การจัดการแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นเชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย

การจัดการแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นเชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย[1]

จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม[2]

 

บทคัดย่อ

मगनसंग्रहालयसमिती (มะคัน สังครหาลัย สามิตี) เป็นภาษามาราฐี ภาษาท้องถิ่นของรัฐมหาราษฏระ บริเวณภาคกลางของประเทศอินเดีย มีความหมายว่า “พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือชาวมะคัน” ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้พัฒนางานฝีมือพื้นบ้านให้ดำรงไว้ นอกจากนี้เป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชนพร้อมกับการพัฒนางานฝีมือให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2481 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสมาคมขาดี้และอุตสาหกรรมท้องถิ่น (Khadi and Village Industries Commission) ผู้วิจัยจึงเกิดความสนใจว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดการอย่างไรถึงมีความยั่งยืนภายในชุนชน

การเก็บข้อมูลภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2562 และทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2562 มีประเด็นในการศึกษา คือ การศึกษาแนวคิดในการจัดการพิพิธภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยได้มีการแบ่งพื้นที่ภายพิพิธภัณฑ์จำนวน 4 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร มีรูปแบบการจัดนิทรรศการภายในอาคาร แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1.1.อุตสาหกรรมท้องถิ่น, 1.2.เทคโนโลยีชนบท และ 1.3.มหาตมะ คานธี ส่วนที่ 2 ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรม เป็นการสาธิตเกษตรกรรมชุมชนภายในพื้นที่แหล่งการเรียนรู้โดยบุคคลทั่วไปสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรจะถูกแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน, ส่วนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นการก่อตั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในชุมชนเพื่อสาธิตการผลิตสินค้าขาดี้ (Khadi) หรือเครื่องนุ่งห่มทำมือ ซึ่งมีการผลิตแบบดั้งเดิมและการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต สุดท้ายส่วนที่ 4 ศูนย์การเรียนรู้พิเศษ เป็นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับฝีมืองานช่างหรืองานประดิษฐ์โดยช่างฝีมือภายในชุมชน อาทิ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ครู – ปราชญ์ชุมชน เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนหรือผู้สนใจได้เรียนรู้และสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง  

สรุปผลการศึกษาพบว่า แหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการประกอบอาชีพภายในชุมชน โดยได้รับแนวคิดการดำเนินงานจากการสืบทอดอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ผู้ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในชุมชน นอกจากนี้ การจัดการภายในแหล่งการเรียนรู้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภายในท้องถิ่น ซึ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของชุมชนโดยตรง อีกทั้งการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและการปรับรูปแบบแหล่งการเรียนรู้ให้อำนวยความสะดวกต่อการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชน เช่น สวนสาธารณะ เป็นต้น ส่งผลให้ต่อความนิยมที่ดีมากทั้งภายในชุมชนและนักท่องเที่ยว อีกทั้งในการจัดกิจกรรมและการปรับเปลี่ยนรูปแบบแหล่งการเรียนรู้ให้เข้าชมสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของพิพิธภัณฑ์ สามารถสร้างรายได้ให้พิพิธภัณฑ์และชุมชน
          หากนำมาเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ไทย แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เน้นการใช้งานได้จริงและพึ่งพาตัวเองมากกว่าการสร้างตัวตนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในไทย รูปแบบการจัดการพิพิธภัณฑ์จะเรียบง่ายคล้ายกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยกับพิพิธภัณฑ์ไทย คือ ความร่วมมือและค่านิยมของคนในชุมชนต่อพิพิธภัณฑ์ ซึ่งชุมชนเมืองวรธาได้ให้ความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มที่ในทุกวัน ต่างจากพิพิธภัณฑ์ไทยบางแหล่งที่เป็นเพียงสร้างขึ้นมาแล้วทิ้งว่าง ซึ่งเป็นจุดที่พิพิธภัณฑ์ไทยสามารถนำมาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในอนาคตได้

คำค้น: พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การจัดการพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เชิงบูรณาการ เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ อินเดีย

1. บทนำ

          เมืองวรธา เป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในรัฐมหาราษฏระ บริเวณภาคกลางของประเทศอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาราฐี ประกอบอาชีพเกษตรกรและแรงงานฝีมือ มีพิพิธภัณฑ์ของชุมชนตั้งอยู่คือ มะคัน สังครหาลัย สามิตี (मगनसंग्रहालय[3]समिती) เป็นภาษามาราฐี มีความหมายว่า “พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือชาวมะคัน” ตั้งอยู่ที่ ถนนกุมารปาล (Kumarappa) ใจกลางเมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชนพร้อมกับการพัฒนางานฝีมือให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินกิจการอยู่ในความดูแลของสมาคมขาดี้และอุตสาหกรรมท้องถิ่น (Khadi and Village Industries Commission) จากการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยจึงเกิดความสนใจในแนวคิดการจัดการพิพิธภัณฑ์และการจัดกิจกรรมเชิงบูรณาการจากอุดมการณ์ รวมถึงผลตอบรับของผู้เข้าชมทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชนผู้วิจัยต้องการศึกษาแนวคิดการจัดการพื้นที่ภายในขอบเขตพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมเชิงบูรณาการ ทั้งจากการลงสำรวจพื้นที่ด้วยตนเองและความคิดเห็นของผู้ชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ โดยได้ทำการเก็บข้อมูลภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2562 และทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2562

           “มะคัน สังครหาลัย สามิตี” หรือพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย มีจุดเริ่มต้นเกิดจากจากอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ตั้งแต่สมัยแห่งการเรียกร้องเอกราชประเทศอินเดียจากปกครองของสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ.2449 เป็นแนวคิดที่เรียกว่า “สัตยาเคราะห์[4] ” เป็นแนวคิดที่ชาตินิยมที่ส่งเสริมให้ประชาชนชาวอินเดียพึงพาตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางถึงชนชั้นกรรมกร ทำให้เกษตรกร กรรมกร แรงงานฝีมือได้มีศักดิ์ศรีในสังคมและทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2476 ท่านมหาตมะ คานธี ได้เดินทางมาพำนักอยู่ในเมืองวรธา และได้เผยแพร่คำสอนในชุมชนและในชุมชนโดยรอบ ทำให้แนวคิดการประกอบอาชีพเพื่อพึงพาตนเองเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการสร้างอาชีพและพัฒนาฝีมือแรงงานภายในหมู่บ้านควบคู่กับการเรียกร้องเอกราช[5] ต่อมาจากการส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบพื้นเมือง หรือที่เรียกว่า “ขาดี้” (Khadi) ที่เป็นที่นิยมในวงกว้าง ในปี พ.ศ.2477 ก่อให้เกิดการตั้งสมาคมอุตสาหกรรมพื้นบ้านอินเดีย (the All India Village Industries Association) จากคณะกรรมการสภาคองเกรสอินเดีย

เมืองวรธา จึงเป็นเมืองที่ได้รับคำสอนและเผยแพร่อุดมการณ์อย่างกว้างข้าง ทำให้ประชาชนภายในชุมชนและชุมชนโดยรอบนับถือความคิดนี้อย่างแนวแน่ ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน จนเมืองวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2481 ท่านมหาตมะ คานธี มีแนวคิดให้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ใจกลางเมืองเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และเป็นตัวอย่างชุมชนอุตสาหกรรมครัวเรือนให้กับประชาชน ท่านได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2487 ท่านสังเกตเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ควรเป็นรูปภาพนิ่ง ควรมีการนำเทคนิคเข้ามาเพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และชุมชนด้วยการพัฒนาเทคนิคในอุตสาหกรรมชนบทและทำให้มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยตลอดเวลา ดร.เดวราช กุมาร (Devendra Kumar) เข้ามาบริหารงานพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2492 เป็นผู้ผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาเดิม ต่อมา ดร.เดวราช ภาร (Devendra Bhai) เข้ามาบริหารพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2521 มีการนำเทคโนโลยี หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ มาพัฒนาพิพิธภัณฑ์และชุมชน[6]

ปัจจุบัน (พ.ศ.2562) พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย อยู่ในความดูแลของสมาคมขาดี้และอุตสาหกรรมท้องถิ่น เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ประเภทพิพิธภัณฑ์ประจำท้องถิ่น (Local Museum)[7] มีจุดประสงค์การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ คือ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านของช่างฝีมือชุมชนแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน ร่วมทั้งการวิจัย พัฒนาและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเกษตรกรรม ฯลฯ พร้อมกับการจัดแสดงและสาธิตกระบวนการผลิต[8] มีการแบ่งงานบริหารงานในแต่ละภาคส่วน ดังนี้ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ คือ Dr.Vibha Gupta เป็นผู้ดูแลบริหารงานโดยร่วม ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งงานบริหารออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ คือ ฝ่ายบริหารทั่วไป เป็นหน่วยงานดูแลเกี่ยวกับการบริหารงานพิพิธภัณฑ์และการจัดการพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด โดยมีการจัดสรรให้ส่วนจัดการชุมชน และอีกฝ่ายหนึ่งคือ ฝ่ายชุมชน เป็นส่วนที่ชุมชนเข้ามามีบทบาทในพิพิธภัณฑ์โดยการเข้ามาจัดการแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการนำตัวแทนคนในชุมชนเข้ามาสาธิตการผลิตสินค้าของชุมชนออกจำหน่าย แบ่งออกเป็น งานฝีมือที่โดดเด่นภายในชุมชนมะคัน คือ งานสิ่งทอ งานเกษตร งานสมุนไพร และอาหารท้องถิ่น (แผนภาพที่ 1)

 

2. องค์ประกอบของพิพิธภัณฑ์

          ลักษณะพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองวรธา ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก พื้นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์การคมนาคมและการค้าของเมือง แต่ไม่ป้ายแสดงที่ตั้งอย่างเด่นชัด ภายในท้องถิ่นจะทราบที่ตั้งของชุมชนกันจากปากต่อปาก มีการจัดการพื้นที่ภายพิพิธภัณฑ์จำนวน 4 ส่วน ดังนี้ (ภาพที่ 2)

ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร วัตถุจัดแสดงภายในนิทรรศการถาวรเป็นวัตถุที่รวบรวมภายในชุมชนและเป็นการรวบรวมวัตถุที่เกี่ยวข้องจากพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนใหญ่เป็นการเขียนป้ายจัดแสดงด้วยมือ เป็นภาษามาราฐี ด้วยอักษรเทวนาครีเท่านั้น ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้ามถ่ายภาพภายในเพื่อความปลอดภัย มีนิทรรศการมหาตมะ คานธีที่มีความทันสมัยที่สุด และเป็นส่วนที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนาที่สุด มีรูปแบบการจัดนิทรรศการภายในอาคาร แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ

1.1.อุตสาหกรรมท้องถิ่น เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการประกอบอาชีพภายในท้องถิ่น วัตถุจัดแสดงภายในเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาชีพจริง สลับกับภาพถ่ายจัดแสดง มีการเขียนป้ายนิทรรศการด้วยมือ เช่น การหาน้ำแบบโบราณ, รูปแบบผ้าโบราณ, การจับสัตว์น้ำแบบโบราณ, เครื่องมือการทำการเกษตรพื้นบ้าน เป็นต้น

1.2.เทคโนโลยีชนบท เป็นส่วนจัดแสดงเกี่บวกับภูมิปัญญาและเทคนิคการจัดการเกษตรพื้นบ้าน ภายในส่วนจัดแสดงมีวัตถุจัดแสดงสลับกับภาพวาดและภาพถ่าย มีการเขียนป้ายนิทรรศการด้วยมือ เช่น เทคนิคการฝั่งไหน้ำลงในดินเพื่อความชุ่มชื้นของดินการเกษตร, การสร้างเพิงชั่วคราวแบบโบราณ เป็นต้น

1.3.มหาตมะ คานธี เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติและผลงานของท่านมหาตมะ คานธี เป็นส่วนที่มีความทันสมัยที่สุดของอาคารจัดแสดงถาวร มีวัตถุจัดแสดงที่สำคัญ คือ อุปกรณ์ของท่านมหาตมะ คานธี ขณะพำนักอยู่ในพื้นที่เมืองวรธา มีป้ายจัดแสดงและมีการใช้ไฟที่ทันสมัย อีกทั้งเป็นหส่วนจัดแสดงเดียวที่มีกล้องวงจรปิด 

 

ส่วนที่ 2 ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรม เป็นการสาธิตเกษตรกรรมของชุมชน ภายในพื้นที่แหล่งการเรียนรู้ด้านหลังอาคารนิทรรศการถาวร มีคนภายในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรและสมุนไพรเข้ามาดูแลและให้ความรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ บุคคลทั่วไปสามารถมาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติได้จริง  สำหรับผลผลิตทางการเกษตรทางพิพิธภัณฑ์นำไปจำหน่ายหรือถูกแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน

 

ส่วนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นพื้นที่สำหรับงานอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในชุมชน โดยคนภายในชุมชนได้เข้ามาสาธิตการผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทำมือ(ขาดี้) ซึ่งมีการผลิตแบบดั้งเดิมและการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์การย้อมสีแบบโบราณด้วยวัสดุธรรมชาติ และการอนุรักษ์ลายพิมพ์ประจำท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ผลผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอจะถูกจำหน่ายเป็นสินค้าชุมชน เช่น เสื้อผู้ชายชายเสื้อยาว (กุลตา), เสื้อผู้หญิงชายเสื้อยาว (กุลตี), สาหรี่, ผ้าคลุมไหล่พิมพ์ลาย, ผ้าพันคอพิมพ์ลาย เป็นต้น โดยกลุ่มผู้สาธิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นผู้หญิงทั้งหมด เนื่องจากท่านมหาตมะ คานธี เคยมีคำสอนที่เผยแพร่สู่สาธารณะชนชาวอินเดียเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านชาวอินเดียในทุกวรรณะทอผ้าด้วยตัวเอง เป็นการสร้างคุณค่าให้กลุ่มสตรีด้วย เนื่องจากประเทศอินเดียสมัยภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรความเท่าเทียมทางเพศของเพศหญิง ต่ำกว่าเพศชายมาก กระแสนิยมว่าสามีเป็นเจ้าของชีวิตภรรยายังเป็นที่นิยมอยู่ คำสอนของท่านคานธี จึงเป็นการขับเคลื่อนให้กลุ่มผู้หญิงมีบทบาทในการสร้างศักดิ์ศรีให้ตนเอง และสร้างคุณค่าให้กับประเทศ

 

ส่วนที่ 4 ศูนย์การเรียนรู้พิเศษและการบริการอื่นๆ เป็นพื้นที่โดยรอบบริเวณพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดกิจกรรมและจัดสรรพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์การใช้สอยและสาธารณะชน ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อย ดังนี้

4.1 พื้นที่ลานอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกวันเสาร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับสาธารณะชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนทั้งภายในและภายนอกชุมชน โดยกิจกรรมที่จัดสรรขึ้นเกี่ยวกับฝีมืองานช่างหรืองานประดิษฐ์จากช่างฝีมือภายในชุมชน อาทิ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ครู – ปราชญ์ชุมชน เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนหรือผู้สนใจได้เรียนรู้และสามารถลงมือปฏิบัติได้ตามความชอบ เช่น workshopการวาดภาพจากแรงบันดาลใจท้องถิ่น, workshopการปั้นดินเผาจากดินธรรมชาติ, workshopการการมัดย้อมสีแบบโบราณ เป็นต้น

4.2. พื้นที่ร้านค้าและครัวชุมชน เป็นร้านอาหารท้องถิ่นและร้านจำหน่ายสินค้าจากผลผลิตของพื้นที่สาธิตภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรายได้จะกลับเข้ามาสู่ชุมชนทั้งหมด  เช่น สบู่สมุนไพร, ยาล้างหน้ากุหลาบกลั่น, ผ้าพันคอ, เครื่องแต่งกาย, ร้านหนังสือ เป็นต้น

4.3. สวนหย่อมสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่พิพิธภัณฑ์ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในช่วงเวลาว่างหรือวันหยุด ก็เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนและบุคคลทั่วไปได้พักผ่อน

 

3. บทบาทของพิพิธภัณฑ์ต่อชุมชน

          ผลจากการบริหารของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์และชุมชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างดี โดยหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คือ การเป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้ของชุมชนต่อสาธารณะชน ตามจุดประสงค์และอุดมการณ์ของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของรายได้จากนั้นทางพิพิธภัณฑ์ได้รับส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสินค้า นอกนั้นเป็นผลประโยชน์ของชุมชนทั้งหมด พิพิธภัณฑ์มีแนวคิดในการจัดสรรพื้นที่และเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้การบริหารงานของพิพิธภัณฑ์ด้วยหลักสัตยเคราะห์ โดยเฉพาะในเรื่องของการพึ่งพาตนเองของท่านมหาตมะ คานธี ทำให้การบริหารงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในชุมชนได้เผยแพร่และร่วมกันปฏิบัติตามเป็นกิจวัตรประจำวันด้วยท่านมหาตมะ คานธี เป็นบุคคลสำคัญของชาติและของชุมชนวรธา ทำให้การดำรงคำสอนของท่านไว้เป็นเรื่องที่เข้าถึงชุมชนโดยง่าย ส่วนใหญ่ตัวแทนชุมชนที่เข้ามาสาธิตอุตสาหกรรมครัวเรือนจะเป็นเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากยังคงยึดมั่นในคำสอนเดิมของท่านในเรื่องของเพศหญิงมีศักดิ์ศรีและสามารถสร้างรายได้ สร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ให้ชุมชน(ประเทศชาติ)ได้เท่าเทียมกับเพศชาย   

          ผลจากการจัดสรรพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ถาวรนั้น เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้มีความโดดเด่นมากนัก เน้นการเผยแพร่ความรู้แบบเรียบง่าย ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ภายในท้องถิ่น สำหรับการจัดสรรพื้นที่สาธิตต่าง ๆ ทำให้ชุมชนนั้นได้มีที่ประกอบอาชีพเพิ่มเติมและได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นในการผลิตอุตสาหกรรมระดับครัวเรือน ซึ่งชุมชนได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ร้านค้า เป็นส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน และสวนหย่อมกับลายอเนกประสงค์ภายในพิพิธภัณฑ์ เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนโดยแท้ ทำให้บทบาทของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เป็นพื้นที่สำหรับชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง อัตลักษณ์ของชุมชนเมืองวรธาจากการสำรวจของผู้วิจัยพบว่า สภาพสังคมเป็นสภาพสังคมที่จะผูกพันธ์กับชุมชน ขนาดของเมืองไม่ได้ใหญ่โตมาก ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีเพียงตลาดประจำชุมชน ลักษณะนิสัยของชุมชนมักจะชอบเดินทางหรือท่องเที่ยว ซึ่งภายในชุมชนมีสถานที่ท่องเที่ยวไม่กี่แหล่ง พิพิธภัณฑ์มะคัน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของชุมชนเนื่องจากอยู่ใจกลางชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับนัดพบกันได้ บทบาทของพิพิธภัณฑ์จึงเหมือนเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกแห่งด้วย

          อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยข้อเสนอความคิดเห็นว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีข้อเสียเปรียบในเรื่องของการโฆษณาต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เน้นการเผยแพร่ความรู้และการพัฒนาชุมชนเป็นหลักมากกว่าการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชื่อเสียในมุมกว้างจึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่ง

          หากนำมาเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑ์ไทยมีความหลากอย่างยิ่ง รูปแบบและอุดมการณ์ของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยที่มีความคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์ไทยส่วนใหญ่เป็นแหล่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศ แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์มะคันอยู่ใจกลางเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยไม่พบแหล่งการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน พิพิธภัณฑ์ที่มีความใกล้เคียงจากทัศนะของผู้วิจัย คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นประจำเขต โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นนำประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของแต่ละเขตมานำเสนอ ข้อสังเกตจากการสำรวจพบว่าบางพิพิธภัณฑ์ประจำเขต ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานจริงเหมือนพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย ต้องมีการขออนุญาตก่อนการเข้าชมบาง บ้างพื้นที่อยู่ภายในสถานที่ราชการหรือโรงเรียน ทำให้ไม่สะดวกต่อการเข้าชมเท่าที่ควร นอกจากนี้สภาพสังคมระหว่างชาวกรุงเทพมหานครและชาวเมืองวรธามีข้อแตกต่างกันจากทัศนะของผู้วิจัย โดยค่านิยมของชาววรธา ต้องการสถานที่ที่เป็นจุดนัดพบหรือจุดศูนย์กลางเมืองที่ทำให้คนในชุมชนได้พบปะกัน และมีกิจกรรมเพื่อนันทนาการ ในขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครมีสถานที่นัดพบหรือทำกิจกรรมที่หลากหลายกว่าและมีการเลือกสรรการทำกิจกรรมที่หลากหลายกว่า ดังนั้น แหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยหากนำมาจัดในประเทศไทย อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับค่านิยมของประชาชนด้วย    
          จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยที่พิพิธภัณฑ์ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ การดำเนินการให้พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางความรู้ทางภูมิปัญญาเพื่อสร้างงานและสร้างคุณค่าให้ประชนชนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพากันเองได้ภายในพื้นที่ของตน แต่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ด้วย      

4. บทสรุป

สรุปผลการศึกษาพบว่า แหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ผู้ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเรื่องของการอนุรักษ์ พัฒนา และเน้นการพึงพาตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่ปฎิเสธการนำเทคโนโลยีตามยุคสมัยเข้ามาพัฒนาชุมชน นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการประกอบอาชีพภายในชุมชน พิพิธภัณฑ์เน้นการสื่อสารกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้สืบสานภูมิปัญญาของตนอย่างแท้จริง  โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภายในท้องถิ่น ซึ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของชุมชนโดยตรง การจัดการพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการรู้แบบสมถะ นิทรรศการจัดด้วยวัตถุจริงและการใช้รูปภาพเขียนข้อมูลด้วยมือ มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น workshopสอนงานฝีมือให้เยาวชนในชุมชน นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์สามารถปรับรูปแบบภายในแหล่งให้อำนวยความสะดวกต่อการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชน เช่น สวนสาธารณะ ร้านอาหาร ตลาดชุมชน เป็นต้น ส่งผลให้ต่อความนิยมที่ดีมากทั้งภายในชุมชนและนักท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนมีรายได้หมุนเวียนควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้ชุมชน จากการศึกษาการจัดการแหล่งการเรียนรู้นี้สามารถนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของไทยได้

 

เอกสารอ้างอิง

กบิลสิงห์ ฉัตรสุมาลย์. (2555). คานธี กับ ผู้หญิง. กรุงเทพฯ: บริษัท ส่องศยาม จำกัด.

นารายณ์ เทสาอี. (2547). เพื่อนฉันคานธี : ความทรงจำวัยเยาว์กับมหาตมา คานธี (เฉลิมชัย ทองสุข แปล)กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

นารายัน เดซาย. (2557). คานธีรำลึก : มหาบุรุษอหิงสา (อนิตรา พวงสุวรรณ โมเซอร์ แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.

ผุสดี รอดเจริญ. (2562). เอกสารประกอบการสอน รายวิชาพิพิธภัณสถานวิทยา. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มหาตมะ คานธี. (2521). แด่นักศึกษา (กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย แปล). กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม.

มหาตมะ คานธี. (2524). คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน (รสนา โตสีตระกุล แปล). กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง.

มหาตมะ คานธี. (2525). อัตชีวประวัติ, หรือ, ข้าพเจ้าทดลองความจริง แปลจาก An autobiography of the story of my experiment with truth (กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย แปล). กรุงเทพฯ : อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตและสภาวัฒนธรรมสัมพันธ์อินเดีย นครนิวเดลฮี.

มหาตมะ คานธี. (2540). จดหมายจากคานธี (กฤษณ ดิตยา แปล). กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.

มหาตมะ คานธี. (2553). อมตะวจนะคานธี (กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย แปล). กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์.

ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. (2545). ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอินเดีย = [Intellectual history of India]. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สาวิตรี เจริญพงศ์. (2544). ภารตารยะ: อารยธรรมอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงหลังได้รับเอกราช. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุริยา รัตนกุล. (2546). อารยธรรมตะวันออก. อารยธรรมอินเดีย. นครปฐม : โครงการตำรา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

เอลเนอร์ มอร์ตัน. (2531). ผู้หญิงเบื้องหลังคานธี (ปรีชา ช่อปทุมมา แปล). อยุธยา: สำนักพิมพ์ทานตะวัน.

 

สัมภาษณ์

ธัญวรัตม์ ศิลวัฒนาวงศ์. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (25 กรกฏาคม 2562).

ปรมัตถ์ คำเอก. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (14 กรกฏาคม 2562).

พระทิวา สุขุม. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (31 กรกฏาคม 2562).

พัชรา ศิริโฉม. มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ. (17 สิงหาคม 2562).

วุฒิพงษ์ ถวิลสมบัติ. มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ. (12 กันยายน 2562).

สุปรีชญา จับใจ. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (3 กันยายน 2562).

สุรพล บุญกุศล. มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ. (20 สิงหาคม 2562).

 

แผนภาพที่ 1 แสดงการบริหารงานภายในพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย

 

 

รูปที่ 2 ภาพแสดงการจัดการพื้นที่พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย

 


ภาพที่ 3 : ภาพแสดงแปลงเกษตรสาธิตและอาคารนิทรรศการถาวร

 


ภาพที่ 4 : ภาพแสดงการสาธิตการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอพื้นเมือง




ภาพที่ 5 : ภาพแสดงร้านจำหน่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอพื้นเมือง



[1] บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

[2] E-mail: jun_12958@hotmail.com

[3]संग्रहालयอ่านว่า สังครหาลัย หมายถึง พิพิธภัณฑ์

[4]สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) หมายถึง ความจริงที่ควรยึดมั่นอย่างแนวแน่ เป็นวิธีการต่อสู้ด้วยหลักการอหิงสา หรือ หลักแห่งความสงบ เป็นการต่อสู้ด้วยหลักมนุษยธรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรง

[5] อาศรมวัฒธรรมไทย-ภารต. (2534). มหาตมา คานธี อนุสรณ์. อาศรมวัฒธรรมไทย-ภารต, 48 52.

[6] Magan Sangrahalaya Samiti. (2008). LAYING FOUNDATION FOR ENTREPRENEURSHIP DEVELOPMENT. Retrieved from http://www.gandhifootprints.org/genesis /index.php

[7] ผุสดี รอดเจริญ. (2560). เอกสารประกอบการสอน รายวิชา300261 พิพิธภัณฑสถานวิทยา (museology):  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[8] Magan Sangrahalaya Samiti. (2008). THE THRUST- BUILDING TECHNOLOGICAL COMPETENCIES. Retrieved from http://www.gandhifootprints.org /genesis/index.php

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กุมภาพันธ์ 2564
วันที่แก้ไข: 19 กุมภาพันธ์ 2564