ความต้องการ ความหวังและพื้นที่สาธารณะ: การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความต้องการ ความหวังและพื้นที่สาธารณะ: การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้[1]

ภัทรภร ภู่ทอง[2]

 

บทคัดย่อ

          คำถามสำคัญของการศึกษานี้ คือ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แนวคิดพิพิธภัณฑ์ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านสันติภาพและส่งเสริมวัฒนธรรมสันติภาพแก่สาธารณะจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมได้หรือไม่ การศึกษานี้ศึกษาผ่านการทำความเข้าใจประสบการณ์ ความรู้สึก มุมมอง ความต้องการและความหวังของผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะผ่านการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ และบันทึกประจำวัน ข้อเสนอจากการศึกษานี้คือ พิพิธภัณฑ์ควรสร้างในพื้นที่ส่วนกลาง คือ กรุงเทพฯ โดยมีนิทรรศการและกิจกรรมเคลื่อนที่ไปยังภูมิภาคอื่น เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สังคมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐรวมศูนย์ที่เป็นรากเหง้าของวิกฤติทางการเมืองไทย เพราะนโยบายที่ไม่เป็นธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากส่วนกลางและภาคส่วนอื่นๆ  และเพื่อเปิดพื้นที่การรณรงค์การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเช่น งบประมาณ การรวมศูนย์ นโยบายทหาร  รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงความรู้สึกและอคติ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารนอกพื้นที่ในประเด็นละเอียดอ่อน

 

คำค้น: พิพิธภัณฑ์สันติภาพ สันติศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้    

 

1. บทนำ

พิพิธภัณฑ์สันติภาพ (museum for peace) เป็นพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติศึกษา กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ ‘การรวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดง’ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบทสนทนาถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตของเหตุการณ์รุนแรง ถึงผู้คนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ และถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและทางออกของปัญหา นั่นคือ พิพิธภัณฑ์พยายามมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพด้วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมผ่านการปะทะกับแนวคิดอำนาจนิยม การสร้างความรู้เข้าใจต่อความสัมพันธ์และการทำงานระหว่างความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม การส่งเสริมโอกาสและความสามารถในการมองเห็นผู้เสียหาย การทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดเพื่อให้ความทรงจำจากหลายฝ่ายสามารถปะทะสังสรรค์ และการต่อต้านและยืนหยัดต่อสู้กับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด[3]

หากพิจารณาเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์สันติภาพ บทบาทของพิพิธภัณฑ์สันติภาพต่างไปจากความหมายของพิพิธภัณฑ์ตามที่องค์การพิพิธภัณฑ์นานาชาติ (International Council of Museums-ICOM) ได้นิยามไว้ในปี 2007 ที่ว่า “พิพิธภัณฑ์เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเปิดเป็นสถานที่สาธารณะ เป็นสถาบันถาวรในการให้บริการแก่สังคมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์เพื่อจุดประสงค์ทางการค้นคว้า การศึกษาและความเพลิดเพลิน”[4] [5] เนื่องจากพิพิธภัณฑ์สันติภาพพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความท้าทายด้านความเท่าเทียม กระบวนการประชาธิปไตย ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การวิพากษ์อดีตและสร้างพื้นที่ของเสียงและประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งกระบวนการเช่นนี้สอดคล้องกับนิยามใหม่ของพิพิธภัณฑ์ที่เสนอให้มีการปรับแก้ไขในปี 2019 ในการประชุมของ ICOM ที่ผ่านมาในกรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นและยังเป็นประเด็นถกเถียงมากกว่า นั่นคือ

 

Museums are democratising, inclusive and polyphonic spaces for critical dialogue about the pasts and the futures.[6] Acknowledging and addressing the conflicts and challenges of the present, they hold artefacts and specimens in trust for society, safeguard diverse memories for future generations and guarantee equal rights and equal access to heritage for all people. Museums are not for profit . They are participatory and transparent, and work in active partnership with and for diverse communities to collect, preserve, research, interpret, exhibit, and enhance understandings of the world, aiming to contribute to human dignity and social justice,global equality and planetary wellbeing.” (การเน้นตัวหนังสือทำโดยผู้เขียน)

 

(พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย นับร่วมผู้คนทุกกลุ่มและให้พื้นที่แก่เสียงและความเห็นอันหลากหลายเพื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนเชิงวิพากษ์ถึงเรื่องราวทั้งในอดีตและอนาคต ในการรับรู้และการจัดการความขัดแย้งและความท้าทายของปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุบนฐานความไว้เนื้อเชื่อใจของสังคม ปกป้องรักษาความทรงจำที่หลากหลายสำหรับชนรุ่นหลังในอนาคตและรับประกันสิทธิอันเสมอภาคและสิทธิในการเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมสำหรับปวงชน พิพิธภัณฑ์ไม่แสวงหาผลประโยชน์หรือกำไร แต่ขับเคลื่อนด้วยการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสบนฐานของความเสมอภาคระหว่างชุมชนที่หลากหลายในการจัดเก็บ รักษา วิจัย ตีความ จัดแสดงและส่งเสริมความเข้าใจต่อโลก โดยมุ่งส่งเสริมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมในสังคม ความเสมอภาคและความอยู่ดีกินดีในทุกอณูของโลกใบนี้)

 

ปัจจุบัน นิยามใหม่นี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงและยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ ผู้ไม่เห็นด้วยแย้งว่า นิยามใหม่นี้ละเลยหน้าที่ดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ในแง่การเป็นสถาบันความรู้ ทั้งยังมีความเป็นการเมืองและอุดมคติมากเกินไป[7] แต่ผู้เขียนเห็นว่า นิยามที่เสนอขึ้นมาใหม่สามารถสะท้อนความคาดหวังต่อบทบาทและหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 21 ได้มากกว่า ดังนั้น คำถามสำคัญของการศึกษานี้ คือ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศและท่ามกลางวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์ของประเทศไทยที่มีข้อจำกัดในการจัดรวบรวม จัดแสดง และจัดกิจกรรมเพื่ออภิปรายด้านสังคมการเมืองนั้น แนวคิดพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่สอดคล้องกับความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่เสนอขึ้นมาใหม่นั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ จะมีประโยชน์อย่างไร และที่สำคัญผู้คนในพื้นที่ต้องการหรือไม่

เพื่อให้ได้คำตอบจากคำถามทั้งสามข้างต้น การศึกษานี้เลือกใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมผ่านการใช้ชีวิตในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนท้องถิ่น การเขียนบันทึกประจำวันของกลุ่มเป้าหมายและการสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ ความรู้สึก มุมมอง ความต้องการและความหวังของผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของพื้นที่และการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์

 

2. พิพิธภัณฑ์สันติภาพและสันติภาพในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์สันติภาพพิจารณาพิพิธภัณฑ์ในแง่พื้นที่สันติศึกษา (Peace Education) และในฐานะเครื่องมือเพื่อความสมานฉันท์และสร้างสันติภาพ เป้าหมายเหล่านี้ดูห่างไกลและท้าทายเมื่อพิจารณาถึงพื้นที่ที่มีความรุนแรงยืดเยื้อ สันติภาพในความหมายของพิพิธภัณฑ์จึงครอบคลุมไปถึงกระบวนการสร้างสันติภาพ

ปัจจุบัน มีพิพิธภัณฑ์สันติภาพ 239 แห่งทั่วโลก[8] ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกหรือรับรองจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์สันติภาพนานาชาติ (International Network of Museums for Peace)[9]พิพิธภัณฑ์สันติภาพส่วนใหญ่ตั้งขึ้นเมื่อสงครามสิ้นสุด เมื่อความรุนแรงทางอาวุธสงบลงหรือเมื่อความขัดแย้งได้รับการจัดการ[10] ปัจจุบัน ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งหรือความรุนแรงดำเนินอยู่ 

ความพยายามใช้พิพิธภัณฑ์เพื่อเป้าหมายด้านสันติภาพสามารถย้อนกลับไปในปี 1798 เมื่อ ดร. เบนจามิน รัช (Benjamin Rush) เสนอต่อสำนักเลขาธิการสันติภาพสหรัฐ (U.S. Secretary of Peace) ให้สร้างพิพิธภัณฑ์สันติภาพโดยมีเป้าหมายยุติสงคราม แต่ข้อเสนอนี้ถูกเปลี่ยนเป็นนิทรรศการภาพสงครามเพื่อเชิดชูวีรกรรมทหารแทน (Dungel, 1999) จนอีก 100 ปีถัดมาที่การใช้พิพิธภัณฑ์เพื่อเป้าหมายด้านสันติภาพเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ในปี 1902 พิพิธภัณฑ์สันติภาพแห่งแรกคือ The International Museum of War and Peace ก่อตั้งขึ้นในเมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พิพิธภัณฑ์นานาชาติว่าด้วยสงครามและสันติภาพแห่งนี้มีเป้าหมายต่อต้านสงครามเป็นหลัก หากมองย้อนกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพิจารณาบริบทสังคมการเมืองช่วงศตวรรษที่ 19 ประกอบ การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมและการปฏิวัติอุตสาหกรรมสะท้อนอยู่ในการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในยุโรป (Hein, 1998) พิพิธภัณฑ์ที่วิพากษ์สงครามและให้ข้อมูลสันติภาพจึงเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ทางเลือกท่ามกลางพิพิธภัณฑ์ที่แสดงแสนยานุภาพทางทหารหรือข้าวของจากดินแดนอาณานิคม

การเดินทางของแนวคิดพิพิธภัณฑ์สันติภาพใช้เวลายาวนาน แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการสันติศึกษาและกิจกรรมการเรียนการสอนสันติศึกษา นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาช่วงทศวรรษที่ 1990s[11]ซึ่งการอ่านว่า พิพิธภัณฑ์สันติภาพนำเสนอ “สันติภาพ” อย่างไรสามารถใช้เกณฑ์การแบ่งของโจฮัน เกาตุง ซึ่งแบ่งสันติภาพออกเป็นสองกลุ่ม คือ สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace)  หรือสภาวะ “ปราศจากความรุนแรง การไม่มีสงคราม”   หรือสภาวะที่ไม่มีความรุนแรงทางตรง และ สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace ) สภาวะที่มี “ภราดรภาพของสังคมมนุษย์” (Galtung, An Editorial 1964)  ซึ่งหมายรวมถึงสังคมที่ ผู้คนมีความเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความยุติธรรมและมีธรรมชาติที่สมดุล ทั้งสันติภาพเชิงลบและสันติภาพเชิงบวกล้วนสะท้อนอยู่ในแนวคิดสันติภาพ ความทรงจำและผู้คนซึ่งเป็นกรอบการเล่าเรื่องส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์สันติภาพ และยังสะท้อนระดับมุมมอง ความรู้ ความเข้าใจสันติภาพของพิพิธภัณฑ์ และช่วยให้เห็นภาพชัดว่า พิพิธภัณฑ์สันติภาพมีบทบาทอย่างไรบ้าง ซึ่งพิพิธภัณฑ์สันติภาพจะมีส่วนสร้างสันติภาพอย่างไรนั้น สามารถเริ่มต้นที่การดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม ดังต่อไปนี้

 

การปะทะกับแนวคิดอำนาจนิยม

          พิพิธภัณฑ์สันติภาพมีแนวคิดต่อต้านและปะทะกับอำนาจนิยม เช่น กรณีพิพิธภัณฑ์สงครามและทหารซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสันติภาพด้วยแสนยานุภาพทางอาวุธและการเสียสละของทหาร ในประเทศส่วนใหญ่ พิพิธภัณฑ์สงครามและทหารได้รับความนิยมสูงเมื่อพิจารณาจำนวนผู้ชม การสร้างอิทธิพลต่อสังคม และการได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องทั้งจากรัฐและงบประมาณของทหาร [12] ขณะที่พิพิธภัณฑ์สงครามและทหารสร้างความชอบธรรมและให้เหตุผลการมีอยู่ของระบบทหาร พิพิธภัณฑ์สันติภาพให้ข้อมูลความสูญเสียจากสงครามและการสู้รบด้วยอาวุธ และเสนอทางเลือก เช่น การเจรจา การพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากร และความพยายามลดการซื้อขายอาวุธ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เห็นได้ในพิพิธภัณฑ์สันติภาพส่วนใหญ่ แม้ในพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอภาพสันติภาพเชิงลบก็ตาม เช่น พิพิธภัณฑ์ Imperial War Museum ในอังกฤษซึ่งถึงแม้จะมีชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สงคราม แต่การเล่าเรื่องในหลายช่วงวิพากษ์ระบบทหาร Hiroshima Memorial Peace Museum และ Kyoto Museum for World Peace ในญี่ปุ่นซึ่งให้น้ำหนักกับสงครามโลกครั้งที่สอง

 

การสร้างความรู้เข้าใจต่อความสัมพันธ์และการทำงานระหว่างความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์สันติภาพไม่ชี้หรือกล่าวโทษบุคคล แต่ชี้ให้เห็นการทำงานของระบบ โครงสร้างและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้บุคคลยอมรับความรุนแรงและเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง ซึ่งความรู้ความเข้าใจในส่วนนี้คือฐานของการวิพากษ์และปฏิเสธความรุนแรงรูปแบบต่างๆ รวมทั้งเปลี่ยนมุมมองต่อความขัดแย้ง ความรุนแรงและการแก้ปัญหา ซึ่งจะเห็นได้จากใน Kyoto Museum for World Peace Himeyuri Peace Museum และ Oka Masaharu Memorial Nagasaki Peace Museum ในญี่ปุ่นซึ่งล้วนถ่ายทอดความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศญี่ปุ่น นิทรรศการชั่วคราวของ Documentation Center of Cambodia ประเทศกัมพูชาที่นำเสนอและวิพากษ์ระบบเขมรแดง

 

การส่งเสริมโอกาสและความสามารถในการมองเห็นผู้เสียหาย

การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการพูดถึงแง่มุมความเป็นมนุษย์ เช่น ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดกับประชาชนหรือกลุ่มคนชายขอบ การนำเสนอเกี่ยวกับผู้เสียหายหรือการย้ำเน้นสถานะความเป็นเหยื่อในพิพิธภัณฑ์นั้น ในแง่หนึ่งจึงเป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณะเห็นชีวิตของผู้สูญเสีย เพราะการระลึกถึงชีวิตของผู้เสียหายคือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา[13]ซึ่งนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นประเด็นการเล่าเรื่องหลักของพิพิธภัณฑ์สันติภาพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ถ่ายทอดความทรงจำของผู้เสียหายจากมุมมองของรัฐ เช่น The Memorial Hall of Chinas War of Resistance Against Japan, Pingdu Memorial Hall in Honor of the Anti-Japanese War Heroes และ Zhi Jiang Chinese Peoples Victory against Japan Memorial Hall ในประเทศจีนซึ่งล้วนเล่าเรื่องการเปลี่ยนสถานะจากความเป็นเหยื่อไปสู่การเป็นผู้รอดชีวิตและมีบทบาทต่อสู้เพื่อให้รอดจากสถานการณ์รุนแรงของชาวบ้านและทหารยศต่ำต้อยในช่วงการรุกรากของกองทัพญี่ปุ่น

 

การทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดเพื่อให้ความทรงจำจากหลายฝ่ายสามารถปะทะสังสรรค์

          สำหรับพิพิธภัณฑ์สันติภาพหลายแห่ง ความอิสระในการบริหารจัดการนำไปสู่ความสามารถในการเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้คนหลายภาคส่วน หลายภูมิหลังได้ส่งเสียง ถกเถียงหรือสร้างบทสนทนาระหว่างกันและระหว่างชุดความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งการสร้างความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความทรงจำและประวัติศาสตร์มีหลายชุดนั้น นำไปสู่ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถามและการเปิดใจกว้างในการมองสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยไม่ด่วนตัดสิน และท้ายที่สุดคือการเคารพบุคคลอื่นที่มีประสบการณ์แตกต่าง ซึ่งความพยายามเหล่านี้เห็นได้จาก Memorial and Educational Site House of the Wannsee Conference ประเทศเยอรมันที่นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับ Wannsee Conference ซึ่งนำไปสู่นโยบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือที่ประเทศกัมพูชา พิพิธภัณฑ์ The Tuol Sleng Genocide Museum ร่วมกับ Documentation Center of Cambodia บันทึกปากคำของผู้กระทำ “รากหญ้า” หรือ “นักฆ่า” ที่เป็นชาวนาในหมู่บ้านยากจนในยุคเขมรแดง และจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพวกเขา นิทรรศการประกอบด้วยภาพถ่ายปัจจุบันของเจ้าตัว ชีวิตความเป็นอยู่ และการเข้าร่วมกับเขมรแดง นิทรรศการไม่มีข้อสรุปหรือการชี้นำ แต่การเลือกถ้อยคำมานำเสนอเผยให้เห็นเงื่อนไขและปัจจัยที่มีอิทธิพลให้คนธรรมดาเลือกวิธีการรุนแรง

ก่อนหน้าปี 2015 พิพิธภัณฑ์ Osaka International Peace Center ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนครโอซาก้า จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นนำเสนอประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองด้วยการบอกเล่าถึงแสนยานุภาพของกองทัพญี่ปุ่น และความเสียหายในโอซาก้า และมีส่วนนิทรรศการที่นำเสนอถึงประเด็น “อ่อนไหว” เช่น คอมฟอร์ทวูเมนของกองทัพญี่ปุ่น การสังหารในนานกิง รวมทั้งทางรถไฟสายมรณะ เป็นต้น แต่นิทรรศการส่วนนี้ถูกนำออกไปเมื่อโทรุ ฮาชิโมโต้ (Toru Hashimoto ) จากพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม Japan Innovation Party ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรี ( Seaton 2015)

 

การต่อต้านและยืนหยัดต่อสู้กับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

การจัดการความทรงจำในหลายกรณีสนับสนุนให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่ เช่น การเลือกไม่เล่าหรือไม่นำเสนอในที่สาธารณะ การไม่ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือการสร้างความหวาดกลัวผ่านการทำให้เชื่อว่า ประเด็นหรือเหตุการณ์นั้นเป็นความอ่อนไหวหรือกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งแนวคิดในการนำเสนอประเด็นและการดำเนินกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์สันติภาพคือการขจัดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและการต่อสู้กับความพยายามทำให้ลืม ผ่านการสร้างความทรงจำใหม่ ด้วยการนำเสนอข้อมูล เอกสารหลักฐาน การทำงานจดหมายเหตุ และการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรม  การชดเชยและเยียวยา เช่น โครงการบันทึก 6 ตุลา โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาในประเทศไทย Documentation Center of Cambodia ประเทศกัมพูชา May 18 Democratization Movement Archives ประเทศเกาหลีซึ่งเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงการล้อมปราบเมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ซึ่งล้วนกำลังได้รับการเสนอชื่อให้อยู่ในรายการพิพิธภัณฑ์สันติภาพ และ The Park for Peace ประวัติศาสตร์ของ Villa Grimaldi และพื้นที่คุมขังและทรมานอื่นๆ ในประเทศชิลี

 

3. การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์

ส่วนใหญ่แล้ว ความยั่งยืนทางการเงินของพิพิธภัณฑ์สันติภาพไม่ได้มาจากรายได้จากการเข้าชม แต่มาจากการบริจาคหรืองบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่กำกับดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นหรือจากแหล่งทุนอื่น พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นบนฐานความต้องการของบุคคล กลุ่มหรือองค์กรที่ต้องการสื่อสารและผลักดันให้ประเด็นหรือวาระบางประการมีพื้นที่ในที่สาธารณะและสามารถส่งผลกระทบหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ซึ่งคำถามตามมาคือ แล้วแผนธุรกิจของพิพิธภัณฑ์มีความสำคัญหรือไม่สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่ไม่แสวงผลกำไร แล้วการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แนวทางการศึกษาที่ใช้กันทั่วไปจะสามารถปรับใช้กับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพได้หรือไม่ ประเด็นที่ขาดหายไปในแนวทางการศึกษาคืออะไร และการศึกษานี้จะนำไปสู่ประโยชน์อย่างไรบ้าง

การศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในเอกสารวิชาการหรือเอกสารธุรกิจ ให้ความสำคัญที่การศึกษา ‘ความสามารถทางการเงิน’ (financial viability) ของพิพิธภัณฑ์ ความสามารถในการบรรลุวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ และความสามารถในการให้บริการระยะยาว นั่นคือ ระดับการเข้าชม (attendance) รายได้ (revenues) งบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าที่และการดำเนินงาน (staffing and operating expenses) ประเด็นหลักของการศึกษาความเป็นไปได้ของพิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปจึงประกอบด้วย การทบทวนวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ การวิเคราะห์ทรัพยากรที่ต้องการ วิเคราะห์ทรัพยากรที่มีอยู่ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมาย การศึกษาข้อมูลประชากรในพื้นที่รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ การวิเคราะห์คู่แข่งหรือพันธมิตร แนวโน้มการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้หมายถึงการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาให้ได้ว่า โครงการพิพิธภัณฑ์นี้มีความเป็นไปได้ “สูง” ที่จะมีรายได้เข้ามาหรือไม่ และเพียงพอในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ในระยะยาวได้หรือไม่ 

จากคำอธิบายข้างต้น การศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สะท้อนถึงความยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจ แล้วความยั่งยืนในเชิงการเป็นพื้นที่ทางสังคมการเมืองของพิพิธภัณฑ์อยู่จุดไหนในการศึกษาลักษณะนี้ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือการฟังเสียงของผู้คนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือ เสียงจากเจ้าของเรื่องและประสบการณ์ที่พิพิธภัณฑ์จะนำเสนอซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์มากที่สุด รวมทั้งมุมมองของพวกเขาที่มีต่อพื้นที่ที่กำหนดว่าจะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ก่อนการวิเคราะห์ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสนับสนุนและที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการพยายามตอบคำถามด้วยว่า บทบาทของพิพิธภัณฑ์สันติภาพในแง่ 1) การปะทะกับแนวคิดอำนาจนิยมม 2) การสร้างความรู้เข้าใจต่อความสัมพันธ์และการทำงานระหว่างความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม 3) การส่งเสริมโอกาสและความสามารถในการมองเห็นผู้เสียหาย 4 ) การทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดเพื่อให้ความทรงจำจากหลายฝ่ายสามารถปะทะสังสรรค์ และ 5) การต่อต้านและยืนหยัดต่อสู้กับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดนั้น จะเป็นไปได้ในรูปแบบใดบ้างเพื่อให้เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือของกระบวนการสันติภาพ

การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงให้ความสำคัญกับเสียงของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและไม่มีอำนาจในกระบวนการตัดสินใจเป็นหลัก ได้แก่ ชาวบ้านในพื้นที่นอกเขตเทศบาล ชาวบ้านในพื้นที่ขัดแย้ง เยาวชนที่มีโอกาสทางการศึกษาจำกัด ผู้นำศาสนาระดับชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรงและข้าราชการระดับปฏิบัติงาน เป็นต้น  หรืออีกแง่หนึ่ง คือการศึกษาความเป็นไปได้ผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่มุมมองของโครงการพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่มุมมองหรือความต้องการของนักวิชาการ กลุ่ม หน่วยงานหรือสถาบันหรือรัฐที่มีต่อพวกเขา และเป็นการศึกษาถึงความจำเป็นและประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์หรือความสามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์สันติภาพตามที่ระบุไว้ข้างต้นเป็นหลัก

คำถามที่นำไปสู่การเปิดเผยข้อเท็จจริง มุมมองและความต้องการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนจริงๆ การบาดเจ็บ การสูญหาย การสูญเสีย ความหวาดระแวง ความคับข้องใจที่โยงใยกับความอ่อนไหวเชิงประวัติศาสตร์ พรมแดน ความเชื่อ รัฐและความมั่นคง รวมทั้งผู้คนทั้งที่มีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิตอยู่จะสามารถได้คำตอบในครั้งเดียวภายในช่วงเวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงที่ผู้สัมภาษณ์และผู้ให้ข้อมูลพบกันครั้งแรกหรือไม่ และหากมีการให้ข้อมูล จะมั่นใจอย่างไรว่า เป็นข้อมูลที่มาจากความรู้สึกและความต้องการอย่างแท้จริง ผู้ให้ข้อมูลจะวางใจในผู้ให้สัมภาษณ์และยินดีให้ข้อมูลหรือไม่ พวกเขาเห็นประโยชน์ของการแบ่งปันเวลานับชั่วโมงเพื่อเปิดเผยและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาอย่างตรงไปตรงมาอย่างไรผ่านภาษาที่สองหรือผ่านบุคคลที่สอง 

          ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบคำถามและกระบวนการไม่ได้สัมพันธ์กับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับประสบการณ์ในการให้ข้อมูลกับงานวิจัยอื่นๆ เช่นกัน ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็น “สนาม” ของงานศึกษาจำนวนมากและเป็น “พื้นที่โครงการ” ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน การทำงานสนามของนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้คนในพื้นที่อีกต่อไป ผู้คนในพื้นที่หลายรายคุ้นเคยกับการให้ข้อมูลและชุมชนหลายแห่งเป็นพื้นที่ศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

          ความท้าทายสำคัญคือการออกแบบเครื่องมือวิจัยและคำถาม รวมทั้งฝึกอบรมทีมวิจัยสนามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ผู้ให้ข้อมูลจะไม่ต้องพูดประเด็นที่เคยพูดซ้ำ และเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและเป็นคำตอบจริง โดยการถามคำถามหลักว่า พวกเขากำลังเผชิญกับอะไร พวกเขาต้องการพิพิธภัณฑ์หรือไม่ พวกเขาจะมีส่วนร่วมในเรื่องเล่าหรือกิจกรรมอย่างไร พวกเขาเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ไหน พวกเขาเห็นตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในพิพิธภัณฑ์อย่างไร และจะใช้ประโยชน์อย่างไร ผ่านการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ การเขียนบันทึกประจำวันของผู้ให้ข้อมูล การอธิบายคำต่างๆ การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่มย่อย ผู้ให้ข้อมูลหรือกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาพำนักในชุมชนนอกเขตเทศบาลในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส 13 หมู่บ้าน นักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาเรียนหรือทำงานในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ผู้ให้ข้อมูลในการศึกษานี้มีทั้งชาวพุทธและมุสลิม

 

4. อารมณ์ความรู้สึกของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และที่ทางของพิพิธภัณฑ์สันติภาพ

Dominique Moïsi เขียนไว้ในหนังสือ The Geopolitics of Emotion : How Cultures of Fear, Humiliation, and Hope are Reshaping the World ว่า “ความกลัวขัดขวางความหวัง ความหวังที่จะต่อสู้กับความรู้สึกด้อยค่า ความรู้สึกด้อยค่าที่จะนำไปสู่การกระทำที่ไร้เหตุผลอย่างที่สุดหรือนำไปสู่ความรุนแรง  เราไม่อาจเข้าใจโลกที่เราอยู่ได้เลยหากปราศจากการพินิจพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกที่มีส่วนกำหนดโลกที่เราพำนักพักอาศัยอยู่นี้ [14]  การทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผ่านมุมมองของชุมชนต่อความเป็นไปในพื้นที่ สิ่งที่ผู้คนเผชิญในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงสำคัญอย่างยิ่งนอกเหนือไปจากการข้อมูลด้าน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ผู้คน วัฒนธรรมและความเชื่อ เศรษฐกิจและมิติอื่นๆ

แม้ว่า ข้อเสนอหนึ่งของกระบวนการสันติภาพคือ การใช้ข้อมูลความรู้มิใช่อารมณ์ความรู้สึกเป็นฐานในการแก้ปัญหา [15] แต่การศึกษานี้เห็นว่า อารมณ์และความรู้สึกสามารถส่งผลและกำหนดท่าทีและปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ วิถีชีวิตและประสบการณ์ของผู้คนจึงสามารถสะท้อนและกำหนดความต้องการ ตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในพิพิธภัณฑ์ และสะท้อนถึงบทบาทและสถานะของพิพิธภัณฑ์สันติภาพได้ ซึ่ง การทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่า ภายในช่วงเวลาสิบห้าปีที่ผ่านมา ผู้คนธรรมดาสามัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาเผชิญอะไรบ้าง จากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงกุมภาพันธ์ 2563 มีเหตุการณ์ 20,564 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,111 ราย และได้รับบาดเจ็บ 13,266 คน

คำว่า “เหตุการณ์” อาจไม่ทำให้ผู้คนนอกพื้นที่จินตนาการได้มากนักถึงระดับความไม่ปกติสุขและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่หากเปรียบเทียบกับการให้รายละเอียดว่าเหตุการณ์นั้นมีอะไรบ้าง ความกลัว ความวิตกกังวล ความไม่เชื่อมั่นและความหมดหวัง สามารถดูได้จากถ้อยคำ “พบศพ การก่อวินาศกรรม ยิง ระเบิด โจมตี/ปะทะ ปิดล้อมตรวจค้น วางเพลิง ฆ่าด้วยวิธีการทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย การก่อกวนที่ไม่มีความรุนแรง” เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทาง Deep South Watch แยกออกเป็นกรณีแบ่งแยกดินแดน อาชญากรรม ยาเสพติดและไม่ชัดเจนว่าเป็นเหตุการณ์อะไร [16] 

พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแบ่งได้ตามการบังคับใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับ ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีเพียงเก้าอำเภอที่ใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง อำเภอสุไหง-โกลก อำเภอสุคิรินและอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พิจารณาว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงน้อยกว่า

ภายใต้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ไม่ได้สงบลง เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวด้วยคดีความมั่นคงนับหมื่นคน รวมถึงการใช้นโยบายและปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงที่สะท้อนถึงความไม่วางใจ  การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ในการศึกษานี้ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์ แต่พอนึกภาพออกว่า พิพิธภัณฑ์น่าจะเป็น สถานที่ที่เก็บสะสมสิ่งของเก่า ๆ โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ จัดนิทรรศการเรื่องต่าง ๆ ของพื้นที่ หรือที่อื่น ๆ อาจอยู่ในอาคารหรือเป็นแค่สถานที่ เรื่องราว คำบอกเล่าก็ได้”  ส่วนเยาวชนจังหวัดชายแดนใต้ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เคยไปพิพิธภัณฑ์แต่ไม่ใช่เป็นกลุ่มผู้ไปพิพิธภัณฑ์ ( museumgoer) การศึกษาจึงไม่ได้เป็นเพียงการฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ แต่ยังพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและมุมมองของผู้ไม่ไปพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ทราบถึงเหตุผลและข้อจำกัด การหาตำแหน่งแห่งที่ของพิพิธภัณฑ์สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเริ่มต้นด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นไปในพื้นที่ผ่านสายตาและสิ่งที่พวกเขาเผชิญในชีวิตประจำวันและความคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลง

 

“เก้าโมงเช้าของทุกวันพุธ ฉันจะต้องออกไปตลาดเพื่อไปหาวัตถุดิบทำสลัดโรลมาวางขาย ฉันออกไปซื้อวัตถุดิบคนเดียวกับมอเตอร์ไซค์ ทุกครั้งที่ฉันต้องออกเดินทางไปในเมืองมันต้องผ่านด่านสกัดหลายด่าน”

 

ในบันทึกสี่วัน จำนวนสี่หน้าของดารา (ชื่อสมมุติ) เยาวชนอายุ 23 ปีที่กำลังหางานประจำทำและใช้เวลาว่างทำสลัดโรลขาย มีคำว่า “ด่าน” ปรากฎอยู่สี่คำ และมีคำว่า “ทหาร” ปรากฏอยู่ถึง 14 แห่ง เช่นเดียวกับบันทึกประจำวันของผู้ให้ข้อมูลอีก 24 คน สถานที่และผู้คนที่ปรากฏซ้ำๆ นี้“มันเป็นภาพที่ฉันและคนบ้านฉันเห็นจนชินตาไปแล้ว”

ฉากจำเจของฝ่ายความมั่นคง ด่านและอาวุธ การก่อเหตุของฝ่ายขบวนการและปฏิวัติการทางทหาร รวมทั้งความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นเวลานับศตวรรษจนถึงปัจจุบันย้ำเตือนผู้คนในพื้นที่ตลอดเวลาถึงความยังไม่ธรรมดา ยังไม่ปกติ ยังไม่สงบ ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการมองตัวเอง มองโลกรายรอบและการปฏิสัมพันธ์กับ “คนนอก” อันนำไปสู่ความสามารถในการไว้วางใจ ความสามารถในการแสดงความรู้สึกและความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ การคาดคะเนถึงความปลอดภัยในการส่งเสียง การกังวลกับภาพลักษณ์ว่าทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” จะมีมุมมองอย่างไรต่อพวกเขา [17]

โลกของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ พวกเขามีโอกาสเดินทางข้ามพรมแดนไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไกลออกไปถึงอินโดนีเซีย บางคนมีโอกาสไกลถึงตะวันออกกลางหรือแอฟริกา นอกเหนือไปจากการเคลื่อนย้ายมากรุงเทพหรือเมืองใหญ่อื่นๆ หลายคนไปทำงาน ค้าขาย เยาวชนบางคนไปเรียนหนังสือ ด้วยทักษะภาษา หลายคนสามารถฟังเพลง ดูละคร ฟังข่าวสารและอ่านหนังสือทั้งในภาษาไทย มลายูและภาษาอาหรับ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนราคาถูกของเยาวชนหรือแม้แต่ชาวบ้านในวัยกลางคนหลายรายนำโลกใหม่ๆ มาให้ ทั้งข้อมูลข่าวสาร ความเป็นไปในที่อื่นๆ คลิปวีดีโอ นิยายวัยรุ่น แฟชั่น การใช้ชีวิตและสถานที่น่าสนใจ การมีโอกาสนำตัวเองออกไปสู่พื้นที่อื่นทั้งการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ค้าขายหรือการศึกษา หรือด้วยภาษาและผ่านโลกออนไลน์ พวกเขาสามารถเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของการพัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวก ค่าแรง ความปลอดภัย การเห็นความเป็นไปของพื้นที่อื่นกระตุ้นความรู้สึกหลากหลาย ทั้งความคับข้องใจ น้อยเนื้อต่ำใจ ความโกรธ ความภาคภูมิใจเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่จากมา ขณะเดียวกันก็ช่วยให้พวกเขาสามารถจินตนาการได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ความสงบ ความเป็นอิสระ การพัฒนาหรือความเท่าเทียมที่พวกเขาต้องการ หากท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่อง โอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษา อีกทั้งโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ทางออกของพวกเขาหลายคนคือการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่านอกพื้นที่

การโยกย้ายของประชากรในพื้นที่เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ โดยเฉพาะเยาวชนในชุมชนมุสลิม การย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเกิดขึ้นมายาวนานและเริ่มสูงขึ้นในหลายหมู่บ้าน ตามที่เยาวชนในจังหวัดนราธิวาสคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “หากพี่เข้าไปในหมู่บ้าน จะเจอแต่เด็กกับคนแก่” หรือที่เยาวชนในจังหวัดยะลาที่ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ บอกว่า “พวกวัยรุ่นผู้ชายมาเป็นยามกันครึ่งหมู่บ้าน” ปรากฏการณ์นี้สามารถพิจารณาควบคู่กับข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 ซึ่งพบว่า เด็กอายุ 13-18 ในพื้นที่ภาคใต้มีอัตราเรียนต่อต่ำสุด รวมทั้งรายงาน “สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในระดับภาคของประเทศไทย” โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2661 ที่ระบุว่า ชายแดนภาคใต้มีความยากจนที่สุด นั่นคือจากประชากรทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ คนจนร้อยละ 32.8 อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ประชากรในพื้นที่นี้ 1 ใน 3 เป็นคนจน[18] รายงานความยากจนหลายมิติของเด็กในประเทศ โดยโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า จังหวัดปัตตานีมีดัชนีความยากจนหลายมิติของเด็กที่สูงที่สุด[19] [20]

ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่โยกย้ายเป็นแรงงานแฝงในภาคการเกษตร พวกเขาเป็นแรงงานพื้นฐานในเมืองใหญ่หรือมาเลเซีย เป็นกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายความมั่นคงและองค์กรพัฒนาเอกชนต้องการให้เข้าฝึกอาชีพ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ฝ่ายความมั่นคงจับตา โดยเฉพาะเยาวชนชาย[21] เมื่อผู้ชายออกนอกพื้นที่ แรงงานในภาคเกษตรลดน้อยลง ประกอบการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและราคาผลผลิตตกต่ำ ที่นาหลายแห่งในชุมชนกลายเป็นนาร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติหรือเป็นที่จับสัตว์น้ำตามฤดูกาล

หลายหมู่บ้านมีนโยบาย โครงการพัฒนาหรือความช่วยเหลือทั้งจากของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปถึง หรือแม้แต่โครงการของฝ่ายความมั่นคง หากการดำเนินงานหน่วยงานเหล่านี้ในหลายกรณีสร้างปัญหายิ่งขึ้นกว่าเดิมจากการขาดการวางแผนที่ดี เช่นในบันทึกของเยาวชนหญิงจากชุมชนหนึ่งใน อ. ยี่งอ จ.นราธิวาส เขียนไว้ว่า “ตลาดที่นี่มีชื่อว่าตลาดนัดประชารัฐผู้ใหญ่บ้านเป็นคนจัดตั้งขึ้นมา แม่ค้ามาขายของกันเยอะมากส่วนใหญ่เป็นของกิน ตั้งแต่มีตลาดนัดประชารัฐทุกวันพุธในหมู่บ้าน รถขายปลาในหมู่บ้านก็ต้องหยุดขายเพราะชาวบ้านรอซื้อปลาจากตลาด” นอกจากนั้น ในการดำเนินโครงการพัฒนา ชาวบ้านยังคงได้รับการปฏิบัติในฐานะกลุ่มผู้รับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนา ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้กลายเป็นผู้มีบทบาทหรือผู้ที่จะมีอำนาจในการต่อรอง ออกแบบโครงการพัฒนาหรือร่วมตัดสินใจ ส่วนโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงยิ่งขยายช่องว่างระหว่างรัฐผู้ทำหน้าที่เยียวยากับผู้ได้รับการเยียวยา ชาวบ้านมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีความจริงใจในการเยียวยา และพวกเขารู้สึกว่าถูกปฏิบัติในฐานะ “คนที่ซื้อได้ด้วยเงิน” โดยพิจารณาจากถ้อยคำ เช่น “ได้เงินไปตั้งเยอะก็สบายใจแล้วซี” “ได้เงินแล้วไม่ต้องเรียกร้องแล้วนะ” “ได้เงินแล้ว ก็ลืมได้แล้ว”

แม้ความยากจนเป็นปัญหาหลักของพื้นที่ แต่พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้เข้าถึงทรัพยากรทางการเงินหรือทุนต่างๆ นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นสีแดง เช่น ในบางช่วง ร้านขายมอเตอร์ไซค์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองปฏิเสธให้ผู้ที่มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในพื้นที่เหล่านั้นซื้อสินค่าเงินผ่อน เพราะหากมีปัญหาการผ่อนร้านไม่ต้องการเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อทวงถามและด้วยเหตุผลของความไว้วางใจ นอกจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วพวกเขายังตระหนักว่า ตัวเองถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด  

เช่นเดียวกัน ข้อจำกัดทางพื้นที่และสถานะทางสังคม ผู้คนเหล่านี้ยังมีที่ทางจำกัดในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมหรือพื้นที่เชิงสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคจัดตั้งขึ้น เช่น Patani Art Space, Malayu Living, หอศิลป์ เดอ ลาแปร์ อาร์ต สเปซ หรือ Saiburi Looker รวมทั้งงานเสวนา สัมมนาต่างๆ  แม้เรื่องของพวกเขาบางคนถูกเล่าในพื้นที่เหล่านี้ก็ตาม พวกเขาไม่เห็นที่ทางของตัวเองและหลายรายไม่รู้ว่ามีกลุ่มหรือพื้นที่เหล่านี้ ที่ทางของพวกเขาอยู่ในงานเทศกาลสาธารณะที่เปิดพื้นที่กว้างสำหรับทุกคน เช่น งานของดีเมืองนรา งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว งานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนและงานเทศกาลฟื้นฟูประเพณีและของดีเมืองยะลา เป็นต้น

แต่พวกเขารู้สึกถึงการมีที่ทางจริงหรือ ชาวมุสลิมหลายรายสะท้อนถึงความอึดอัดคับข้องใจที่ “รู้สึกเหมือนถูกจับตามอง” “รู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสามเมื่อผ่านด่าน” “รู้สึกปฏิบัติศาสนกิจได้ไม่เต็มที่” “รู้สึกไม่ปลอดภัย” “รู้สึกตัวเองถูกมองเป็นโจรใต้” ขณะที่ชาวพุทธสะท้อนถึงความหวาดระแวง “จะไปตลาดก็เหลียวหน้าแลหลัง” “อยากให้ทหารมาอยู่ในวัด” “เดี๋ยวนี้ไม่สนิทใจเหมือนแต่ก่อน” “กลางค่ำกลางคืนไม่ออกบ้าน” ความคาดหวังที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เช่น การใช้ชีวิตเรียบง่าย สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ลูกๆ มีโอกาสเรียนหนังสือในสถานศึกษาที่ครอบครัวต้องการ มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจกลับเป็นเรื่องยาก ไม่เพียงที่พวกเขารู้สึกถูกกีดกันจากทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายขบวนการ พวกเขาสะท้อนถึงความห่างเหินที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างผู้คนในชุมชนและพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนาที่มีน้อยลง “บ้านผมอยู่ใกล้ชุมชนจีน ช่วงไหว้เจ้าก็มีการตั้งหัวหมูหน้าบ้านคนจีน หน้ามัสยิด เรื่องศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน เมื่อก่อนเดินเข้าครัวคนจีนได้ตลอด ตอนนี้ คนเริ่มระแวง”

ความรุนแรงที่ยาวนานและการถูกทำให้รับรู้ร่วมกันว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ไม่ใช่ปัญหาร่วมของคนในประเทศ ส่งผลต่อการมองตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ทั้งตัวตนในพื้นที่และในระดับข้ามภูมิภาค คำถามที่ผู้เขียนซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ได้ยินเป็นประโยคแรกๆ จากชุมชน คือ “มาคนเดียวหรือ ไม่กลัวหรือ” “ไม่กลัวโจรใต้หรือ” เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่า ขณะที่พื้นที่ร่วมระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่เริ่มขยายกว้างขึ้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนนอกพื้นที่และในพื้นที่ก็ห่างออกไปเช่นกัน เพราะการรับรู้โลกภายนอกเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การมีปฏิสัมพันธ์จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้ในพื้นที่จะมีสำนักข่าวขนาดเล็ก หรือการสร้างสื่อด้วยตัวเองมีเพิ่มมากขึ้น มีความพยายามสื่อสารทั้งสถานการณ์ เสียงจากผู้คนและเรื่องราวอื่นๆ ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เฉพาะความรุนแรงเท่านั้น เช่น Patani Note วารสาร Malayu Review ขณะเดียวกัน เมื่อมองจากโลกข้างนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สื่อเหล่านี้ยังจำกัดวงคนอ่านหลักพัน ซึ่งอาจมองในแง่ข้อจำกัดการสื่อสารการเมืองเชิงอัตลักษณ์ นั่นคือ ขณะที่เจ้าของอัตลักษณ์มีที่ทางของตนนั้น การเชิดชูอัตลักษณ์อาจนำมาซึ่งอำนาจต่อรอง แต่ขณะเดียวกันเป็นปัญหาในการสร้างความเชื่อมโยงตัวเองกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย

เช่นเดียวกับภาษาไทย คำว่า “สันติภาพ” ไม่ได้เป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้คนพูดถึงความฝันและความต้องการของตัวเองว่าอยากมีชีวิตแบบไหนแทนการพูดว่า “สันติภาพ” ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรมมากเกินไป “อามานดามัย” ในภาษามลายูกลาง หรือ “อาแมดาแม เกอเวอลามะแต” ในภาษามลายูถิ่นซึ่งต่างเป็นคำศัพท์ “สันติภาพ” สำหรับผู้คนวัยกลางคน หมายถึง “ความปลอดภัย ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร อาหารการกิน มีอิสระเสรีภาพในการทำงาน ทำมาหากิน  การใช้ชีวิต การเผยแผ่ ประกอบศาสนกิจ ทำกิจกรรมทางศาสนา” และสำหรับเยาวชน หมายถึง “การเดินทางไปไหนมาไหนได้อิสระเสรี การใช้ชีวิต การแสดงออกทางการกระทำ ความคิด การเผยแผ่ ประกอบศาสนกิจ ทำกิจกรรมทางศาสนา การไม่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อความไม่สงบในพื้นที่ มีสิทธิ์ที่จะพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์และความภาคภูมิในประวัติศาสตร์ของปัตตานี ของตนเอง(ชุมชน หมู่บ้าน ตระกูล)”

แล้วพิพิธภัณฑ์จะสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ “สันติภาพ” ได้อย่างไร หากพิพิธภัณฑ์ คือ “สถานที่ที่เก็บสะสมสิ่งของเก่า ๆ โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ จัดนิทรรศการเรื่องต่าง ๆ ของพื้นที่ หรือที่อื่น ๆ อาจอยู่ในอาคารหรือเป็นแค่สถานที่ เรื่องราว คำบอกเล่าก็ได้” การทลายกรอบคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของผู้ให้ข้อมูลจึงเป็นความสำคัญอันดับแรก ก่อนชวนสนทนาเพื่อตรวจสอบว่า แนวทางของพิพิธภัณฑ์สันติภาพสอดคล้องกับพื้นที่ที่ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและท่ามกลางข้อจำกัดทางสังคมการเมืองในประเทศไทยขณะนี้หรือไม่

ผู้คนในชุมชนไม่เห็นประโยชน์ของการสื่อสารกันเองภายในพื้นที่ พวกเขาต้องการให้เสียงที่สะท้อนถึงความคับข้องใจต่างๆ ขยายออกไปไกลกว่าชุมชน ประสบการณ์ชีวิตที่เหมือนกันของผู้คนในชุมชนเดียวหรืออีกหลายๆ ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดน ทั้งการเผชิญความสูญเสีย ความหวาดกลัวต่างๆ ทำให้พวกเขาไม่เห็นว่าการสื่อสารภายในพื้นที่กันเองจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะ “พิพิธภัณฑ์ควรอยู่ในหมู่คนที่ไม่รู้”ไปเห็นก็แค่นั้น มันไม่ได้สร้างอะไร เพราะว่าเราก็รู้อยู่แล้ว จะไปเห็นอะไร จะไปดูอะไร” หรือ “มันเหมือนปรับทุกข์กัน ก็ทำให้สบายใจ แต่มันก็เหมือนเดิม” คำตอบของพวกเขาซ่อนนัยยะของความเข้าใจที่ว่า พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อปะทะระบอบอำนาจนิยม การเปลี่ยนแปลงหรือสันติภาพไม่ได้มาจากชุมชนแต่มาจากโครงสร้างภายนอกและการทำงานกับกลุ่มผู้สนับสนุนหลัก (pillar of support) ของโครงสร้างนั้น

ขณะเดียวกัน การมีพื้นที่เช่นพิพิธภัณฑ์นำมาสู่ความกังวลบางอย่าง ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ชวนคิดในการดำเนินงานเพื่อถ่ายทอดความรุนแรงทางตรง เชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม หรือแม้แต่การส่งเสริมโอกาสและความสามารถในการมองเห็นผู้เสียหาย การเป็นพื้นที่เปิดเพื่อให้ความทรงจำจากหลายฝ่ายสามารถปะทะสังสรรค์ไม่ได้จบลงด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันเสมอไป สำหรับผู้ให้ข้อมูลชาวมุสลิม พวกเขาเห็นว่า ด้วยสายตาของรัฐไทยหรือ “คนไทย” ทั่วไปเมื่อมองลงไปในพื้นที่สามจังหวัดนั้น “มันเหมือนเป็นตัวแทนที่มีความต่าง มีทั้งเรื่องความเชื่อ มีทั้งเรื่องชาติพันธุ์ วิถีประเพณีที่มันต่าง ที่มันเหมือนอีกโลกหนึ่ง โลกอื่น ภูมิภาคอื่น การเชื่อมต่อมันยาก ประวัติศาสตร์มันคนละชุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาคิดมันเป็นความกลัวมากกว่า กลัวว่าเขาจะไม่สามารถควบคุมได้”

ในมุมมองของนักวิชาการจำนวนหนึ่ง การปะทะของประวัติศาสตร์จากรัฐไทย ประวัติศาสตร์ฉบับพื้นที่และประวัติศาสตร์ฉบับบอกเล่าอื่นๆ ควรมีที่ทางในพิพิธภัณฑ์ นั่นคือ ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลหรือสอนประวัติศาสตร์ แต่เป็นการให้ข้อมูลหรือสอนประวัติศาสตร์ศึกษา หากแต่ในมุมมองของผู้คนที่เผชิญความรุนแรงในชีวิตประจำวันมายาวนานเห็นว่า การปะทะ ถึงแม้จะเป็นการปะทะกันทางความคิดก็คือความขัดแย้ง พวกเขา “ไม่อยากให้มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นอีก แค่นี้ก็เหนื่อยเหลือเกิน” เช่นเดียวกับการบอกเล่าแง่มุมของการเป็นผู้ถูกกระทำนั้น ท่ามกลางความคลุมเครือของความจริงและกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีการสังหารที่มัสยิดกรือเซะและการเสียชีวิตกรณีตากใบ เรื่องราวเหล่านี้เป็นประเด็นอ่อนไหว การเล่าเรื่องยังคงมีข้อจำกัดสำหรับชาวบ้าน นั่นคือไม่สามารถเล่าไปได้ไกลว่า ชีวิตของผู้เสียหายเป็นอย่างไร และไม่แตะต้อง “ความจริง” อื่นๆ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงมีข้อจำกัดถึงการนำเสนอข้อเท็จจริง การดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการจับตากิจกรรมการจัดการความทรงจำที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ผู้ให้ข้อมูลสามารถวิเคราะห์ถึง ทำเลที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการที่จะส่งผลต่อการรับรู้และอารมณ์ของผู้ชม โดยเห็นว่า การสื่อสารเชิงสถาบันหรือในนามพิพิธภัณฑ์ถึงเรื่องราวอ่อนไหวอย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อาจทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นเป้าหมายของความรุนแรงทั้งจากฝ่ายความมั่นคงและขบวนการ อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายแห่งความโกรธเคืองไม่รู้จบแก่ฝ่ายผู้ถูกกระทำ ซึ่งอาจส่งผลตามมาด้วยการต่อต้านรัฐหรือเป็นแนวร่วมของขบวนการได้ ขณะเดียวกัน หากเรื่องราวเดียวกันเหล่านี้ปรากฏอยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดคำถามและการวิพากษ์รัฐมากกว่า

อย่างไรก็ตาม พวกเขาคาดหวังว่า พิพิธภัณฑ์จะเล่าเรื่องผู้เสียหายและครอบครัวในด้านความเป็นมนุษย์ ซึ่งพวกเขายังไม่ค่อยเห็นนัก เช่น ความเป็นคนธรรมดาสามัญที่เผชิญความสูญเสียและความหวาดกลัว เพราะว่า “รัฐชี้เฉพาะส่วนใหญ่ด้านเดียว ด้านเดี่ยว เช่น คนนี้เป็นกบฏ คนนี้เลว ควรด่า ควรเนรเทศ ไม่สำนึกในความเป็นคน” และรัฐไม่เคยคิดว่า ทำไมคนเข้าไปสู่วงจรนี้ รัฐ บางทีก็ผลักดันเข้าไปสู่วงจรนี้”

พวกเขายังคาดหวังด้วยว่า พิพิธภัณฑ์ในฐานะหน่วยงานกึ่งวิชาการจะสามารถมีเสรีภาพในการนำเสนอประเด็นละเอียดอ่อนที่เขาไม่สามารถพูดได้ในพื้นที่ เช่น การพูดถึงการปกครองตัวเอง เหตุผลของความต้องการในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง เป็นต้น “อย่างน้อยน่าจะมีสักที่หนึ่งที่เราจะพูดเรื่องนี้ได้อย่างปลอดภัย”

เมื่อเห็นที่ทางของพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใช่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาคาดหวังว่า พิพิธภัณฑ์จะสามารถพูดแทนพวกเขา เพื่อให้เสียงนั้นถูกส่งไปยังผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ สื่อมวลชนและผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ ที่รับรู้สถานการณ์เพียงผิวเผิน พวกเขาตระหนักว่าการรายงานข่าวที่ย้ำเน้นตัวเลขผู้เสียชีวิตและสถานการณ์สร้างความเคยชินและไม่ได้สร้างความเชื่อมโยงให้ คนในที่อื่นๆ “เห็นใจเราบ้าง”

การเห็นตำแหน่งแห่งที่ของพิพิธภัณฑ์ยังนำมาสู่การเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับพิพิธภัณฑ์ พวกเขาเห็นความสามารถของตัวเองในการเป็นผู้เล่าและออกแบบว่าเรื่องที่จะเล่านั้นเป็นอย่างไร เช่นกลุ่มผู้หญิงในชุมชนแห่งหนึ่งใน ต. ตันหยงลิมอ เสนอว่า พวกเธออยากให้คนในพื้นที่อื่นๆ รู้ว่า ครั้งหนึ่งพวกเธอและเด็กๆ ที่นี่อยู่ในภาวะสงครามด้วยการจำลองเหตุการณ์ช่วงนั้น “เวลากลางคืน ไม่มีรถผ่านมาเลย นอนก็ต้องเอาเตียงมากั้น เด็กๆ เอาไว้ใต้เตียง คนที่อยู่คนเดียวก็ไปนอนบ้านคนอื่น หมู่บ้านเงียบมาก พวกเขาเห็นตัวเองเป็นผู้รวบรวมเอกสาร วัตถุพยานและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และมีส่วนร่วมในการวางแผนว่า เรื่องราวนี้ควรสื่อสารโดยตรงกับใคร

งบประมาณและความเป็นเจ้าของเป็นอีกประเด็นกังวล ขณะที่กลุ่มเป้าหมายชาวมุสลิมส่วนใหญ่เคลือบแคลงถึงความจริงใจของรัฐ ชาวไทยพุทธกังวลว่า พิพิธภัณฑ์จะ “ถูกครอบงำ” จากฝั่งชาวมุสลิม ความเป็นอิสระของพิพิธภัณฑ์จึงมีความหมายและสำคัญมาก ทั้งในเชิงการบริหาร การนำเสนอและการจัดกิจกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอำนาจตัดสินใจ เช่นเดียวกับสร้างความสมดุลระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดตั้งและดำเนินการพิพิธภัณฑ์

จากความเป็นไปในพื้นที่ สถานการณ์ที่ผู้คนในหมู่บ้านทั้ง 13 แห่งกำลังเผชิญนั้น พิพิธภัณฑ์สันติภาพจะมีที่ทางอย่างไรในวิถีชีวิตแบบนี้ การมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์จะนำไปสู่สันติภาพได้อย่างไร การศึกษานี้ เสนอว่า ถ้าหากพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถดำเนินงานแก้ปัญหากับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงในรูปแบบโครงการ แล้วพิพิธภัณฑ์ควรหาแนวทางอื่นในการสื่อสารถึงสถานการณ์กับผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้สนับสนุนผู้มีอำนาจตัดสินใจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดจาก ผู้คนในพื้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ (recipients)  เป็น ผู้คนในพื้นที่เป็นผู้มีบทบาทหลัก (actors) ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งการวางแผน ตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์

 

5. บทสรุป

การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การพิสูจน์ความต้องการของผู้คนในพื้นที่และประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพื้นที่และข้อมูลจากมุมมองของกลุ่มเป้าหมาย การศึกษาสรุปว่า พิพิธภัณฑ์สันติภาพควรจัดตั้งนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จัดให้มีในกรุงเทพ โดยมีการจัดทำนิทรรศการและกิจกรรมเคลื่อนที่ไปในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับผู้ตัดสินด้านนโยบาย ผู้มีอำนาจฝ่ายความมั่นคง ผู้นำทางการเมืองและประชาชนผู้สนับสนุนบุคคลเหล่านี้ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์ และเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่จะทำให้ผู้คนที่คิดต่างซึ่งอยู่อีกพรมแดนหนึ่งก้าวเข้ามายังพรมแดนของพิพิธภัณฑ์สันติภาพให้ได้ บนแนวทางและหลักการ 1) สร้างความเข้าใจในวงกว้างว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่เป็นปัญหาของประเทศ 2)  แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐรวมศูนย์ที่เป็นรากเหง้าปัญหาของวิกฤติทางการเมืองไทย 3) สร้างตัวตนพื้นที่ระดับมหภาคของคนมลายูปัตตานี ชาวไทยพุทธและกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ 4) เปิดพื้นที่เชิงวิพากษ์ในวงกว้างระดับมหภาค 5 ) ทำหน้าที่เป็นพื้นที่รณรงค์การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น งบประมาณ การรวมศูนย์ นโยบายทางทหาร และ 6) หลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงความรู้สึกและอคติ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารนอกพื้นที่ในประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งการทำหน้าที่ในกระบวนการสันติภาพของพิพิธภัณฑ์สันติภาพนี้เพื่อจะบรรลุเป้าหมายสันติภาพที่สังคมมีความเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีความยุติธรรม

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สันติภาพไม่มีนิทรรศการถาวร นิทรรศการและกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ควรเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี เนื่องจากประวัติศาสตร์ ความจริงและเรื่องราวของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายชุด และเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ใดประวัติศาสตร์หนึ่งหรือชุดความจริงชุดใดหรือของใครมีอำนาจเหนือกว่า และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความเป็นไปและพลวัตของพื้นที่

พิพิธภัณฑ์ดำเนินการนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพื้นที่เป็นผู้เสนอเนื้อหา จัดทำข้อมูลและออกแบบกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งสามารถทำงานผ่านชุมชน กลุ่มและองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่และอาจหมุนเวียนกันไปตามวาระ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สามารถสนับสนุนให้พื้นที่อาจดำเนินงานในเชิงจดหมายเหตุ เพื่อให้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เอกสารหลักฐาน วัตถุพยานต่างๆ ได้มีการจัดเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ

พิพิธภัณฑ์สันติภาพควรเป็นองค์กรอิสระ ผู้เป็นเจ้าของในระยะเริ่มต้นอาจจะเป็นกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาสังคม ก่อนดูความเป็นไปได้ในการเป็นองค์กรอิสระภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ เช่น โมเดลของมิวเซียมสยาม ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ แม้จะได้รับงบประมาณสนับสนุนหรือในกรณีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งในระยะยาว พิพิธภัณฑ์ควรมีข้อกำหนดหรือข้อบังคับตามกฎหมาย เพื่อรับประกันถึงสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความเห็น และความเป็นอิสระในการดำเนินงานอย่างแท้จริง คณะทำงานหรือคณะกรรมการที่ปรึกษาควรมาจากหลายภาคส่วน

เพื่อให้โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้จริง การดำเนินงานสามารถแบ่งออกเป็นสามระยะ ดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 (ระยะเวลา 3 ปี) ดำเนินการในรูปแบบโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  (action research) พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก โดยโครงการทดลองมีโครงสร้างการทำงานเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กจริงแม้ไม่มีอาคารพิพิธภัณฑ์ มีกิจกรรม เช่น นิทรรศการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การหาแนวร่วม พันธมิตรและการสร้างเครือข่ายการทำงาน เช่น การร่วมจัดตั้งโครงการจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อทดสอบว่า แนวทางหกข้อข้างต้นมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ท่ามกลางความรุนแรงที่ดำเนินการอยู่และท่ามกลางข้อจำกัดทางสังคมการเมือง ได้รับการสนับสนุนหรือต่อต้านอย่างไรบ้าง มีอุปสรรคหรือข้อปฏิบัติที่ดีอย่างไร เพื่อนำบทเรียนมาวางแผนการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ในระยะที่สอง  เมื่อสิ้นสุดระยะที่หนึ่ง โครงการทดลองจะต้องมีผลผลิต 1) ข้อกำหนดสำคัญของพิพิธภัณฑ์ เช่น การเป็นพื้นที่กลางและพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ 2) รูปแบบหรือโมเดลของพิพิธภัณฑ์ที่สามารถดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลทางสังคมการเมืองใดๆ 3) รายชื่อเครือข่ายและองค์กรพันธมิตร รวมทั้งแหล่งเงินทุน (potential funding)  4) แผนการเงินระยะยาว 5) รายงานถอดบทเรียน ซึ่งประกอบด้วย อุปสรรค ความท้าทาย แนวทางแก้ปัญหา และข้อปฏิบัติที่ดี 6) แผนกิจกรรมในระยะต่อไป ซึ่งงบประมาณสนับสนุนในระยะนี้อาจมาจากสถาบันวิจัยในประเทศหรือต่างประเทศและแหล่งทุนที่สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ระยะที่ 2 (ระยะเวลา 3-5 ปี) ดำเนินการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กหรือขนาดกลางโดยใช้โมเดลการทำงานที่ถอดบทเรียนมาจากการทดลองในระยะที่หนึ่ง ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการในระยะที่สองนี้ ประกอบด้วย 1) แผนการเงินระยะยาว 2) รูปแบบหรือโมเดลของพิพิธภัณฑ์ที่สามารถดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลทางสังคมการเมืองใดๆ ที่ปรับปรุงใหม่ 3) ข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารและสถานที่ของพิพิธภัณฑ์ 4) แผนการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้พิพิธภัณฑ์สันติภาพมีสถานะตามกฎหมาย 5) รายงานและแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมได้ เช่น การทำงานรณรงค์ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ การร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการแก้ไขกฎหมาย หรือผลักดันให้มีกฎหมายที่เป็นธรรมกับพื้นที่ ซึ่งงบประมาณสนับสนุนในระยะนี้หลังจากผ่านพ้นช่วงทดลองแล้ว คือ แหล่งทุนที่สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนผ่านการบริจาค

 ระยะที่ 3 (ระยะเวลา 3-5 ปี) ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่โดยใช้โมเดลการทำงานที่ถอดบทเรียนมาจากการทดลองในระยะที่สาม ซึ่งในระยะนี้ พิพิธภัณฑ์ควรมีสถานที่ถาวร มีสถานะตามกฎหมาย มีโครงสร้างการบริหาร มีแผนความยั่งยืนทางการเงิน เช่น แผนการระดมทุนและลงทุน หรือการสร้างรายได้ด้วยตัวเอง และมีแนวทางการดำเนินที่ชัดเจนจากการถอดบทเรียนระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง ซึ่งงบประมาณสนับสนุนในระยะนี้ คือ แหล่งทุนที่สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในต่างประเทศ การลงทุนและการหารายได้ของพิพิธภัณฑ์

 



[1] บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

[2] E-mail: patporn_patt@hotmail.com

[3] จากการรวบรวมบทบาทและหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์สันติภาพจาก Peace Museum Worldwide ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1995, Museums for Peace Worldwide ตีพิมพ์ในปี 2008, List of Peace Museums for Peace Worldwide จากเว็บไซต์ http://asap-anzai.com ซึ่งปรับปรุงข้อมูลล่าสุด ปี 2017, The Peace and War Museum Guidebook ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2000 และจากการค้นข้อมูลจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ 

[4]International Council of Museums.  Museum Defination.Retrieved from https://icom.museum /en/: https://icom.museum/en/activities/standards-guidelines/museum -definition/

[5] ICOM สร้างคำนิยามพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกในปี 1946 และมีการปรับแก้ต่อมาถึงห้าครั้งให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ปัจจุบัน ICOM กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนนิยามพิพิธภัณฑ์ใหม่โดยเชิญชวนให้ผู้สนใจส่งนิยามพิพิธภัณฑ์ไปยังองค์กร นิยามใหม่จะทำการคัดเลือกและประกาศในการประชุมพิพิธภัณฑ์นานาชาติที่กียวโต เดือนกันยายน ปี 2019 นี้

[6] น่าสังเกตว่า คำว่า past และ future มี s เพราะอดีตและอนาคตไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ละคนย่อมมีอดีตและอนาคตของตัวเอง

[7]Suyin Haynes. (9 September 2019). Why a Plan to Redefine the Meaning of 'Museum' Is Sterring Up Controversy.Retrieved from https://time.com: https://time .com/5670807/museums-definition-debate/

[8] รวบรวมจาก Peace Museum Worldwide ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1995, Museums for Peace Worldwide ตีพิมพ์ในปี 2008, List of Peace Museums for Peace Worldwide จากเว็บไซต์ http://asap-anzai.com ซึ่งปรับปรุงข้อมูลล่าสุด ปี 2017, The Peace and War Museum Guidebook ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2000 และจากการค้นข้อมูลจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์  

[9]เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เพื่อสันติภาพนานาชาติหรือ International Network of Museum for Peace (INMP) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่เข้มแข็ง ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1992 ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยพิพิธภัณฑ์สันติภาพ (International Conference on Peace Museum) เครือข่ายแห่งนี้ทำงานอย่างแข็งขันในการทำงานวิจัย การขยายแนวคิดสันติศึกษา (peace education) ผ่านพื้นที่พิพิธภัณฑ์ การเสริมสร้างศักยภาพแก่พิพิธภัณฑ์สันติภาพขนาดเล็ก  ปัจจุบัน เครือข่ายมีสมาชิกกว่าสองร้อยรายทั่วโลก ทั้งสมาชิกประเภทพิพิธภัณฑ์และรายบุคคล โดยเครือข่ายจะจัดประชุมนานาชาติทุกๆ สองปีหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ
เกณฑ์การคัดเลือกของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์สันติภาพนานาชาติยังมีข้อจำกัด เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์หรือกรอบการพิจารณาที่ชัดเจน  ปัจจุบัน เริ่มมีการถกเถียงระหว่างสมาชิกเครือข่ายถึง “คุณภาพและประสิทธิภาพ” ด้านสันติศึกษาของพิพิธภัณฑ์สันติภาพบางแห่ง

[10] เมื่อพิจารณาจากข้อมูลพิพิธภัณฑ์เพื่อสันติภาพนานาชาติ ประมาณเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของพิพิธภัณฑ์เหล่านี้นำเสนอเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองเป็นหลัก

[11] พิพิธภัณฑ์สันติภาพในช่วงทศวรรษ 1990s หลายแห่งก่อตั้งโดยภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยหรือประเด็นการพัฒนาอื่นๆ

[12]Apsen, Joyce. (2016). Introduce Peace Museum.London: Routledge.

[13] ธงชัย วินิจจะกุล ปาฐกถาครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

[14]Moïsi, Dominique. (2009).  The Geopolitics of Emotion: How Cultures of Fear, Humiliation, and Hope are Reshaping the World. New York: Doubleday.

[15] ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. (2560). ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PEACE SURVEY] ครั้งที่ 3. ปัตตานี: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้.

[16] ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ( Deep South Watch Database) ให้ข้อมูลเหตุการณ์รุนแรงเป็นรายเดือนซึ่งทุกเดือนมีการสรุปยอดเหตุการณ์รุนแรงซึ่งสะสมมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547

[17] จากการสัมภาษณ์นักข่าว นักกิจกรรมและนักวิชาการที่ทำงานประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้นานกว่าสิบปี

[18] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2561). รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

[19] มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด. (2562). รายงานความยากจนหลายมิติของเด็กในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย.

[20] ความยากจนหลายมิติ พิจารณาจากระดับการป้องกันสุขภาพ โภชนาการ น้ำดื่มที่สะอาด บัญชีธนาคาร ทรัพย์สิน เชื้อเพลิงที่ทำอาหาร สภาพที่อยู่อาศัย

[21] จากการสัมภาษณ์เชิงลึกอิหม่ามในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของ อ. ยี่งอ จ. นราธิวาสซึ่งตรงกับงานวิจัย แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเยาวชนไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่ระบุว่า “เยาวชนจัดเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ที่ถูกจับตามองจากภาครัฐ”

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กุมภาพันธ์ 2564
วันที่แก้ไข: 22 กุมภาพันธ์ 2564