒ่านำ ผู้ใหญ่หนุน ดึงเด็กตาม” เกิดกิจกรรมอนุรักษ์หลุมขุดค้นเตาปู่ฮ่อ ฟื้นฟูภูมิทัศน์ดงปู่ฮ่อ กิจกรรมละอ่อนปั้นดิน และพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ โดยร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูเป็นแหล่งเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน นำมาสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ การฟื้นฟูเตาปู่ฮ่อ ฟื้นฟูภูมิทัศน์ของดงปู่ฮ่อด้วยการปลูกต้นไม้ และพืชสมุนไพร นำมาสูการเกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนในนาม พิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ รวมถึงการฟื้นฟูแหล่งอาหารและยาของชุมชน ตลอดจนเปิดเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนเพื่อรักษา    สืบทอด แต่ขณะเดียวกันในอีกด้านก็เกิดการสร้างการเข้าถึงควบคู่ตามมาเนื่องด้วยหลายอย่างได้คลี่คลายไป คนสามารถเข้าไปได้มากขึ้น

ช่วงปัจจุบัน ช่วงการรักษา ปรับตัวและพัฒนาให้อยู่ได้ (พ.ศ.2550 – ปัจจุบัน) ภายหลังจากการฟื้นฟูพัฒนาดงปู่ฮ่อ พื้นที่ดงปู่ฮ่อได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีนัยยะความหลากหลายทั้งการให้ความหมายและการใช้ประโยชน์ที่คนในชุมชนและหน่วยงานทั้งภายในและนอกชุมชนตระหนักถึงคุณค่า ทำให้ดงปู่ฮ่อค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมได้ปรากฏในทุกแบบ โดยช่วงเวลานี้เน้น การรักษา ปรับตัวให้พอดี และพัฒนาให้อยู่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวไม่ลื่นไหลเท่าใดนักด้วยการจัดการที่ยังต้องเชื่อมโยงเพิ่มเติมอีกหลายด้านทั้งมิติการจัดการและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่า ความสัมพันธ์ในลักษณะคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติมีความเข้มข้นชัดเจนและไม่เสื่อมคลายทั้งพื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่บนบานในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน รองลงมาเป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในลักษณะพื้นที่แหล่งโบราณคดี พื้นที่แหล่งเรียนรู้ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้       เป็นพื้นที่สามารถใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน และที่พยายามสร้างให้ชัดเจนขึ้นมา คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในลักษณะ พื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งอาหารและยา และเป็นพื้นที่เข้าไปหาอาหารและยา

สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏรูปแบบการจัดการใน 4 ลักษณะภายใต้การร่วมมือกันของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก และหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เป็นต้น คือ รูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ ที่ยังเกิดขึ้นผ่านการบนบาน การทำพิธีกรรม เกิดการบวงสรวงปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อในงานของดีบ่อสวก ส่วนความเชื่อเรื่องปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ คนในชุมชนบ้านสวกพัฒนาและคนที่มีนารอบๆ ดงปู่ฮ่อ ยังคงไว้ซึ่งการไหว้ผีและความเคารพศรัทธาต่อปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ รูปแบบแหล่งเรียนรู้ชุมชนและแหล่งโบราณคดีของและชุมชน วิทยากรนำชมดงปู่ฮ่อ การจัดการมรดกวัฒนธรรม ประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์ เตาปู่ฮ่อ ศาลปู่ฮ่อ จ้างคนในชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาความเรียบร้อยภายในดงปู่ฮ่อ รูปแบบพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชุมชน เกิดกิจกรรมกุล่มทอผ้า การใช้อาคารเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชนและตำบลเป็นครั้งคราว การจัดกิจกรรมประจำปี และรูปแบบป่าฟื้นฟูของชุมชน ที่มีการรักษาพืชที่ปลูกและปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นถึงการยังคงอยู่ของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการพึ่งตนเองในการจัดการทรัพยากรของชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มศักยภาพมากนัก

 

4. ดงปู่ฮ่อกับการจัดการที่เหมาะสมในอนาคต

การจัดการพื้นที่ดงปู่ฮ่อจากอดีตถึงปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการจัดการบนฐานศักยภาพของพื้นที่ดงปู่ฮ่อและชุมชนในหลายด้านทั้ง การเป็นพื้นที่ที่ยังคงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนในชุมชนบนฐานความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบต่อมาอย่างเข้มข้นจนปัจจุบัน การเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้และทรัพยากรทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ เตาปู่ฮ่อ อาคารพิพิธภัณฑ์ที่เก็บโบราณวัตถุของชุมชน การเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีหลากหลายชนิด (ป่าชุมชน) มีภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเข้าไปเรียนรู้ การอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีทรัพยากรทางโบราณคดีลักษณะเดียวกัน ได้แก่ เตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก     บ้านหนองโต้ม และที่สำคัญคือคนในชุมชนยังคงเห็นคุณค่าที่มี แต่ขณะเดียวกันยังเคลื่อนไหวได้ช้าไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร เนื่องด้วยการจัดการภายใน ความต่อเนื่อง การพัฒนาต่อยอด การเชื่อมโยงกับแหล่งความรู้ องค์ความรู้ผู้รู้และผู้นำของชุมชนรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนนัก จึงนำมาสู่การอยู่ในภาวะ ใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ คือ  “มีของดี    แต่ใช้ประโยชน์ไม่สมบูรณ์ตามสมควร” การจัดการที่เหมาะสมจึงสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะควบคู่กัน

ลักษณะแรก การรักษาให้คงไว้ซึ่งการเป็นพื้นที่ของวิถีชีวิตคนในชุมชน คือ การรักษาความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน ได้แก่ พื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ และพิธีกรรม พื้นที่อาหารและยาหรือพืชผักพื้นบ้าน การรักษาทรัพยากรทางโบราณคดีให้คงสภาพตามธรรมชาติที่เหมาะสม สมควร บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

ลักษณะที่สอง การพัฒนาเป็น “แหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีชีวิตแบบบูรณาการ บนฐานการพึ่งตนเอง คือการรักษา เชื่อมโยง พัฒนา ต่อยอด รักษาของเดิมและเพิ่มสิ่งใหม่อย่างเหมาะสมกับวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่และความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมภายใต้การสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ ทรัพยากร คน และหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ บนฐานการพึ่งตนเอง และพึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างกัลยาณมิตรทั้งกับท้องถิ่น องค์กรชุมชน แหล่งเรียนรู้ในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ร่วมแรงร่วมใจกันตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามศักยภาพของดงปู่ฮ่อ สามารถดำเนินการได้หลายมิติ ทั้งศึกษา วิจัย พัฒนา สืบทอด ต่อยอด สร้างสรรค์ เชื่อมโยง ทั้งในด้านโบราณคดี ทรัพยากรธรรมชาติ พิธีกรรมความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อาชีพสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา อาทิ การพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงบูรณาการ แหล่งเรียนรู้ แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ชุมชน หลักสูตรชุมชน มัคคุเทศก์ชุมชน การวิจัยสร้างองค์ความรู้โดยชุมชน การพัฒนาเชื่อมโยงองค์ความรู้มาสร้างเป็นอาชีพ พื้นที่สร้างอาชีพ งานสร้างสรรค์ พื้นที่พัฒนาอาชีพบนฐานองค์ความรู้ชุมชน พื้นที่กลางกิจกรรมชุมชน พื้นที่เชื่อมเครือข่ายเป็นต้น ที่อยู่บนฐานความรู้สึกเป็นเจ้าของ     ของชุมชนภายใต้การเข้าไปในพื้นที่อย่างเคารพทั้งคน ทรัพยากร และสถานที่

 

5. บทส่งท้าย

จากอดีตถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างคน ธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่เด่นชัดและยังคงอยู่เรื่อยมาไม่ปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยที่เข้ามากระทบมากนัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือ คนในชุมชนกับผีปู่ฮ่อ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ผีปู่ฮ่อยังคงเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และยังอยู่ในความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ว่าคือผู้คุ้มครองชีวิตทั้งในยามปกติและยามลำบาก ดูแลความเป็นอยู่ ส่งผลให้คนในชุมชนเคารพนับถือเรื่อยมา เด่นชัดคือ การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้ถือปฏิบัติกัน ทำให้ความเชื่อความศรัทธาของคนในชุมชนต่อปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อไม่เลือนหายไปจากชุมชน แต่รูปแบบการจัดการมีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเห็นได้ว่าไม่มีปรากฏแล้วในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประชากรและทรัพยากรในพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันลักษณะดังกล่าวก็ยังปรากฏในหลายพื้นที่แม้กระทั่งพื้นที่เมืองใหญ่เมื่อคนเจอวิกฤติไม่สามารถหาทางออกได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะกลายเป็นที่พึ่งเพื่อประคับประคองชีวิตของคนเพียงแต่อาจเป็นลักษณะของการนับถือในลักษณะส่วนตัวบุคคลมากกว่า ต่างจากดงปู่ฮ่อที่ยังเป็นระบบคิดร่วมกันของชุมชนด้วยเงื่อนไขวิถีชุมชนที่ยังส่งต่อความเชื่อและศรัทธาชัดเจนในระดับครอบครัวและชุมชนผ่านกลไกสำคัญคือพิธีกรรมร่วม

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาตินั้นปรับเปลี่ยนไปตามสภาพปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในมิติคนกับคนมีความชัดเจนรองลงมาบนฐานกิจกรรมการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ผ่านความสัมพันธ์คนในชุมชน คนนอกชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันมรดกวัฒนธรรมที่เป็นของชุมชนและคนน่าน ร่วมกันฟื้นฟูดงปู่ฮ่อ อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาแช่เลียงที่ปรากฎในดงปู่ฮ่อให้คงสภาพที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน มิติคนกับธรรมชาติเกิดขึ้นลดลงและถูกฟื้นฟู ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับดงปู่ฮ่อ ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนจากพื้นที่ป่า แหล่งอาหารและยารักษาโรค ถูกพัฒนาพื้นที่ไปนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของดงปู่ฮ่อลดหายไปจากชุมชน จนกระทั่งมีการฟื้นฟูปลูกต้นไม้ พืชสมุนไพร จนมีต้นไม้ใหญ่แล้วนั้น เกิดจากความร่วมมือกันของคนในชุมชนร่วมกันสร้างความเป็นดงปู่ฮ่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้แก่ดงปู่ฮ่อเพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

บทเรียนรู้สำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดงปู่ฮ่อสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การจัดการมรดกวัฒนธรรมของชุมชนนั้นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การจัดการที่ควรอยู่บนฐานของวิถีชีวิตชุมชนและการพัฒนาต่อยอดที่จะเกิดขึ้นควรอยู่บนฐานของความเหมาะสม ไม่ขัดกับสภาพวิถีชีวิต และอยู่บนฐานศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมที่มี รวมถึงการมองเห็นร่วมของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน หาทางเดินที่เหมาะสม มิใช่ใครคนใดคนหนึ่งในชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งคนในชุมชนและคนนอกชุมชนที่ร่วมกันเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ไม่ให้สูญหาย รักษา สืบทอด ส่งต่อให้ลูกหลายในชุมชนได้ปฏิบัติสืบต่อและใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยาวนานแก่ชุมชน ดังที่สำนักงานศิลปากรที่11 อุบลราชธานี (2555, บทคัดย่อ)  ได้กล่าวไว้ว่า การที่ชุมชนจะสามารถจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในท้องถิ่นร่วมกันได้ สมาชิกผู้เกี่ยวข้องควรได้รับการพัฒนาทั้งในด้านความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ได้โดยกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชมท้องถิ่นด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นนั้น เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างกัน ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และเข้าใจว่าทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นมีประโยชน์ทั้งทางด้านคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนต้องร่วมกันจัดการเพื่อให้วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นยังคงดำรงสืบไป”

 

เอกสารอ้างอิง

ธนิก เลิศชาญฤทธ์. (2554). การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (บรรณาธิการ). (2555). คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

วนิษา ติคำ. (2553). การจัดการพิพิธภัณฑ์เชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศรีศักร วัลลิโภดม (2561). พิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์.

ศิริพร ณ ถลาง. (2652). “คติชนสร้างสรรค์”: บทสังเคราะห์และทฤษฎี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สายันต์ ไพรชาญจิตร์. (2562). มรดกวัฒนธรรม. เข้าถึงจาก Faccebook : Sayan Praicharnjit. [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562]

สำนักงานสำนักงานศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. (2555). ร่วมด้วยช่วนกัน : การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลาคม.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2555). จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2558). กำกิ๊ดกำปาก งานวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

สัมภาษณ์

นางบัวตอง ขัดโน อายุ 71 ปี.  วันที่ 22 พฤษภาคม 2562.

นางสุนัน ติคำ อายุ 62 ปี. วันที่ 3 ตุลาคม 2562, 8 พฤศจิกายน 2562.


 



[1]ทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

[2]สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี E-mail: vanisa.tk@gmail.com

[3]สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีE-mail: jeerawan.sri.cd13@gmail.com

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กุมภาพันธ์ 2564
วันที่แก้ไข: 22 กุมภาพันธ์ 2564