การสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี

การสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี[1]

จิราวรรณ ศิริวานิชกุล[2]

 

บทคัดย่อ

          การศึกษาการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผ่านกรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การเก็บข้อมูลการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยได้เลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก ( Key informants)  โดยการสัมภาษณ์ผู้นำหลักของคนทำพิพิธภัณฑ์ และในส่วนการศึกษาผลของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างของคนภายในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการทำงานพิพิธภัณฑ์ จำนวน 19 คน โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal interview ) โดยใช้ควบคู่กับการสังเกต ซึ่งเป็นแบบสัมภาษณ์ชนิดกึ่งมีโครงสร้าง (Semi structural interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่นักวิจัยมีแนวคำถามโดยกำหนดประเด็นที่ศึกษา สร้างขึ้นจากกรอบแนวความคิดในการวิจัย ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง บทความนี้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอระบบการสื่อความหมาย จากคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เฉพาะคนภายในชุมชนที่มีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ โดยการสื่อความหมายนั้น ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินงาน การให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนกลาง และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น  และการให้ความสำคัญกับ “ของ” แหล่งข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์นำมาสื่อความหมายและการนำเสนอ ซึ่งผลจากการที่คนทำพิพิธภัณฑ์ได้ร่วมใจ สามัคคีกันทำพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้วิจัยได้นำเสนอถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ , การตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์, การที่ยังทำพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงปัจจุบัน, สิ่งที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์ “แรงบันดาลใจ” ที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์, การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  และ“ความสุข” ของคนทำพิพิธภัณฑ์ ในการมาทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ ที่มีผลต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ที่ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

คำค้น:การสื่อความหมาย  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงคนทำพิพิธภัณฑ์

 

1. บทนำ

ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นถือเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นมา รากเหง้า และตัวตนทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังช่วยเสริมสร้าง และรักษาความเป็นชุมชนของแต่ละท้องถิ่น โดยมีจุดเริ่มต้นจากผลกระทบของกระแสการพัฒนาโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่ผ่านมา ที่มีแนวคิดในการมุ่งเชื่อมโยง หลอมรวมสังคม ด้วยความหวังในการเชื่อมโลกให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ก็มีผลเสียในทางตรงข้าม ที่ได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ให้ถูกกลืนหายไป ก่อให้เกิดวิฤตการณ์กลายเป็นสังคม ไม่มีอัตลักษณ์ (Identity) บั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชน ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ความพยายามรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสการสนับสนุนเรื่องความเป็นชุมชน (localization) ที่ริเริ่มโดยชุมชนเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น  และมีบทบาทอย่างมากในการพิจารณาเพื่อแสวงหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเอง (ธีระภัทรา เอกผาชัยสวัสดิ์, 2554 ) โดยในด้านภาครัฐเอง ก็มีการปฏิรูปกฎหมายที่ยอมรับสิทธิของชุมชน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงกลายเป็นองค์กรที่ต้องเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยปลุกความพยายามของคนในท้องถิ่น ให้หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่นของตน

หลายท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต่างพยายามริเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ของท้องถิ่นของตนเพื่อรักษาตัวตน และความสำนึกร่วมของชุมชนที่อยากเป็นตัวของตัวเองที่มีมากขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทยที่มีการเพิ่มจำนวนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่เกิดจากความต้องการที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรม รักษาตัวตนของชุมชนเอง และเพื่อตอบสนองปัจจัยด้านการท่องเที่ยวที่เริ่มขยายตัว เพื่อแสดงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องถิ่นทั่วๆ ไป เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการสำรวจในฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่าพิพิธภัณฑ์ที่บริหารจัดการโดยชุมชนมีจำนวน 101 แห่ง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2563) และสามารถสรุปแยกเป็นปัจจัยการเกิดของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บริหารจัดการโดยชุมชนได้ 6 ด้าน ดังนี้ “1.การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมบ้านเมือง 2. การเกิดผลกระทบในพื้นที่ของชุมชนหรือท้องถิ่น 3. การค้นพบโบราณวัตถุในพื้นที่ 4. การรำลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลสำคัญ 5. ความสนใจในการสร้างความสัมพันธ์ของคนภายในท้องถิ่น 6. การสะสม สิ่งของที่มีคุณค่าในท้องถิ่น”  (Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan, 2017, p.1648). แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังกลับพบว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจำนวนมากดังกล่าว หลายแห่งกลับทยอยปิดตัวลง หรืออยู่ในสถานะเงียบเหงาไม่สอดคล้องกับแนวคิดที่จะเป็นตัวกระตุ้น สร้างความรักและหวงแหนในท้องถิ่นตน ซึ่งเมื่อสำรวจลึกลงไป จะพบประเด็นปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ประเด็นที่ 1 ปัญหาการวางแผนระบบการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นขาดการจัดระบบเรื่องคนทำพิพิธภัณฑ์ การไม่มีส่วนร่วมของคนในชุมชนหรือท้องถิ่น, ขาดการวางแผนการจัดระบบการสื่อความหมาย ,การจัดระบบเงินทุนหรืองบประมาณในการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์, ขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลเนื้อหาทางด้านวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในพื้นที่,  ขาดความร่วมมือจากเครือข่ายมาช่วยเหลือ สนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การสนับสนุนทางด้านวิชาการ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านโบราณคดี ด้านการออกแบบ) การสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานต่างๆ,  ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น,  ขาดการดูแลพิพิธภัณฑ์ ทำให้พิพิธภัณฑ์ปล่อยทิ้งร้าง, การเปิดและปิดของพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นเวลา ประเด็นที่ 2 ปัญหาการจัดระบบการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือ ความไม่ต่อเนื่องของการทำกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น,  ขาดผู้นำชม หรือผู้ให้ข้อมูล เพื่อสื่อความหมายเรื่องราวในท้องถิ่น,  การลำดับเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น, ขาดเนื้อหา เรื่องราว จึงยากต่อการเข้าใจ และขาดการนำเสนอที่น่าสนใจ (Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan, 2017, p.1667). จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ผู้วิจัยทำการศึกษาการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีผลต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟู และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอื่นๆ โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาผ่านพื้นที่ศึกษา “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี” ที่เป็นตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่พัฒนาและบริหารจัดการโดยชุมชน มีการจัดการที่เป็นระบบ มีกระบวนการมีส่วนร่วม และมีความเข้มแข็งของชุมชน คนทำพิพิธภัณฑ์สามารถจัดการด้วยตนเอง และมีเครือข่ายเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษากระบวนการการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยใช้การเก็บข้อมูลการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยได้เลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key informants)  โดยการสัมภาษณ์ผู้นำหลักของคนทำพิพิธภัณฑ์ จำนวน 4 คน และในส่วนการศึกษาผลของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างของคนภายในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการทำงานพิพิธภัณฑ์ จำนวน 19 คน โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal interview ) โดยใช้ควบคู่กับการสังเกต ซึ่งเป็นแบบสัมภาษณ์ชนิดกึ่งมีโครงสร้าง (Semi structural interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่นักวิจัยมีแนวคำถามโดยกำหนดประเด็นที่ศึกษา สร้างขึ้นจากกรอบแนวความคิดในการวิจัย ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

2. กระบวนการการสื่อความหมายคนทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง


การสื่อความหมาย (Interpretation) หมายถึง กิจกรรมเพื่อการศึกษา มีเป้าหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงความหมาย และความสัมพันธ์ผ่านสื่อกลางไม่ว่าจะเป็นตัววัตถุ บุคคล สภาพแวดล้อม เพื่อการสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสังคม มีเป้าหมายให้เห็นถึงความหมาย และความสัมพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ตรง และโดยการใช้สื่อกลางที่จะช่วยในการอธิบาย จะสื่อผ่านนิทรรศการ การบอกเล่าจากครูภูมิปัญญา ผู้สูงอายุ คนในชุมชนท้องถิ่น และอื่นๆ โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างคน สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ภายในท้องถิ่น

การสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง เกิดจากการที่ “คนทำพิพิธภัณฑ์” โดยคนภายในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์และสื่อความหมายความรู้ในความเป็นท้องถิ่นของตนไปยังกลุ่มคนในชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มคนภายนอกชุมชนท้องถิ่น การสื่อความหมายนั้นให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินงาน การให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนกลาง และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น  และให้ความสำคัญกับ “ของ” แหล่งข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์นำมาสื่อความหมายและการนำเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้


2.1 ด้านการวางแผนงานการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

2.1.1 “คน” คนทำพิพิธภัณฑ์

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ บริหารจัดการโดยคนในชุมชนท้องถิ่น กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ตั้ง และอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง เป็นของชุมชน คนทำพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มแกนนำ หรือ กลุ่มคณะทำงานยุทธศาสตร์ 2.กลุ่มครูภูมิปัญญา 3.กลุ่มอาชีพ 4. กลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง (กลุ่มเด็กและเยาวชน)

2.1.2 วิสัยทัศน์ แผนงานยุทธศาสตร์ และหลักการทำงาน ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง

ในการทำเรื่องของวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานต้องช่วยกันคิด และต้องเข้าใจ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มแกนนำชุมชนท้องถิ่นเพียงกลุ่มเดียว แต่กลุ่มชาวบ้านที่ทำหน้าที่ในส่วนอื่นๆ  นั้นต้องมีความรู้เรื่องนี้ และต้องเข้าใจ เห็นคุณค่าและความสำคัญของกระบวนการ วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์นี้ ว่าถ้าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มีความสำคัญอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร เป็นต้น และวิสัยทัศน์  แผนงานยุทธศาสตร์ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง มีดังนี้

1) วิสัยทัศน์ “โคกสลุงน่าอยู่ ผู้คนมีสุขภาวะบนรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมไทยเบิ้ง” (จุดหมายปลายทาง คือ ความสุขร่วมกันของคนในชุมชน)

2) ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ที่ทางกลุ่มของ “คนทำพิพิธภัณฑ์” ใช้เป็นหลักในการทำงาน มีดังนี้

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 พัฒนาคน/กระบวนการเรียนรู้ โดยการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน แกนนำชุมชน กลุ่ม องค์กร ให้มีความเข้มแข็ง, สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน, สร้างคุณค่า ความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ ให้มีความสุข แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ  และประเมิน ติดตาม กระบวนการทำงานของชุมชน

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน พัฒนา ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต “Living Museum

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 3 สร้างสรรค์คุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดย พัฒนาการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง, พัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพ กลุ่มโฮมสเตย์ ให้มีความเข้มแข็ง และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ที่หลากหลาย

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 4 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย พัฒนาแหล่งอาหารของชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน, ติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดลพบุรีและผังเมืองรวมตำบลโคกสลุงอย่างต่อเนื่อง, เฝ้าระวังการรุกคืบของกลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ตำบลโคกสลุง

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 5 การจัดการความรู้ชุมชนสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดย ตั้งสถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 6 การจัดสวัสดิการสู่ชุมชน โดย พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน

 

2.1.3 ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง

ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีดังนี้

1) ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ส่วนกลาง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อจำลองสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชุมชน เรียกว่า เรือนฝาค้อ และผสมผสานกับการสร้างใหม่เพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำพิพิธภัณฑ์ ลักษณะของชุมชนท้องถิ่น เป็นชุมชนเก่าดั้งเดิมที่มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีได้ภายในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น ในอาณาบริเวณของพิพิธภัณฑ์ส่วนกลางประกอบด้วย (1) อาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นส่วนของการจัดนิทรรศการ  

นิทรรศการชั้นที่ 1 ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงเป็นข้อมูลในลักษณะแผ่นป้ายแสดงในเรื่องของ ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ประวัติศาสตร์ตามตำนาน ประวัติศาสตร์ตามหลักฐานและคำบอกเล่า, การแต่งกายของชาวไทยเบิ้ง, อาชีพของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง, ผักพื้นบ้าน, เครื่องมือดำรงชีพ, “กี่มือ” กี่ทอผ้าโบราณของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง, อุปกรณ์ทอผ้า, อาหารพื้นบ้าน และยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ เช่น ฐานการเรียนรู้การทำของเล่นพื้นบ้านจากใบตาล, การตัดพวงมโหตร, การทำพริกกะเกลือ และหมกเห็ด, การทำขนมเบื้อง เป็นต้น และยังเป็นลานเอนกประสงค์สามารถประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น สถานที่รับประทานอาหาร  การจัดกิจกรรมการประชุม และอื่นๆ   

นิทรรศการชั้นที่ 2 จัดแสดงเพื่อจำลองถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนฝาค้อประกอบด้วย ห้องนอน ห้องเอนกประสงค์ ส่วนทำงาน ครัว ชานบ้าน  (2) ส่วนห้องประชุม เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ  (3) ส่วนลานวัฒนธรรม เป็นเวทีที่จัดกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆ ของคนในชุมชน (4) ร้านขายของที่ระลึก ขายของผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ย่าม ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า พวงกุญแจที่ทำมาจากผ้าทอของคนในชุมชน เป็นต้น (5) อาคารส่วนแปรรูปผ้าทอ และ ส่วนทำงานของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์  ภายในยังประกอบด้วยพื้นที่เตรียมงานของกิจกรรมต่างๆ ส่วนที่พักของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ส่วนที่พักสำหรับคนที่เข้าพัก เช่น อาจารย์ นักวิจัย หรือ นักศึกษาฝึกงาน เป็นต้น ภายในส่วนนี้ มีห้องน้ำภายในอาคาร (6) ส่วนครัว  (7) ส่วนห้องน้ำด้านนอกอาคาร


2) ลักษณะทางกายภาพของแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น

ลักษณะทางกายภาพของแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น แบ่งพื้นที่การเรียนรู้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 “บ้านครูภูมิปัญญา” ได้แก่ บ้านลุงเชาว์ สอนการตีเหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่คุณลุงเชาว์ทำนั้น ได้แก่ มีดเหน็บ มีดขอ มีดพร้า มีดหวด มีดอีโต้ เสียม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน มีดส่วนใหญ่ที่ตีเอาไปใช้ได้อเนกประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นฟันไม้ สับเนื้อ เพื่อทำอาหารในครัวเรือน เป็นต้น, บ้านแม่บำรุง ยายเที่ยว ยายรถ ตาหลิ สอนการทอผ้าพื้นบ้าน (งานทอผ้าชาวบ้านจะทอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ย่าม ผ้าขาว), บ้านลุงกะ สอนการทำของเล่นพื้นบ้านที่ทำจากใบตาล เช่น การสานปลาตะเพียน, ตั๊กแตน, นก บ้านลุงสุข สอนงานแกะสลักไม้ และแกะสลักกะลาตาเดียว และการสอนทำพวงมะโหตร (พวงมะโหรตจะใช้ประดับตกแต่งในงานบุญ เช่น งานบวช งานแต่ง), บ้านคุณยายเอ้บ สอนการร้องเพลงพื้นบ้าน การรำโทน และการตัดกระดาษ , บ้านลุงยง สอนการจักสาน ได้แก่ กระบุง เป็นภาชนะใส่สิ่งของและพืชพันธุ์ต่างๆ ตะกร้า ชาวบ้านใช้ใส่สิ่งของไปวัดเพื่อทำบุญ หรือใส่สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว กระด้ง ใช้ทำหรับตากสิ่งของ เช่น พริก ถั่วกล้วย สุ่มไก่ ไซ เป็นต้น ตะแกรง, ยายหรึ่ม การบูนตะไกร เป็นพิธีเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ มีตะไกรสื่อในการบูน เหตุที่ต้องมีการบูน อาจเพราะคนในชุมชนอาจเกิดเหตุไม่สบายใจ เช่น การเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวเป็นแล้วไม่หาย จึงต้องมาหาหมอบูน เพื่อให้บูนดูว่ามีเหตุอันใดและต้องแก้อย่างไรจึงจะดีขึ้น , บ้านตาหมั่น หมอยาพื้นบ้าน รักษากระดูกหัก ข้อซ้น เป็นต้น

ส่วนที่ 2 “สถานที่สำคัญที่เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน”  ได้แก่ วัดโคกสำราญ, สถานีรถไฟโคกสลุง, พนังกั้นน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, ศาลพ่อหลวงเพชร เรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าชุมชน ทั้งความเป็นอดีตและปัจจุบัน, บ้านพักของชาวบ้าน และตลาดในชุมชน เรียนรู้ในเรื่องวิถีชีวิตของคนในชุมชน และในระหว่างทางที่ต้องเดินทางไปยังฐานการเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ได้กำหนดไว้ ผู้เข้าชมจะได้รับประสบการณ์ภายในแหล่งเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่น

2.2 ด้านการดำเนินเรื่องราวในการสื่อความหมาย (Message)

2.2.1 ระบบการสื่อความหมายของ “คนทำพิพิธภัณฑ์”

คนทำพิพิธภัณฑ์ หรือคณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง หมายถึงคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ ในการช่วยคิด วางแผน และทำกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ “คนทำพิพิธภัณฑ์”มีความใกล้ชิดกับระบบ พิพิธภัณฑ์มากที่สุด (เป็นทั้งผู้ส่ง และผู้รับ รับผลตอบรับจากคนที่เข้ามาชม และรับความรู้)

2.2.2 การจัดการระบบการสื่อความหมาย

ระบบการจัดการการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ส่งไปยังกลุ่มของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์หรือคนภายในชุมชนที่มีกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน นั้น พิพิธภัณฑ์มีระบบการจัดการโดย 1. พิพิธภัณฑ์สามารถวางแผนจัดระบบการสื่อความหมายด้วยพิพิธภัณฑ์เอง 2.พิพิธภัณฑ์มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายนอก 3. พิพิธภัณฑ์มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายนอกชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายภายในท้องถิ่น

1) ขั้นการเตรียมงาน การให้ความสำคัญกับการเตรียมงาน เพื่อจัดการระบบการสื่อความหมาย โดยพิพิธภัณฑ์จะให้ความสำคัญกับการวางแผนและการประชุมเตรียมงานเพื่อจะจัดใน 1 ครั้ง ซึ่งจะมีการเตรียม และประชุมในหลายครั้งด้วยกัน การประชุมจะให้คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ได้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมดของงาน โดยการประชุมและเตรียมงาน คือ เป็น 50% ของงานทั้งหมดที่ทำ โดยคณะทำงานพิพิธภัณฑ์มีแนวคิดว่า “ถ้าเราเตรียมการดี กระบวนการดี ผลมันย่อมดีเสมอ” (ประทีป อ่อนสลุง, 2561)

2) ขั้นการนำเสนอ สำหรับกระบวนการการนำเสนอกิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมให้กับคนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และทำกิจกรรมการเรียนรู้กับพิพิธภัณฑ์, งานเทศการประจำปี เป็นต้น คณะทำงานให้คะแนน 30% ของทั้งหมด

3) ขั้นการสรุปงาน การประเมินผล สำหรับ 20% สุดท้าย เป็นการประชุมหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review) ชื่อย่อ AAR  ซึ่งคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก และต้องทำทันทีหลังจากเสร็จจากกิจกรรมต่างๆ ที่นำเสนอแล้วทุกครั้ง และไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง หลังเสร็จงานจากกิจกรรมหนึ่งๆ ที่พิพิธภัณฑ์จัด  และวิธีการคุย จะใช้วิธีการกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) มาผสมผสานวิธีการในการพูดคุยด้วย คือการฟังอย่างมีสิติ และให้พูดทีละคนภายในกลุ่ม

4) กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มคณะทำงานการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์ “คนทำพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นคนภายในชุมชนท้องถิ่น คน 3 วัย ได้แก่ 1.วัยเด็กและเยาวชน  2.วัยผู้ใหญ่ (คนทำงาน) 3.ผู้สูงอายุ

5) ระยะเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

2.2.3 กระบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์และชุมชน

1) การทำกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue)  “ในปัจจุบันความวุ่นวายของสังคมทุกวันนี้คนส่วนใหญ่พูดแต่ไม่ฟังกัน พอไม่ฟังเราก็จะไม่รู้ว่าคนที่เรากำลังสนทนาด้วยหรือคุยด้วย เขาต้องการสื่อสารอะไรให้กับเรา แต่ถ้าเรามีโอกาสได้ตั้งใจฟัง ทีนี้เราก็จะรู้ว่าเขากำลังจะสื่อสารอะไรให้กับเรา” (ประทีป อ่อนสลุง, 2561) จากสาเหตุข้างต้นนี้ คนทำพิพิธภัณฑ์จึงนำกระบวนการสุนทรียสนทนามาใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยกันไม่ว่าจะเป็นการประชุมวางแผน การประชุมสรุปงานที่ทำ โดยประทีป อ่อนสลุง กล่าวว่า กระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue)คือการฟังอย่างมีสติ เป็นการตั้งใจฟังที่อีกฝ่ายพูดออกมา เพื่อรับฟังวิธีคิด และความหมายของคนอื่นต่อสิ่งที่พูด เพื่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และ เป็นกระบวนการสนทนาอย่างมีสติ  ก่อนที่จะพูดอะไรออกมาก็ใคร่ครวญ ครุ่นคิดให้ดีก่อน “ถ้าเราตั้งใจฟังในสิ่งที่เพื่อนกำลังสื่อสารกับเรา เราก็จะได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดเพราะบางอย่างนี่เขาไม่ได้พูดออกมาโดยตรง แต่เรารู้เลยว่าสิ่งที่เขาบอกทั้งหมดเนี่ยเขาต้องการอะไร จริงๆ บางทีอาจจะเป็นแค่ประโยคเดียวสั้นๆ   แต่มันคือสิ่งที่มันบอกเราจริงๆ  แต่มันไม่ได้ออกมาเป็นคำพูดแบบที่เราพูดหรอก” (ประทีป อ่อนสลุง, 2561 )

                    2) วิธีคิดกระบวนระบบ (System Thinking) มุ่งเน้นในการมองภาพรวมมองให้เห็นความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ แทนที่จะมองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมองให้เห็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะมองเฉพาะจุด เช่น ในการทำงานที่พิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งโคกสลุง  ในการทำงานจะต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหน มีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะต้องไปทำงานกับใคร เป็นต้น หรือ เรื่องการทอผ้า ให้ดูว่ากลุ่มชาวบ้านมีใครทำบ้าง และมีหน่วยงานไหนมาสนับสนุนทั้งภายในชุมชน และภายนอกชุมชน เป็นการสอนให้มอบให้เป็นระบบ ความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ

                    3) การประชุมหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review) กระบวนการของมันจริงๆ ก็คือการมองตัวเอง ผ่านงานที่คณะทำงานช่วยกันทำพิพิธภัณฑ์ทำ ดังที่ ประทีป อ่อนสลุง กล่าวว่า “วิธีการประชุมกลุ่มหลังจากปฏิบัติการ (After Action Review)  กติกาในการพูดคุยจะต้องไม่พาดพิงใคร ไม่ไปมองคนอื่น ให้มองตัวเองผ่านงานที่เราทำ คือถ้างานสำเร็จก็จะมานั่งร่วมภาคภูมิใจด้วยกัน แล้วก็ให้กำลังใจกัน ถ้ามันล้มเหลวก็ดูว่าส่วนไหนที่มันล้มเหลว และก็คิดแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อถูกนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป” ประทีป อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2561)

หมายเหตุ ในการพูดคุยหรือสอนกระบวนการทำงานให้กับชาวบ้าน ต้องใช้ภาษาที่ง่าย และทำให้เรื่องราวที่เป็นวิชาการที่ฟังยาก ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น


                    4) การเรียนรู้งานในหน้าที่อื่นๆ นอกเหนืองานที่ทำของตนเอง เช่น การฝึกเป็นผู้นำชมหรือนักสื่อความหมาย คณะทำงานจะฝึกการเรียนรู้ในเรื่อง วิธีการเล่าเรื่องเพื่อสื่อความหมายสื่อเรื่องราวของบ้านตัวเองให้กับคนอื่นได้เห็นในมุมสำคัญ การเรียนรู้ลักษณะท่าทางของผู้เล่าเรื่อง ข้อมูลหรือเนื้อหา  การลำดับเรื่องราวของเรื่องที่จะเล่า  การตั้งคำถาม การตอบคำถามกับผู้เข้าชม และความสำคัญ เป็นต้น และจากนั้นผู้ที่เรียนรู้จะนำไปประยุกต์ใช้กับตนเอง เป็นผู้นำชมหรือนักสื่อความหมายที่มีความเฉพาะตัวของเขาเอง หรือ การฝึกเป็นครูภูมิปัญญาในด้านอื่นๆ นอกจากภูมิปัญญาที่ตนเองถนัด เช่น การฝึกที่จะเรียนรู้ในด้านการทำของเล่นจากใบตาล ก็ต้องไปฝึกทำฝึกปฏิบัติเพื่อจะเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาท่านอื่นๆ ดูทั้ง ลักษณะวิธีการสอนของครู ดูวิธีการทำ ชื่อเรียกของเล่นในแบบต่างๆ ความเป็นมาของการทำของเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น

                    5) ผังมโนภาพ (mind map) เป็นเครื่องมือในการช่วยบันทึกความคิดที่ถ่ายทอดในหลากหลายมุมมองของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ลงในกระดาษ พิพิธภัณฑ์ใช้เครื่องมือ ผังมโนภาพ (mind map) ในการวางแผนงาน และการสรุปงาน การทำผังมโนภาพ (mind map) จะทำให้คณะทำงานเข้าใจ และเห็นภาพตรงกันในแผนงานที่วางแผนไว้

                   6) การเรียนรู้ในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การช่วยเหลือกัน ร่วมแรงร่วมใจทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วง คณะทำงานพิพิธภัณฑ์จะเรียนรู้ในกระบวนการมีส่วนร่วม และประโยชน์ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน


2.3 ด้านเทคนิคและวิธีการในการสื่อความหมายไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มคนภายในท้องถิ่น (CHANNEL)

การสื่อความหมายผ่านช่องทาง 1.กระบวนการทำกิจกรรม และการทำงานจริง (การปฏิบัติจริง)  2.การอบรม การศึกษาดูงานจากภายนอก  3.การเรียนรู้จากการดูจากผู้รู้  4.การเรียนรู้จากการสังเกตด้วยตนเอง   5.การฝึกฝนตนเอง เช่น ฝึกพูดในที่ประชุม ฝึกการแลกเปลี่ยนความคิด เป็นต้น


2.4 การตอบกลับของผู้รับ (RECEIVER RESPONCE )

โดยวิธีการประเมินดังนี้ 1) การพูดคุยกันแบบการสนทนากลุ่ม (focus group) 2) กระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) 3) การคิดเชิงระบบ (system thinking ) 4) วิธีการสังเกต 5) การทบทวนหลังทำงาน หรือหลังปฏิบัติ หรือหลังกิจกรรม (After Action Review) ชื่อย่อ AAR 6) การเขียนผังมโนภาพ Mind map เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ส่วนนี้เป็นการประเมินในทุกๆ กิจกรรม การพัฒนาปรับปรุงตาม สิ่งที่ตอบกลับมาจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ การพัฒนาตนเองและและกระบวนการทำงานที่ทำ

 

3. การสะท้อนย้อนคิดของคนทำพิพิธภัณฑ์

3.1 จุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์

          การที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง  มีที่มาของความเข้มแข็งอันเกิดจากความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของกลุ่มแกนนำ และชาวชุมชน ซึ่งต่างมีจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมทำงานที่มีเหตุผลที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ทำงานวิจัยชุมชนและหน่วยงานราชการ (ผู้ที่มีจิตสาธารณะ) ที่เห็นปัญหาและคุณค่าของท้องถิ่น เกิดจากพื้นฐานความร่วมมือในการทํางาน “เดิม” ที่มีอยู่ ทั้งของกลุ่มคนที่เคยทำการศึกษา ทำงานวิจัย หรือกลุ่มคนทำงานภาคราชการ-ท้องถิ่นในพื้นที่ ที่เคยมีบทบาท มีหน้าที่มีความรับผิดชอบหรือมีประสบการณ์ในงานด้านวัฒนธรรม หรือมีประสบการณ์เห็นความทุกข์ร้อนความจำเป็นของงานอนุรักษ์ในท้องถิ่น

ประเด็นที่ 2 การชักชวนคนในครอบครัว และคนสนิท ถือเป็นการเริ่มต้นจากภายในจริงๆ ก่อนขยายสู่ภายนอก ด้วยเหตุผลที่ตอนริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ฯนั้นยังเป็นไปด้วยการขาดความพร้อม ทั้งของกำลังคนทำงาน และงานเฉพาะด้านที่ต้องทำ การหาคนทำงานเพื่อมาช่วยจึงเป็นการเริ่มต้นเฟ้นหาจากประสบการณ์ของคนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง ที่เคยเห็นว่าทำงานนี้ได้ รับผิดชอบได้และไว้ใจได้ และคนกลุ่มนี้ จะมีความเป็นกันเองเข้าใจสถานการณ์ความเป็นไป ว่างานอาจจะมีไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นทางการ ยังไม่มีระบบที่แน่นอน

ประเด็นที่ 3 การที่คนทำพิพิธภัณฑ์ค้นหาคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ทางด้านภูมิปัญญา ภายในชุมชน เป็นไปเพื่อการช่วยพัฒนาเนื้อหาการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อสร้างความน่าสนใจ และช่วยสื่อความหมายความเป็นไทยเบิ้งโคกสลุง ผ่านคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ทางด้านภูมิปัญญา ภายในชุมชน โดยริเริ่มจากประสบการณ์ความสนิทสนมเดิม ที่เคยเห็นว่าทำได้ หรือมีความชำนาญในเรื่องนี้เช่นที่ “ลุงกะ”ครูภูมิปัญญาด้านของเล่นพื้นบ้าน กล่าวถึงตอนที่เริ่มเข้ามาสอนทำของเล่นพื้นบ้าน และนอกจากการสืบหาจากความสัมพันธ์เดิมแล้ว ยังมีการค้นหาต่อแบบขยายผลเพื่อเฟ้นหาผู้รู้ผู้ชำนาญ

ประเด็นที่ 4 เกิดจากการตามคนในครอบครัว หรือคนรู้จักมาพิพิธภัณฑ์ เป็นไปในลักษณะเกิดจากการติดตามคนในครอบครัว หรือคนรู้จักมาพิพิธภัณฑ์ แต่ต่อมาเมื่อได้รู้ ได้เห็น ได้ทำกิจกรรมกับทางพิพิธภัณฑ์ฯ จึงเกิดความสนใจ ความผูกพัน และความชอบ จึงติดตามเข้ามาจนกลายเป็นคนทำงานของพิพิธภัณฑ์ฯ

ประเด็นที่ 5 เกิดจากการเข้าค่ายที่จัดร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ และหน่วยงานภายในชุมชน  เป็นไปในลักษณะที่เกิดจากการได้มาร่วมกิจกรรมเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ โดยทางโรงเรียนพามาจัดทำค่ายร่วมกันกับพิพิธภัณฑ์ จากนั้นคนกลุ่มนี้จึงเกิดความสนใจ และต่อมาจึงได้มาร่วมทำกิจกรรมด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ 6 เกิดจากการเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง เกิดจากความสนใจของผู้เข้าร่วมเองที่อยากเข้ามารู้ อยากเข้ามาดู และเมื่อได้เข้ามาก็เกิดความสนใจเข้ามาร่วมกิจกรรม และต่อมาก็พัฒนารวมเป็นคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ


3.2 การตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์

จากจุดเริ่มต้น ของการตัดสินใจเข้ามาพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง จนพัฒนาและตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากผู้เข้ามา กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นกำลังหลักคนทำงานที่เป็นส่วนสำคัญของความเข้มแข็งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงแห่งนี้ โดยสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 อุดมการณ์มีจิตสาธารณะที่อยากช่วยส่วนรวม เกิดจากการมีอุดมการณ์ และจิตสำนึกของผู้เข้าร่วม เมื่อมามีโอกาสทำงาน มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่แล้วเห็นประเด็นสำคัญเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ ที่ควรรักษาไว้ เมื่อเห็นดังนั้นก็ใส่ใจ นำมาเป็นประเด็นสำคัญและพัฒนาเป็นแนวทางการอนุรักษ์ จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุงในปัจจุบัน  คณะทำงานบางคน ก็เริ่มจากความคิดว่าเป็นความรับผิดชอบ ต่อส่วนรวม หรือต่อครอบครัวบุตรหลาน ที่ต้องดูแลรักษาท้องถิ่นบ้านเกิด รักษาวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาความรู้ของบรรพบุรุษไว้ เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปดังเช่นที่ กลุ่มคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงความตั้งใจในการเข้ามาทำงานพิพิธภัณฑ์ว่ามาจากอุดมการณ์ และจิตสาธารณะที่อยากช่วยส่วนรวม รวมถึงความห่วงใยในอนาคตของลูกหลาน  และความรับผิดชอบต่องานที่ได้ริเริ่มทำไว้

ประเด็นที่ 2 ความรู้สึกชอบ ผูกพัน แล้วก็ทำแล้วมันมีความสุข เริ่มจากความรู้สึกส่วนตัว จากการที่เข้ามาร่วมทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ กับเพื่อนฝูงลูกหลาน ผู้คนที่หลากหลายแล้วมีความสุข ได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นมีกิจกรรม ที่แปลกใหม่ ครึกครื้นสนุก ไม่เหงา ต่อมาเมื่อทำไปสักพักก็เกิดกลายเป็นความผูกพัน อยากมาหาอยากมาพบ อยากมาร่วมกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์

ประเด็นที่ 3 ความรู้ เกิดจากประเด็นด้านความรู้ ทั้งความหวงแหน และอยากถ่ายทอดความรู้ในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะสูญหายไป และความสนใจ ที่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้วพบว่ามีความรู้ในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ก็เกิดความสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ต่อมาก็กลายเป็นความผูกพัน และอยากมาร่วมกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ

ประเด็นที่ 4 สร้างรายได้เสริม เป็นเรื่องของโอกาสในชีวิตที่มีเพิ่มมากขึ้น ในการสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ที่ไม่ได้รบกวนภาระงานประจำที่ต้องทำอยู่ กลุ่มนี้เมื่อภายหลังได้มาร่วมงานนานวันเข้า ก็เกิดกลายเป็นความผูกพันเพิ่มเติมเข้าไป ดังเช่น ที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวถึง การมาร่วมงานกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ได้ทั้งความรู้ และเกิดกลายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว


3.3 ณ ปัจจุบัน คนทำพิพิธภัณฑ์ยังดำเนินการอยู่

จากการเข้ามา และการคงอยู่ในการทำงานที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงนั้น เหตุผลของความยั่งยืนของการทำงานที่นี่ย่อมขึ้นกับความคาดหวังในใจของคณะทำงานที่มีอยู่ ที่ส่งผลทำให้สามารถทำงานร่วมกัน มาได้ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ร่วมฝ่าฟันทั้งปัญหา และอุปสรรค ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ไปด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ซึ่งส่วนสำคัญของเหตุผลการที่คนทำพิพิธภัณฑ์ยังทำพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกเหตุผลออกเป็นกลุ่มประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความรัก  ความเข้าใจ ความสุขความผูกพัน ของการทำงานเป็นทีม ของกลุ่มคนทำพิพิธภัณฑ์ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน จากการร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน เป็นความรัก ที่เหมือนญาติสนิท เหมือนเพื่อนสนิท สร้างความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเมื่อได้เจอ ดังเช่นที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์เล่าไว้ ถึงความรู้สึกผูกพัน ความรัก และห่วงใยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานทำงานร่วมกัน และส่งผลต่อความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์

ประเด็นที่ 2 การได้เรียนรู้ และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และมีความหวัง ที่เมื่อได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในขณะทำงานแล้ว ได้รับรู้ ได้เข้าใจ ได้เห็นความคิดแปลกใหม่ ก็เกิดความสนใจอยากเรียนอยากรู้เพิ่ม อยากถ่ายทอด แลกเปลี่ยนสิ่งที่รู้สิ่งที่คิดได้ และเมื่อเห็นผลของงานที่ทำ ว่าผลนั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ก็มีความหวังมีเป้าหมายต่อ มีความสุขที่ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองทำ จึงอยากทำงานพิพิธภัณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ

ประเด็นที่ 3 ความต้องการให้มีคนสืบทอดต่อ อยากรักษา ความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ เกิดจากเหตุผล จากการเห็นคุณค่าในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยมีอยู่ ไม่อยากให้สูญหายไป จึงออกมาร่วมทำงานด้วยความหวังที่จะเก็บรักษาความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง และ เมื่อได้ร่วมทำงานด้วย กับคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ก็เห็นความตั้งใจในการทำงาน จึงเกิดความเชื่อมั่นมั่นใจว่า จะสามารถรักษาความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้สืบต่อไปได้

ประเด็นที่ 4 ต้องการพัฒนาบ้านเกิดของตน เป็นหน้าที่ของคนในชุมชน และหน้าที่ของความเป็นคนไทย เกิดจากเหตุผล ในความรัก และห่วงแหนในวัฒนธรรม คุณค่าของชุมชนท้องถิ่น อยากเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ไม่สูญหายไป และคิดว่าเป็นหน้าที่ ของคน ไทย ที่จะรักษา คุณค่าเหล่านี้ไว้ ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักได้ชื่นชมกับสิ่งเหล่านี้ที่ยังรักษาไว้ได้ ดังเช่นที่ แกนนำคณะทำงาน เล่าไว้ว่า ที่มาทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ก็เพราะความรัก ความชอบเห็นในคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ รวมถึงคิดว่าเป็นหน้าที่ ที่คนรุ่นนี้ต้องทำเพื่อรักษา คุณค่าทั้งหลาย ให้คนรุ่นต่อไป ถือเป็นหน้าที่ของคนไทย ทุกคนที่ต้องทำ


3.4 ผลลัพธ์การเข้าร่วมทำพิพิธภัณฑ์

การทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงร่วมกันนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คณะทำงานอยู่ร่วมทำงานกันมาได้ต่อเนื่องยาวนานนั้นคือสิ่งที่ คณะทำงานได้รับจากการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัวและสังคมโดยรอบ เป็นผลที่มีต่อทั้งความรู้ ความคิด ได้มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง สร้างรายได้เสริม และทำให้ได้รับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นั้นจึงช่วยดึงดูด ให้คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ฯร่วมทำงานต่อเนื่องกันมาได้ยาวนาน โดยได้ระบุแยกไว้เป็นประเด็นๆดังนี้

ประเด็นที่ 1 การได้รับความรู้ และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ จนก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม ซึ่งผลที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆได้รับความคิดใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้มีการฝึกฝนทำงานร่วมกัน มีประสบการณ์จากงานจริง ซึ่งสามารถ นำกลับไปพัฒนาตนเองต่อไปได้


“มันมากมาย มันทั้งความรู้ ประสบการณ์ในชีวิต ความสุข มันอธิบายมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันได้แทบทุกอย่าง ทุกๆ ครั้ง บางทีที่มันเป็นปัญหามันก็จะได้รับเหมือนกันนะ รับว่าเราควรแก้ปัญหาอย่างไร ถ้ามันแก้แบบนี้ไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้ามันหนักกว่านี้ล่ะ มันจะมีสิ่งให้เราคิดตลอดเวลา พยายามแก้ปัญหาตลอดเวลา ชีวิตมันเปลี่ยนผันได้ตลอดเวลา ความคิด อะไรแบบบางทีเหตุเกิดไม่คาดฝัน มันมีเรื่องให้คิดตลอดเวลาค่ะ”

กนกวรรณ ยาบ้านแป้ง  (สัมภาษณ์, 8 พฤษภาคม 2561) 

 

ประเด็นที่ 2 การได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน และความเข้าใจซึ่งกันและกัน คือเหตุผลทางจิตใจ จากความสุขที่ได้รับจากการทำงาน ร่วมกัน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค และเมื่อประสบความสำเร็จก็มีความสุขร่วมกัน มีความเข้าใจซึ่งกัน และกันเมื่อใครประสบความทุกข์หรืออุปสรรคก็ร่วมช่วยเหลือแบ่งเบา

ประเด็นที่ 3 การได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง การเห็นคุณค่าในตัวเอง ความภูมิใจในความเป็นคนบ้านโคกสลุง  ที่คนทำพิพิธภัณฑ์ทำแล้วได้เห็นคุณค่าของตนเองและสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง เพราะตัวเองกำลังทำเรื่องที่ดีและทำเพื่อชุมชน เขาเลยมีความมั่นใจที่จะบอกกับคนอื่นๆ ได้ เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ร่วมภาคภูมิใจ

ประเด็นที่ 4 การสร้างอาชีพเสริม ที่ก่อเกิดรายได้ คือการสร้างประสบการณ์การทำงาน เป็นอาชีพเสริม ที่ช่วยสร้างรายได้ในการดูแลตนเองและครอบครัว ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงคนทำงาน ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ประเด็นที่ 5 การได้รับโอกาส และการส่งต่อ โอกาสที่ได้รับ จากสังคมภายนอก จากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และจากบุคคลผู้มีเกียรติอื่นๆ การทำงานพิพิธภัณฑ์นั้นทำให้ได้รับการยอมรับ และได้รับโอกาสที่ดีต่างๆ ให้กับคนทำงานที่นี่ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการอบรมการถ่ายทอดความรู้ หรือการสนับสนุนด้านอื่นๆ ซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษที่ได้รับ ซึ่งถ้าหากไม่ได้ทำงานที่นี่นั้นก็คงไม่ได้ และการทำให้มีโอกาสที่สามารถส่งต่อความรู้ ความคิดและอุดมการณ์ ให้กับคนรุ่นต่อไป ให้กับเยาวชน เป็นเหมือนวงจรการได้รับ และส่งต่อเพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำพิพิธภัณฑ์


3.5 “แรงบันดาลใจ” ที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์

ในการทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง นั้น จากการทำงานร่วมกันมายาวนานผ่านทั้งความทุกข์ความสุข โอกาสและอุปสรรคมากมาย กลุ่มคณะทำงาน ต่างก็ได้ประสบการณ์เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น และเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต และอนาคตของตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม ทั้งจากการเรียนรู้ และการต่อยอดสิ่งที่ได้ทำ ความยึดมั่นในอุดมการณ์จากประสบการณ์จากงานที่ทำมา การเป็นต้นแบบให้กับผู้อื่น แนวความคิดการทำวันนี้ให้ดีที่สุด หรือการยึดมั่นผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่จะเจริญรอยตาม รวมถึงความคิดใหม่ๆในการสร้างเสริมอาชีพของตนเองพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้นั้น คือแรงบันดาลใจ ที่เกิดขึ้นหลังจากร่วมทำงานพิพิธภัณฑ์ฯโดยสามารถแยกออกเป็นประเด็นต่างๆได้ดังนี้


ประเด็นที่ 1 การเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ และการนำความรู้ที่เรียนมา มาต่อยอด จากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน ทำให้เกิดโอกาสต่างๆ ที่ทำให้คณะทำงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้พบได้เจอกับผู้มีประสบการณ์ความรู้ ได้รู้สิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้ สิ่งเหล่านี้นั้น ได้ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวของคณะทำงานให้กลายเป็นผู้สนใจในการเรียนรู้ อยากเรียนอยากรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ และยังสามารถปรับเอาความรู้ที่ได้นั้นมาต่อยอดเกิดเป็นประโยชน์ขึ้น

ประเด็นที่ 2 สิ่งที่ทำต่อได้ การยึดมั่นในอุดมการณ์ เกิดจากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน เกิดการตกลงพูดคุยกันในกลุ่ม ถึงความร่วมมือในการทำงาน การต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว บุตรหลานและสังคมสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนพันธสัญญา ซึ่งสร้างอุดมการณ์ให้ให้คณะทำงานยึดถือเป็นแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตและการทำงานต่อไป

ประเด็นที่ 3 การเป็นต้นแบบ และการทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เกิดจากเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลง ที่สร้างแรงบันดาลใจ และความท้าทายในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ด้วยแรงบันดาลใจที่ “เราอยากจะหาเส้นทางให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” สร้างการยอมรับจากสังคม ดังเช่นที่แกนนำชุมชนกล่าวไว้ถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการทำงานที่เกิดกับตนเองไว้ว่า


“สิ่งที่ท้าทายที่สุดก็คือ คนธรรมดา แต่เราทำให้มันเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วก็เราสามารถที่จะเป็นต้นแบบของอีกหนึ่งต้นแบบ ที่จะเป็นทางเลือกในการทำงานพัฒนา ผมว่านี่ มันเป็นแรงบันดาลใจ และความท้าทายที่มันทำให้เราเดินเข้ามาในจุดนี้ ถึงตอนนี้ จุดนี้ แล้วก็ที่จะเดินต่อ เพราะว่าตรงนี้เราไม่ได้ต้องการแค่เรื่องของการยอมรับ แต่ว่านี่มันหมายถึงโอกาสของชุมชนเราที่มันจะได้รับ อย่างเช่น หลายเรื่องที่เรากำลังบอกอยู่ว่าเราอยากจะหาเส้นทางให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน อย่างถ้าเขากลับบ้าน ถ้าเขามาอยู่บ้าน งานที่เขาทำมันจะต้องมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีมูลค่าที่จะหล่อเลี้ยงเขาได้ แต่ทั้งหมดนี้เราไม่ได้พูดว่าเราต้องร่ำรวย จะต้องเป็นอะไร แต่ว่าถ้ามาอยู่ตรงนี้ เราไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่เราจะร่ำรวยเพื่อน ร่ำรวยเครือข่าย เราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในคนดีๆ ทั้งนั้นเลย คนไม่ดีก็อาจจะมีมาประปราย แต่พวกนี้อยู่ไม่นานเดี๋ยวก็ไป แต่รังสีของคนดีที่เรามีโอกาสได้พบปะ เจอทุกระดับไม่เคยมีใครเป็นคนรังเกียจเราเลย เราเป็นชาวบ้าน ตั้งแต่ระดับ อธิการบดี ระดับคณบดี อาจารย์นักวิชาการ ที่เทียบเท่ากับปลัด ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง เขาก็ไม่เคยรังเกียจเรา  เพราะว่านี่มันคือสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นตัวเรากับประสบการณ์ที่เราได้ทำ อันนี้ผมว่ามันมากกว่าอุดมการณ์ด้วยซ้ำไป ก็คือ มันเป็นคุณค่า ที่มันอยู่ในตัวเรา แล้วเราก็อยากจะแบ่งปันให้กับลูกหลาน ให้กับเพื่อน ให้กับคนที่เรารักนะ เรื่องพวกนี้ คือว่าถ้าเราเชื่อในเรื่องของการให้ เราจะได้ไม่รู้จบ เรื่องพวกนี้มันสอนเราอยู่ตลอดนะว่า ว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากมาย มันไม่ใช่แค่อุดมการณ์ แต่มันคือ คุณค่า แต่ทั้งหมดนี่ มันคือ เรื่องเดียวกันนะ”  ประทีป อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2561) 

         

ประเด็นที่ 4 การทำวันนี้ให้ดีที่สุด คือผลจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ ในการที่ต้องใส่ใจ และตั้งใจ กับการทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ให้ได้ผลที่มีคุณประโยชน์สูงสุด แก่ตนเองและส่วนรวม ในทุกครั้งที่ทำ

ประเด็นที่ 5 การได้รับแรงบันดาลใจ ที่เห็นผู้นำชุมชนเป็นแบบอย่าง และอยากเจริญรอยตาม  จากการเห็น ผู้นำ ในการทำงาน ที่มีการพัฒนาตนเอง มีความตั้งใจ ความเชี่ยวชาญ เป็นผู้นำที่เข้าใจพูดตามทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน ให้คำปรึกษาได้ในทุกเรื่อง เห็น ทุกคนเป็นพี่น้องเป็นลูกหลานมากกว่าคนทำงาน สอนและถ่ายทอดกระบวนการ รวมถึงให้การดูแลทางจิตใจ สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ สร้างเสริมแรงบันดาลใจให้กับผู้ตามซึ่งเป็นคณะทำงาน ในการที่ทำงานอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์ฯ ต่อไปดังเช่นที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวถึงบุคคลตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานไว้ดังนี้


“แรงบันดาลใจหลักๆ ป้ามุ่ย ป้ามุ่ยเป็นแรงบันดาลใจ เขาต้องทำงานมาหนักแค่ไหน ถึงจะต้องมาอยู่ ณ จุดๆนี้ได้ เขาต้องพัฒนาตัวเองหนักแค่ไหนถึงจะมาพัฒนาพวกหนูได้ หนูก็คิดเหมือนกันว่า การที่เขาพัฒนาพวกหนู เขาพัฒนาพวกหนูไปในทางที่ดีขึ้น เพราะอย่างนั้นเขาก็ต้องมีความภูมิใจกับเด็กที่เขาพัฒนามาจุดๆนี้ได้ ฉะนั้น หนูเลยคิดว่า แล้วเราล่ะ ต้องทำ ต้องเป็นอย่างเขาให้ได้ โดยที่ว่าเราจะใช้วิธีการไหนไปถึงที่นั้นแบบเขาบ้าง ก็ชอบ ชอบป้ามุ่ยตรงที่เขาเอาใจใส่พวกหนูมาก มีปัญหาอะไร ปรึกษาได้ทุกเรื่อง”

วรรณิศา สำราญสลุง (สัมภาษณ์, 13 พฤษภาคม 2561) 

 

ประเด็นที่ 6 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง และการต่อยอดด้วยการขายสินค้า เกิดจากประสบการณ์การทำงาน การศึกษาดูงาน และการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่างๆที่ได้เข้ามาในชุมชน ทำให้ได้เกิดการพัฒนา เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆสร้างมุมมองแนวคิดในการพัฒนาชีวิต และอาชีพของตนเอง ในวิถีทางใหม่ๆ ก่อให้เกิดรายได้เสริมให้กับตนเองรวมถึงเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น


3.6 การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

จากการที่ คณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้ร่วมกันทำงานยาวนานตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกัน ทั้งกับภายในคณะทำงาน และภายนอก ได้พบผู้มีประสบการณ์ความรู้ ได้อบรมในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงสิ่งเหล่านี้นั้นได้เพิ่มพูน ทั้งความรู้ ความคิด และความเข้าใจในการดำรงชีวิต ให้เปลี่ยนแปลงไป เกิดการพัฒนาที่เริ่มต้นจากตนเอง ให้นำเอาทั้งความรู้ และความคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งกับครอบครัว กับการทำงานในอาชีพที่ตนทำประจำ และสำหรับเด็กเยาวชนก็นำมาใช้กับการเรียน ส่งผลให้ทั้งการดำรงชีวิตของตนเองการอยู่ร่วมกับครอบครัวและการเรียน ยกระดับขึ้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีทัศนคติมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ดังเช่นที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ ได้เล่าไว้แยกเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่างๆดังนี้

3.6.1 การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับครอบครัว ประสบการณ์การทำงานร่วมกันของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคณะทำงานทั้งวิธีคิด และทัศนคติในการดำรงชีวิตในทางที่ดีขึ้น จากการทำงานร่วมกัน กระบวนการกลุ่ม และการได้มีประสบการณ์เรียนรู้จากภายนอก เหล่านี้นั้นส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของทุกคนในขณะทำงาน และขยายผลต่อไปยังครอบครัวของคณะทำงาน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการรับฟัง มีความกล้าคิดกล้าทำ มีการออกแบบวางแผนชีวิตในอนาคต ดังเช่นที่แบ่งเป็นประเด็นไว้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้มีการหันมาคุยกันมากขึ้น มีการรับฟังซึ่งกันและกัน รู้จักการคิดก่อนพูด รู้จักพูดในสิ่งที่ควรพูด เข้าใจเหตุผลต่อส่วนรวม และส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความเข้าใจ ซึ่งกันและกันมากขึ้น ดังเช่นที่ คณะทำงานได้เล่าถึงประสบการณ์การดำรงชีวิตต่อตนเอง และครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อได้มาทำงานพิพิธภัณฑ์

ประเด็นที่ 2 การออกแบบชีวิต และการวางแผนครอบครัว จากบทเรียนการทำงานที่ร่วมกันฝ่าฟันมา ความเข้าใจในข้อดี-ข้อเสียในกระบวนการทำงาน ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิต และครอบครัว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีการจัดการ มีการวางแผนในการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีทิศทาง ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่ 3 การนำสิ่งที่เรียนรู้มาสอนลูกหลานในเรื่องของการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การทำงานร่วมกันเป็นหมู่เหล่า มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้มีความรู้ และผู้มีประสบการณ์ เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นบทเรียนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับครอบครัว กับการดำรงชีวิต และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เข้าใจ

3.6.2 การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับที่ทำงาน

ประสบการณ์การทำงานร่วมกันของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคณะทำงานทั้งวิธีคิด และทัศนคติในการดำรงชีวิต และยังขยายผลต่อไปยังการประกอบอาชีพที่ตนทำเป็นหลักอยู่ ทั้งกระบวนการคิด และวิธีการงานร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถนำเอาความรู้ต่างๆที่ได้ มาพัฒนาอาชีพได้อีกด้วย ดังเช่นที่แบ่งเป็นประเด็นไว้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การนำกระบวนการ “สุนทรียสนทนา” ไปปรับใช้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนจากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ ทำให้ได้รับการพัฒนา และเรียนรู้ จากผู้มีประสบการณ์ และสถาบันการศึกษา การพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ เทคนิคการทำงานร่วมกัน เช่นกระบวนการสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นกระบวนการล้อมวง แลกเปลี่ยนพูดคุยซึ่งกันและกัน อย่างมีระบบ ส่งผลก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาความคิด และยกระดับจิตใจของผู้ทำ กระบวนการเหล่านี้ มีผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คน ประกอบกับคณะทำงานพิพิธภัณฑ์บางท่านซึ่ง มีสถานะเป็นครู จึงมีแนวความคิด อยากนำกระบวนการ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อหวังขยายผลในภาคการศึกษาไปยังเด็ก และเยาวชนอื่นๆ


“กระบวนการสุนทรียสนทนา ผมเคยเอาไปใช้ทดลองกับเด็ก ดีมาก ผมสอนเรื่องภาพไทย จิตกรรมไทย ป.5 เด็กได้เยอะและเด็กก็รู้ เพราะว่าเขาเคยอ่านหนังสือ เขาก็เคยดู แล้วเด็กที่เคยซนก็เสนอความคิด คนเก่งๆ อยู่แล้ว ก็ยิ่งเสนออะไรเยอะแยะ และเขาก็จะเคารพกติกาว่า ถ้าคนหนึ่งพูด คนที่สอง ต้องฟังนะ ถ้าใช้เป็นประจำ ผมว่าเด็กน่าจะมีวินัย มีความกล้า”  ครูสุรชัย เสือสูงเนิน (สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2561) 

 

ประเด็นที่ 2 การนำกระบวนการเรื่องของ  “การคิดร่วม นำร่วม” ไปปรับใช้ในการทำงาน การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีการร่วมกันคิดร่วมกันทำ แบ่งปันแนวคิด ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ในขณะทำงาน ซึ่งทำให้ฝ่าฟันปัญหาและดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ บทเรียนเหล่านี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานในอนาคตทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น สามารถช่วยยกระดับการทำงานเป็นภาพรวมในทุกองค์กร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาองค์กร ในวิชาชีพของตนเอง

ประเด็นที่ 3 การประยุกต์ใช้กับการทำพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องการต้อนรับ และครูภูมิปัญญา การผ่านการอบรม การร่วมกิจกรรมมีผู้เข้ามาชมการบรรยายถ่ายทอดที่หลากหลาย ทั้งรับความรู้ไป และยังถ่ายทอดประสบการณ์กลับมายังคณะทำงานฯ บทเรียนเหล่านี้นั้นส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดการถ่ายทอดความรู้ และยังรวมถึงการพัฒนารูปแบบภูมิปัญญาต่างๆ ให้ยกระดับขึ้น

3.6.3 การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการเรียน

ประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ร่วมกันของกลุ่มเยาวชน ทำให้ได้เรียนรู้ ได้เห็นแบบอย่างการทำงานร่วมกัน และได้พบผู้นำให้เป็นแบบอย่าง ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด และการดำรงชีวิตของกลุ่มเยาวชนเหล่านั้น ให้เกิดความกล้า คิดกล้าแสดงออก มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และยังนำกระบวนการเรียนรู้การทำงานพิพิธภัณฑ์ ไปใช้ในการทำงานร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนพัฒนาทั้งตัวเอง และหมู่เหล่าที่ตนเองเข้าไปอยู่


3.7 “ความสุข” ของคนทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง

การร่วมทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงของคณะทำงาน มีเป้าหมายสำคัญคือ “ความสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางจิตใจ เป็นอุดมคติร่วม ในการอยู่ร่วมกัน เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ทั้งยังเป็นพลังในการขับดันเพื่อสร้างสรรค์งานพิพิธภัณฑ์ ความสุขที่เกิดขึ้นได้นั้นเป็นความรู้สึกภายใน ทั้งความสุขที่เกิดจากความรู้สึกได้แบ่งปันให้ผู้อื่น การทำงานร่วมกับครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ผูกพัน การได้ช่วยเหลือองค์กรหน่วยงานที่ตัวเองยึดถือ การได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้นั้นคือแรงผลักดันของคณะทำงาน ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยได้แบ่งเป็นประเด็น ไว้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความสุข “อยู่ที่ใจ” เป็นความสุขเกิดจากความรู้สึกที่มาจากใจ เป็นความสุขที่ถูกกำหนดโดยความคิดของตนเอง ดังเช่นที่คณะทำงานฯ กล่าวถึงประสบการณ์ความสุขที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ เมื่อการทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย หรือสิ่งที่วางแผนไว้  หรือการได้ทำสิ่งที่ตนรัก และอยากทำ,  การได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น, การสามารถแก้ปัญหาได้ หรือความสุขที่เป็นความสบายใจที่เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์และชุมชนไปในทางที่ดีขึ้น

“ความสุขก็คือ “ใจ” ใจเราอยากจะไป ที่เราไปเนี่ยไปด้วยความสุข ความชอบ ถ้าเราไม่ชอบเราไม่พอใจแบบนี้ ที่ไหนเราก็จะไม่อยากไป ถ้าเราไม่ร้อนใจ ถ้าใจเราไม่มีความสุข เราก็ไม่อยากไป ถึงดีกว่าไทยเบิ้งเราก็ไม่ไปเพราะเราไม่ชอบนะ แต่นี่เราก็ชอบในกระบวนการที่เขาสอน เขาอบรม เรารู้อะไรเพิ่มเติมบางทีว่าจะไม่ไปแล้ว ก็เผื่อเขาสอนอะไรเราก็จะได้รู้เพิ่มอีก ก็เลยเอ้าไม่หยุดได้ด๊อกก็ต้องไป แล้วเราก็อยากรู้ทุกเรื่องที่เขาจะมาสอน จะมาอบรม”

บำรุง บุญมา (สิริสลุง นามสกุลเดิม) (สัมภาษณ์, 14 พฤษภาคม 2561) 

 

“ความสุขอยู่ที่ใจ พอเราได้เห็นคนมา พอเสร็จงานเรามีความสุขแล้ว คนมาบอกว่าวันนี้เขาได้ประโยชน์อะไร เราก็มีความรู้สึกอิ่มเอมในใจเราแล้ว แสดงว่าใจเราสัมผัสได้กับความรู้สึกของเขา ความสุขของเรามันอยู่ที่ใจ ความสุขเกิดจากการกระทำ ถ้าเรารู้สึกแบบนี้ได้ เราต้องลงมือทำอะไรบางอย่างที่เราคิดว่า มันก็ต้องมีทั้งสิ่งที่เราอยากทำ แล้วก็สิ่งที่เราทำแล้วมันมีประโยชน์มันถึงจะรู้สึกอิ่มเอมได้ คือ ถ้าเราไม่ลงมือทำ มันก็คงรู้สึกแบบนั้นไม่ได้หรอก หรือในสภาวะ ที่เรารู้สึกว่าเราสบาย นั่นเราก็จะมีความสุข กับสภาวะที่เราทำงานแล้วสำเร็จ เราก็จะมีความสุข เกิดจากการที่เราปฏิบัติ ทุกอย่างมันประกอบกัน เราวางแผน เราออกแบบ แล้วเราก็ลงมือทำ พอสุดท้ายแล้ว มันเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่ามันจะต้องเกิดเราถึงจะเกิดความสุข ความสุขมีมากน้อยไม่เท่ากัน”

พยอม  อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 9 พฤษภาคม 2561) 

 

“เกิดความสบายใจขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มันก็ทำให้เราดีใจขึ้นว่า งานที่เราทำนี่มันส่งผลไปในทางที่ดี มันมีความสบายใจขึ้น ก็เหมือนกับมีความสุขขึ้น”

จิตติ อนันสลุง (สัมภาษณ์, 8 พฤษภาคม 2561) 

 

          ประเด็นที่ 2 ความสุขคือ “การให้” เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ และการแบ่งปันซึ่งกันและกัน การได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น และมีความสุขที่เห็นผู้อื่นสนใจและตั้งใจกับสิ่งที่ตนเองมอบให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ฟัง รู้มากขึ้นเข้าใจมากขึ้นเมื่อเห็นอย่างนี้ก็เกิดความสุข


“ความสุขเนาะ ที่ทำให้อยู่ได้น่ะ ที่ทำงานอยู่ตรงนี้ ถ้าเกิดทุกข์มันน่าจะออกไปแล้วหนอ คือ ทำที่มีความสุขอยู่กันก็พูดคุยกัน ก็สั่งมา ป้าเที่ยวแกผัดบอนมาเด้อ ไม่มีงบประมาณกินข้าวเด้อ เอ้ออ ไปกินด้วยกัน ไปก็ห่อข้าว ผัดกฐิน แกงบอน แล้วก็น้ำพริกตาแดงใส่มะขาม กินคุยกันตอนเย็นน่ะ ความสุขเกิดที่ใจ เหมือนคนอยากให้แล้วมีสุขใจ การให้นี่มีความสุข ถ้าคนเกิดมาไม่รู้จักให้กันนี่ อะไรก็ไม่ให้ใคร ถ้ายายนี่ยายไม่มีความสุข ถ้าเปรียบตัวยายนะ ลูกหลานน่ะถ้าอยู่กันดีก็สบายใจ ความสุขที่ให้มันไม่หมดหรอกที่เราให้น่ะ เราก็จะมีของเราไว้อีก สิ่งที่เราทำไปน่ะ มันจะได้เข้ามาเอง ได้เองโดยเราไม่คิดว่ามันจะได้ มันจะมีมาเอง ไม่ต้องไปคิดมากหรอก คิดน้อยๆ ไว้”

ป้าเที่ยว  สลุงอยู่  (สัมภาษณ์, 14 พฤษภาคม 2561) 

 

“ความสุขก็คือ ได้ไปถ่ายทอดให้เขา ถ่ายทอดความรู้ให้เขา และถ้าเขาได้ตั้งใจเรียนก็มีความสุข ว่าเขาสนใจในงานของเรา ถึงเหนื่อยก็มีความสุขและก็อดทนได้”

ลุงกะ ลำไยจร (สัมภาษณ์, 12 พฤษภาคม 2561)

 

          ประเด็นที่ 3 ความสุข คือ ความเป็นครอบครัว และการทำทุกอย่างที่ร่วมกัน เป็นความสุขที่เกิดจากการได้ทำงานร่วมกับครอบครัว และผู้คนที่ผูกพันใกล้ชิดกัน ที่คอยทะนุถนอมดูแลน้ำใจซึ่งกันและกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข เป็นกำลังใจช่วยเหลือ ดูแลเกื้อกูลกัน และในการทำงานก็ทำให้ได้พบปะกัน ได้แบ่งปันประสบการณ์ ได้ฟังเรื่องเล่าเก่าๆ ของชุมชนจากปู่ย่าที่มาทำงานด้วยกัน   ได้นั่งล้องวงกินข้าวร่วมกัน ความรู้สึกความสุขแบบนี้เกิดขึ้นในใจกับคนที่ได้ร่วมทำงานและมีความผูกพันซึ่งกันและกัน


“เราได้เห็นครอบครัวที่มันใหญ่เข้ามาอีกหน่อย นั่นคือ กลุ่มคนทำงานด้วยกัน ใกล้ชิดกันแบบนี้ อันนี้มันก็คือ ครอบครัว คือ มันจะทะนุถนอมน้ำใจกันยังไง จะเชื่อมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างการทำงานร่วมกันตรงนี้อย่างไร ตรงนี้ก็คือ ครอบครัว เพราะว่าเรามองว่ากลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันนี่ มันคือ ครอบครัว มันก็เหมือนครอบครัว ครอบครัวหนึ่งที่เป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวคือการเคารพกัน การยอมรับกัน มันไม่จำเป็นจะต้องมีวุฒิภาวะขนาดไหน  ต้องอายุมาก เรียนจบสูง เป็นหัวหน้าเขา นี่ไม่ใช่ แต่ครอบครัวมันจะเกิดการยอมรับ และเคารพกัน และทำให้เราได้อิ่มใจในหลายๆ เรื่อง เป็นความภาคภูมิใจที่เราได้ร่วมกันสะสมมา”

ประทีป อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2561) 

 

“การที่เราได้มาอยู่กับเพื่อนๆ ได้มาทำอะไรด้วยกัน อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว เรายังมีเพื่อน เรายังมีทุกคนที่คอยให้คำปรึกษาเราได้ทุกอย่าง คือ ที่นี่มันจุดประกายให้เราได้รู้ว่า  สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่เราทำเพื่อชุมชน เราทำให้สิ่งที่มีในชุมชนยังอยู่ โดยการใช้ใจของแต่ละคนมาทำให้เกิดความสุขโดยไม่ได้เกิดจากการบังคับ เราไม่ได้ทำงานแบบผู้ใหญ่มาสั่งเด็ก คือผู้ใหญ่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เสนอความคิดเห็น เขาจะให้เราได้เรียนรู้ คือทุกคนเท่าเทียมกันหมด เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้กดดันที่เราจะมาแลกเปลี่ยนกับอะไรตรงนี้ ความรู้สึกตรงนี้ มันหาจากที่ไหนไม่ได้แล้ว เพราะมันเกิดจากเวลา”

ธราเทพ อนันสลุง (สัมภาษณ์, 13 พฤษภาคม 2561) 

 

กลอน “ความสุขในไทยเบิ้ง”

“ฉันนุ่งโจงพร้อมสไบ ไคว้พาดบ่า             สองมือคว้าถุงย่าม ด้วยใจหมาย

อุปกรณ์พร้อมใส่ย่าม พร้อมสะพาย          นัดกันไว้ที่ไทยเบิ้ง มีกิจกรรม

นักท่องเที่ยวมาเยือน เหมือนพี่น้อง          เราเพรียกพร้อมต้อนรับ สนุกสนาน

ทั้งรำโทนครูภูมิปัญญา มารอนาน            ความสุขฉันและเธอ เราแบ่งกัน

มีสินค้าพร้อมขาย ด้วยใจค่ะ                  ถุงย่ามจ๊ะผ้าขาวม้า ช่วยเกื้อหนุน

ข้าวเพื่อสุขภาพก็มีนะ ช่วยเจือจุน           ช่วยอุดหนุนคนไทยเบิ้ง มีงานทำ”

เสนาะ โชคมหาชัย (ยอดสลุง) (สัมภาษณ์, 7 พฤษภาคม 2561)    

 

          ประเด็นที่ 4 “ความสุข” เกิดจาก การหาจุดร่วมกันทำงาน ระหว่างคนในชุมชน และเครือข่ายคณะทำงาน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกที่ได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยในการทำงานพิพิธภัณฑ์ต้องมีกระบวนการทำงานมากมาย ต้องตรียมการต้องสรุปผล แต่เมื่อผลตอบรับที่ออกมาจากการทำงานได้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ก็สร้างความสุขให้กับคณะทำงาน

          ประเด็นที่ 5 ความสุขเกิดจากการได้รับการยอมรับ และความชื่นชม เป็นความสุขที่เกิดจากการได้รับการยอมรับ การได้เห็นคนภายนอกเห็นถึงคุณค่าของเรา และวัฒนธรรมของเรา ว่าเราสามารถยืนด้วยตัวของเราเอง มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าที่ควรต้องรักษาไว้


“เราสุขทุกครั้งที่คนมาแล้วชื่นชมเรา นั่นคือความสุข ชื่นชมแบบจริงใจ ความสุขด้วยความที่ว่าเราทำด้วยตัวเราเอง เราสามารถยืนด้วยตัวเราเอง คนข้างนอกเห็นคุณค่าเรา เรามีความสุขทุกครั้งที่เขาพูดถึงวัฒนธรรมแล้วก็คุณค่า ส่วนมูลค่ามันตามมาทีหลัง”

อุทัย อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 11 พฤษภาคม 2561) 

 

4. บทสรุป

การศึกษาการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผ่านกรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ทำการศึกษาจากกระบวนการที่ทำให้ได้ทราบถึงความเป็นจริงของการสื่อความหมายผ่าน “คนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” จากการที่คนภายในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์และสื่อความหมาย ความรู้ในความเป็นท้องถิ่นของตนไปยังกลุ่มคนในชุมชน และกลุ่มคนภายนอกชุมชน การสื่อความหมายนั้นยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินงานร่วมกันที่คนทำพิพิธภัณฑ์ทุกคนต้องรับรู้และเข้าใจ และยังให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนกลางที่ชุมชนร่วมกันก่อร่างสร้างมา และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจที่เชื่อมร้อยเป็นสายใยทั้งระหว่างคนในชุมชน และคนภายนอกชุมชนเข้าด้วยกัน และการให้ความสำคัญกับ “ของ” ทั้งที่เป็นวัตถุ และเน้นหนักให้คุณค่ากับ “ของ” ที่แทน “ตัวตน” คนทำพิพิธภัณฑ์ที่แตกต่างอันเป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาที่สั่งสมมา

ซึ่งเมื่อสังเคราะห์ถอดให้เห็นถึงพัฒนาการที่เป็นรากฐานของความเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจากคนทำพิพิธภัณฑ์ที่มาร่วมแรง ก่อร่างกันจนเป็นพิพิธภัณฑ์ จากจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ ด้วยความสามัคคีที่จะริเริ่มร่วมแรงร่วมใจกันของกลุ่มแกนนำ และชาวชุมชน จนถึงการตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ ร่วมลงแรงฝ่าฟันเพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น และเหตุผลอันเป็นที่มาของความรักและผูกพันในกลุ่มคนทำงานร่วมกัน จากการได้เรียนรู้ได้เห็นคุณค่า และความต้องการรักษาสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นให้มีสืบต่อไป ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้คนเหล่านี้ยังทำงานพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงปัจจุบันซึ่งผลที่ได้รับจากการทำพิพิธภัณฑ์ ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้ และทำให้คนทำงานพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง สร้างอาชีพ สร้างโอกาสของชีวิตในอนาคต และสร้าง “แรงบันดาลใจ” ในการใฝ่เรียนรู้พัฒนาตนเอง และความยึดมั่นในอุดมการณ์ การเป็นต้นแบบในการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง ที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไปและยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์เพื่อพัฒนาชีวิต สร้างทัศนคติที่ดีของตนเอง และครอบครัว ทั้งยังได้สร้างผลต่อจิตใจ ที่เกิดจากความสุขต่อกลุ่มคนที่มาทำงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกได้แบ่งปันให้ผู้อื่น การได้ทำงานร่วมกับครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ผูกพัน ได้ช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้นั้นคือแรงผลักดันของคณะทำงานในการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเมื่อประมวลผลของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง แล้วทำให้ได้พบถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ ชุมชน และคนทำงานพิพิธภัณฑ์ ที่ส่งผลพัฒนาให้เกิด “การร่วมเป็นพลังในการรักษาคุณค่า”ความเป็นท้องถิ่นผ่านพิพิธภัณฑ์ที่จะมีความต่อเนื่องตลอดไป

 

เอกสารอ้างอิง

 


ธีระภัทรา เอกผาชัยสวัสดิ์. (2554). ชุมชนศึกษา (Community Study). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



สุภางค์ จันทวานิช. (2557). วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย, สืบค้น 19 เมษายน 2563. จากhttps://db.sac.or.th/museum/



Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan. (2017).The Emerging Local Museum and Its Meaning through Local People. 13thINTERNATIONAL CONFERENCE ON THAI STUDIES GLOBALIZED THAILAND? CONNECTIVITY, CONFLCT, AND CONUNDRUMS OF THAI STUDIES 15-18 JULY 2017 CHING MAI, THAILAND PROCEEDINGS,1648-1666. Retrieved fromhttps://icts13.chiangmai.cmu.ac.th/documents/FIINAL_R -SRI_NEW_MARCH_2019.pdf



Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan. (2017).The Existence of Local Museum in Thailand: A Case Study of 14 Local Museums in Central Region. 13thINTERNATIONALCONFERENCE ON THAI STUDIES GLOBALIZED THAILAND? CONNECTIVITY, CONFLCT, AND CONUNDRUMS OF THAI STUDIES 15-18 JULY 2017 CHING MAI, THAILAND PROCEEDINGS, 1667 -1690. Retrieved from https://icts13.chiangmai.cmu.ac.th/documents /FIINAL_R-SRI_NEW_MARCH_2019.pdf

 

สัมภาษณ์

ประทีป อ่อนสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (18 พฤษภาคม 2561).

พยอม  อ่อนสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (9 พฤษภาคม 2561).

จิตติ อนันสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (8 พฤษภาคม 2561).

วิเชียร ยอดสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (18 พฤษภาคม 2561).

บำรุง บุญมา. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (14 พฤษภาคม 2561).

เที่ยว  สลุงอยู่. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (14 พฤษภาคม 2561).

อุทัย อ่อนสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (11 พฤษภาคม 2561).

สุรชัย เสือสูงเนิน. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (10 พฤษภาคม 2561).

เสนาะ โชคมหาชัย. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (7 พฤษภาคม 2561).

กนกวรรณ ยาบ้านแป้ง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (8 พฤษภาคม 2561).

ธราเทพ อนันสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (13 พฤษภาคม 2561).

กะ ลำไยจร. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (12 พฤษภาคม 2561).

วรรณิศา สำราญสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (13 พฤษภาคม 2561).



[1]ทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

[2]สาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี E-mail: nanny_5@hotmail.com

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กุมภาพันธ์ 2564
วันที่แก้ไข: 19 กุมภาพันธ์ 2564